ในโอกาสที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะประกอบพิธีเปิดทำการ
อาคารสำนักงานหลังใหม่ในวันพุธที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๔
และประจวบกับเป็นวันครบรอบ
วันคล้ายวันสถาปนา ปีที่ ๔๘ ท่านเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (ดร.อมร
จันทรสมบูรณ์) ได้มีหนังสือมาขอให้ผมในฐานะอดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
เขียนบทความเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการและผลงานในระหว่างที่ผมรับราชการในสำนักงาน
คณะกรรมการกฤษฎีกาผมยินดีสนองรับคำขอดังกล่าว
เพราะมีความสำนึกอยู่ตลอดเวลา
ว่าความรู้ในการร่างกฎหมายก็ดี ประสบการณ์ในการบริหารราชการในสำนักงานก็ดีเป็น
ความรู้และประสบการณ์ที่ผมได้รับจากสำนักงานนี้เป็นส่วนใหญ่ตลอดระยะเวลา
๔๐ ปี
นับตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการเป็นเสมียนฝึกหัดเมื่อ พ.ศ.
๒๔๘๒ และได้ลาออกจากราชการ
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒
และในปัจจุบันก็ยังมีความรู้สึกผูกพันอยู่กับสำนักงานนี้ และปรารถนา
ที่จะได้เห็นความเจริญก้าวหน้าบังเกิดแก่สำนักงานนี้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
การเขียนบทความเกี่ยวกับอดีตหรือเบื้องหลังการทำงาน มองดูผิวเผิน
น่าจะเขียนได้ง่าย
เพราะเป็นการนำเหตุการณ์ในอดีตมาเล่าให้คนปัจจุบันทราบ แต่สำหรับ
กรณีของผมเมื่อได้ลองวางแนวการเขียนขึ้นแล้ว
ก็เกิดมีปัญหาถามตัวเองขึ้นมาว่า จะควร
เขียนในลักษณะอย่างใดเพื่อมิให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่าเป็นการโอ้อวด
เมื่อได้ใคร่ครวญ
ดูแล้วก็ตกลงใจจะเขียนด้วยความระมัดระวังและจะอยู่ในหลักของประสบการณ์ที่ผมได้รับ
ในระหว่างรับราชการในสำนักงานฯ ถึง ๔๐ ปี และเมื่อได้อ่านแล้วอาจถือเป็นแบบอย่างนำ
ไปลองปฏิบัติบ้างก็ได้อนึ่ง การเขียนบทความนี้ผมเขียนจากความทรงจำ
และไม่มีเวลา
ค้นคว้าตรวจสอบกับเอกสารของทางราชการ
ถ้าหากมีข้อบกพร่องหรือเขียนได้ไม่ครบถ้วน
โปรดอภัยด้วย
ประสบการณ์ในระหว่างเป็นเสมียนฝึกงาน
ผมได้เริ่มเข้ามาทำงานในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะ
ของเสมียนฝึกงานเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ.
๒๔๘๒ เหตุที่ผมต้องเริ่มต้นด้วย
การเป็นเสมียนฝึกงานก็เพราะพ่อของผมได้ทราบมาว่า
การเรียนกฎหมายในสมัยนั้น
ถ้าหากผู้เขียนได้ฝึกงานในสำนักงานทนายความ หรือในกรมร่างกฎหมายในระหว่างที่
กำลังเรียนอยู่
ก็จะเรียนสำเร็จได้เร็วและจะสอบเข้าเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการได้โดยง่าย
และประกอบกับพ่อทราบว่าการเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลาเรียน
หรือฟังคำบรรยายเพียงวันละสองชั่วโมงเท่านั้นถ้าปล่อยให้ผมมีเวลาว่างมากก็จะกลาย
เป็นคนเจ้าสำราญ การเรียนจะไม่ได้ผล
เมื่อได้นำความห่วงใยไปปรึกษาคุณหลวง
ประเสริฐมนูกิจ (อดีตข้าหลวงยุติธรรม ภาค ๕
และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) คุณหลวงประเสริฐมนูกิจได้แนะนำให้ผมไปฝึกงานที่
คณะกรรมการกฤษฎีกา และท่านได้นำผมไปฝากกับ ดร.เดือน
บุนนาค
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้น ดร.เดือน
บุนนาค ได้สั่งให้ผมไปช่วย
คุณวัชรินทร์ รักติประกร ข้าราชการชั้นโท
ซึ่งทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ของ
คณะกรรมการกฤษฎีกา ผมจำได้ว่าดร.เดือนฯ
ได้ถามผมว่าเรียนโรงเรียนไหน
มีความรู้ภาษาต่างประเทศภาษาใด
เมื่อได้ทราบว่าผมสำเร็จจากโรงเรียนอัสสัมชัญ
เรียนภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาเอก และภาษาอังกฤษเป็นภาษารอง ดร.เดือนฯ
จึงได้
กล่าวกับคุณหลวงประเสริฐมนูกิจว่าจะส่งให้ไปช่วยบรรณารักษ์เพราะจะได้มีโอกาส
อ่านตำรากฎหมายภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ
ผมได้ช่วยคุณวัชรินทร์ รักติประกร ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างอยู่
ประมาณหนึ่งปี จึงได้สอบเข้าเป็นเสมียนพนักงาน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.
๒๔๘๓
หน้าที่ที่ผมทำในฐานะผู้ช่วยบรรณารักษ์ ก็คือ
(๑)
ดูแลหนังสือตำรากฎหมายทั้งภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งใน
ขณะนั้นมีอยู่ประมาณพันกว่าเล่มให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย
พร้อมที่จะหยิบใช้ได้โดย
รวดเร็วตามความต้องการของที่ปรึกษาชาวต่างประเทศซึ่งในขณะนั้นมีอยู่
๔ คน
(๒)
จัดทำดัชนีแยกหนังสือกฎหมายภาษาไทย ฝรั่งเศส และอังกฤษ
เพื่อสะดวกแก่การหยิบหรือค้น
ผมจำได้ว่าในระยะเวลาหนึ่งปีได้เขียนดัชนีหนังสือลงใน
บัตรแข็งประมาณพันกว่าฉบับ
ที่ต้องเขียนด้วยมือแทนการพิมพ์อย่างเช่นในปัจจุบัน
ก็เพราะเครื่องพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษมีน้อยเครื่องและผมก็พิมพ์ไม่เป็น
และเนื่องจากผม
เรียนมาจากโรงเรียนอัสสัมชัญได้รับการฝึกได้คัดลายมือแบบต่าง ๆ
ผมจึงนำความชำนาญ
จากโรงเรียนมาช่วยทำงานให้เป็นที่พอใจแก่บรรณารักษ์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมและแนะนำการ
ทำงานของผม
(๓)
ติดต่อสั่งหนังสือกฎหมายจากบริษัทจำหน่ายหนังสือในประเทศ
ฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษ
หน้าที่นี้ทำให้ผมได้ความรู้เกี่ยวกับการติดต่อบริษัทจำหน่าย
หนังสือหรือธนาคารเพื่อซื้อดราฟเงินตราต่างประเทศชำระค่าหนังสือ
ในระหว่างเวลาประมาณหนึ่งปีที่ผมทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ ทำให้
