แบบกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการ
นายธรรมนิตย์ สุมันตกุล
รักษาการกรรมการร่างกฎหมายประจำ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
การกำหนดกลไกในกฎหมายเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้น
ในบางครั้งมีความจำเป็นต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการในกฎหมายเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ
แบบการเขียนกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการจึงเป็นเรื่องที่นิติกรของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาควรจะต้องเรียนรู้
และปรากฏว่ากฎหมายส่วนใหญ่ก็กำหนดให้มีคณะกรรมการไว้ในกฎหมายค่อนข้างมาก
จนอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีคณะกรรมการในกฎหมายมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การที่จะกำหนดให้มีคณะกรรมการในกฎหมายนั้น
มิใช่ว่าจะเหมาะสมใช้ได้ในทุกกรณี
เพราะคณะกรรมการเป็นวิธีการบริหารจัดการอย่างหนึ่ง
บางครั้งอาจมีความเหมาะสมและจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการจัดการกับปัญหาในบางเรื่อง
แต่บางกรณีอาจไม่มีความเหมาะสมที่จะใช้คณะกรรมการเป็นผู้แก้ปัญหาก็ได้
ในบทความนี้ก่อนที่เราจะลงไปในรายละเอียดของแบบของบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการ
จึงขอกล่าวถึงความหมายและวัตถุประสงค์ของการกำหนดให้มีคณะกรรมการเสียก่อน
เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของการมีคณะกรรมการ และหลังจากนั้นจะได้กล่าวถึงแบบหรือวิธีการเขียนบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการ
และท้ายสุดจะได้กล่าวถึงแนววินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับคณะกรรมการด้วย
ซึ่งก็จะมีประโยชน์ในการใช้ในการเขียนบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการต่อไป
๑.
ความหมายและวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการ
คณะกรรมการ คือ กลุ่มของบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการบางอย่าง
มีเป้าหมายร่วมกัน และมีความสัมพันธ์ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งต่างมีอิทธิพลซึ่งกัน
และกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ในทางการบริหารนั้นเราถือว่าคณะกรรมการเป็นการกระทำของกลุ่ม
เราถือว่าคณะกรรมการเป็นกลุ่มก่อให้เกิดการรวมพลัง (synergy)
ผลรวมของงานที่เกิดขึ้นจากการทำงานเป็นกลุ่มย่อมมีมากกว่าผลรวมของงานที่เกิดจากต่างคนต่างทำ
คณะกรรมการอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น Board,
Commission,
Task
Force
หรือ Team
Work
คณะกรรมการเป็นกลุ่มที่เกิดจากการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ
มีอำนาจหน้าที่หรือภาระที่ได้รับมอบหมายอย่างชัดเจน อาจได้รับการแต่งตั้งเป็นการถาวรหรือเป็นหน่วยเฉพาะกิจก็ได้
การกำหนดให้มีคณะกรรมการนั้น อาจเป็นไปด้วยความมุ่งหมายต่างๆ
กัน เช่น
- คณะกรรมการกำหนดขึ้นเพื่อให้มีอำนาจในการจัดการ
- คณะกรรมการที่มีอำนาจในการตัดสิน
- คณะกรรมการที่กำหนดให้ทำหน้าที่แต่เฉพาะศึกษารายละเอียดโดยไม่มีอำนาจที่จะตัดสินใจ
- คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้จัดการหรือผู้บังคับบัญชา
ซึ่งผู้จัดการหรือผู้บังคับบัญชาจะตัดสินใจตามที่เสนอหรือไม่ก็ได้
- คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีอำนาจที่จะให้คำแนะนำหรือตัดสินใจในทางธุรกิจหรือการปฏิบัติราชการ
ในการบริหารจัดการในทางธุรกิจหรือการบริหารราชการแผ่นดินจะเห็นว่าอาจกำหนดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่ต่างๆ
ได้เช่น คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการการเงิน คณะกรรมการตรวจบัญชี
เหตุผลของการที่ใช้ระบบคณะกรรมการในการบริหาร มีดังนี้
(๑) เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจ
คณะกรรมการจะสามารถเป็นที่ระดมประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
รับรู้ข้อเท็จจริงได้มากกว่าบุคคลเพียงคนเดียว
การตัดสินใจจะกระทำด้วยประสบการณ์ร่วม ทำให้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันหาวิธีร่วมกันในการตัดสินใจจนได้การตัดสินใจที่มีคุณภาพสูงสุด
ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์กว่า เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์
และมีความหลากหลายในการแสวงหาข้อมูลจากแหล่งที่แตกต่างกัน ซึ่งคนเดียวทำไม่ได้
(๒) ทำให้ได้ทางเลือกในการตัดสินใจมากกว่า
เพราะมีความหลากหลายของข้อมูล โดยเฉพาะคณะกรรมการที่มาจากหลายอาชีพและความเชี่ยวชาญหลายสาขา
(๓)
ไม่ต้องการให้อำนาจตัดสินใจผูกขาดอยู่กับบุคคลคนเดียว ต้องการให้มีการรับฟังความคิดเห็น
เนื่องจากการตัดสินใจของคนๆ เดียวมีแนวโน้มของการใช้อำนาจที่เป็นเผด็จการ
(๔) ต้องการให้ตัวแทนจากผู้มีส่วนได้เสียอยู่ในการพิจารณาปัญหา
ทำให้การตัดสินใจจากกลุ่มมีความเป็นกลางมากขึ้นโดยผ่านทางตัวแทน นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการเชื่อตามและยอมรับคำตัดสินที่มีขึ้นนั้น ทั้งนี้ การบริหารองค์กรสมัยใหม่ยอมรับกันว่าเป็นการสร้างบรรยากาศการทำงานเพื่อให้เกิดผลงานสูงสุด
ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากกลุ่มที่เกี่ยวข้อง
(๕) เพื่อประสานแผนงานและนโยบาย
ทำให้ทุกคนเห็นได้ว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างใด แผนเป็นอย่างไร ตนอยู่ส่วนใดของแผน
และทุกคนแนะนำแผนได้
(๖) ถ่ายทอดข่าวสาร เพื่อทุกฝ่ายที่มีกิจกรรมร่วมกันสามารถที่จะเรียนรู้ในขณะเดียวกันได้
ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นวิธีการหนึ่งของการสื่อสารในองค์กรก็ได้
(๗) เพื่อการบริหารแผนแบบองค์รวม ขจัดอุปสรรคอันเกิดจากโครงสร้างขององค์กร
จะประสานงานในแนวนอน โดยไม่กระทบต่อโครงสร้างขององค์กร ในกรณีนี้เมื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรไว้อย่างแน่นอนตายตัวแล้ว
จะเกิดความแข็งตัวในองค์กร ซึ่งไม่สามารถนำทรัพยากรจากส่วนต่างๆ มาบูรณาการได้
ระบบคณะกรรมการก็จะเป็นวิธีการที่ให้มีการประสานการทำงานระหว่างกันในองค์กร
โดยเฉพาะภาระหน้าที่ที่เร่งด่วนหรือเพิ่งเกิดมีขึ้น
(๘) ส่งเสริมให้เกิดผลงานสูงขึ้น
ดีกว่าต่างคนต่างทำ มีความสอดคล้องต่อเนื่องของงาน ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
ลดต้นทุน
ระบบคณะกรรมการย่อมมีข้อเสียบางประการ
ซึ่งมีดังนี้
(๑) มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งด้านเงิน เวลา
การเดินทาง การอภิปรายที่ยาวเหยียด เพราะถ้าสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วก็คงไม่ต้องประชุม
และบางครั้งต้องประชุมหลายครั้งกว่าจะได้ข้อยุติ ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่าการตัดสินใจของบุคคลเพียงคนเดียว
(๒) เป็นการตัดสินใจที่อ่อนแอ เพราะกรรมการมาจากองค์กรที่เท่าเทียมกัน
อาจมีความสุภาพ เกรงใจ ประนีประนอมค่อนข้างสูง
จนทำให้เกิดการละเลยในการเสนอข้อเท็จจริงหรือเสนอแง่มุมอื่นในการตัดสินใจ
(๓) มีความยุ่งยากที่จะตกลงกันได้
และมักเลื่อนไปโดยไม่ปฏิบัติสิ่งใดเลย
(๔) มีบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ
การตัดสินใจอย่างเป็นกลางเกิดขึ้นไม่ได้ ผู้ที่ต่ำกว่าย่อมต้องเห็นตาม
หรือมิฉะนั้นจะเกิดการต่อสู้ระหว่างกลุ่มขึ้น
(๕) สมาชิกทุกคนยากที่จะรู้สึกว่ามีความรับผิดชอบ
จะไม่มีผู้ใดรู้สึกว่าเป็นการกระทำร่วมของกลุ่ม ความรับผิดชอบในผลงานจึงไม่ชัดเจนเหมือนการตัดสินใจโดยบุคคล
คนเดียว
(๖) อาจกลายเป็นเผด็จการกลุ่มย่อย ถ้ากรรมการคนหนึ่งควบคุมคณะกรรมการชุดนั้นโดยการใช้อำนาจที่ไม่เห็นด้วย
การทำงานของคณะกรรมการจึงล้มเหลวจากกรรมการผู้นั้น โดยเสียงส่วนน้อยครอบงำความคิดเห็นเสียงส่วนใหญ่
นอกจากนี้ตำแหน่ง ประสบการณ์ ความรู้ ทักษะ อาจทำให้สมาชิกข้างน้อยมีอิทธิพลเหนือสมาชิกข้างมากได้
รูปแบบการทำงานในระบบคณะกรรมการนั้นอาจมีอยู่อย่างหลากหลาย
ซึ่งรวบรวมได้ดังนี้
หน่วยเฉพาะกิจ (task group)
ได้แก่กลุ่มที่เป็นทางการที่ตั้งขึ้นเพื่อทำงานเฉพาะงานใดงานหนึ่ง
เมื่องานเสร็จก็จะหมดหน้าที่ อาจมีชื่อเรียกอื่นว่า Ad
hoc
Committee
หรือ Project
Group
หรือ Work
Team
ก็ได้
คณะกรรมการ (committee)
เป็นกลุ่มที่ตั้งอย่างเป็นทางการ มีหน้าที่ตามที่กำหนด ตั้งเป็นการถาวร
มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น Standing Committee หรือ
Permanent
Task
Group
เป็นต้น
ขนาดของคณะกรรมการ
ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้ทำอะไร และเน้นเรื่องอะไร
เช่น ความหลากหลาย การมีส่วนร่วม การแสวงหาข้อเท็จจริง โดยปรกติแล้วคณะกรรมการขนาดเล็กเห็นได้ว่าทำงานได้สำเร็จได้มากกว่าคณะกรรมการขนาดใหญ่
แต่ถ้าต้องการให้กลุ่มแก้ปัญหาที่ยุ่งยาก คณะกรรมการกลุ่มใหญ่จะสามารถแก้ปัญหาอย่างมีระบบดีกว่าคณะกรรมการขนาดเล็ก
และมีข้อสังเกตว่า
ยิ่งคณะกรรมการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าใด การมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่มยิ่งลดลง
เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า free rider
tendency
คือเข้ามามีส่วนร่วมแต่ไม่ได้ให้อะไรตอบแทนกลับไป และการกระจายความรับผิดชอบจะไม่สามารถอ้างว่าผู้ใดรับผิดชอบ
กลุ่มใหญ่ขึ้น สมาชิกจะทำตัวเป็นอิสระ ผลักภาระไปให้กลุ่ม
ไม่สามารถหรือระบุได้ว่างานเป็นของใคร
จากตารางดังต่อไปนี้
จะทำให้เราเข้าใจว่ากิจกรรมหรืองานแบบใดควรกระทำโดยระบบคณะกรรมการหรือไม่
หน้าที่
|
สามารถทำได้ดีโดยคณะกรรมการ
|
สามารถทำได้โดยคณะกรรมการแต่บุคคล
คนเดียวทำดีกว่า
|
บุคคลเดียวโดยมีคณะกรรมการช่วยเหลือ
|
บุคคลคนเดียวดีกว่าและจะไม่เกิดผลโดยคณะกรรมการ
|
วางแผน
|
๒๐
|
๒๐
|
๒๕
|
๒๕
|
ควบคุม
|
๒๕
|
๒๐
|
๒๕
|
๓๐
|
กำหนดเป้าหมาย
|
๓๕
|
๓๕
|
๑๐
|
๒๐
|
การตัดสินปัญหากฎหมาย
|
๙๐
|
๑๐
|
-
|
-
|
ผู้นำ
|
-
|
-
|
๑๐
|
๙๐
|
การบริหาร
|
๒๐
|
๒๕
|
๒๕
|
๓๐
|
การปฏิบัติ
|
๑๐
|
๑๕
|
๑๐
|
๖๕
|
การคิดค้น
|
๓๐
|
๒๐
|
๒๐
|
๓๐
|
การสื่อสาร
|
๒๐
|
๑๕
|
๓๕
|
๓๐
|
การแนะนำ
|
๑๕
|
๒๕
|
๓๕
|
๒๕
|
การตัดสินใจ
|
๑๐
|
๓๐
|
๑๐
|
๕๐
|
อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยพบว่า ในคณะกรรมการที่ยิ่งสมาชิกมีความดึงดูดซึ่งกันและกันมากขึ้นเพียงใด
เป้าหมายของกลุ่มจะยิ่งเป็นแนวเดียวกันกับเป้าหมายของสมาชิก
แต่ละคนมากขึ้นเพียงนั้น ประสิทธิภาพงานของคณะกรรมการจะสูง ซึ่งขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้
(๑) อายุ ทัศนคติ
พื้นฐานของสมาชิกผู้เป็นกรรมการ
(๒) ความเคารพในความรู้ความสามารถซึ่งกันและกัน
(๓) การพึ่งพาอาศัยความรู้ความสามารถในการทำงานซึ่งกันและกัน
(๔) คณะกรรมการมีเป้าหมายร่วม
(๕) คณะกรรมการมีขนาดเล็ก
