การเขียนบทเฉพาะกาล
นายธรรมนิตย์ สุมันตกุล
รักษาการกรรมการร่างกฎหมายประจำ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
บทเฉพาะกาลเป็นบทบัญญัติที่ใช้เชื่อมต่อเมื่อมีการตรากฎหมายหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายและผู้ร่างกฎหมายต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายกับเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างกฎหมายทั้งสองฉบับนั้น
เพื่อให้การใช้กฎหมายต่อเนื่องกันระหว่างกฎหมายเก่ากับกฎหมายใหม่
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่า บทเฉพาะกาล ไว้ว่า หมายถึง บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้ใช้เฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งหรือกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนวันใช้บังคับบทกฎหมายนั้น
บทเฉพาะกาลจึงเป็นเสมือนสะพานที่จะเชื่อมกฎหมายเก่ากับกฎหมายใหม่ในช่วงเริ่มแรกหรือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของกฏหมาย
การร่างบทเฉพาะกาลนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก
ความยากมีเหตุเนื่องมาจากการที่
ผู้ร่างกฎหมายจะต้องเข้าใจโครงสร้างของทั้งกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่แล้วนำมาพินิจพิจารณาว่าถ้ามีความแตกต่างในกฎหมายแล้ว
จะต้องสร้างจุดเชื่อมโยงหรือไม่ จะต้องคิดก่อนว่าการเริ่มดำเนินการตามกฎหมายใหม่จะต้องทำสิ่งใดก่อน
เช่น การสร้างหน่วยงานของรัฐขึ้นมาใหม่จะต้องโอนภาระหน้าที่ งบประมาณ ทรัพย์สินใดมาดำเนินการหรือไม่
บุคลากรจะมาจากที่ใด ด้วยวิธีการอย่างไร หรือถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมหรือการอนุญาต
จะให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้วตามกฎหมายเดิมมีสิทธิต่อไปเพียงใด
หรือถ้าเขายื่นคำขอแล้วแต่ยังพิจารณา
ไม่แล้วเสร็จ จะให้ดำเนินการอย่างไร รวมทั้งอะไรเป็นหลักการใหม่ที่กฎหมายต้องการให้บังคับใช้ทันที
โดยไม่ต้องมีบทเฉพาะกาล การเขียนบทเฉพาะกาลจึงเป็นการวิเคราะห์กฎหมายนั้นทั้งในปัจจุบันที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขและต่อการใช้กฎหมายนั้นในภายหน้า
ที่จะไม่ให้มีปัญหาขาดความต่อเนื่องในการใช้กฎหมาย
เมื่อบทเฉพาะกาลเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกฎหมาย
บทเฉพาะกาลของกฎหมายแต่ละฉบับจึงเป็นเรื่องเฉพาะของกฎหมายฉบับนั้นๆ การลอก แบบกฎหมาย
โดยไม่พิจารณาอย่างถ่องแท้ถึงเหตุผลของการที่มีบทเฉพาะกาลในกฎหมายของแต่ละฉบับจึงไม่น่าสนับสนุนนัก
อย่างไรก็ตาม การศึกษาแบบการเขียนบทเฉพาะกาลของกฎหมายหลายๆ ฉบับและเหตุผลที่เขียน อาจจะทำให้เห็นภาพของความจำเป็นและเทคนิคการเขียนได้
ผู้บรรยายจึงขอเสนอวิธีการบรรยายโดยใช้วิธีกรณีศึกษา มีตัวอย่างการเขียน ให้ข้อสังเกตของการเขียน
และเสนอความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่วินิจฉัยข้อหารือเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลไว้ด้วย
๑. ความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาล
สิ่งแรกที่จะต้องพิจารณาก็คือกฎหมายทุกฉบับจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลหรือไม่
และกฎหมายใหม่ที่ไม่ได้มาจากการปรับปรุงกฎหมายเดิมจะมีบทเฉพาะกาลได้หรือไม่
ข้อพิจารณานี้ก็จะขึ้นอยู่กับหลักการของกฎหมายนั้นเองที่จะต้องดูว่ามีสิ่งใดต่อเนื่องที่จะต้องกระทำหรือไม่
ถ้ามีแล้วจะต้องรับรองสิ่งนั้นไว้เพียงใด
กฎหมายใหม่ที่ไม่ได้ปรับปรุงกฎหมายเดิมก็อาจมีบทเฉพาะกาลได้ แล้วแต่เนื้อหาของกฎหมายนั้นเอง
เช่น งบประมาณจะมาจากที่ใด
ถ้ามีการตั้งงบประมาณไว้แล้วก็ไม่เป็นปัญหาที่จะต้องกล่าวถึงไว้ในพระราชบัญญัติอีก
แต่ถ้างบประมาณมาจากการโอนงบประมาณของหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด
ก็ต้องมีบทบัญญัติที่จะต้องบอกว่าให้มีการโอนงบประมาณมาดำเนินการด้วย
ซึ่งการโอนงบประมาณนั้นต้องกระทำโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ หรือผู้ที่ประกอบกิจการอยู่แล้ว
หากบังคับให้ต้องมาขออนุญาตเพื่อควบคุมกิจการ
จะให้เวลาเขาที่จะมาขออนุญาตเพียงใดหรือไม่เมื่อใช้กฎหมายใหม่แล้ว กฎหมายหลายฉบับไม่มีบทเฉพาะกาลแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องก็ตาม
ในกรณีนี้ผู้ร่างกฎหมายเจตนาที่จะให้เริ่มการใช้กฎหมายทุกอย่างจากกฎหมายใหม่
ไม่ใช่การหลงลืม ในกรณีที่กฎหมายไม่มีบทเฉพาะกาลนี้มักจะมีเรื่องหารือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสมอ
เนื่องจากส่วนราชการผู้มีหน้าที่ต้องใช้กฎหมายเกิดความไม่แน่ใจ
ทั้งที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น
บันทึก
เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิทธิบัตร
- เรื่องเสร็จที่ ๒๑๔/๒๕๔๓ - คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑)
พระราชบัญญัติสิทธิบัตร
(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
ได้แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการสิทธิบัตรขึ้นใหม่แทน
มีการเพิ่มคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและเพิ่มจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน
เมื่อยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวโดยไม่มีบทเฉพาะกาลรองรับเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุดเดิมไว้
จึงมีผลทำให้คณะกรรมการชุดเดิมทั้งหมดต้องพ้นจากตำแหน่ง และต้องแต่งตั้งใหม่
บันทึก เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยแร่
(คุณสมบัติของผู้ขออาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราวและประทานบัตร) - เรื่องเสร็จที่
๒๙๖/๒๕๑๖ - คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๖)
ประเด็นปัญหามีว่า
เมื่อกฎหมายใหม่กำหนดคุณสมบัติเพิ่มขึ้น
ผู้ขออาชญาบัตร หรือประทานบัตร ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับแต่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา
จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายใหม่หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกา
(กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๖) เห็นว่า โดยที่กฎหมายใหม่ไม่มีบทเฉพาะกาล
ยกเว้นในเรื่องคุณสมบัติให้แก่ผู้ที่ยื่นคำขอตามกฎหมายเก่าซึ่งมิได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอไว้ ดังนั้น ผู้ที่ยื่นคำขอไว้ตามกฎหมายเก่า แต่ไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายใหม่
ย่อมขาดคุณสมบัติของผู้ขออาชญาบัตรหรือประทานบัตรที่จะได้รับการพิจารณาอนุญาต
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นกฎหมายใหม่ ไม่มีบทเฉพาะกาลใดทั้งสิ้นที่จะกล่าวถึงคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในกระบวนการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งของกระทรวงการคลังว่าจะดำเนินการอย่างไร
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือของกรมบัญชีกลาง ในหนังสือที่ นร ๐๖๐๑/๐๓๗
ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๐ (เรื่องเสร็จที่ ๖๑/๒๕๔๐) ว่า
เมื่อกฎหมายดังกล่าวไม่มีบทเฉพาะกาล กระทรวงการคลังก็ต้องใช้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ
และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
โดยสำหรับการนับอายุความนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อน ก็ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ส่วนถ้าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว
ก็ต้องพิจารณาอายุความในการดำเนินคดีตามที่กำหนดในกฎหมายใหม่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้กฎหมายต่อมาอีกว่า
จะใช้หลักกฎหมายใดกับเรื่องที่ค้าง เพราะแต่เดิมนั้นถ้าไม่มีพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้ว การเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่างๆ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา ๔๒๐
และมาตราอื่นๆ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คณะกรรมการกฤษฎีกา
(กรรมการร่างกฎหมาย คณะพิเศษ) ได้ตอบข้อหารือว่า ถ้าเป็นเรื่องสารบัญญัติ เช่น
ความรับผิดในทางละเมิด สิทธิไล่เบี้ย ความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม
ก็ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แต่ถ้าเป็นเรื่องในทางวิธีสบัญญัติ เช่น
ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง การพิจารณาของผู้มีอำนาจสั่งการ
การรายงานกระทรวงการคลังเพื่อตรวจสอบ ก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายใหม่
(บันทึก เรื่อง การนำหลักตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.
๒๕๓๙ มาใช้บังคับกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ก่อนบังคับใช้กฎหมาย -
เรื่องเสร็จที่ ๑๐/๒๕๔๑- คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะพิเศษ))
๒.