ผมมีโอกาสศึกษาหาความรู้จากตำรากฎหมายไทย กฎหมายฝรั่งเศส
และกฎหมายอังกฤษ
และมีประโยชน์เป็นอย่างมากเมื่อผมได้ไปศึกษากฎหมายต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส
ประเทศ
ฝรั่งเศสนอกจากนี้ยังได้เห็นวิธีทำงานของหัวหน้ากองร่างกฎหมายในขณะนั้น
(คุณหลวงวิจารณ์ ราชสฤชณ์) เพราะโต๊ะทำงานของหัวหน้ากองร่างกฎหมายอยู่ตรงกันข้าม
กับโต๊ะทำงานของบรรณารักษ์
ผมขอแทรกการจัดแบ่งห้องทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ในขณะนั้นเพื่อความรอบรู้ของเพื่อนข้าราชการไว้ด้วย
ในสมัยนั้นสำนักงานฯมีห้องประชุม
สำหรับกรรมการร่างกฎหมายเพียงห้องเดียว คือ ห้องประชุมหมายเลข ๑
ปัจจุบัน โต๊ะประชุม
เป็นโต๊ะสี่เหลี่ยมผืนผ้าปูด้วยผ้าสักหลาดสีเขียวนั่งได้ประมาณ ๑๐๑๒ คน
ส่วนเก้าอี้
สำหรับกรรมการก็คือเก้าอี้ที่จัดให้กรรมการนั่งประชุมในปัจจุบัน
ห้องที่ผมนั่งทำงานในฐานะ
ผู้ช่วยบรรณารักษ์ในขณะนั้น คือห้องประชุมหมายเลข ๒ ในปัจจุบัน
ในห้องนี้มีทั้งหัวหน้า
กองร่างกฎหมาย เลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๑
เลขานุการกรรมการร่าง
กฎหมายคณะที่ ๒ และบรรณารักษ์นั่งรวมกัน ๔ คน
รวมผมซึ่งนั่งหน้าโต๊ะบรรณารักษ์เป็น
๕ คน ส่วนห้องประชุม ๓ ในปัจจุบัน
เป็นห้องทำงานของเลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย
คณะที่ ๓ ผู้แปล และผู้ช่วยแปล รวม ๓ คน เมื่อสำนักงานฯ
จะเพิ่มกรรมการร่างกฎหมาย
อีกคณะหนึ่งเป็น ๔ คณะ จึงได้ต่อเติมห้องระหว่างชั้น ๑ กับชั้น ๒ (ซึ่งได้แก่ห้องผู้ช่วย
เลขานุการฯในปัจจุบัน) เป็นห้องของกรรมการร่างกฎหมายประจำ
และผู้ช่วยกรรมการ
ร่างกฎหมายประจำส่วนห้องเลขาธิการอยู่ชั้นบนตรงบันไดที่ขึ้นไปชั้นสองในปัจจุบันใช้เป็น
ห้องทำงานของผู้ช่วยเลขานุการฯ และห้องนายพิชาญ บุลยง (ที่ปรึกษากฎหมายชาว
ฝรั่งเศส) คือห้องกฎหมายต่างประเทศก่อนย้ายไปตึกใหม่
ในระหว่างที่นั่งทำงานในห้องเดียวกับหัวหน้ากองร่างกฎหมาย ท่าน
หัวหน้ากองร่างกฎหมายได้อาศัยไหว้วานให้ผมช่วยค้นกฎหมายไทย
รวมทั้งการทำ
สารบาญร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการร่างกฎหมายคณะต่าง ๆ
ทำให้ผมได้เรียนรู้ความมีระเบียบเรียบร้อยของท่าน
ท่านได้รวบรวมเอกสารเกี่ยวกับการ
ประชุมของกรรมการร่างกฎหมายคณะต่าง ๆ ไว้ทุกเรื่อง
และแยกเรื่องตามประเภทของ
ร่างกฎหมายและจัดพิมพ์เป็นเล่ม ๆ
เมื่อท่านต้องการดูแบบกฎหมายหรือความคิดเห็น
ของกรรมการร่างกฎหมายคณะใดท่านสามารถใช้แฟ้มเรื่องเสร็จของท่านได้โดยไม่ต้อง
ไปขอเรื่องเสร็จของสำนักเลขานุการกรมนอกจากนี้ท่านยังได้ช่วยให้ผมได้รับความรู้
เกี่ยวกับการงานที่ผ่านการพิจารณาของท่าน
โดยท่านขอให้ผมเป็นผู้นำเรื่องไปส่งให้
สำนักงานเลขานุการกรมเพื่อนำเสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาสั่งการต่อไป
และก่อนที่ผมจะเดินไปส่งแฟ้มเรื่อง
ถ้าไม่ใช่เป็นเรื่องลับท่านจะเตือนให้ผมอ่านเรื่อง
ดังกล่าวเสียก่อน
ทำให้ผมได้มีโอกาสศึกษาข้อเสนอหรือความคิดเห็นของเลขานุการ
กรรมการร่างกฎหมายและของหัวหน้ากองร่างกฎหมาย และท่านยังบอกว่า
ถ้าสงสัย
ตอนไหนให้ถามท่านได้
เมื่อเขียนเหตุการณ์ตอนนี้ผมต้องขอขอบคุณในความกรุณา
ของคุณหลวงวิจารณ์
ราชสฤชณ์ ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะท่านช่วยทำให้ผมได้เห็น
การทำงานที่มีระเบียบและได้รับความรู้เกี่ยวกับการร่างกฎหมายเป็นพื้นฐานตั้งแต่เริ่ม
เข้าทำงาน
ประสบการณ์ในระหว่างเป็นเสมียนพนักงาน
ผมช่วยบรรณารักษ์ทำงานได้หนึ่งปี ก็มีตำแหน่งเสมียนพนักงานว่าง
ในสำนักงานฯ ผมได้ขออนุญาตพ่อขอสมัครสอบเป็นเสมียนพนักงาน
ในชั้นแรกพ่อไม่
อนุญาตเพราะเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนกฎหมาย แต่เมื่อได้ฟังคำชี้แจงของผม
เกี่ยวกับความรู้สึกที่ผมประสบอยู่ในขณะนั้น คือ
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนมีความ
สงสารผมที่มานั่งทำงานให้แก่ราชการทุก ๆ วันโดยไม่ได้รับเงินเดือน
เวลาราชการสำหรับ
คำนวณบำเหน็จบำนาญก็ไม่มี จึงได้ชวนให้ผมสมัครสอบเป็นเสมียนพนักงาน
และเพื่อน
เสมียนพนักงาน
หลายคนก็อยากให้ผมมีฐานะอย่างเดียวกับเขาในที่สุดพ่อก็ใจอ่อน
ยอมให้ผมสมัครสอบได้โดยกำชับว่าจะต้องไม่ให้เสียหายแก่การเรียนกฎหมาย
ผมจำได้ว่าวิชาสอบไล่เป็นเสมียนพนักงานในสำนักงาน
คณะกรรมการกฤษฎีกาในสมัยนั้นเป็นวิชาที่ยากมาก เพราะมีวิชาเรียงความหรือแปล
ภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศให้สอบด้วยผู้สมัครสอบอาจเลือกทำภาษาอังกฤษ
หรือฝรั่งเศส หรือทั้งสองภาษาก็ได้ และมีวิชาพิมพ์ดีดภาษาไทย
และภาษาอังกฤษ
อีกด้วย
สำหรับการสอบพิมพ์ดีดนั้นไม่เป็นปัญหาสำหรับผมเพราะเมื่อได้ช่วย
บรรณารักษ์ทำงานมาหกเดือนเศษ ผมเกิดเบื่อที่จะต้องนั่งเขียนดัชนีหนังสือกฎหมาย
จึงได้ไปเรียนพิมพ์ดีดทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
เพื่อพิมพ์ดัชนีหนังสือกฎหมาย
แทนการเขียนด้วยลายมือการพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษของผมอยู่ในขั้นดีมาก
สามารถ
พิมพ์ได้นาทีละ ๖๐ คำ ส่วนภาษาไทยอยู่ในขั้นปานกลาง คือนาทีละ ๔๐ คำ
ในที่สุด
ผมสอบเป็นเสมียนพนักงานได้
และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษ
เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ ๒๔๘๓
ได้รับอัตราเงินเดือนเดือนละ ๒๐ บาท
หน้าที่ของพนักงานพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษก็คือพิมพ์บันทึกความเห็น
ภาษาอังกฤษของที่ปรึกษากฎหมาย คำแปลกฎหมาย คัดตัวบทกฎหมายทั้งภาษา
อังกฤษและภาษาฝรั่งเศส