(๖) คณะกรรมการเคยประสบความสำเร็จในการทำงานมาแล้ว
(๗) คณะกรรมการเคยทำงานในภาวะวิกฤติมาแล้ว
ข้อสังเกตข้างต้นนี้คงจะทำให้เราเข้าใจถึงสภาพจิตวิทยาในการทำงานในระบบคณะกรรมการที่จะทำให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้
และจากประสบการณ์ในการทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ปรากฏว่า ท่านกรรมการกฤษฎีกาก็มีความเห็นตรงกันว่าความสำเร็จของการประชุมในระบบคณะกรรมการนั้น
จะขึ้นอยู่กับบุคคลสองคน คือ ประธานกรรมการ และเลขานุการ
ซึ่งทั้งสองท่านก็จะต้องประสานงานให้เกิดความสัมพันธ์ในระหว่างกรรมการผู้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการตามข้างต้นให้ได้
๒. แบบและข้อสังเกตการเขียนบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการ
ในส่วนนี้จะได้กล่าวถึงแบบการเขียนบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถือเป็นแนวทางปฏิบัติอยู่
อย่างไรก็ตาม
ในบางเรื่องยังไม่ได้เป็นแบบการเขียนอย่างเป็นทางการที่แน่ชัด
แต่ผู้เขียนขอแนะนำเป็นแบบอย่างกลางๆ ไปก่อนจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้พบปัญหามา จนกว่าจะมีแบบของสำนักงานอย่างเป็นทางการออกมา
๒.๑ องค์ประกอบของคณะกรรมการ
คณะกรรมการจะประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ๔ ส่วน
ดังต่อไปนี้
(๑)
ประธานกรรมการ ผู้ที่อาจกำหนดให้เป็นประธานกรรมการได้มี
สามประเภท คือ
(๑.๑) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่
นายกรัฐมนตรี (หรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย)
หรือรัฐมนตรีเป็นประธาน
(๑.๒) ข้าราชการประจำ ได้แก่ ปลัดกระทรวงเป็นประธาน
(หรือถ้ากฎหมายบางระดับเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีเหมาะสมที่จะเป็นประธานกรรมการก็กำหนดได้
เช่น พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๑๑
ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการการขุดดินและถมดิน ประกอบด้วยอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นประธานกรรมการ)
(๑.๓) ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้แก่บุคคลซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง
เช่น มาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้มีคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย
โดยผู้เป็นประธานกรรมการได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์สูงด้านการวิจัยซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง
(๒)
กรรมการโดยตำแหน่ง
การที่กฎหมายกำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากส่วนราชการเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการประสานนโยบายของทางราชการเข้ากับการทำงานหรือการตัดสินใจของคณะกรรมการ
กรรมการโดยตำแหน่งจึงทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารนโยบายของทางราชการด้วย
(๓)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (หรือในบางพระราชบัญญัติจะกำหนดให้มีกรรมการที่เป็นผู้แทนมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกเป็นกรรมการด้วย)
(๔)
เลขานุการ โดยปรกติแล้วเลขานุการจะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งด้วย
แต่ก็ไม่เสมอไปบางพระราชบัญญัติอาจกำหนดให้เป็นเพียงเลขานุการโดยไม่เป็นกรรมการด้วยก็มี
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา
๑๒ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกอบด้วย
ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ผู้แทนสมาชิกซึ่งเป็นข้าราชการตามมาตรา ๓ ประเภทละหนึ่งคนซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา
๑๓ และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคนซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา ๑๔ เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการอาจแต่งตั้งพนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน
พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.
๒๕๔๐
มาตรา ๖
ในแต่ละจังหวัดที่มีการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น
ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด
หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด สรรพากรจังหวัด ป่าไม้จังหวัด
หัวหน้าคณะผู้บริหารท้องถิ่น
ทุกราชการส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดเก็บรังนกอยู่ในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้น
และผู้ทรงคุณวุฒิ
อีกหกคนซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากรายชื่อบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์เกี่ยวกับรังนกที่คณะผู้บริหารท้องถิ่นที่มีการจัดเก็บรังนกในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้นเสนอจำนวนสองคนและที่สภาจังหวัดเสนอจำนวนสี่คนเป็นกรรมการ
และปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
อย่างไรก็ตาม ไม่แน่เสมอไปว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการจะต้องมี
๔ ส่วนข้างต้นเสมอไป ลองดูตัวอย่างของกฎหมายดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๓๗
มาตรา ๑๑ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า
คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการ
และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเก้าคน ในจำนวนนี้ให้มีผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หนึ่งคนและผู้แทนกระทรวงการคลังหนึ่งคน
และให้ผู้ว่าการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตามวรรคหนึ่ง
พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา
๒๐
ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรประกอบด้วย ประธานกรรมการ
และกรรมการซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งมีจำนวนรวมกันเจ็ดคน
โดยให้แต่งตั้งจากบุคคลในคณะกรรมการจำนวนสามคนซึ่งในจำนวนนี้จะต้องเป็นผู้แทนเกษตรกรจำนวนสองคน
และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญมีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องทางสาขาเศรษฐศาสตร์
สาขาการบริหาร การเงินหรือการธนาคาร และสาขาเกษตรศาสตร์สาขาละหนึ่งคนเป็นกรรมการ
และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้คณะกรรมการบริหารเลือกกรรมการด้วยกันเป็นประธานกรรมการและรองประธานกรรมการ
ให้นำมาตรา
๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการบริหารด้วยโดยอนุโลม (แก้ไขโดย
พ.ร.บ. (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕)
พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย
พ.ศ. ๒๕๒๗
มาตรา ๙ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล
ทราย ประกอบด้วยผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งจากข้าราชการใน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หนึ่งคน
ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งจากข้าราชการ
ในกระทรวงพาณิชย์สองคน
ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งจากข้าราชการใน
กระทรวงอุตสาหกรรมสองคน ผู้แทนชาวไร่อ้อยเก้าคนและผู้แทนโรงงานเจ็ดคน เป็นกรรมการ
ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการด้วยกันเป็นประธานกรรมการ
รองประธาน
กรรมการคนที่หนึ่ง และรองประธานกรรมการคนที่สองตำแหน่งละหนึ่งคน
ให้เลขาธิการเป็นเลขานุการคณะกรรมการ
ข้อสังเกต
(๑) การกำหนดให้บุคคลประเภทใดตาม (๑.๑) (๑.๒)
หรือ (๑.๓) เป็นประธานกรรมการจะมีผลต่อการทำงานของคณะกรรมการทั้งคณะมาก
คณะกรรมการบางรูปแบบต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามารับผิดชอบการตัดสินใจก็เลือกกำหนดตาม
(๑.๑) เช่น พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ
แต่บางครั้งกฎหมายนั้นเองไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย (หลังจากได้รับนโยบายมาแล้ว)
ก็กำหนดให้ข้าราชการประจำเป็นประธานกรรมการ
หรือถ้าไม่ต้องการให้มีการบริหารโดยระบบราชการหรือถ้าต้องการให้มีความเป็นอิสระภายใต้การกำกับดูแล
ก็จะให้มีประธานกรรมการมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีแต่งตั้ง
(๒)
การเรียงลำดับกรรมการโดยตำแหน่ง กฎหมายที่กำหนดคณะกรรมการโดยให้มีองค์ประกอบอย่างกว้างขวางนั้น
ผู้ร่างกฎหมายจะสับสนว่าจะเรียงลำดับตำแหน่งอย่างไร โดยหลักแล้วจะเรียงตำแหน่ง
ดังนี้
เริ่มจากตำแหน่งของส่วนราชการ
(กระทรวง ทบวง กรม) จากปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้อำนวยการกอง
ตามชั้นของระดับตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน
ประกอบกับกฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และในแต่ละกลุ่มก็จะเรียงตามตัวอักษร (โปรดสังเกตว่าในกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง
ทบวง กรม ก็เรียงตามตัวอักษรอยู่แล้ว)
ต่อด้วยผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ลำดับตามตัวอักษร ตามด้วยผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ
ลำดับตามตัวอักษร และผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ (เช่น
องค์การมหาชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ตามตัวอักษร
ถ้ามีกรรมการโดยตำแหน่งจากภาคเอกชนด้วย เช่น
ประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย
และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ให้เรียงตามตัวอักษร
กฎหมายบางฉบับกำหนดกรรมการโดยตำแหน่งปนกันระหว่างหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนของส่วนราชการ
เช่น ... อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือผู้แทน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการหรือผู้แทน อธิบดีกรมการค้าภายในหรือผู้แทน
อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้แทน ผู้แทนกระทรวงกลาโหม
ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
กรณีนี้ให้เรียงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการก่อนไว้กลุ่มหนึ่ง
แล้วจึงต่อด้วยผู้แทนของส่วนราชการ การใช้คำว่า ผู้แทน
มีผลต่อการกำหนดตำแหน่งคณะกรรมการอย่างไร จะกล่าวต่อไป
(๓) คณะกรรมการควรมีผู้เป็นกรรมการจำนวนเท่าใด
คงขึ้นอยู่กับภารกิจที่กล่าวไว้ในตอนความหมายและวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการข้างต้น
แต่ในแง่ของการเขียนกฎหมายแล้ว ควรต้องคำนึงเลยไปถึงองค์ประชุมด้วย
เพราะถ้ากำหนดให้มีกรรมการมาก
จะมีปัญหาองค์ประชุมตามมาซึ่งกว่าจะครบองค์ประชุมกึ่งหนึ่ง คงเป็นเรื่องยาก
ถ้าคณะกรรมการชุดนั้นไม่ได้รับความสนใจในการเข้าประชุมของกรรมการ
(๔) การใช้คำว่า ผู้แทน
...