ความไม่พร้อมของการบังคับใช้กฎหมาย
กฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้วอาจจะไม่ได้ใช้บังคับตามความเป็นจริงทันทีทุกมาตรา
อุปสรรคอาจเนื่องมาจากการตระเตรียมการบางอย่างเพื่อบริการประชาชนหรือเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินนั้น
อาจต้องใช้เวลาดำเนินการ โดยปรกติแล้วถ้ายังไม่มีความพร้อมกฎหมายจะบัญญัติไว้ในบทมาตราที่เป็นบทวันใช้บังคับ
(มาตรา ๒ ) ทอดเวลาการใช้ออกไป แต่บางครั้งก็เขียนเป็นบทเฉพาะกาล ให้ใช้กฎหมายเดิมในบางเรื่องไปก่อน
บทเฉพาะกาลจึงมีความใกล้ชิดกับวันใช้บังคับกฎหมายมาก
และบ่อยครั้งผู้ยกร่างกฎหมายก็จะใช้บทเฉพาะกาลและบทบัญญัติการใช้บังคับกฎหมายเป็นทางเลือกของกันและกัน
กล่าวคือ
ถ้าทอดเวลาการใช้บังคับกฎหมายออกไประยะหนึ่งจนคาดว่าน่าจะมีความพร้อมแล้ว ผู้ร่างกฎหมายก็จะเขียนเป็นบทวันใช้บังคับ
เป็นเครื่องมือที่ผ่อนคลายให้กฎหมายนั้นไม่ใช้บังคับเป็นการชั่วคราว
จนกว่ากลไกในกฎหมายใหม่จะพร้อมเต็มที่ได้ ขอให้ดูตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา ๔ มาตรา ๗ ถึงมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ ถึงมาตรา ๓๑ มาตรา ๒๖๒ มาตรา ๒๖๓ มาตรา ๓๑๘ ถึงมาตรา ๓๒๐ และมาตรา ๓๓๒ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย
พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา ๕ เงินและทรัพย์สินของกองทุนประกอบด้วย
(๑) เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้
(๒) เงินอุดหนุนจากต่างประเทศรวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ
(๓) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อสมทบกองทุน
(๔) ดอกผลหรือรายได้ของกองทุน
รวมทั้งผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาและผลประโยชน์อื่น ๆ ที่เกิดจากการวิจัย
ให้โอนเงินงบประมาณกองทุนสนับสนุนการวิจัยตามมาตรา
๒๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๓๕ จำนวนหนึ่งพันสองร้อยล้านบาทมาเป็นเงินของกองทุนสนับสนุนการวิจัย
๓. บทเฉพาะกาลหรือบทถาวร
ในบางครั้งเราอาจถกเถียงกันว่าบทบัญญัติที่อยู่ตรงหน้าเราเป็น
บทเฉพาะกาล
หรือ บทถาวร
บทถาวรเป็นศัพท์ที่บรรดาท่านผู้ร่างกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิได้กำหนดเรียกกัน บทถาวร
คือ บทบัญญัติที่ใช้กันได้ตลอดไป
ไม่ได้หมดผลไปเมื่อสิ้นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อเหมือนบทเฉพาะกาล จากตัวอย่างมาตรา ๒
แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๕
แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้างต้น
หลายท่านเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้ชื่อหมวดบทเฉพาะกาล
ก็ไม่น่าจะเรียกว่าบทเฉพาะกาล ซึ่งก็ถูกต้อง
แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาของบทบัญญัติทั้งสองมาตราแล้ว สิ่งที่จะเกิดตามมาตราทั้งสองมาตรา
มีขึ้นได้ครั้งเดียว กฎหมายใช้แล้ว และงบประมาณโอนมาแล้ว แต่สำหรับร่างมาตรา ๒
แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น
เนื่องจากเกี่ยวพันกับการใช้บังคับ
ผู้ร่างจึงนำไปเขียนในมาตราวันใช้บังคับ ส่วนการโอนงบประมาณของกองทุนสนับสนุนการวิจัย
เพื่อให้เห็นทุนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องกับการจัดตั้ง
จึงเขียนรวมในมาตราเกี่ยวกับทุนและทรัพย์สิน
ทั้งที่จะเห็นต่อไปว่าพระราชบัญญัติหลายฉบับนำไปไว้ในบทเฉพาะกาล
ในการร่างกฎหมายจึงขอให้นำข้อสังเกตนี้ไปพิจารณาด้วยว่าอาจเป็นเรื่องเฉพาะของกฎหมายนั้น
๔. การรับรองสิทธิหรือสถานะเดิมของบุคคล
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน
พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา
๑๓๕ ผู้ใดเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
ข้าราชการพลเรือนในพระองค์หรือข้าราชการประจำต่างประเทศพิเศษ
ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้ผู้นั้นเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการพลเรือนในพระองค์
หรือข้าราชการประจำต่างประเทศพิเศษ ตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ต่อไป
ผู้ใดเป็นข้าราชการพลเรือนวิสามัญตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน
พ.ศ. ๒๕๑๘ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้ผู้นั้นเป็นข้าราชการพลเรือนวิสามัญต่อไป และให้นำมาตรา ๑๑๖
แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ
พลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘
มาใช้บังคับแก่ผู้นั้น เว้นแต่ข้าราชการพลเรือนวิสามัญผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งที่
ก.พ. พิจารณาเห็นว่าทำหน้าที่อย่างเดียวกับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ
หรือข้าราชการพลเรือนในพระองค์
อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้ผู้นั้นเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ หรือข้าราชการพลเรือนในพระองค์
ตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ ทั้งนี้
เฉพาะผู้ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก)
มีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา ๓๐
(ข)
เป็นผู้ได้รับประกาศนียบัตรประโยคมัธยมศึกษาหรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบได้ไม่ต่ำกว่าประโยคมัธยมศึกษา
และเป็นข้าราชการพลเรือนวิสามัญในตำแหน่งที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ
หรือข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ติดต่อกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
ผู้ใดเป็นข้าราชการพลเรือนวิสามัญตามวรรคสอง
แต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ตาม (ข)ให้ผู้นั้นเป็นข้าราชการพลเรือนวิสามัญไปพลางก่อน