พิมพ์หนังสือนัดประชุมภาษาอังกฤษเพื่อแจ้งให้ที่ปรึกษา
กฎหมายทั้ง ๔ คนทราบในการจัดทำหนังสือนัดประชุมภาษาอังกฤษ เลขานุการ
กรรมการร่างกฎหมายแต่ละคณะจะเขียนเฉพาะกำหนดวันประชุมเป็นภาษาไทย
และ
เขียนเรื่องที่จะประชุมเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น
ไม่ได้ร่างข้อความที่จะพิมพ์ให้สมบูรณ์
เป็นหน้าที่ของเสมียนพนักงานในสำนักงานเลขานุการกรมที่จะร่างข้อความในหนังสือ
นัดประชุมให้เรียบร้อย แล้วส่งไปพิมพ์
ถ้าเสมียนพนักงานผู้นั้นไม่ว่าง พนักงานพิมพ์ดีด
ก็จะช่วยเรียบเรียงข้อความให้ถูกต้องครบถ้วน
ในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานพิมพ์ดีดแต่ละคน
มีความชำนาญในการพิมพ์หนังสือนัดประชุมภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องร่างข้อความก่อน
ผมทำงานในหน้าที่พนักงานพิมพ์ดีดอยู่เกือบ ๓ ปี ได้ประโยชน์จาก
การทำหน้าที่นี้เป็นอย่างมาก ความรู้ภาษาอังกฤษดีขึ้นเพราะต้องพิมพ์บันทึกภาษา
อังกฤษของที่ปรึกษากฎหมายและคำแปลกฎหมาย ในการพิมพ์บันทึกภาษาอังกฤษ
ก่อนจะพิมพ์ผู้พิมพ์จะต้องอ่านบันทึกนั้นเสียก่อนเพื่อตรวจดูว่า
ถ้อยคำที่ที่ปรึกษา
กฎหมายเขียนมานั้นอ่านว่ากระไร สะกดตัวอักษรถูกหรือไม่
ที่ปรึกษากฎหมายทุกคน
เขียนบันทึกด้วยดินสอดำ
แต่ละคนเขียนลายมือที่ค่อนข้างหวัดและอ่านยากมาก และ
เนื่องจากเป็นชาวฝรั่งเศสจึงมักเผลอเขียนเป็นคำภาษาฝรั่งเศสแทนที่จะเขียนเป็นภาษา
อังกฤษ หรือเขียนเป็นภาษาอังกฤษแต่สะกดตัวอักษรผิดอยู่เนือง ๆ
นอกจากนี้จะต้อง
ช่วยดูการผันกริยา(Verb) ว่าถูกต้องตามหลักไวยากรณ์หรือไม่
ผมยังรู้สึกศรัทธาใน
ความรู้ความสามารถของข้าราชการในสมัยนั้นอยู่มากรู้สึกว่าทุกคนมีความรู้กฎหมาย
และภาษาอังกฤษในขั้นดี
มีหลายครั้งที่หัวหน้าแผนกพิมพ์ดีดต้องถือร่างบันทึกไปขอ
คำอธิบายจากที่ปรึกษากฎหมาย เพราะข้อความในร่างไม่ชัดเจนหรืออ้างมาตราไม่ตรง
กับข้อความที่กล่าว
ซึ่งก็ได้รับคำขอบใจและคำชมเชยจากที่ปรึกษากฎหมายว่า ทำงาน
ละเอียดรอบคอบดีมาก
ความรู้ภาษาอังกฤษของผมดีขึ้นเพราะต้องเปิดพจนานุกรม
ภาษาอังกฤษวันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อดูว่าคำนั้นเขียนอย่างไร
พจนานุกรมฯที่ใช้ประจำ
ห้องพิมพ์ดีดขาดวิ่นหลายหน้าและมีคราบนิ้วมือติดอยู่เพราะพนักงานพิมพ์ดีดทุกคน
ต้องอาศัยพจนานุกรมเล่มนั้นเป็นคู่มือในการทำงาน
ความสามารถของพนักงานพิมพ์ดีด
ในสมัยนั้นสูงมาก ทุกคนพิมพ์ได้ประมาณ ๖๐๗๐
คำต่อนาที เวลาพิมพ์พร้อมกัน ๓ คน
(แผนกพิมพ์มีหัวหน้าหนึ่งคน และพนักงานพิมพ์ดีสามคน) เสียงดังน่าฟังมาก
มักจะมีคน
เข้าไปยืนดูการพิมพ์ของพนักงานพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษอยู่บ่อย
งานที่จะต้องพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษนั้นมีทั้งงานของที่ปรึกษากฎหมาย
และของเลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย (ในขณะนั้นเลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย
มีเพียง ๓ คน) เอกสารทุก ๆ
เรื่องที่จะเสนอที่ประชุมกรรมการร่างกฎหมายพิจารณา
จะต้องแปลและพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเพื่อเสนอต่อที่ปรึกษากฎหมาย
เลขานุการกรรมการ
ร่างกฎหมายจะเป็นผู้แปลหนังสือจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
และเอกสารประกอบเรื่อง
ซึ่งอาจเป็นหนังสือจากส่วนราชการที่ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในปัญหา
กฎหมาย หรืออาจเป็นร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชกฤษฎีกา
หรือร่างกฎกระทรวง
ถ้าเป็นเรื่องการตีความกฎหมาย
เมื่อที่ประชุมได้พิจารณาและมีความเห็นอย่างไรแล้ว
ที่ปรึกษากฎหมายจะเป็นผู้ยกร่างบันทึกความเห็นเป็นภาษาอังกฤษก่อน
แล้วส่งให้
เลขานุการกรรมการร่างกฎหมายแปลเสนอกรรมการร่างกฎหมาย
หรือในบางเรื่อง
เลขานุการฯ
จะเป็นผู้ร่าบันทึกเป็นภาษาไทยแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ที่ปรึกษา
กฎหมายตรวจก่อนเสนอกรรมการ สำหรับการพิจารณาร่างกฎหมายเลขานุการฯ
จะต้องแปลข้อความที่แก้ไขเสนอที่ปรึกษากฎหมายทุกครั้ง
จากระบบของการมีที่ปรึกษา
กฎหมายเป็นชาวต่างประเทศ งานพิมพ์ภาษาอังกฤษในสมัยนั้นจึงมีมาก
พนักงาน
พิมพ์ดีดจึงพลอยได้รับความรู้ทั้งในด้านการร่างกฎหมาย
การทำบันทึกเสนอความเห็น
และความแตกฉานในภาษาอังกฤษ
กล่าวโดยสรุป งานในหน้าที่พนักงานพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษได้สอน
ให้ผมเป็นคนละเอียด
เพราะต้องอ่านข้อความในเอกสารที่จะพิมพ์เพื่อตรวจสอบความ
ถูกต้องของการสะกดตัวอักษร และหลักไวยากรณ์ก่อนลงมือพิมพ์
ได้ความรู้ในการ
สะกดถ้อยคำภาษาอังกฤษ มีความชำนาญในการค้นหาถ้อยคำในพจนานุกรม
ประสบการณ์ในระหว่างที่ทำหน้าที่เลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย และ
เลขานุการคณะที่ปรึกษากฎหมายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
หน้าที่ของผู้ช่วยเลขานุการกรรมการร่างกฎหมายในสมัยนั้นก็เช่นเดียว
กับในสมัยนี้
คือมีหน้าที่ตระเตรียมตัวบทกฎหมายสำหรับใช้ระหว่างการประชุมและ
จดรายงานการประชุม เลขานุการกรรมการร่างกฎหมายทำหน้าที่ยกร่างบันทึกยกร่าง
มาตราต่าง ๆ ตามมติที่ประชุมและแปลร่างบันทึก
ร่างตัวบทกฎหมายสำหรับที่ปรึกษา
กฎหมาย ผมทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการฯ อยู่ประมาณ ๖-๗
เดือน ก็ได้เลื่อนมาทำหน้าที่
เลขานุการกรรมการร่างกฎหมายคณะพิเศษ เนื่องจากสำนักงานฯ
ได้จัดตั้งกรรมการ
ร่างกฎหมาย คณะที่ ๔ ขึ้นอีกคณะหนึ่ง และได้แต่งตั้งให้คุณวัชรินทร์
รักติประกร