หรือ
... หรือผู้แทน ผู้เขียนเห็นว่ามีความหมายไม่ต่างกัน คำว่า ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
หมายความว่าผู้ใดก็ได้ที่เป็นข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกามอบหมายให้ไปประชุมแทน
คำว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน
มีความหมายทำนองเดียวกันว่าผู้ใดก็ได้ที่เป็นข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกามอบหมายให้ไปประชุมแทน
ไม่ได้มอบหมายแต่เฉพาะบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๓๘
แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่จะมอบอำนาจได้ มีคำถามว่า ถ้าเจตนาจะให้หมายถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าประชุมเท่านั้น
จะเขียนอย่างไร ก็มีตัวอย่างกฎหมายที่อาจใช้เป็นแนวทางได้ เช่น มาตรา ๑๔๓ วรรคสาม
แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ใช้คำว่า อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาราชการแทน
(๕) การกำหนดให้มีคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการจำนวนมาก
อาจมีปัญหาในการอ่าน อาจใช้เทคนิคการแบ่งหัวข้อย่อยได้ ดังนี้
พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๕
มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย
(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ
(๒) ปลัดกระทรวงกลาโหม
ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
(๓)
ผู้แทนเทศบาลหนึ่งคน องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนึ่งคน องค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งคน
และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นหนึ่งคน โดยให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทคัดเลือกกันเอง
(๔)
ผู้แทนองค์กรเอกชนซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไรและดำเนินกิจกรรมดังต่อไปนี้
องค์กรละหนึ่งคน โดยการคัดเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มให้เหลือกลุ่มละหนึ่งคน
และให้ผู้แทนดังกล่าวคัดเลือกกันเองให้เหลือจำนวนห้าคน
(ก) งานด้านเด็กหรือเยาวชน
(ข) งานด้านสตรี
(ค) งานด้านผู้สูงอายุ
(ง) งานด้านคนพิการหรือผู้ป่วยจิตเวช
(จ)
งานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น
(ฉ) งานด้านผู้ใช้แรงงาน
(ช) งานด้านชุมชนแออัด
(ซ) งานด้านเกษตรกร
(ฌ) งานด้านชนกลุ่มน้อย
(๕) ผู้แทน
ผู้ประกอบอาชีพด้านสาธารณสุขจำนวนห้าคน ได้แก่ ผู้แทนแพทยสภา สภาการพยาบาล
สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ด้านละหนึ่งคน
(๖)
ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเจ็ดคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านประกันสุขภาพ
การแพทย์และสาธารณสุข การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกการเงินการคลัง
กฎหมายและสังคมศาสตร์ ด้านละหนึ่งคน
องค์กรเอกชนตาม (๔)
ต้องเป็นองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมมาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และได้มาขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานก่อนครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่มีเหตุให้มีการคัดเลือกกรรมการถ้าองค์กรใดดำเนินกิจกรรมหลายกลุ่ม
ให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิคัดเลือกกรรมการในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการตาม
(๓) และ (๔) ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ให้กรรมการตาม (๑)
(๒) (๓) (๔) และ (๕) ดำเนินการสรรหาและพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการตาม
(๖)
หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาและพิจารณาคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคสี่ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ให้เลขาธิการเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ
(๖) ความซับซ้อนของการสรรหา
ตัวอย่างของกฎหมายต่อไปนี้จะเห็นได้ว่ามีความซับซ้อนในการสรรหากรรมการอย่างยิ่ง
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง
วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
มาตรา ๙
ในการแต่งตั้งกรรมการ ให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการคณะหนึ่งมีจำนวนสิบเจ็ดคน
ทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการ ประกอบด้วย
(๑) ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี
ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
และผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
(๒)
ผู้แทนคณาจารย์ประจำซึ่งสอนในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์
หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนที่เป็นนิติบุคคล
และมีการสอนระดับปริญญาในสาขาวิชาดังกล่าว สถาบันละหนึ่งคน
คัดเลือกกันเองให้เหลือสี่คน
(๓)
ผู้แทนสมาคมวิชาชีพด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่เป็นนิติบุคคลสมาคมละหนึ่งคน
คัดเลือกกันเองให้เหลือสี่คน
(๔) ผู้แทนองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคล
ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านสื่อสารมวลชน
หรือใช้สื่อสารมวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ
องค์กรละหนึ่งคน คัดเลือกกันเองให้เหลือสี่คน
กรรมการสรรหาไม่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ
ให้คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกกรรมการสรรหาคนหนึ่ง
เป็นประธานกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการสรรหาอีกคนหนึ่ง
เป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา
ให้สำนักงาน กสช.
ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการในการดำเนินการสรรหาและคัดเลือกกรรมการ
มาตรา ๑๐
การคัดเลือกและการเลือกกรรมการ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑)
ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้
หรือมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ตามมาตรา ๗
รวมทั้งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘
เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้งเสนอต่อประธานวุฒิสภาพร้อมทั้งรายละเอียดของบุคคลดังกล่าว
ซึ่งจะต้องระบุให้ชัดเจน
หรือมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมในด้านใดด้านหนึ่งตามมาตรา ๗
และความยินยอมเป็นหนังสือของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น
(๒)
ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติเลือกผู้ได้รับการเสนอรายชื่อตาม (๑)
ซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ
ในการนี้ให้บุคคลซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการ
แต่ถ้าไม่มีผู้ได้รับเลือกหรือมีผู้ได้รับเลือกไม่ครบจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้ง
ให้นำรายชื่อของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อที่เหลืออยู่ทั้งหมดมาให้สมาชิกวุฒิสภาออกเสียงลงคะแนนเลือกอีกครั้งหนึ่งต่อเนื่องกันไป
และในกรณีนี้ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ
ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันในลำดับใดอันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกินจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้ง
ให้ประธานวุฒิสภาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก
(๓)
ในกรณีที่ไม่มีผู้ได้รับเลือกหรือมีผู้ที่ได้รับเลือกไม่ครบจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้งให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกตาม
(๑) เพื่อเสนอวุฒิสภาลงมติเลือกตาม (๒) ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ในการแต่งตั้งกรรมการครั้งแรกเมื่อได้มีการคัดเลือกบุคคลเป็นกรรมการครบจำนวนแล้ว
ให้ผู้ที่ได้รับเลือกทั้งหมดประชุมร่วมกันเพื่อคัดเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ
และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
๒.๒ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง
วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
มาตรา ๘
กรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(๓)
ไม่เคยเป็นกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ
(๔) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา
ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(๕) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง
(๖)
ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๗) ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
(๘) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(๙) ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๑๐)
ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอชื่อ
เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
(๑๑) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก
หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชน
เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๒)
ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(๑๓) ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(๑๔) ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
๒.๓ วาระการดำรงตำแหน่ง
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา
๑๗
ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี
แต่จะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง
วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
มาตรา ๑๓
กรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสามปี ให้ กสช.