เมื่อเข้าเกณฑ์ตาม (ข) ก็ให้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
หรือข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่
บันทึก เรื่อง
การดำรงตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยของผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้วตามมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. ๒๕๔๑ - เรื่องเสร็จที่ ๒๘๕/๒๕๔๒ - คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย
คณะที่ ๔)
ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้บัญญัติเฉพาะคุณวุฒิของผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดี
โดยมิได้กำหนดว่าจะต้องแต่งตั้งจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย
แต่ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน
ผู้อำนวยการสำนักหัวหน้าภาควิชา
และหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา
ได้กำหนดให้แต่งตั้งจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. ๒๕๔๑ ออกมาใช้บังคับ ได้มีการกำหนดบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา ๕๕
แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๔๑
โดยบัญญัติให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน
ผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าภาควิชา
และหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา
ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ แต่โดยเหตุที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวซึ่งได้เกษียณอายุราชการในขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ
จึงมีปัญหาข้อกฎหมายว่า ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน
ผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าภาควิชา
และหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา
ซึ่งได้เกษียณอายุราชการในขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ
จะสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระตามบทเฉพาะกาล มาตรา ๕๕
แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกา
(กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๔) มีความเห็นว่า เดิมพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. ๒๕๑๗ ที่ถูกยกเลิกไปแล้วโดย
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.๒๕๔๑ ได้กำหนดให้ตำแหน่งคณบดี
ผู้อำนวยการสถาบันผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าภาควิชา
ให้แต่งตั้งจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ซึ่งมาตรา ๒๘
แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗
ได้กำหนดให้คณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ได้แก่ ศาสตราจารย์
ซึ่งอาจเป็นศาสตราจารย์ประจำหรือศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ซึ่งอาจเป็นอาจารย์ประจำหรืออาจารย์พิเศษ
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวที่แต่งตั้งจากคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษหรืออาจารย์พิเศษนั้นไม่อยู่ในบังคับเรื่องการเกษียณอายุราชการเนื่องจากไม่ได้เป็นคณาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัย
และต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๔๑ ใช้บังคับ
การกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก
หัวหน้าภาควิชา
ก็ไม่ได้กำหนดให้แต่งตั้งจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแต่เพียงอย่างเดียว
แต่อาจแต่งตั้งบุคคลใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง
และได้ทำการสอนหรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง ดังนั้น
แม้บุคคลดังกล่าวจะเกษียณอายุราชการแล้วแต่ยังไม่ขาดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี
ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนักหัวหน้าภาควิชา
และหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชาของมหาวิทยาลัย
อยู่ในวันที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทร
วิโรฒพ.ศ. ๒๕๔๑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามบทเฉพาะกาล มาตรา ๕๕ วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ ทั้งนี้
เพื่อให้การบริหารงานของสำนัก คณะ
และภาควิชาของมหาวิทยาลัยมีความต่อเนื่องและเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามเจตนารมณ์ของบทเฉพาะกาลดังกล่าว
๕. เพื่อทำให้กระบวนการทางวินัยต่อเนื่อง
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน
พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา
๑๓๘
ข้าราชการพลเรือนผู้ใดมีกรณีกระทำผิดวินัยหรือกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้ผู้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัตินี้มีอำนาจสั่งลงโทษผู้นั้น
หรือสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ในขณะนั้น
ส่วนการสอบสวน การพิจารณา และการดำเนินการเพื่อลงโทษหรือให้ออกจากราชการ
ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่
(๑)
กรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้สอบสวนโดยถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
และยังสอบสวนไม่เสร็จ ก็ให้สอบสวนตามกฎหมายนั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จ
(๒)
ในกรณีที่ได้มีการสอบสวนหรือพิจารณาโดยถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นเสร็จไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้การสอบสวนหรือพิจารณา แล้วแต่กรณีนั้นเป็นอันใช้ได้
(๓)
กรณีที่ได้มีการรายงานหรือส่งเรื่อง หรือนำสำนวนเสนอ หรือส่งให้ อ.ก.พ.
กระทรวงพิจารณาโดยถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และ อ.ก.พ.
กระทรวงพิจารณาเรื่องนั้นยังไม่เสร็จ ก็ให้ อ.ก.พ.
กระทรวงพิจารณาตามกฎหมายนั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จ
มาตรา ๑๓๙
ข้าราชการพลเรือนซึ่งโอนมาจากพนักงานเทศบาล พนักงานส่วนท้องถิ่นหรือข้าราชการประเภทอื่นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ผู้ใดมีกรณีกระทำผิดวินัยหรือกรณีที่สมควรให้ออกจากงานหรือให้ออกจากราชการ
ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาล ระเบียบพนักงานส่วนท้องถิ่น
หรือระเบียบข้าราชการนั้นอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้ผู้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัตินี้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยแก่ผู้นั้น
หรือดำเนินการสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการได้
ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๑๑๑ และมาตรา ๑๒๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา
๑๔๐ ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ.
๒๕๑๘ หรือตามมาตรา ๑๓๘ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา
๑๒๕ หรือมาตรา ๑๒๖ แล้วแต่กรณี
มาตรา
๑๔๑
ผู้ใดถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา ๔๖ มาตรา ๕๙ มาตรา๙๐ มาตรา ๙๖ มาตรา
๙๗ มาตรา ๙๘ มาตรา ๙๙ มาตรา ๑๐๐
หรือมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ หรือตามมาตรา
๑๓๘ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามมาตรา ๑๒๙
มาตรา
๑๔๒
การใดอยู่ระหว่างดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.
๒๕๑๘ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การดำเนินการต่อไป สำหรับการนั้น
ให้เป็นไปตามที่ ก.พ. กำหนด
มาตรา
๑๔๓
การใดที่เคยดำเนินการได้ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้
และมิได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ จะดำเนินการได้ประการใด ให้เป็นไปตามที่
ก.พ. กำหนดโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย
๖. การเปลี่ยนแปลงถ่ายโอนองค์กร เปลี่ยนแปลงรูปแบบองค์กร
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ
พ.ศ. ๒๕๔๔
มาตรา ๔๓ เมื่อได้มีการจัดตั้งกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้
ให้ถือว่าการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
พ.ศ. ๒๕๔๓ เสร็จสิ้นลงแล้ว และให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวดำเนินการตามมาตรา
๔๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยประกาศยุติการดำเนินการของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในราชกิจจานุเบกษา
ให้โอนบรรดากิจการ
ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน เงินงบประมาณ รายได้ และผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
พ.ศ. ๒๕๔๓ ให้เป็นของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพตามพระราชบัญญัตินี้
ข้อสังเกต ความในมาตรา ๕๓ วรรคหนึ่ง
มีที่มาจากการยุบสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ซึ่งเป็นองค์การมหาชนออกตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒
อันเป็นกฎหมายแม่บทว่าด้วยการจัดตั้งองค์การมหาชนนั้น ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๔ (๒) ว่า เมื่อการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนนั้นเสร็จสิ้นลง
ให้ยุบเลิกได้ และรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนนั้นต้องประกาศยุติการดำเนินการขององค์การมหาชนนั้นในราชกิจจานุเบกษา
บัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการบัญญัติเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงการยุบเลิกองค์กรดังกล่าวกับอีกกฎหมายหนึ่ง
เป็นการให้ความชัดเจนแก่ผู้อ่านกฎหมายว่าก็จะต้องยกเลิกองค์กรเดิม
ถ้าไม่เขียนไว้ก็อาจเกิดข้อสงสัยว่าองค์กรเดิมจะดำเนินการอย่างไร
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๒๘
มาตรา ๖๖ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ตลอดจนงบประมาณขององค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๐๗ ที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเป็นของ
กกท.
มาตรา ๖๗ ให้ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ และบรรดาพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นผู้ว่าการ
รองผู้ว่าการ และพนักงานหรือลูกจ้างของ กกท. แล้วแต่กรณี โดยให้ได้รับเงินเดือน
ค่าจ้าง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เท่าที่เคยได้รับอยู่เดิม กับให้ถือว่าเวลาการทำงานของบุคคล
ดังกล่าว
ในองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นเวลาทำงานใน กกท. นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๖๘ ให้คณะกรรมการองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งอย่างช้าต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ข้อสังเกต การใช้คำว่า จนกว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ อาจมีปัญหาช่องว่างของการปฏิบัติหน้าที่
เพราะเมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการแล้ว อาจยังไม่พร้อมที่จะทำงาน
พระราชบัญญัติบางฉบับจึงใช้คำว่า จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่เข้ารับหน้าที่
๗. เพื่อเชื่อมโยงถ้อยคำหรือความหมายระหว่างกฎหมายใหม่และกฎหมายเก่า
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน
พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา ๗๒ คำว่า ทบวงการเมือง ตามกฎหมายอื่นที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้หมายความถึงกระทรวง
ทบวง กรม ตามพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี
มาตรา ๗๕ บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ
หรือคำสั่งใดอ้างถึงประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕
หรืออ้างถึงบทบัญญัติแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.