เป็นเลขานุการกรรมการร่างกฎหมายคณะที่ ๔ ผมจึงต้องทำหน้าที่
เลขานุการและ
ผู้ช่วยเลขานุการฯ
โดยที่กรรมการร่างกฎหมายคณะพิเศษประชุมสัปดาห์ละครั้ง
หัวหน้ากองร่างกฎหมายจึงได้ขอให้ผมทำทั้งสองหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้
ตำแหน่งเพิ่มในขณะนั้น
ผมรู้สึกว่าการทำงานสองหน้าที่เป็นภาระหนักมาก โดยเฉพาะ
งานแปลเอกสารสำหรับนายพิชาญ บุลยง
แต่เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปก็รู้สึกขอบคุณ
ที่ได้มีโอกาสทำงานสองหน้าที่
เพราะช่วยบังคับให้ผมต้องฝึกฝนการแปลภาษาอังกฤษ
ให้ใช้การได้
และยังช่วยบังคับให้ผมต้องค้นคว้าตัวบทกฎหมายอีกมากมายเนื่องจาก
ไม่มีผู้ช่วยเมื่อกรรมการต้องการดูกฎหมายฉบับหนึ่งฉบับใดในระหว่างการประชุม
ผมจะต้องวิ่งไปหยิบมาให้กรรมการ
ในการประชุมบางครั้งผมต้องเข้าออกจากห้องประชุม
ตั้ง ๒-๓ ครั้ง ด้วยความรู้สึกเบื่อและชิงชังต่อการต้องเสียเวลาออกจากห้องประชุม
ไปหยิบหนังสือ จึงได้ตั้งหลักท้าทายตัวเองว่า
ในการประชุมแต่ละครั้งผมจะสามารถเตรียม
ตัวบทกฎหมายให้ครบถ้วนโดยไม่ต้องไปหยิบเพิ่มเติมอีกได้หรือไม่
ก่อนการประชุมหนึ่งวัน
ผมลองทำตัวเป็นกรรมการร่างกฎหมายนั่งอ่านนั่งพิจารณาร่างกฎหมายหรือปัญหาข้อ
กฎหมาย แล้วพิจารณาดูว่าจะต้องค้นคว้ากฎหมายฉบับใดบ้าง
โดยวิธีนี้จึงช่วยลดการ
ออกไปหยิบหนังสือกฎหมายได้มาก และช่วยทำให้ผมรู้จักกฎหมายต่าง ๆ
ได้มากยิ่งขึ้น
ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้เสี่ยงทำงานแบบท้าทาย
คือในระหว่างทำหน้าที่เลขานุการ
กรรมการร่างกฎหมาย คณะ ๒ ซึ่งมีหม่อมเจ้าสกลวรรณากร
วรวรรณเป็นประธาน
พระยาอรรถกรมมนุตตี และนายพิชาญ บุลยง เป็นกรรมการ
ผมได้พิจารณาปัญหา
การตีความกฎหมายซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการแล้ว
เกิดความรู้สึกว่าเป็น
ปัญหาที่ง่ายแก่การพิจารณา ผมมั่นใจว่าความเห็นของผมคงจะตรงกับความเห็นของ
ที่ประชุมเพื่อรวบรัดผมได้เตรียมทำร่างบันทึกและคำแปลไว้เรียบร้อยพร้อมที่จะเสนอ
กรรมการได้จริงดังที่ผมคาดการพิจารณาปัญหากฎหมายดังกล่าวใช้เวลาไม่นาน
ก็แล้วเสร็จ เมื่อผมเห็นว่ายังมีเวลาเหลือ
ผมได้ขออนุญาตท่านประธานขอเสนอ
ร่างบันทึกให้พิจารณาเสียเลยในวันนั้นกรรมการทุกท่านแปลกใจและยอมให้ผมเสนอ
ร่างบันทึกให้พิจารณาเสียเลยในวันนั้น
กรรมการทุกท่านแปลกใจและยอมให้ผมเสนอ
ร่างบันทึกได้
เมื่อกรรมการได้อ่านแล้วก็เห็นว่าเป็นร่างบันทึกที่ตรงตามแนวมติของ
ที่ประชุม จึงได้ร่างแก้ไขถ้อยคำเสร็จในวันนั้น
และได้ชมเชยในวิธีทำงานของผม
ซึ่งทำให้ผมเกิดความภาคภูมิใจมากนับตั้งแต่ได้รับราชการมา
ในสมัยที่ผมทำหน้าที่เลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย เลขานุการฯ
ไม่ค่อยมีโอกาสได้รับมอบหมายให้ยกร่างบันทึกหรือยกร่างตัวบทกฎหมาย
เพราะที่ประชุม
มักจะมอบให้นายพิชาญ บุลยง เป็นผู้ยกร่างเสียส่วนใหญ่
เลขานุการฯคงเป็นแต่เพียง
ผู้แปลเป็นภาษาไทยสำหรับกรรมการ ประสบการณ์ในร่างกฎหมายจึงมีน้อยมาก
แต่ผม
ยังโชคดีที่ได้มีโอกาสเป็นเลขานุการที่ปรึกษากฎหมายของหัวหน้าคณะปฏิวัติและของ
นายกรัฐมนตรีในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร
เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ เป็นประธานที่ปรึกษา
คณะที่ปรึกษา
กฎหมายขณะนั้นประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายจากหลายส่วนราชการ
อาทิเช่น
จากศาลยุติธรรม มีนายสัญญาธรรมศักดิ์ หลวงวุฒิศักดิ์เนตินาท
จากศาลทหาร
มีพลโท ไสว ดวงมณี
พลโท อัมพรจินตกานนท์ พลโท
สุข เปรุนาวิน พันเอก จินดา
ณ สงขลา
จากกรมอัยการมี หลวงอรรถปรีชาชนูปการ หลวงอรรถโกวิทวที
หลวงอรรถ
ไกวัลวที นายเล็ก
จุณณานนท์
และจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามี นายเสกล
บุณยัษฐิติ และผมเป็นเลขานุการฯ
ผมได้รับความรู้ทางร่างกฎหมายจากคณะที่ปรึกษา
กฎหมายคณะนี้เป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะส่วนใหญ่จากพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ซึ่งท่าน
ได้กรุณาถ่ายทอด แนะนำ อบรมการทำงานเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย และแนวการเขียน
บันทึกความเห็นทางกฎหมาย
นอกจากความรู้ที่ได้รับจากคณะที่ปรึกษากฎหมาย ผมยังได้
ประสบการณ์จากการเป็นกรรมาธิการสามัญชุดปกครองในระหว่างที่เป็นสมาชิกสภา
ร่างรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมาธิการสามัญชุดปกครองเท่าที่ผมจำได้มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
เป็นประธาน พระยาสุนทรพิพิธ
หลวงประกอบนิติสาร
หลวงอรรถไกวัลวที นายพ่วง
สุวรรณรัฐ พลโทวิชัย
พงษ์อนันต์ นายเล็ก จุณณานนท์ นายเสกล บุณยัษฐิติเป็น
กรรมาธิการ
ในคณะกรรมาธิกการชุดนี้ผมได้รับความรู้ในการร่างกฎหมายเป็นอย่างมาก
และโดยเฉพาะส่วนใหญ่จากหลวงประกอบนิติสาร(ประกอบ
บุณยัษฐิติ) ซึ่งเป็นพี่ชาย
คุณเสกลบุณยัษฐิติ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา คุณหลวงประกอบนิติสาร
เป็นผู้มีอัจฉริยะในทางร่างกฎหมายอีกคนหนึ่ง
ท่านเป็นผู้รอบรู้ทั้งกฎหมายไทยและ
กฎหมายต่างประเทศ
มีประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาเพราะได้เคยดำรงตำแหน่ง
ข้าหลวงยุติธรรมภาค ๙มาแล้ว มีความรู้ในหลักภาษาไทย
และมีความละเอียดถี่ถ้วนใน
การใช้ถ้อยคำ วรรคตอน การแต่งประโยค
และยังเป็นผู้กว้างขวางในทางสังคม เคยเป็น
นายกสมาคมลีลาศของประเทศไทย
และนายกสมาคมกีฬายกน้ำหนัก และนายกสมาคม
อื่น ๆ ซึ่งทำให้การร่างกฎหมายแต่ละฉบับได้เป็นไปโดยรอบคอบรัดกุม
จากประสบการณ์ที่ได้รับจากการเป็นเลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย
ประมาณ ๒๐ ปี ทำให้ผมจับหลักการร่างกฎหมายได้ดังนี้
ในระดับการพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมาย ถ้าเป็นผู้มีความรู้รอบตัวหรือ
มีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ มาก จะช่วยทำให้เห็นช่องโหว่ของร่างกฎหมาย
หรือการ
ไม่บรรลุผลตามตัวหนังสือที่ได้เขียนไว้ได้ง่ายขึ้น การเป็นผู้มีความสันทัดจัดเจนในหลัก
ภาษาไทยจะช่วยให้การร่างกฎหมายนั้นถูกต้องตามหลักไวยากรณ์
มีข้อความกระทัดรัด
ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่มีภาษาพูดมาปะปน
มีถ้อยคำที่ถูกต้องตามกาลเวลาของสาระที่บัญญัติ
ไว้ในมาตราต่าง ๆ และมีความหมายที่แน่นอน
การมีนิสัยละเอียดถี่ถ้วนจะช่วยทำให้
กฎหมายนั้นมีโครงสร้างที่ดี
มีขั้นตอนเริ่มต้นและขั้นสุดท้ายทำนองเดียวกับหลักการ
ดำรงชีวิตของมนุษย์
และมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่สับสนถ้อยคำที่ได้นำมาใช้ในความหมายใด
ในมาตราใด ก็จะนำไปใช้ในมาตราต่าง ๆ
ที่ประสงค์จะให้มีความหมายเดียวกัน ไม่ใช่
ถ้อยคำสลับลักลั่นกันมีการจัดแบ่งข้อความออกเป็นวรรคเป็นมาตราได้อย่างเหมาะสม
ทำให้เข้าใจง่ายมีความต่อเนื่องระหว่างเหตุและผลของสาระสำคัญของกฎหมายแต่ละบท
หรือแต่ละหมวด
การบัญญัติให้ต้องมีบทเฉพาะกาลตามความเหมาะสมของกฎหมาย
แต่ละฉบับ ความไม่หลงลืมในหลักของกฎหมายอาญาจะทำให้เกิดความคิดว่า
ในกรณีใด
ควรขึ้นต้นร่างมาตราด้วยข้อความที่ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำ...ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษ...
หรือ ผู้ใดกระทำการ....มีความผิด
การปฏิบัติหน้าที่เลขานุการกรรมการร่างกฎหมายและเลขานุการคณะ
ที่ปรึกษากฎหมาย
ทำให้ผมต้องคิดค้นหาวิธีทำงานให้เร็วทันอกทันใจกรรมการหรือ
ท่านที่ปรึกษา เมื่อผมเข้ารับหน้าที่เลขานุการฯ ใหม่ ๆ
ภายหลังที่ผมได้ทำหน้าที่ผู้ช่วย
เลขานุการฯ เพียง ๖
เดือนและไม่เคยได้รับการอบรมวิธีปฏิบัติหน้าที่เลขานุการฯ ในระยะ
แรก ๆ ผมมีความประหม่าและกลัวถูกตำหนิมาก เพราะในวัยอายุ ๒๔๒๕ ปี
ต้องมา
ทำหน้าที่เลขานุการฯ
กับกรรมการชั้นผู้ใหญ่ระดับสูงมีฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า
มีบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวง คุณพระ
และพระยาก็ย่อมจะต้องมีความพรั่นพรึงที่จะถูกตำหนิ
แต่ผมก็โชคดีที่กรรมการทุกท่านได้ให้ความเมตตาแก่ผมมาก
ให้คำแนะนำแก่ผมทุกครั้งที่
ผมปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง
ผมเคยรู้สึกเสียใจและไม่สบายใจในการปฏิบัติหน้าที่เลขานุการฯ
อยู่ครั้งหนึ่ง คือในการพิจารณาร่างมาตราของกฎหมายฉบับหนึ่ง
กรรมการแต่ละท่านต่างได้
แสดงความคิดเห็นว่าควรจะเขียนอย่างนี้ ควรจะใช้ถ้อยคำอย่างนั้น
ควรจะเพิ่มความตอนนี้
ให้ชัดเจน โดยที่ผมยังใหม่ต่อหน้าที่ ผมก็ยังฟังท่านเพลิน
และไม่ทราบว่าจะจดข้อความของ
กรรมการท่านใด
เพราะผมรู้สึกว่าเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุม ยังไม่มีข้อยุติ
เมื่อกรรมการท่านยุติการแสดงความคิดเห็นหรือการถกเถียงกันแล้ว
มีกรรมการท่านหนึ่ง
ได้บอกให้ผมอ่านข้อความที่ท่านได้เสนอไว้ ผมเรียนท่านว่าผมจดไม่ทัน
ท่านร้องว่า
อ้าวแล้วกัน และแสดงความไม่พอใจเล็กน้อย
แต่ยังมีกรรมการอีกท่านหนึ่งเห็นใจใน
ความใหม่ของผม ท่านได้กล่าวว่า ก็เสนอกันตั้งหลายคนเสนอทีก็แย้งกันที
เด็กจะไปจดทัน
ได้อย่างไร เหตุการณ์ในที่ประชุมวันนั้น
ทำให้ผมต้องค้นคิดวิธีทำงานให้ถูกใจกรรมการ
ในชั้นแรกคิดจะไปเรียนชวเลขภาษาไทย
แต่หาสถานที่เรียนที่สะดวกไม่ได้เพราะประเทศ
อยู่ในภาวะสงคราม ได้ซื้อตำราชวเลขมานั่งอ่าน นั่งฝึกวิธีการให้เร็ว
ในที่สุดได้คิดสร้าง
อักษรย่อขึ้นมาใช้เอง คำใดที่เห็นกรรมการใช้พูดบ่อย ๆ
ก็สร้างอักษรย่อสำหรับคำนั้น
อย่างเช่นคำว่างบประมาณ ผมตั้งอักษรย่อว่า งป. หรือคำว่า ต้องขอใบอนุญาต
ใช้อักษรย่อว่าตขอ. โดยวิธีผมสามารถจดคำกล่าวของกรรมการทุก
ๆ ท่านได้ และ
สามารถอ่านให้กรรมการฟังได้เมื่อท่านต้องการ
ในขณะที่ผมทำหน้าที่เลขานุการคณะ
ที่ปรึกษากฎหมายผมต้องนั่งใกล้ท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ซึ่งเป็นประธาน
เมื่อท่าน
บอกให้ผมจด ผมก็จดตามท่านบอกโดยใช้อักษรย่อที่ผมคิดขึ้น
เมื่อท่านให้ผมอ่าน
ผมก็อ่านให้ฟังได้ มีคราวหนึ่งท่านขอร่างที่ผมจดไปดู
เพื่อท่านจะใช้ความคิดแก้ไขถ้อยคำ
ให้ดีขึ้น เมื่อท่านเห็นตัวอักษรที่ผมใช้จด ท่านยิ้ม ๆ และกล่าวว่า อ้อจดแบบนี้ถึงจดได้เร็ว
ผมนำเหตุการณ์ตอนหนึ่งของชีวิตเลขานุการของผมมากล่าวไว้ก็เพื่อ
ให้ผู้ทำหน้าที่เลขานุการรุ่นใหม่ได้เกิดความคิดที่จะปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
ผมอยาก
จะเล่าให้เพื่อนข้าราชการได้ทราบไว้ว่า
ในสมัยก่อนกรรมการร่างกฎหมายส่วนมากท่าน
ค่อนข้างจู้จี้พิถีพิถันที่ท่านมีนิสัยเช่นนี้ก็เพราะท่านยังอยู่ในวัยหนุ่ม
เท่าที่ผมสังเกตและ
ได้ยินได้ฟังมาบางท่านชอบลองภูมิเลขานุการคนใหม่
แต่เมื่อได้รับใช้นานเข้า ท่านก็ได้
ให้ความเอ็นดู ความสนิทสนม และความไว้วางใจ
และเมื่อเวลาได้ล่วงเลยไป ๒๐ กว่าปี
ท่านกลับกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ใจดี ชอบคุย
ไม่ค่อยเข้มงวดพิถีพิถันในการร่างกฎหมาย
ประสบการณ์จากการเป็นเลขานุการของนายพิชาญ บุลยง (อาร์
กียอง) ที่ปรึกษา
กฎหมาย
โดยที่ผมมีความคุ้นเคยกับบรรดาที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างประเทศ
มาตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานในหน้าที่ผู้ช่วยบรรณารักษ์ ในปี พ.ศ.