ออกจากตำแหน่งจำนวนสามคนโดยวิธีจับสลาก และให้ถือว่าการออกจากตำแหน่งโดยการจับสลากดังกล่าวเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ
แต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่
เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการคนใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อสิ้นสุดวาระของกรรมการคนเดิม
ให้ดำเนินการคัดเลือกและเลือกกรรมการคนใหม่เป็นการล่วงหน้าตามสมควร
ข้อสังเกต การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่นั้น
มีข้อพิจารณาคือ
กรรมการบางประเภทกฎหมายต้องการให้เกิดความอิสระและเป็นกลางในการพิจารณาโดย
ไม่ต้องคำนึงว่าจะได้รับแต่งตั้งอีกหรือไม่ กฎหมายก็จะกำหนดให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว
แต่ถ้าต้องการประสบการณ์ กล่าวคือ
ยิ่งกรรมการผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่นานเท่าใดก็จะยิ่งมีประสบการณ์ที่จะทำหน้าที่
ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่ต้องกำหนดวาระจำกัดไว้
๒.๔ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา
๑๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
กรรมการผู้แทนสมาชิก หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓)
เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔)
เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕)
ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๖)
พ้นจากการเป็นสมาชิกหรือพ้นจากการเป็นข้าราชการประเภทที่ตนได้รับเลือกเป็นผู้แทนในกรณีกรรมการผู้แทนสมาชิก
(๗)
มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ ในกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ข้อสังเกต การกำหนดว่าเป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายควรพิจารณาอย่างรอบคอบ
เพราะการเป็นกรรมการบางเรื่องจะไม่เกี่ยวกับการเป็นผู้มีปัญหาในทางการเงินเลย
แต่กรรมการบางกฎหมายก็จะเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามที่สำคัญ เช่น
กรรมการที่ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับการเงิน
ย่อมต้องไม่น่าจะเป็นผู้ที่เคยเป็นบุคคลล้มละลายด้วย
๒.๕
การเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการใหม่
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา
๑๙
ในกรณีที่กรรมการผู้แทนสมาชิกหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
ให้ดำเนินการเลือกกรรมการขึ้นใหม่ภายในหกสิบวันในระหว่างที่ยังมิได้มีการเลือกกรรมการขึ้นใหม่
ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไป
จนกว่ากรรมการที่ได้รับเลือกใหม่เข้ารับหน้าที่
ข้อสังเกต
กฎหมายบางฉบับมีวิธีเขียนเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่มีกรรมการบางประเภทไม่ครบ เช่น
อยู่ในระหว่างเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ซึ่งในระหว่างนี้เคยมีการวินิจฉัยโดยคณะกรรมการการกฤษฎีกาว่าไม่อาจประชุมได้เพราะไม่มีองค์ประชุมเลย
๒.๖ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
๒.๗ องค์ประชุม
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา
๒๗
การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมของคณะกรรมการ
ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน
ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
การออกเสียงลงมติแต่งตั้งหรือเลิกจ้างเลขาธิการต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่ง
ข้อสังเกต ระยะหลังก็จะเพิ่ม
หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่
เข้าไปด้วย
๒.๘ ความเห็นของกรรมการข้างน้อย
มีตัวอย่างของกฎหมายที่เขียนต่างออกไปในกรณีที่ที่ประชุมให้น้ำหนักแก่ความเห็นข้างน้อยด้วย
พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๗๗
(วรรคสาม) ในการประชุม
ถ้ามีความเห็นแย้งให้บันทึกความเห็นแย้งพร้อมทั้งเหตุผลไว้ในรายงานการประชุมด้วยแต่กรรมการคนใดจะขอให้รวมความเห็นแย้งของตนไว้ในคำวินิจฉัยก็ได้
๒.๙ การมีส่วนได้เสีย
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา
๒๘
กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา
ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องนั้น
ข้อสังเกต กฎหมายบางฉบับมีรายละเอียดการเป็นผู้มีส่วนได้เสียอาจมีได้ถ้าเป็นกิจการสาธารณประโยชน์และมิได้แสวงหากำไร
ดังตัวอย่างต่อไปนี้
พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
พ.ศ. ๒๕๔๔
มาตรา ๑๘ (๗) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับกองทุน
หรือในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุน
หรือได้รับประโยชน์ในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
เว้นแต่เป็นผู้ดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์และมิได้แสวงหากำไร
มาตรา ๒๒ (วรรคสาม) ในการปฏิบัติหน้าที่
กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียโดยตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณา
ให้กรรมการผู้นั้นแจ้งให้ที่ประชุมทราบและให้ที่ประชุมพิจารณาว่ากรรมการผู้นั้นสมควรจะอยู่ในที่ประชุมและมีมติในการประชุมเรื่องนั้นได้หรือไม่
ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
พระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ.
๒๕๓๗
มาตรา ๑๓ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ
(๑)
เป็นผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจที่กระทำกับ กคช.
หรือในธุรกิจที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของ กคช. ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
เว้นแต่เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดในกิจการเช่นว่านั้นก่อนวันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ
กรรมการ หรือเป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในบริษัทจำกัด
หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ กคช. เป็นผู้ถือหุ้น
(๒)
เป็นพนักงานหรือลูกจ้างนอกจากผู้ว่าการ
๒.๑๐ ตัวอย่างการเขียนบทบัญญัติเกี่ยวกับประโยชน์ตอบแทน
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา
๒๙
ให้กรรมการและอนุกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
๒.๑๑ คณะอนุกรรมการ (ถ้ามี)
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา
๓๐ ให้มีคณะอนุกรรมการจัดการลงทุน
ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธานอนุกรรมการ
ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คนซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้ง
เป็นอนุกรรมการ และเลขาธิการเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
๒.๑๒ อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา
๓๑
ให้คณะอนุกรรมการจัดการลงทุนมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑)
ให้คำแนะนำปรึกษาด้านการลงทุนต่อคณะกรรมการ
(๒)
ให้คำแนะนำปรึกษาด้านการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกสถาบันการเงินที่จะมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุน
(๓)
ติดตามดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุน
(๔)
รายงานผลการดำเนินการด้านการลงทุนและเสนอความเห็นต่อคณะ
กรรมการ
(๕)
ปฏิบัติการในเรื่องอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
๒.๑๓ การอนุโลมบทบัญญัติมาใช้กับคณะอนุกรรมการ
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา
๓๔ ให้นำมาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙
มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง
และการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
๒.๑๔ ตัวอย่างการอนุโลมพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
พ.ศ. ๒๕๓๙ มาใช้ในการเขียนบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการ
พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๑๐ ให้นำความในมาตรา ๗๕ มาตรา ๗๖ มาตรา ๗๗
มาตรา ๗๘ มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐
มาตรา ๘๑ มาตรา ๘๒ และมาตรา ๘๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.
๒๕๓๙ มาใช้บังคับกับการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
การพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการประชุมของคณะกรรมการโดยอนุโลม
และให้กรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา
๗ ด้วย
๒.๑๕ ตัวอย่างการเขียนคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง
พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๑๒
ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ
โดยในแต่ละคณะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
และมีความรู้และประสบการณ์ด้านต่างๆ เช่น นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์
เภสัชศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ การบัญชี หรือการบริหารธุรกิจ
มีจำนวนไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินหกคน เป็นอนุกรรมการ และให้ผู้แทนกรมการค้าภายในเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
ให้คณะอนุกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเลือกอนุกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานอนุกรรมการ
๒.๑๖ ตัวอย่างการเขียนคณะกรรมการสอบสวน
พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๑๔
ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ
โดยในแต่ละคณะประกอบด้วยผู้ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ทางคดีอาญาหนึ่งคน
ซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจ หรือข้าราชการอัยการ และข้าราชการซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ทางเศรษฐศาสตร์
นิติศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือการบัญชี อีกไม่เกินสี่คนเป็นอนุกรรมการ
และให้ผู้แทนกรมการค้าภายในเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
ให้คณะอนุกรรมการสอบสวนมีอำนาจหน้าที่สืบสวนและสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
และเมื่อได้ดำเนินการแล้วให้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป
ให้คณะอนุกรรมการสอบสวนเลือกอนุกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานอนุกรรมการ
และอย่าลืมว่าต้องมีบทบัญญัติดังต่อไปนี้ด้วย
พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๑๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
ให้กรรมการและอนุกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๑๔
มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๖
ในกรณีที่คณะกรรมการมีความเห็นควรสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการ
การแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ประธานกรรมการเป็นผู้ใช้อำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ว่าราชการจังหวัด
แล้วแต่กรณี
๓.
ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับคณะกรรมการ
(๑) การแต่งตั้งกรรมการแบบต่างๆ
หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ สร.๐๖๐๑/๑๔๔๖
ลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๒๒ เรื่อง ปัญหาการแต่งตั้งกรรมการ
ตอบข้อหารืออธิบดีกรมการแพทย์ (เรื่องเสร็จที่ ๓๖๗/๒๕๒๒)
(๑.๑) การแต่งตั้งที่ระบุชื่อของบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งเพียงอย่างเดียว
เป็นการแต่งตั้งโดยเจาะจงตัวบุคคลอันเป็นการเฉพาะตัว ไม่ว่าผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการจะมีตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างไรในขณะที่ได้รับการแต่งตั้ง
หรือมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ไปในภายหลัง
ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงฐานะการเป็นกรรมการของบุคคลนั้น
และบุคคลนั้นก็ไม่อาจมอบหมายให้บุคคลอื่นใดเข้าประชุมในฐานะกรรมการแทนได้
(๑.๒) การแต่งตั้งที่ระบุตำแหน่งของบุคคล
เป็นการแต่งตั้งโดยคำนึงถึงตำแหน่งของบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นสำคัญ
บุคคลใดก็ตามมาดำรงตำแหน่งนี้ย่อมมีฐานะเป็นกรรมการตามกฎหมายหรือคำสั่งแต่งตั้งนั้น
การมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นกรรมการแทนย่อมไม่อาจกระทำได้ เว้นแต่เป็นการมอบหมายตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
(๑.๓)
การแต่งตั้งโดยระบุชื่อของบุคคลและตำแหน่งของผู้นั้นด้วย
หรือการแต่งตั้งโดยระบุตำแหน่งและต่อท้ายด้วยชื่อ เป็นการแต่งตั้งที่มีลักษณะเจาะจงตัวบุคคลอันเป็นการเฉพาะตัว
เพราะผู้ที่จะเป็นกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีทั้งชื่อและดำรงตำแหน่งตามที่ระบุไว้
หากตำแหน่งของบุคคลดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปก็ย่อมมีผลทำให้บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง
การที่จะมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าประชุมแทนในฐานะกรรมการจึงไม่อาจกระทำได้
(๑.๔) การแต่งตั้งที่ระบุชื่อและวงเล็บตำแหน่งไว้ข้างท้าย
และการแต่งตั้งที่ระบุตำแหน่งและวงเล็บชื่อไว้ข้างท้าย
กรณีอาจมีปัญหาได้ว่าผู้แต่งตั้งมีเจตนาหรือความประสงค์อย่างใดแน่ กล่าวคือ
ในกรณีที่ระบุชื่อและวงเล็บตำแหน่งไว้ข้างท้ายชื่อ
ผู้แต่งตั้งอาจมีเจตนาที่จะแต่งตั้งตัวบุคคลเป็นสำคัญแต่ได้วงเล็บตำแหน่งซึ่งผู้นั้นดำรงอยู่ในขณะนั้นให้ได้ทราบโดยชัดเจนขึ้น
หรือทางกลับกันการระบุตำแหน่งและวงเล็บชื่อไว้ข้างท้ายตำแหน่ง
ผู้แต่งตั้งอาจมีเจตนาที่จะแต่งตั้งโดยคำนึงถึงตำแหน่งเป็นสำคัญ แต่เพื่อให้ได้ทราบโดยชัดเจนว่าผู้ดำรงตำแหน่งในขณะนั้นได้แก่ผู้ใด
จึงได้วงเล็บชื่อของผู้นั้นไว้ด้วย
บันทึก เรื่อง
การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง (การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงโดยระบุตำแหน่งหรือระบุเป็นผู้แทนของส่วนราชการแทนการระบุชื่อบุคคล
จะกระทำได้หรือไม่) (คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) (เรื่องเสร็จที่
๓๙๔/๒๕๓๔))
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย)
มีความเห็นว่าการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะกระทำได้ก็แต่โดยการระบุชื่อบุคคล
จะแต่งตั้งโดยระบุชื่อ ตำแหน่งหรือระบุเป็นผู้แทนของส่วนราชการแทนการระบุชื่อไม่ได้
ส่วนกรรมการอื่นนั้นจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไปเนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจแต่ละฉบับได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งกรรมการไว้แตกต่างกัน
แต่สำหรับการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง
จะแต่งตั้งโดยการระบุชื่อตำแหน่งหรือระบุเป็นผู้แทนของส่วนราชการแทนการระบุชื่อบุคคลไม่ได้และในการแต่งตั้งโดยการระบุชื่อบุคคลนั้น
อาจจะระบุชื่อตำแหน่งกำกับไว้ด้วยก็ได้ ไม่มีผลให้คำสั่งแต่งตั้งเสียไป
(๒) ความรู้ความสามารถของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องได้ปริญญาในสาขานั้นหรือไม่
บันทึก เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิทธิบัตร
(คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) (เรื่องเสร็จที่ ๒๑๔/๒๕๔๓))
มาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒
บัญญัติว่า ...และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิทยาศาสตร์
วิศวกรรมศาสตร์ อุตสาหกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เกษตรศาสตร์ เภสัชศาสตร์
เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ...
บทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิบัตรต้องเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งต้องมีความรู้ความสามารถหรือมีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ
ตามที่กำหนดไว้ โดยผู้นั้นจะเป็นผู้จบการศึกษาในสาขาต่างๆ
ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ก็ได้
มิได้ประสงค์ที่จะจำกัดแต่เฉพาะว่าผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้จบการศึกษาในสาขาวิชาตามที่กำหนดไว้เท่านั้น
เพราะหากกฎหมายประสงค์ที่จะกำหนดเช่นนั้นก็จะระบุถ้อยคำไว้อย่างชัดเจน เช่น มาตรา
๓๔ แห่งพระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่กำหนดว่า
ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี และรองคณบดี
ต้องมีคุณสมบัติได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรองและมีประสบการณ์จากการสอนหรือการบริหาร
บันทึก เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา ๒๔
แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒ (คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ ๑
คณะที่ ๓ และคณะที่ ๑๐)
มาตรา ๒๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.
๒๕๔๒ บัญญัติว่า ในการเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการตามวรรคหนึ่ง
ให้คำนึงถึงสมาชิกสามัญจากสาขาวิศวกรรมควบคุมต่างๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม
จะแบ่งสัดส่วนกันอย่างไร การที่กฎหมายใช้คำว่า คำนึง
และ เหมาะสม
นั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นการให้อำนาจใช้ดุลพินิจ
มิใช่เป็นการบังคับจำนวนที่แน่นอน ดังนั้น
สภาวิศวกรจึงสามารถออกข้อบังคับกำหนดสัดส่วนจำนวนกรรมการที่เหลือดังกล่าวว่าให้มาจากสาขาวิศวกรรมควบคุมต่างๆ
เช่นใด โดยคำนึงถึงความเหมาะสมประกอบด้วย
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นรัฐมนตรีหรือสมาชิกวุฒิสภาด้วย
บันทึก เรื่อง
การดำรงตำแหน่งกรรมการกฤษฎีกาของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) (เรื่องเสร็จที่ ๒๗๗/๒๕๔๓))
มาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา
พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๒
ให้กรรมการกฤษฎีกานอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว
กรรมการกฤษฎีกาย่อมต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (๑) ตาย
(๒) ลาออก (๓) ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก
เว้นแต่ในความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๔) เป็น
คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๕) เป็นบุคคลล้มละลาย
การที่กรรมการกฤษฎีกาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา
จึงไม่เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ขอหารือกรณีการแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือที่ปรึกษาในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑ คณะที่ ๓ และคณะที่
๕)) (เรื่องเสร็จที่ ๒๗๗/๒๕๔๔))
เมื่อพิจารณามาตรา ๒๐๘ ประกอบกับมาตรา ๑๑๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติว่ารัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งหรือกระทำการใดตามที่บัญญัติในมาตรา
๑๑๐ มิได้ เว้นแต่ ตำแหน่งที่ต้องดำรงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ซึ่งในมาตรา ๑๑๐ ได้กำหนดข้อยกเว้นสำหรับการกระทำและการดำรงตำแหน่งบางอย่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ในวรรคสองของมาตราดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงต้องพิจารณาเสียก่อนว่า
ตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนั้นเป็นตำแหน่งตามที่บัญญัติในมาตรา
๑๑๐ หรือไม่ และจะนำข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๑๐ วรรคสอง มาใช้กับกรณีของรัฐมนตรีได้หรือไม่
เมื่อพิจารณามาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ แล้ว
ตำแหน่งกรรมการและที่ปรึกษาในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นตำแหน่งที่มีกฎหมายบัญญัติอำนาจหน้าที่
วาระการดำรงตำแหน่ง และผลประโยชน์ตอบแทนไว้ จึงเป็นตำแหน่งหรือหน้าที่ในหน่วยราชการตามที่บัญญัติในมาตรา
๑๑๐ จากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เห็นว่ารัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้
แต่เนื่องจากวรรคสองของมาตรา ๑๑๐ ได้บัญญัติมิให้นำมาตรานี้ไปใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในฐานะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
และเมื่อกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนบัญญัติให้มีกรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ
รัฐมนตรีที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจึงอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้
จากข้อพิจารณาดังกล่าวจึงเห็นว่า หากนายกรัฐมนตรีประสงค์จะแต่งตั้งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็ย่อมกระทำได้
เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา
๑๑๐ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ส่วนตำแหน่งที่ปรึกษานั้น
เนื่องจากไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว
จึงไม่อาจแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้
และตามข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่ายังไม่เคยมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแต่อย่างใด
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง
การดำรงตำแหน่งกรรมการและการมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนกรรมการตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
พ.ศ.
๒๕๔๕ (คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) (เรื่องเสร็จที่ ๔๖๔/๒๕๔๖))
เห็นว่า
มาตรา ๑๑๐ (๑) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ
หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น
ผู้บริหารท้องถิ่น หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น นอกจากเป็นการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรี
การที่ห้ามดำรงตำแหน่งหรือมีหน้าที่ในหน่วยราชการดังกล่าวนี้มีความหมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งกรรมการในหน่วยราชการนั้นด้วย ทั้งนี้ ยกเว้นเฉพาะเป็นการรับหรือดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของรัฐสภา
สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา หรือกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น
และบทบัญญัติมาตรา ๑๑๐
ได้อนุโลมนำมาใช้บังคับกับสมาชิกวุฒิสภาด้วยอันเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา ๑๒๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เมื่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยพระราช
บัญญัติดังกล่าวกำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามมาตรา
๑๓ (๖) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขตามมาตรา ๔๘ (๙) ดังนั้น สมาชิกวุฒิสภาจึงอาจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ
ได้
(๔) การนับวาระการดำรงตำแหน่ง
บันทึก เรื่อง
หารือระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี ของกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ (คณะกรรมการกฤษฎีกา
(ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) (เรื่องเสร็จที่ ๒๔๑/๒๕๒๔))
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.