๒๕๑๕ ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นอ้างถึงพระราชบัญญัตินี้
หรือบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ในบทมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน แล้วแต่กรณี
มาถึงตรงนี้
ผู้เข้ารับการอบรมอาจเกิดความสับสน
เพราะพบว่าพระราชบัญญัติบางฉบับมีบทบัญญัติในทำนองนี้เหมือนกัน
แต่บัญญัติไว้คนละที่ ไม่ได้อยู่ในหมวดบทเฉพาะกาล
อาจจะเป็นเพราะว่าต้องการให้เน้นให้เห็นแต่แรกว่ามีการเปลี่ยนแปลงองค์กรนี้และกฎหมายให้มีจะเทียบกันอย่างไร
ตัวอย่าง
พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐
มาตรา ๔ บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ
มติ หรือคำสั่งใดที่อ้างถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการส่วนจังหวัด
ข้าราชการส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือสภาจังหวัด ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ มติ หรือคำสั่งนั้นอ้างถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้าราชการองค์การ
บริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้
เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
บทบัญญัติแห่งกฎหมาย
กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ มติ หรือคำสั่งใดได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือหัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่น
ให้ถือว่านายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่เช่นว่านั้นเท่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
๘. เมื่อแยกอำนาจหน้าที่กรมออกเป็นสองกรม
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕
มาตรา ๑๘ ให้ดำเนินการแต่งตั้ง ก.พ.ร.
ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้โอนงบประมาณและบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
ให้อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนตามมาตรา
๘ ทวิ และตามมาตรา ๘ สัตต
ในส่วนที่เกี่ยวกับการแบ่งส่วนราชการและการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ร.
ให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ
พลเรือน คงมีอำนาจหน้าที่เท่าที่ไม่ซ้ำกับอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ร.
ให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนและกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
เพื่อกำหนดภารกิจของ ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ
พลเรือนให้เหมาะสม
ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จและเสนอสภาผู้แทนราษฎรภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ข้อสังเกต โปรดพิจารณาถ้อยคำใน วรรคสี่
ที่บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คงมีอำนาจหน้าที่เท่าที่ไม่ซ้ำกับอำนาจหน้าที่ของ
ก.พ.ร.
เป็นการกำหนดลงไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทั้งสององค์กรว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว
ในระหว่างไม่มีกฎหมายเป็นที่ชัดเจนกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรทั้งสองไว้แล้ว
จะแก้ปัญหากันอย่างไร
๙. เมื่อมีการลดระดับลูกบท
การแบ่งส่วนราชการในกระทรวงเป็นกรมนั้น
แต่เดิมมาพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ บัญญัติให้กระทำเป็น พระราชกฤษฎีกา แต่ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ฉบับปัจจุบัน มาตรา ๒๓๐ บัญญัติว่า การรวมหรือการโอนกระทรวง ทบวง กรม
ที่มีผลเป็นการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรมขึ้นใหม่ หรือการรวมหรือการโอนกระทรวง ทบวง กรมที่มิได้มีการจัดตั้งกระทรวง
ทบวง กรมขึ้นใหม่ หรือการยุบกระทรวง ทบวง กรม ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาได้
เพื่อมิให้พะราชกฤษฎีกานี้สับสนกับพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ
จึงต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔
ในส่วนที่เกี่ยวกับการแบ่งส่วนราชการ
โดยลดระดับการแบ่งส่วนราชการในกระทรวงให้กระทำเป็น กฎกระทรวง ปัญหาจึงมีขึ้นว่า
จะต้องรับรองการแบ่งส่วนราชการที่มีอยู่เดิม มิฉะนั้นแล้วก็คงต้องแบ่งส่วนราชการในระดับกรมใหม่หมดเป็นกฎกระทรวง
ซึ่งย่อมเป็นการสิ้นเปลืองเวลาการทำงานมาก บทเฉพาะกาลมาตราข้างล่างนี้
จึงบัญญัติรับรองสิ่งที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว และโปรดสังเกตว่า
เนื้อความจะบอกว่าพระราชกฤษฎีกาเดิมให้ใช้บังคับอยู่ต่อไป จนกว่าจะมีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของกรมนั้นใหม่
ก็แทนที่เข้าไปเลย โดยพระราชกฤษฎีกานั้นก็จะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ
ไม่ต้องไปเสียเวลาตราพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาเดิมอีก
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓
มาตรา ๕ พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการภายในส่วนราชการตามมาตรา
๘วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔
ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้คงใช้บังคับได้ต่อไป
จนกว่าจะมีกฎกระทรวง
ว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการตามมาตรา ๘ ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.
๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
๑๐.
เพื่อให้มีการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายใหม่
กฎหมายที่กำหนดขึ้นใหม่มักกำหนดกฎเกณฑ์บางอย่างขึ้นมา
ทำให้ผู้ที่อยู่ในบังคับใช้กฎหมายมีหน้าที่ตามกฎหมายบางประการ เช่น ต้องมาขออนุญาตหรือมาแจ้ง
มิฉะนั้นย่อมมีโทษ หากกฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้แล้ว
บุคคลย่อมต้องปฏิบัติและมีโทษทันทีถ้าไม่กระทำตาม
จึงเป็นความลำบากของผู้ที่ต้องมีหน้าที่เช่นกัน
กฎหมายจึงอนุญาตให้ทอดเวลาออกไประยะหนึ่ง
เพื่อประชาชนที่เกี่ยวข้องจะได้ตัดสินใจได้ว่า จะเลิกกระทำการนั้นหรือไม่
หรือต้องการกระทำต่อไป แต่ต้องมาขออนุญาต
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๒๘
มาตรา ๖๔ สมาคมใดซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับการกีฬาหรือการส่งเสริมการกีฬาโดยตรง ที่ตั้งและดำรงอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ขอรับอนุญาตให้ถูกต้องตามมาตรา ๕๓ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๖๕ คณะบุคคลหรือบุคคลใดซึ่งใช้คำว่า แห่งประเทศไทย หรือมีอักษรหรือเครื่องหมายใด แสดงว่าเป็นสมาคม สโมสรหรือคณะบุคคล ซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬาในนาม
ของชาติหรือประเทศไทยอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ขอรับอนุญาตให้ถูกต้องตามมาตรา ๕๙ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
๑๑. กฎหมายกำหนดใช้ลูกบทเดิมไปพลางก่อน
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก
พ.ศ. ๒๕๒๒
มาตรา ๑๖๔ ในระหว่างที่ยังมิได้มีกฎกระทรวง ข้อกำหนด
หรือระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กฎกระทรวง ข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศใด
ๆ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ และพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้คงใช้บังคับต่อไป
ข้อสังเกต มีคำถามอยู่ว่าถ้าไม่มีบทบัญญัติทำนองมาตรา
๑๖๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้ว บรรดาลูกบทเดิมทั้งหมดจะสิ้นผลไปเลยหรือไม่
ขอให้พิจารณาความเห็นดังต่อไปนี้
บันทึก เรื่อง
การใช้บังคับประกาศผู้อำนวยการทางหลวงที่ออกตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ -
เรื่องเสร็จที่ ๑๓๙/๒๕๓๖ - คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๖)
การที่กฎหมายฉบับเดิมได้มีบทบัญญัติให้ออกกฎหมายลำดับรองขึ้นไว้และต่อมากฎหมายฉบับนั้นถูกยกเลิกและมีกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นใช้บังคับแทนแล้ว
การพิจารณาว่ากฎหมายลำดับรองซึ่งเป็นการกำหนดรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงเพื่อบังคับตามกฎหมายฉบับนั้นจะถูกยกเลิกไปด้วยหรือไม่
ย่อมขึ้นอยู่กับการตรากฎหมายฉบับใหม่ว่ามีสาระสำคัญอย่างไร กล่าวคือ
ถ้าหากกฎหมายฉบับใหม่มีลักษณะเป็นเพียงการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับเดิม
โดยบทบัญญัติที่ให้ออกกฎหมายลำดับรองได้ยังคงมีเนื้อหาสาระหรือหลักการเช่นเดียวกับกฎหมายฉบับเดิมทุกประการ
ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่ากฎหมายฉบับใหม่มีความประสงค์จะให้รายละเอียดต่างๆ
ที่เคยกำหนดไว้เดิมยังคงใช้บังคับให้ต่อเนื่องกันไป
เว้นแต่จะมีการแสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งว่าต้องการให้สิ้นผลไปทันที ทั้งนี้
สำหรับในเรื่องนี้เมื่อกำหนดให้มีการออกประกาศของผู้อำนวยการทางหลวง เรื่อง
การห้ามใช้ยานพาหนะ โดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก
น้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด เดินบนทางหลวงตามมาตรา ๖๑
แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น คงมีหลักการเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๕๖
แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ จึงแสดงให้เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติทางหลวง
พ.ศ. ๒๕๓๕ จะยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ฯ แล้วก็ตาม
แต่การกำหนดรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นการกำหนดข้อเท็จจริงขึ้นเพื่อให้บทบัญญัตินี้สามารถใช้บังคับให้เป็นผลขึ้นนั้น
ยังคงประสงค์ให้มีการดำเนินการเช่นเดียวกับที่เคยกำหนดไว้เดิมตามประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ ๒๙๕ฯ ฉะนั้น
การที่พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ มิได้มีบทเฉพาะกาลรองรับประกาศต่างๆ
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่
๒๙๕ฯ ไว้ จึงมิได้หมายความว่าประกาศต่างๆ
ตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวต้องสิ้นผลไปแต่อย่างใด เพราะบทบัญญัติกฎหมายทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสาระและหลักการเช่นเดียวกันทุกประการ นอกจากนี้ การที่จะถือว่าประกาศต่างๆ