๒๔๙๐ ผมได้รับมอบหมาย
ให้ทำหน้าที่เลขานุการของนายพิชาญ บุลยง
อีกตำแหน่งหนึ่งนอกเหนือจากหน้าที่
เลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย
การปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของนายพิชาญ บุลยง ก็คือการแปล
เอกสารต่าง
ๆที่ไม่เกี่ยวกับราชการของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยปากเปล่าให้
นายพิชาญฯ ทราบ
และติดตามนายพิชาญเพื่อทำหน้าที่ล่ามในระหว่างการประชุม
คณะกรรมาธิการของรัฐสภา นายพิชาญฯ นอกจากจะเป็นที่ปรึกษากฎหมายของ
คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร
หรือวุฒิสภา หลายคณะ รวมทั้งเป็นกรรมการสภากาชาดไทยด้วย ฉะนั้น
เอกสารที่
จะต้องแปลด้วยปากเปล่าจึงมีมาก
เหตุที่นายพิชาญฯให้แปลด้วยปากเปล่าก็เพื่อ
ความรวดเร็ว
ถ้าแปลแล้วพิมพ์จะเสียเวลามากอาจไม่ทันในการประชุมของคณะ
กรรมาธิการ นายพิชาญฯ
จะจดคำแปลไว้เฉพาะในส่วนที่เป็นสาระสำคัญฉะนั้น
ในการแปลเอกสาร ผู้แปลจะต้องศึกษาก่อนแปลด้วยปากเปล่าว่าตอนใดเป็น
สาระสำคัญเท่าที่ผมได้ปฏิบัติมาผมจะแปลย่อสรุปเนื้อหาของเอกสารนั้น
ๆ ก่อน
แล้วจึงแปลรายละเอียดในตอนที่เป็นสาระสำคัญ หรือถ้านายพิชาญฯ
สงสัยตอนใด
ก็จะต้องแปลตอนนั้นให้ละเอียดเรื่องการแปลด้วยปากเปล่านี้
ทำความยุ่งยากลำบากใจ
แก่ผมมาก
เพราะผมเรียนภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาเอกและภาษาอังกฤษเป็นภาษาโท
แต่เวลาแปลต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ
ในระยะแรกผมต้องใช้ทั้งสองภาษาควบกัน
คำใดนึกเป็นภาษาอังกฤษไม่ออกก็ใช้ภาษาฝรั่งเศสแทน ซึ่งนายพิชาญฯ
ก็ไม่ว่ากระไร
ภารกิจในหน้าที่เลขานุการของนายพิชาญฯ
บังคับให้ผมต้องฝึกฝนภาษาอังกฤษให้ดียิ่งขึ้น
ทำให้ผมต้องค้นเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านการพิจารณาของกรรมการร่างกฎหมายคณะต่าง
ๆ และ
มีคำแปลภาษาอังกฤษแล้วนำมานั่งอ่าน นั่งท่อง
และจดจำถ้อยคำที่เห็นว่าจะต้องใช้เสมอ
ผมได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของนายพิชาญฯ ก็คือ
ภาษาอังกฤษดีขึ้น ส่วนภาษาฝรั่งเศสเกือบจะไม่ได้ใช้เท่าใด เพราะนายพิชาญฯ
จะสั่งการ
หรือพูดคุยด้วยภาษาอังกฤษเสมอ นาน ๆ จึงจะพูดภาษาฝรั่งเศสสักครั้ง
นอกจากจะได้
ความรู้ทางด้านภาษาแล้วผมยังได้เห็นแบบอย่างการทำงานที่มีระเบียบของนายพิชาญ
อีกด้วย นายพิชาญฯ เป็นผู้ซึ่งไม่ชอบใช้สมองจำเรื่องงาน
ทุกครั้งที่เสร็จจากการประชุมไม่ว่า
จะเป็นตอนเที่ยงหรือตอนเย็น นายพิชาญฯ จะต้องรีบบันทึกผลการประชุม
ความคิดเห็น
ของที่ประชุม มติของที่ประชุม
และความเห็นของตนเองเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ไว้ในแฟ้มเรื่อง
ทุก ๆ
ครั้งที่มีการประชุมเมื่อเรื่องใดได้ผ่านการพิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายพิชาญฯ
จะเรียบเรียงเอกสารเรื่องเสร็จตามลำดับวันที่ด้วยตนเอง
แล้วส่งให้ผมไปดำเนินการให้
กรมเย็บเล่มเก็บไว้ใช้ในห้องทำงานของนายพิชาญ
ความสามารถของนายพิชาญฯ อีกประการหนึ่งที่ผมศรัทธา ก็คือการ
เขียนร่างบันทึกความเห็นเพื่อเสนอต่อที่ประชุมกรรมการร่างกฎหมาย
หรือที่ประชุม
คณะกรรมการอื่น ๆ บันทึกแต่ละเรื่องซึ่งมีความยาว ๘-๙
หน้า นายพิชาญฯจะเขียน
รวดเดียวเสร็จภายในเวลา ๑-๒ ชั่วโมง
ถ้าตอนใดติดขัดคิดไม่ออก ก็จะนั่งพิงพนักเก้าอี้
ใช้ความคิดอยู่ชั่วขณะแล้วเขียนต่อ ไม่นิยมเดินคิดไปคิดมา
และชอบใช้ดินสอดำเขียน
เป็นประจำ ดินสอที่เตรียมไว้ให้จะต้องไม่เหลาให้แปลม
เพราะเป็นคนเขียนลงเส้นหนัก
ผู้ที่สามารถเขียนบันทึกได้รวดเร็วในระยะเวลาติดต่อกัน ๑-๒
ชั่วโมง โดยไม่หยุดพัก
เพื่อใช้เวลาคิด เท่าที่ผมได้พบเห็นและนิยมนับถือมาก นอกจากนายพิชาญ
บุลยง
แล้วก็มีท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ อีกท่านหนึ่งผมได้ประจักษ์ในความอัจฉริยะ
ของท่านเมื่อผมเป็นเลขานุการที่ปรึกษากฎหมายและท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์
เป็นประธานที่ปรึกษากฎหมาย
มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านเจ้าคุณให้ผมเป็นผู้เขียน ส่วนท่าน
เป็นผู้บอก
ผมได้จดตามคำบอกของท่านเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงกว่ามีความยาว๖-๗
หน้า
กระดาษฟุลสแก๊ป คำบอกเกิดจากสมองของท่านล้วน ๆ
ท่านไม่มีกระดาษบันทึกโครงร่าง
หรือแนวของการเขียนบันทึกเพื่อใช้ประกอบคำบอก
เมื่อเขียนเสร็จแล้วท่านจะให้ผมอ่าน
ออกเสียงดัง ๆ
ท่านคอยฟังว่าตอนใดใช้ถ้อยคำเหมาะสมสละสลวยหรือไม่วรรคตอน
ถูกต้องหรือไม่ นอกจากนายพิชาญ บุลยง
และท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ ก็ยังมี
ดร.หยุด แสงอุทัย
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกท่านหนึ่งที่เขียนบันทึกได้เร็ว
และสามารถเขียนหนังสือหรือคำบรรยายกฎหมายได้ทุกขณะไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างเวลา
ประชุม หรือในระหว่างที่มีเพื่อนสนิทมาพบปะสนทนาอยู่ด้วย
ท่านสามารถที่จะเขียนไป
คุยไปด้วยในขณะเดียวกัน
สรุปแล้ว การปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของนายพิชาญ บุลยง ได้ทำให้ผม
ได้รับความรู้เพิ่มพูนในด้านภาษาอังกฤษ
การค้นหนังสือกฎหมายทั้งภาษาฝรั่งเศสและ
ภาษาอังกฤษรวมทั้งระเบียบการทำงานด้วยวิธีบันทึกเป็นหนังสือแทนการอาศัยความจำ
ประสบการณ์จากการเป็นกรรมการร่างกฎหมาย
ผมได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการร่างกฎหมายใน พ.ศ.