๒๕๒๑ มาตรา ๑๗ บัญญัติว่า กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งได้คราวละสองปี
โดยมิได้บัญญัติอย่างชัดแจ้งว่ากรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิเริ่มดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อใด
ต้องนำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๖ มาตรา ๑๕๘ และมาตรา ๑๕๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาพิจารณา ซึ่งการคำนวณระยะเวลาเป็นปีนั้นมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วย
ส่วนวันสิ้นสุดแห่งระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนจะถึงวันแห่งปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น
เมื่อกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๒
จึงครบกำหนดสองปีในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๔
บันทึก เรื่อง การนับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ
ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๘)
(เรื่องเสร็จที่ ๒๗๓/๒๕๒๕))
มาตรา ๗
แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๘ บัญญัติว่า
มาตรา
๗ ให้กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีแต่อาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้
เป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่เกินอีกหนึ่งวาระ
การที่มาตรา ๗
บัญญัติเช่นนี้ ก็มีความมุ่งหมายที่จะห้ามไม่ให้บุคคลใดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการติดต่อกันเกินกว่าสองวาระ
หากจะแต่งตั้งบุคคลนั้นเป็นกรรมการอีกก็ต้องเว้นระยะไปอีกวาระหนึ่งเสียก่อน ทั้งนี้
เพื่อให้มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกรรมการประเภทนี้ ข้อจำกัดของมาตรา ๗
นี้จึงมุ่งถึงตัวบุคคลซึ่งเป็นกรรมการเป็นสำคัญ
มิได้มุ่งหมายถึงการแต่งตั้งกรรมการทั้งคณะเป็นวาระที่ไม่ต่อเนื่องกัน เพราะพระราชบัญญัติฉบับหลังได้มีผลเป็นการยกเลิกการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตามพระราชบัญญัติฉบับแรกแล้ว
จึงเป็นการไม่ถูกต้องตามนัยแห่งกฎหมาย คือ กฎหมายยกเลิก
จะบอกว่าวาระไม่ติดกันก็ไม่ได้
บันทึก เรื่อง
วาระการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย (คณะกรรมการกฤษฎีกา
(กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕) (เรื่องเสร็จที่ ๒๘๕/๒๕๓๘))
ในบางครั้งกฎหมายใช้คำรวมๆ
เกี่ยวกับกรรมการว่า ในกรณีที่กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ
... เช่น
มาตรา ๑๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ๒๕๓๕
เมื่อประธานกรรมการเป็นผู้มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรีเช่นกัน
ก็หมายความรวมถึงประธานกรรมการด้วย การพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการจะเป็นอย่างไร
ก็เป็นไปตามมาตรานี้ด้วย
ในกฎหมายบางฉบับให้อำนาจคณะกรรมการในการแต่งตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่บางอย่างได้
แต่กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่าบุคคลที่คณะกรรมการแต่งตั้งนั้นมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่าใด
คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๗) ได้ให้ความเห็นไว้ในบันทึก เรื่อง
อำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการผู้ชำนาญการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๓๕ เรื่องเสร็จที่ ๔๙๒/๒๕๓๘ คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่
๗)
เกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการตามมาตรา
๑๘ และมาตรา ๔๘ วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งบัญญัติว่า
การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
และวิธีการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด ... คำว่า หลักเกณฑ์และวิธีการ ดังกล่าว
ไม่ได้หมายถึงเฉพาะหลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเท่านั้น
แต่ยังหมายความรวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งและการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้วย
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง
การเลือกตั้งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๙) (เรื่องเสร็จที่
๑๒๕/๒๕๔๗))
ในวาระที่ประธานกรรมการ
๑ คน และกรรมการดำเนินการสหกรณ์อีก ๖ คน ของสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการสกลนคร
จำกัด พ้นจากตำแหน่งเพราะถึงคราวออกตามวาระ
ที่ประชุมใหญ่สามัญของสมาชิกสหกรณ์ฯ ได้เลือกตั้งนายชนะ พรหมสาขา ณ สกลนคร ซึ่งเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์คนหนึ่งในคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ที่ยังอยู่ในวาระให้ไปเป็นประธานกรรมการ
และได้เลือกตั้งกรรมการดำเนินการสหกรณ์แทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระในคราวเดียวกันอีก
๗ คน ปัญหาของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ว่า การเลือกตั้งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ
แทนกรรมการดำเนินการสหกรณ์ที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระจะต้องเลือกจำนวน ๖ คน หรือ
๗ คน นั้น เห็นว่า ข้อ ๑๐
ของระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการสกลนคร จำกัด
ว่าด้วยการสรรหาคณะกรรมการดำเนินการ พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดว่า สมาชิกมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการดำเนินการสหกรณ์ได้แต่ให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงหนึ่งตำแหน่งเท่านั้น ...ฯลฯ ... เมื่อนายชนะ พรหมสาขา
ณ สกลนคร ซึ่งยังดำรงตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ได้ต่อไปอีกหนึ่งปีได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญสมาชิกประจำปี
๒๕๔๕ ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแล้ว นายชนะฯ
จึงต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์
ที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ต้องดำเนินการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการสหกรณ์แทนตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ที่ยังไม่ครบวาระของนายชนะ
พรหมสาขา ณ สกลนคร ที่ว่างลงเพราะต้องไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ดังนั้น ที่ประชุมใหญ่สามัญสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการสกลนคร
จำกัด จึงต้องดำเนินการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำนวน
๗ คน กล่าวคือ
กรรมการดำเนินการสหกรณ์แทนตำแหน่งที่ว่างลงก่อนครบวาระ ๑ คน และกรรมการดำเนินการสหกรณ์แทนตำแหน่งที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระจำนวน ๖ คน
เพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์มีจำนวน ๑๕ คน ตามมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์
พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับข้อ ๕๘ วรรคหนึ่ง
ของข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการสกลนคร จำกัด พ.ศ.
๒๕๔๔
(๕) การมอบอำนาจประชุมแทน
บันทึก เรื่อง
ฐานะของกรรมการควบคุมการขนส่งในกรณีมอบหมายให้ผู้อื่นมาประชุมแทน (คณะกรรมการกฤษฎีกา
(กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ ๓) (เรื่องเสร็จที่ ๒๑๓/๒๕๑๖))
การมอบอำนาจของกรรมการโดยตำแหน่งให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนจะกระทำได้เพียงใดหรือไม่
ย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน
บันทึก เรื่อง
การมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งกรรมการโดยตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ (คณะกรรมการกฤษฎีกา
(ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) (เรื่องเสร็จที่ ๘๐/๒๕๓๙))
การที่จะมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนตามมาตรา
๓๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๕ นี้ได้ จะต้องได้ความว่าการนั้นต้องเป็น
ราชการ เสียก่อน
ซึ่งหน้าที่นี้อาจเกิดขึ้นได้โดยมีกฎหมายเฉพาะกำหนดหรือได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปปฏิบัติหรือได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี
สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้นแท้จริงเป็นองค์กรของรัฐประเภทหนึ่งที่จัดรูปองค์กรให้มีความคล่องตัว
การเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นก็ดีหรือการแต่งตั้งข้าราชการเข้าไปเป็นกรรมการก็ดี
ล้วนเป็นวิธีการควบคุมอย่างหนึ่ง
การที่ข้าราชการเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจไม่ว่าจะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งตามกฎหมายหรือโดยคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจึงมีสองฐานะในขณะเดียวกัน
คือ เป็นกรรมการที่มีส่วนในการบริหารรัฐวิสาหกิจนั้น และเป็นการปฏิบัติงานของรัฐบาลในการเข้าไปควบคุมรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งในฐานะที่สองนั้น ถ้ามีการแต่งตั้งให้ข้าราชการเข้าไปปฏิบัติงานแล้วก็เป็น ราชการ ของข้าราชการตำแหน่งนั้น
จึงย่อมมีการมอบอำนาจหรือมีผู้รักษาราชการแทนไปปฏิบัติงานแทนได้ตามระบบราชการปกติ
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง
การดำรงตำแหน่งกรรมการและการมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนกรรมการตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๕ (คณะกรรมการกฤษฎีกา
(คณะที่ ๑) (เรื่องเสร็จที่ ๔๖๔/๒๕๔๖))
เห็นว่า
มาตรา ๑๓ (๑) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ
ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยตำแหน่ง
ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔
อาจมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงปฏิบัติราชการได้ตามมาตรา ๒๐ หรือมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
ปลัดกระทรวง อธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า
หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๘ (๒)
ปฏิบัติราชการแทนได้เท่านั้น
แต่กรณีผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ.
๒๕๔๖
มีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานและปฏิบัติงานแทนหรือช่วยงานของรัฐมนตรีในภารกิจบางประการตามข้อ
๗ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวก็มิได้บัญญัติเรื่องการมอบอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีไว้เป็นประการอื่นด้วย ดังนั้น
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะมอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
จึงไม่อาจกระทำได้
ประเด็นตามมาตรา
๑๓ (๓) และมาตรา ๔๘ (๔) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ได้กำหนดให้มีกรรมการจากผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทคัดเลือกกันเอง
แม้ว่าโดยคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะเป็นกรรมการประเภทนี้จะต้องดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ตาม
แต่ในการคัดเลือกระหว่างกันเองนี้ย่อมเป็นการคัดเลือกให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการโดยอาศัยการได้รับความไว้วางใจหรือความรู้ความสามารถเป็นการเฉพาะตัว
ดังนั้นหากกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ไม่สามารถเข้าประชุมได้
ก็ไม่อาจมอบให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง
ปัญหาการจ่ายเงินเบี้ยประชุมของกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค (คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่
๖) (เรื่องเสร็จที่ ๑๐๖/๒๕๔๗))
การเป็นกรรมการโดยตำแหน่งนั้น
ถ้าไม่มีกฎหมายห้ามโดยชัดแจ้งแล้วย่อมมอบอำนาจได้
ข้อคิดเห็นใดที่เสนอในที่ประชุมย่อมมีผลสมบูรณ์ เช่น อธิบดีกรมอนามัย
เป็นกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค ตามมาตรา ๑๒
แห่งพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาคฯ
(๖) บทเฉพาะกาล
บันทึก เรื่อง
การพ้นจากตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (คณะกรรมการกฤษฎีกา
(กรรมการร่างกฎหมายคณะที่ ๔) (เรื่องเสร็จที่ ๓๐๓/๒๕๔๑))
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ ได้แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย
โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดเกี่ยวกับความต่อเนื่องในการดำรงตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยไว้
ดังนั้นนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดเดิมต้องพ้นจากตำแหน่ง
(๗) เบี้ยประชุมและเลขานุการ
บันทึก เรื่อง
การแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการเปรียบเทียบและงดการฟ้องร้องและเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
(คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ ๘) (เรื่องเสร็จที่ ๗๐/๒๕๒๒))
แม้กฎหมายจะมิได้ระบุให้ผู้ใดเป็นหรือผู้ใดมีอำนาจแต่งตั้งเลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการไว้ด้วยก็ตาม
แต่โดยแบบแผนระเบียบปฏิบัติราชการในรูปแบบคณะกรรมการแล้ว
คณะกรรมการย่อมแต่งตั้งให้บุคคลใดเป็นเลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการเพื่อช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ได้
และเมื่อเป็นเลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการตามความเป็นจริงที่คณะกรรมการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่
ย่อมมีสิทธิได้เบี้ยประชุมตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ
พ.ศ. ๒๕๑๙ เช่นเดียวกับกรรมการ (บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง
หารือตำแหน่งเลขานุการคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) (เรื่องเสร็จที่ ๗๓๗/๒๕๔๖)
วินิจฉัยโดยใช้เหตุผลทำนองเดียวกัน)
บันทึก เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายตามข้อ ๔๒ และข้อ ๔๔
แห่งประกาศของ
คณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ (การนับองค์ประชุมกรรมการและการจ่ายเบี้ยประชุมให้ผู้ช่วยเลขาธิการ
ก.พ. ซึ่งไปประชุมแทนเลขาธิการ ก.พ.) (คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย
คณะที่ ๔) (เรื่องเสร็จที่ ๑๓๗/๒๕๓๓) วินิจฉัยทำนองเดียวกัน)
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ปัญหาการเบิกจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมของกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค
(คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๖) เรื่องเสร็จที่ ๑๐๖/๒๕๔๗))
กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยการระบุตำแหน่ง
ถ้ามิได้เข้าประชุมด้วยตนเอง ผู้ไปประชุมแทนซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายย่อมอยู่ในข่ายที่จะได้รับเบี้ยกรรมการ
(๘)
องค์ประกอบของคณะกรรมการ
บันทึก เรื่อง
องค์คณะของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา ๙
ห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ (คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย
คณะที่ ๕) (เรื่องเสร็จที่ ๔๒๖/๒๕๓๑))
มาตรา ๙ บัญญัติว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะต้องประกอบด้วย
ประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขานุการ
เมื่อยังไม่ได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ก็ยังไม่เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครบถ้วน
บันทึก เรื่อง
การนับองค์ประชุมของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง (คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย
คณะที่ ๖) (เรื่องเสร็จที่ ๒๕๑/๒๕๓๖))
หากคณะรัฐมนตรียังไม่ได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ก็ยังไม่เป็นคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง
และกรรมการอื่นที่มีอยู่ก็ไม่อาจประชุมในฐานะเป็นคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้
บันทึกเรื่อง
องค์ประกอบของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๓๔ (คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕) (เรื่องเสร็จที่
๗๙๗/๒๕๔๐))
เมื่อตำแหน่งประธานกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินว่างลง
องค์ประชุมย่อมไม่ครบ รองประธานก็ทำหน้าที่แทนไม่ได้
(๙)
การยกเลิกการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
บันทึก เรื่อง
การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด
(คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๒) (เรื่องเสร็จที่ ๗๒/๒๕๒๔))
ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีอำนาจยกเลิกคำสั่งเดิมซึ่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
แล้วแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ทั้งๆ
ที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้เดิมยังดำรงตำแหน่งไม่ครบตามวาระ หรือไม่
เห็นว่า มาตรา ๑๒ (๓) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.
๒๕๒๒
กำหนดให้กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดให้ออก
เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย
การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะใช้อำนาจให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก็จะต้องเป็นไปด้วยเหตุที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
(๑๐)
การมอบอำนาจของคณะกรรมการ
บันทึก เรื่อง
หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการมอบอำนาจของคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (คณะกรรมการขององค์การโทรศัพท์จะมอบอำนาจต่อให้คณะอนุกรรมการบริหารได้หรือไม่)
(คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕) (เรื่องเสร็จที่ ๑๗๖/๒๕๒๔))
คณะกรรมการขององค์การโทรศัพท์มีความประสงค์ที่จะปรับปรุงงานควบคุมดูแลด้านบริการให้คล่องตัวรวดเร็วและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
จึงเห็นสมควรแต่งตั้งกรรมการขององค์การโทรศัพท์ฯ จำนวน ๔ ท่าน
เป็นคณะอนุกรรมการบริหารเพื่อช่วยงานของคณะกรรมการฯ
โดยให้คณะอนุกรรมการบริหารมีอำนาจดำเนินงานด้านบุคคลและบริหารอื่นๆ แทนคณะกรรมการฯ
ในกรณีที่มีหลักเกณฑ์ชัดแจ้งอยู่แล้ว หรือที่คณะกรรมการฯ
จะมอบหมายให้ดำเนินการแทนได้ด้วย
แต่เนื่องจากการมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการบริหารดำเนินการแทนดังกล่าวเป็นลักษณะของการตั้งตัวแทนให้ดำเนินการแทน
ซึ่งตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๔๙๗
พระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๑๑ และประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ ๒๘๔ มิได้กำหนดไว้ชัดแจ้งว่าให้กระทำได้ จึงมีปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่คณะกรรมการฯ
จะมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารดำเนินงานแทนดังกล่าวข้างต้นนั้น
จะเป็นการขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ฯลฯ หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย
คณะที่ ๕) มีความเห็นว่า มอบหมายไม่ได้ เพราะมาตรา ๒๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้กำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการฯ ไว้โดยชัดแจ้ง และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ
ตามมาตรา ๓๑ (๓)
แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็เป็นอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางนโยบาย
และควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การโทรศัพท์ฯ โดยลักษณะแล้วถือได้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ
โดยเฉพาะ เพราะการใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวต้องใช้โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ดังนั้น
จึงถือได้ว่าอำนาจและหน้าที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการฯ
โดยเฉพาะ ซึ่งจะมอบต่อให้คณะอนุกรรมการบริหารไม่ได้ ทั้งนี้
ไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกำหนดให้คณะกรรมการฯ
มอบอำนาจต่อได้โดยชัดแจ้ง กรณีนี้จึงแตกต่างกับกรณีของผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ฯ
เพราะมาตรา ๓๘ (๔) แห่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๗
ได้บัญญัติโดยชัดแจ้งให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการที่จะมอบอำนาจต่อให้บุคคลอื่นดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกแทนผู้อำนวยการได้
บันทึก เรื่อง
อำนาจของกรรมการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๙๔ (คณะกรรมการกฤษฎีกา
(กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕) (เรื่องเสร็จที่ ๔๔/๒๕๓๐))
มาตรา ๒๔
แห่งพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ บัญญัติว่า มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการเป็นผู้แทนการท่าเรือแห่งประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก
แต่คณะกรรมการจะมอบหมายให้ผู้อำนวยการหรือพนักงานอื่นใดเป็นผู้แทนก็ได้ มีปัญหาว่าผู้อำนวยการจะมอบอำนาจต่อได้หรือไม่
เห็นว่าไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้
แต่ถ้าคณะกรรมการจะมอบหมายไว้ในคราวเดียวกันให้ผู้อำนวยการหรือพนักงานอื่นใด เช่น
รองผู้อำนวยการ เป็นผู้แทนการท่าเรือแห่งประเทศไทยแทนคณะกรรมการ
โดยให้กระทำการแทนคณะกรรมการในเรื่องใดตามที่ผู้อำนวยการกำหนด เช่นนี้ย่อมทำได้
เพราะไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจอีกต่อหนึ่ง
บันทึก เรื่อง
การมอบอำนาจของคณะกรรมการธนาคารออมสินตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน
พ.ศ. ๒๔๘๙ (คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๘) (เรื่องเสร็จที่ ๓๗๓/๒๕๓๑))
คณะกรรมการธนาคารออมสินมีมติว่าเพื่อให้การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานธนาคารออมสินบางระดับเป็นไปด้วยความรวดเร็วจึงมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการธนาคารออมสินพิจารณาแต่งตั้งอนุมัติโยกย้ายได้
ทั้งที่ปรากฏว่ามาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการ
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่ามอบไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจโดยเฉพาะของคณะกรรมการ
บันทึก เรื่อง
การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนกรรมการที่กฎหมายแต่งตั้งโดยระบุตำแหน่ง (คณะกรรมการกฤษฎีกา
(กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๒) (เรื่องเสร็จที่ ๔๒๕/๒๕๓๕))
ปลัดกระทรวง อธิบดี
หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ซึ่งเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิเกี่ยวกับยาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๓๔ หากมีเหตุจำเป็นไม่อาจเข้าประชุมหรือปฏิบัติหน้าที่ได้
จะมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นเข้าประชุมหรือปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการดังกล่าวแทนได้หรือไม่ได้
เป็นการปฏิบัติราชการอย่างหนึ่ง
จึงมอบอำนาจได้ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔
แม้พระราชบัญญัติมาตรการฯ ไม่ได้บัญญัติไว้เฉพาะก็ตาม
บันทึก เรื่อง
การแต่งตั้งผู้แทนของกรรมการโดยตำแหน่งและการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสาธารณสุข
(คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๔) (เรื่องเสร็จที่ ๕๐๒/๒๕๓๘))
การมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้แทนมาประชุมแทนไม่อาจถือได้ว่าเป็น
ผู้มาประชุมในฐานะกรรมการ และไม่อาจนับรวมเป็นองค์ประชุมของคณะกรรมการได้
จะเป็นได้อย่างมากแต่เพียงผู้เข้าร่วมประชุมแทนกรรมการหรือผู้สังเกตการณ์
ซึ่งไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติและไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม
เว้นแต่ผู้ที่เข้าประชุมแทนกรรมการโดยตำแหน่งนั้นจะเป็นผู้รักษาราชการแทน ผู้ปฏิบัติราชการแทน
หรือผู้รักษาการในตำแหน่งนั้นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
บันทึก เรื่อง
หารือปัญหาข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค
พ.ศ. ๒๕๒๒ (การมอบอำนาจและหน้าที่ตามมาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๘
ของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาให้คณะอนุกรรมการ บุคคลหนึ่งบุคคลใด
หรือกรรมการคนหนึ่งคนใด) (คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๘) (เรื่องเสร็จที่
๒๒๗/๒๕๓๙))
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโฆษณาว่าด้วยการโฆษณาตามมาตรา
๑๗ สั่งให้บุคคลใดส่งเอกสาร) มาตรา ๑๘ (การออกคำสั่ง
จะกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีการชั่วคราวในการบังคับก็ได้) และมาตรา ๒๘ (ออกคำสั่งให้ผู้กระทำการโฆษณาพิสูจน์เพื่อแสดงความจริง)
เป็นอำนาจหน้าที่เฉพาะ จึงไม่อาจมอบอำนาจได้
(๑๑)
คุณสมบัติของกรรมการ
บันทึก เรื่อง
การแต่งตั้งอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดตาก (คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย
คณะที่ ๖) (เรื่องเสร็จที่ ๔๖๘/๒๕๒๘))
การที่จังหวัดตากได้แต่งตั้งอุตสาหกรรมจังหวัดสุโขทัยช่วยปฏิบัติราชการจังหวัดตากเป็นอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดตาก
จะมีผลตามกฎหมายหรือไม่
ผู้ที่จะเป็นอนุกรรมการดังกล่าวได้ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอุตสาหกรรมจังหวัดหรือผู้รักษาการในตำแหน่งเท่านั้น
การที่ยังมิได้แต่งตั้งให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งอุตสาหกรรมจังหวัดตาก
และปลัดกระทรวงใช้อำนาจในการบริหารทั่วไปให้อุตสาหกรรมจังหวัดตากช่วยปฏิบัติราชการจังหวัดตากเป็นครั้งคราว
ไม่ได้ทำให้ผู้นั้นสามารถปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดหรือผู้รักษาการในตำแหน่งดังกล่าวได้
จึงไม่มีผลตามกฎหมายที่จะให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการได้
บันทึก เรื่อง
การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา ๙
แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ จะตั้งโดยใช้ชื่อตำแหน่งแทนชื่อบุคคลได้หรือไม่
(คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๔ ) (เรื่องเสร็จที่ ๑๑๙/๒๕๓๐))
การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องพิจารณาถึงวุฒิของบุคคลนั้นเป็นการเฉพาะตัว
ไม่ใช่พิจารณาถึงตำแหน่งที่บุคคลนั้นดำรงอยู่
การที่จะแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยใช้ชื่อตำแหน่งจึงไม่ตรงกับความมุ่งหมายของกฎหมาย
จึงตั้งโดยระบุตำแหน่งไม่ได้
บันทึก เรื่อง
การแต่งตั้งกรรมการสภาการพยาบาล (คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๓) (เรื่องเสร็จที่
๓๗๒/๒๕๓๕))
ในกรณีเช่นนี้การที่จะจัดส่งบุคคลใดเข้าร่วมเป็นผู้แทนของส่วนราชการหรือของหน่วยงานนั้นย่อมเป็นอำนาจโดยเฉพาะของหัวหน้าของส่วนราชการหรือของหน่วยงานนั้น
และหากส่วนราชการหรือหน่วยงานเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
หัวหน้าของส่วนราชการหรือของหน่วยงานนั้นมีอำนาจที่จะเปลี่ยนตัวบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นผู้แทนของส่วนราชการหรือของหน่วยงานของตนได้เสมอ
อันเป็นหลักในการบริหารงานทั่วไป
เป็นการขอเปลี่ยนตัวผู้แทนของหน่วยงานนั้น คนเดิมไม่ต้องลาออกก็ตั้งใหม่ได้
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง คุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งกรรมการอำนวยการคุรุสภา
(กรณีนายรังสันติ์
ศรีพุทธิรัตน์) (คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๘) (เรื่องเสร็จที่
๒/๒๕๔๖))