๒๕๐๘ และเป็น
กรรมการร่างกฎหมายในคณะหรือกองที่ ๒ ตลอดมา
ในตอนนี้ต้องขออนุญาตบันทึก
ไว้ตรง ๆ ว่าหลักการร่างกฎหมายที่ผมได้รับในระหว่างเป็นเลขานุการคณะที่ปรึกษา
กฎหมาย คณะกรรมาธิการหรือคณะกรรมการอื่น ๆ
และผมได้ยึดถือปฏิบัติมานั้น
ได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปในระหว่างที่เป็นกรรมการร่างกฎหมายหลายประการด้วยกัน
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นและเพราะเหตุใด ต้องขอเรียนตรง ๆ
ว่าเพราะระบบการประชุมเป็น
คณะนั้น ต้องถือเสียงข้างมากเป็นสำคัญ
ผมไม่แน่ใจว่าหลักการร่างกฎหมายหรือแนว
ความคิดในกฎหมายของผมที่ผมได้รับถ่ายทอดมาจะถูกต้องเสมอไปหรือผิดเสมอไป
แต่เมื่อเสียงข้างมากมีอย่างไรก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามนั้น
และจากความรู้สึกดังกล่าวนี้
ทำให้ผมได้หลักปฏิบัติอีกประการหนึ่ง คือ การทำจิตใจให้เป็นกลาง
ไม่ยึดมั่นในความเห็น
ของตนเองว่าดีกว่าของคนอื่น
หรือถือว่าความเห็นของคนอื่นไม่ดีกว่าเรา เมื่อได้แสดง
ความคิดเห็นอย่างไรไปแล้วก็แล้วกันไป
การจะเป็นประการใดสุดแล้วแต่เสียงข้างมาก
ของที่ประชุม แต่ก็มีบางเวลาที่เกิดความรู้สึกเป็นห่วงข้าราชการรุ่นใหม่ในภายหน้าว่า
เขาจะศึกษาความถูกต้องของเหตุผลของฝ่ายข้างมากได้อย่างไรถ้าหากปรากฏในรายงาน
การประชุมแต่ละคราวว่ามีผู้แสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนน้อย
แต่เมื่อลงคะแนนเสียง
แล้วกลายเป็นฝ่ายข้างมากไป
และผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมากแต่เป็นฝ่ายข้างน้อย
ผู้ต้องการศึกษาความคิดเห็นในการตีความหรือการแปลกฎหมายจะมีโอกาสน้อยมาก
สำหรับการแสดงความคิดเห็นที่พึงยึดเป็นหลักได้
และจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อระบบ
การประชุมที่เสียงข้างมากเป็นเสียงที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็น
ประสบการณ์ในการเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ หลังจากได้ดำรง
ตำแหน่งรองเลขาธิการอยู่ ๒ ปี เมื่อได้รับแต่งตั้งใหม่ ๆ
ผมได้รับคำแนะนำจากข้าราชการ
ชั้นผู้ใหญ่ซึ่งคุ้นเคยสนิทสนมในระหว่างที่เป็นนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
และในระหว่างที่ผมรับการอบรมเป็นนักบริหารตามหลักสูตรของสถาบันบัณฑิต
พัฒนบริหารศาสตร์ให้ผมปรับปรุงการพิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ
ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
จากคำแนะนำดังกล่าวทำให้ผมระลึกถึงคำตัดพ้อต่อว่าของเพื่อนข้าราชการบางคน
ซึ่งเคยมาร่วมประชุมกับกรรมการร่างกฎหมายคณะต่าง ๆ
ในฐานะผู้แทนกระทรวง ทบวง
กรมว่า
เขามีความเบื่อหน่ายต่อการมาร่วมพิจารณาร่างกฎหมายที่สำนักงานคณะ
กรรมการกฤษฎีกา เพราะการพิจารณาเป็นไปอย่างอืดอาดล่าช้า
กรรมการร่างกฎหมาย
คณะหนึ่งบอกว่าต้องเขียนกฎหมายแบบนี้กรรมการร่างกฎหมายอีกคณะหนึ่งบอกว่า
ต้องเขียนกฎหมายแบบนั้น ในฐานะที่เขาเป็นนิติกรประจำกรม
มีหน้าที่ยกร่างกฎหมาย
ตามความต้องการของกรม
เลยเกิดความลังเลใจไม่ทราบว่าจะเลือกเขียนแบบไหนดี
ผมได้รับฟังแล้วก็เกิดความคิดที่จะต้องแก้ไขหรือขจัดความไม่พอใจของผู้แทนที่มา
ร่วมประชุมให้หมดไปหรือลดน้อยลงไปให้ได้
ผมต้องยอมรับว่าการพิจารณาร่างกฎหมาย
ของสำนักงานฯ
ก่อนที่ผมดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นล่าช้ามาก
เมื่อผมเข้ารับงานในหน้าที่เลขาธิการฯ ผมตรวจสอบจำนวนร่างกฎหมาย
และเรื่องขอให้
ตีความในปัญหาข้อกฎหมาย ปรากฏว่ามีเรื่องค้าง ๗๐
กว่าเรื่องบางเรื่องรอคอยเข้าวาระ
เกินกว่าหนึ่งปี
ผมได้แก้ไขโดยมอบให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสำนักงานฯ ซึ่งมีประสบการณ์
และความรู้ในการร่างกฎหมายไม่แพ้กรรมการร่างกฎหมายเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมาย
ที่ต้องการพิจารณาในด้านความถูกต้องของแบบกฎหมาย แต่ละประเภท และถ้ามีปัญหา
ผมจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชี้ขาดหรืออาจส่งให้กรรมการร่างกฎหมายคณะหนึ่งคณะใด
เป็นผู้พิจารณาก็ได้
การแก้ไขโดยวิธีนี้ช่วยระบายร่างกฎหมายที่เป็นพระราชกฤษฎีกา
หรือกฎกระทรวง ออกจากสำนักงานฯ ได้เร็วขึ้นเป็นจำนวนมาก
ผมได้ใช้วิธีนี้ตลอดมาใน
ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯ
และได้รับความชมเชยจากผู้แทนของส่วนราชการต่าง ๆ
ว่างานเร็วขึ้น
นอกจากนี้ผมยังได้ขยายไปถึงการพิจารณาร่างกฎหมายบางฉบับที่ด่วนมาก
และไม่มีปัญหาในทางกฎหมายมาก โดยผมขอรับผิดชอบเป็นผู้พิจารณาร่วมกับ
รองเลขาธิการฯ หรือกรรมการร่างกฎหมายประจำ ซึ่งปรากฏว่าเป็นที่พอใจของรัฐมนตรี
และอธิบดีหลายคน
การปฏิบัติราชการดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของการใช้คำว่าคณะ
รัฐมนตรีได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างฯ .. และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ตรวจพิจารณา แทนคำว่า ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา
(ซึ่งหมายถึงกรรมการ
ร่างกฎหมาย)พิจารณา และผมได้มอบให้เป็นหน้าที่ของกองกฎหมายไทยในอันที่จะ
รวบรวมแบบกฎหมายให้ครบถ้วน โดยแยกประเภทเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม
พระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวง ในปัจจุบันกล่าวได้ว่ากองกฎหมายไทยในสำนักงาน
คณะกรรมการกฤษฎีกามีความรู้ ความชำนาญในการตรวจแบบของแผนที่ท้าย
กฎกระทรวงได้เป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่กองกฎหมายไทยเคยตรวจพบแผนที่ท้ายของ
ร่างกฎกระทรวงหลายฉบับที่มีอาณาเขตทับกับแผนที่ของกฎกระทรวงที่ประกาศใช้ไปแล้ว
หรือเขียนชื่ออำเภอ ตำบล หมู่บ้านไม่ถูกต้องตรงตามทำเนียบการปกครองท้องที่ของ
กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ผมยังได้มอบให้ข้าราชการในกองกฎหมายไทยช่วยกัน
รวบรวมแบบการร่างกฎหมายขึ้นไว้ เช่นการให้ใช้บังคับกฎหมายมีกี่แบบ
การยกเลิก
กฎหมายมีกี่แบบ การใช้ข้อความ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา
... ได้ใช้ใน
ลักษณะอย่างไร อำนาจเปรียบเทียบในรูปคณะกรรมการมีกี่ฉบับ อัตราโทษเท่าใด
ที่กฎหมายได้บัญญัติให้เปรียบเทียบได้แบบของบทเฉพาะกาล รวมทั้งการให้รวบรวม
กฎหมายประเภทเดียวกัน เช่น พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ประกาศซึ่งออกตามกฎหมาย
ว่าด้วยการบริหารราชการในยามฉุกเฉิน
คำสั่งของคณะปฏิวัติเท่าที่เคยมีมา ฯลฯ
ในปัจจุบันกล่าวได้ว่า กองกฎหมายไทยได้ช่วยรวบรวมแบบของกฎหมายต่าง ๆ
ไว้เป็น
จำนวนมาก และถ้าหากได้ปรับปรุงและเร่งรัดการทำงานให้ต่อเนื่องตลอดจน
จะทำให้งาน
ตรวจแบบและการร่างกฎหมายของสำนักงานฯ มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น
ในด้านกองกฎหมายต่างประเทศ ผมได้ขอให้รวบรวมแบบคำแปลภาษา
อังกฤษซึ่งใช้อยู่ในกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งการเทียบเคียงกับถ้อยคำที่ใช้ในกฎหมายของ
บางประเทศ เช่น กฎหมายของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
น่าเสียดายที่กองกฎหมายต่างประเทศมีอัตรากำลังน้อย
จึงไม่สามารถทำหน้าที่แปล
กฎหมายในราชกิจจานุเบกษาได้ทุกฉบับ
จะแปลให้ก็ต่อเมื่อมีส่วนราชการขอมา ซึ่งแตกต่าง
กับสมัยที่ผมเริ่มเข้าทำงาน
ในสมัยนั้นสำนักงานฯจะต้องมีคำแปลกฎหมายทุกฉบับเพื่อ
ประโยชน์ของที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างประเทศ
มีผู้เชี่ยวชาญในการแปลอยู่ ๒ ท่านคือ
พระพินิจพจนาถและหลวงดุลยศาสตร์ปฏิเวท โดยเฉพาะคุณพระพินิจพจนาถ
ท่านมี
ความสามารถแปลกฎหมายได้โดยไม่ต้องร่าง
กล่าวคือท่านแปลพร้อมกับพิมพ์ไปเลย
เมื่อแปลจบก็ใช้ได้
ผมจะไม่กล่าวในบทความนี้ให้ยืดยาวออกไปอีกว่า ในระหว่างที่ผมดำรง
ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
ผมได้ทำอะไรให้แก่สำนักงานนี้บ้าง ผมขอจบ
บทความนี้โดยสรุปความรู้สึกของผมไว้ดังนี้
๑.
ผมภูมิใจเข้าทำงานในสำนักงานนี้ โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วย
บรรณารักษ์ทำให้ผมได้มีโอกาสได้สัมผัสกับตำรากฎหมายทั้งไทยและเทศ
ได้ทำงานใกล้ชิด
กับชาวต่างประเทศ ทำให้ผมมีโอกาสพูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส
และเป็นประโยชน์
อย่างมากเมื่อผมไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส
๒.
การรับราชการเป็นพนักงานพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษ ทำให้ภาษา
อังกฤษของผมดีขึ้น มีความเคยชินกับการเปิดพจนานุกรมภาษาอังกฤษ
จนมีนิสัยชอบใน
พจนานุกรมและยังช่วยให้ผมใช้วิชาพิมพ์ดีดในการพิมพ์วิทยานิพนธ์ของผมในระหว่างที่
ศึกษากฎหมายอยู่ในประเทศฝรั่งเศส
๓.
การทำหน้าที่เลขานุการกรรมการร่างกฎหมายและเลขานุการคณะ
ที่ปรึกษากฎหมาย ช่วยทำให้ผมเกิดความแตกฉานในวิชาร่างกฎหมาย
และสอนให้ผมมี
นิสัยชอบศึกษาค้นคว้าการทำงานไว้ล่วงหน้า
เพื่อความสะดวกและความรวดเร็วในการ
ปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง
๔.
การทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เช่นเดียวกัน
ช่วยทำให้ผมได้มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง
ซึ่งให้ทั้งคุณและโทษแก่ตัวผม
แต่ในระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเวลา ๑๑
ปีกว่า
ผมได้รับความอบอุ่นจากน้ำใจของเพื่อนข้าราชการที่ให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือ
แก่ผมอย่างมากที่สุด และในขณะเดียวกันได้ช่วยสอนให้ผมเลิกยึดมั่นในความคิดเห็น
ของตนเอง ปล่อยให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก
หรือตามความคิดเห็นของผู้มีอำนาจที่จะ
ชี้ขาดที่อยู่ในระดับสูงกว่าผม
คงเหลืออยู่แต่ความหวังที่ผมอยากเห็นต่อไป คือ
การเผยแพร่แนวความคิดของกรรมการกฤษฎีกาให้ข้าราชการในสำนักงานคณะ
กรรมการกฤษฎีกาได้ศึกษาและยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ
เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
รวมทั้งความหวังที่จะได้เห็นการพัฒนาสำนักงาน
แห่งนี้ทุก ๆ ด้าน