มาตรา ๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติครูฯ ได้กำหนดให้ครูซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่ง
ต้องประกอบด้วยครูตามมาตรา ๒๔ (๑) เฉพาะครูซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการจำนวนหกคน
ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่านายรังสันติ์
ศรีพุทธิรัตน์ ตำแหน่งอาจารย์ ๒ ระดับ ๖ โรงเรียนคลองบางปู อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
เป็นผู้แทนสมาชิกคุรุสภากลุ่มสมาชิกสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด และต่อมาได้มีประกาศคุรุสภา
เรื่อง ผลการเลือกตั้งกรรมการอำนวยการคุรุสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๓
ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ให้นายรังสันติ์ ศรีพุทธิรัตน์ ซึ่งเป็นข้าราชการครูตามมาตรา
๒๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติครู
(ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นกรรมการอำนวยการคุรุสภาแทนนายชาญชัย สรรพโส กรรมการอำนวยการคุรุสภา ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่ง
โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ แสดงว่านายรังสันติ์ฯ
เป็นกรรมการอำนวยการคุรุสภาตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติครู
(ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๓ และเป็นครูซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการอำนวยการคุรุสภาในฐานะครูตามมาตรา
๒๔ (๑) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น นายรังสันติ์ฯ จึงไม่ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งกรรมการอำนวยการคุรุสภาตามมาตรา
๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้ต่อมานายรังสันติ์ฯ ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
กระทรวงศึกษาธิการ ก็เป็นการไปช่วยปฏิบัติราชการเป็นเวลาชั่วคราวเท่านั้น นายรังสันติ์ฯ
ยังเป็นข้าราชการครูตามมาตรา ๒๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติครูฯ อยู่และยังไม่ได้พ้นจากการเป็นครูซึ่งตนเป็นผู้แทนตามมาตรา
๒๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น
นายรังสันติ์ฯ จึงยังไม่พ้นจากตำแหน่งกรรมการอำนวยการคุรุสภาตามมาตรา ๗ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติครู
พุทธศักราช ๒๔๘๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติครู (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.
๒๕๒๑
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง
ฐานะและการดำรงตำแหน่งของผู้ช่วยรัฐมนตรี (คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) (เรื่องเสร็จที่
๑๓๙/๒๕๔๗))
ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีมีฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนี้
หากกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ
ได้ห้ามมิให้บุคคลซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน
หรือองค์กรอื่นของรัฐ
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงไม่อาจเข้าดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาได้
กิจการที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ นั้น
แม้จะไม่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจก็ตาม แต่หากปรากฏว่ารัฐมนตรีหรือ กระทรวง ทบวง กรม
มีอำนาจในการควบคุมหรือกำกับดูแล
กิจการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นองค์การของรัฐประเภทหนึ่ง
ผู้ช่วยรัฐมนตรีจึงไม่อาจดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของกิจการที่มีลักษณะดังกล่าวซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีหรือกระทรวงซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรีนั้นได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ได้
รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการในราชการที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
เมื่อผู้ช่วยรัฐมนตรีคนใดได้รับมอบหมายให้ไปช่วยเหลืองานของรองนายกรัฐมนตรีแล้ว
หากรองนายกรัฐมนตรีผู้นั้นได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลราชการของกระทรวงใด
ผู้ช่วยรัฐมนตรีซึ่งได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลืองานของรองนายกรัฐมนตรีผู้นั้น
ย่อมไม่อาจไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน
หรือองค์กรอื่นของรัฐที่อยู่ในกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวงซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับการบริหารราชการของรองนายกรัฐมนตรีนั้น
๑๒. อื่นๆ
บันทึก เรื่อง องค์ประกอบของคณะกรรมการแพทยสภาตามมาตรา
๑๔ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕ (กรณีคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยรังสิต) (คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๓) (เรื่องเสร็จที่
๔๖/๒๕๓๕))
มาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้มี
คณะกรรมการแพทยสภา โดยมีองค์ประกอบ ว่า คณบดีคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย
เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง เมื่อมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอนในสาขาวิชาแพทย์ศาสตร์ได้ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงเป็นกรรมการในคณะกรรมการแพทยสภาได้
กรณีจะต่างไป ถ้าใช้ มหาวิทยาลัยของรัฐ
บันทึก เรื่อง ปัญหาการตีความมาตรา
๑๐๓ (๕) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ (คณะกรรมการกฤษฎีกา
(กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๑) (เรื่องเสร็จที่ ๒๒/๒๕๔๒))
ตามมาตรา ๑๐๓ (๕)
แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
ได้กำหนดห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์แต่งตั้งหรือยอมให้บุคคลที่เคยถูกถอดถอนจากการเป็นประธานกรรมการ
กรรมการหรือผู้จัดการตามมาตรา ๑๔๔ หรือมาตรา ๑๔๕
แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือเคยถูกถอดถอนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นเป็นหรือทำหน้าที่กรรมการ
ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการหรือที่ปรึกษาของบริษัทหลักทรัพย์
ซึ่งคำว่า ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น นั้น พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ
มิได้กำหนดไว้ว่าหมายถึงบทบัญญัติของกฎหมายใดบ้าง หรือมีขอบเขตแค่ไหน
ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยหลักการตีความกฎหมายที่ว่า
กรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายมีถ้อยคำต่อเนื่องกันและคำสุดท้ายเป็นคำที่มีความหมายทั่วไปต้องตีความคำสุดท้ายให้มีความหมายทำนองเดียวกับคำที่มาก่อน
(ejusdem generis rule) ดังนั้น การถูกถอดถอนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นตามกรณีนี้จึงต้องเทียบเคียงจากกรณีการถูกถอดถอนตามบทบัญญัติของมาตรา
๑๔๔ หรือมาตรา ๑๔๕ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของมาตรา
๑๔๔ หรือมาตรา ๑๔๕
แล้วจะเห็นได้ว่าการถอดถอนตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นมีเหตุเนื่องมาจากผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์คนใดคนหนึ่งเป็นต้นเหตุทำให้บริษัทหลักทรัพย์มีฐานะหรือมีการดำเนินงานในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน
หรือเป็นต้นเหตุในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา
๑๔๑ หรือมาตรา ๑๔๕ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งเหตุของการถอดถอนทั้งสองกรณีนั้นอาจเทียบเคียงได้กับเหตุของการถอดถอนกรรมการ
ผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทเงินทุนตามมาตรา ๕๗ ทวิ วรรคหนึ่ง
แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ หรือของธนาคารพาณิชย์ตามมาตรา ๒๔ ตรี วรรคหนึ่ง
วรรคสอง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง
การไปดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ
พ.ศ. ๒๕๔๒ ภายหลังจากพ้นตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๓)
(เรื่องเสร็จที่ ๔๗/๒๕๔๕))
การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา
๑๖ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ
พ.ศ ๒๕๔๒ นั้น มาตรา ๑๘
ได้บัญญัติให้นำข้อห้ามเกี่ยวกับการขัดกันของผลประโยชน์ภายหลังพ้นจากตำแหน่งสามปีตามมาตรา
๑๒ ของกรรมการในคณะกรรมการทุนรัฐวิสาหกิจมาใช้บังคับโดยอนุโลม แล้วแต่กรณี
ซึ่งย่อมหมายความตามมาตรา ๑๘ ประกอบกับมาตรา ๑๒ ว่า ภายในระยะเวลาสามปีนับแต่พ้นจากตำแหน่ง
กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทจะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นกรรมการ
ผู้มีอำนาจในการจัดการ ที่ปรึกษาการเงิน หรือที่ปรึกษาการจัดการจำหน่ายหุ้น
หรือผู้ทำหน้าที่จัดจำหน่ายหุ้น หรือได้รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ เป็นพิเศษนอกเหนือจากธุรกิจหรืองานตามปกติของนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน
ผู้ร่วมทุน หรือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของบริษัทนั้นไม่ได้
กรณีตามที่หารือ กรรมการซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทของ
ทศท. และ กสท. ได้ลาออกและไปดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นฯ
ซึ่งเป็นบริษัท Holding Company ที่ประกอบธุรกิจลงทุนถือหุ้นในบริษัทต่างๆ
รวมทั้งบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม แต่บริษัทชิน
คอร์ปอเรชั่นฯ มิได้เป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน
หรือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยการเปลี่ยนทุนของ ทศท. หรือ กสท. เป็นหุ้นของบริษัทตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา
๑๒ โดยตรง การดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นฯ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา
๑๘ ประกอบกับมาตรา ๑๒ ดังนั้น การที่กรรมการได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทฯ
และไปดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นฯ
ภายในระยะเวลาสามปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๘
ประกอบกับมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้
การตีความบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องตีความโดยเคร่งครัด เนื่องจากมาตรา ๓๐
แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติความผิดและกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา
๑๘ ประกอบกับมาตรา ๑๒ ไว้ด้วย