ที่เคยใช้บังคับอยู่เดิมทั้งหมดเป็นอันสิ้นผลไปทันทีที่มีพระราชบัญญัติทางหลวง
พ.ศ. ๒๕๓๕ ใช้บังคับนั้น ย่อมกระทบกระเทือนต่อการควบคุมดูแลทางหลวงซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องกัน
ซึ่งไม่น่าจะเป็นความประสงค์ของกฎหมายที่จะต้องให้ดำเนินการซ้ำกับที่เคยเป็นอยู่เดิมใหม่ทุกกรณี ด้วยเหตุนี้ ประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงฯ
ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ฯ
จึงยังคงใช้บังคับในช่วงเวลาดังกล่าวได้
บันทึก เรื่อง
ผลบังคับใช้ของประกาศและคำสั่งที่ออกตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๓
แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑ และมาตรา ๖
แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
ภายหลังจากที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่
๔) พ.ศ. ๒๕๓๑ -
เรื่องเสร็จที่ ๕๖๑/๒๕๓๑ - คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕)
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ มาตรา ๖
และมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑
และให้ใช้ข้อความที่บัญญัติใหม่แทน
ในมาตราทั้งสามบัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในการประกาศและออกคำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจสอบกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
และแต่งตั้งกรรมการวิชาการได้เช่นเดียวกับกฎหมายเดิม
แต่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดวิธีดำเนินการประกาศและอำนาจหน้าที่แตกต่างออกไป
ปัญหามีว่าประกาศและคำสั่งเดิมยังใช้ได้หรือไม่
การพิจารณาผลบังคับใช้ของพระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง ประกาศ คำสั่ง
ภายหลังจากที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจในการออกพระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง ประกาศ คำสั่ง แล้วนั้น
เมื่อกฎหมายแม่บทที่เป็นบทบัญญัติให้อำนาจได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกไปแล้ว
พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ คำสั่ง ทั้งหลายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บทเดิมน่าจะได้มีผลบังคับใช้อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม
ได้มีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (อ้างถึง บันทึก เรื่อง
หารือการใช้บังคับกฎกระทรวงการคลังและพระราชกฤษฎีกา
ส่งพร้อมกับหนังสือถึงกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร.๑๔๗๗/๒๔๙๔ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม
๒๔๙๔) และคำพิพากษาศาลฎีกา (คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๑๗ พ.ศ. ๒๔๘๒)
วางหลักเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
ในการที่จะวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติฉบับใดซึ่งได้มีบทบัญญัติให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงหรือตราพระราชกฤษฎีกาได้
แต่ต่อมาบทบัญญัติมาตรานั้นได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว บรรดากฎกระทรวงและพระราชกฤษฎีกาที่ได้ออกและตราขึ้นโดยมาตรานั้นจะยังมีผลใช้ได้หรือไม่นั้น
ก็ต้องพิจารณาดูว่าบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้บัญญัติในหลักการเดิมหรือได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมหลักการเดิมเสียใหม่
ถ้าปรากฏว่ามิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักการเดิม บรรดากฎกระทรวง
พระราชกฤษฎีกาที่ได้ใช้อยู่แล้วนั้นก็ยังมีผลใช้ได้
ไม่จำเป็นจะต้องออกกฎกระทรวงหรือตราพระราชกฤษฎีกาใหม่
แต่ถ้าหากว่าได้บัญญัติเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมหลักการขึ้นใหม่แล้ว
กฎกระทรวงและพระราชกฤษฎีกาบรรดาที่ได้ตราขึ้นโดยอาศัยบทมาตรานั้นก็เป็นอันใช้ไม่ได้
จำเป็นจะต้องออกกฎกระทรวงและตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นใหม่
เพราะหลักการได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ฉะนั้น
หลักการที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงหรือพระราชกฤษฎีกาย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงหรือตราพระราชกฤษฎีกา
คำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยในเรื่องนี้ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาข้างต้น
คือ คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๗/๒๔๘๒ วินิจฉัยว่า แม้พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รศ. ๑๒๐
มาตรา ๑๓ ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ พ.ศ. ๒๔๗๒ มาตรา ๓ ก็ดี
แต่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเองได้บัญญัติ มาตรา ๑๓ ขึ้นใหม่ให้ใช้แทนมาตรา
๑๓ เดิม โดยมิได้มีข้อความแย้งขัดหรือตัดทอนในมาตรา ๑๓ เดิมออกเลย เป็นแต่เพิ่มขยายความให้อำนาจแก่เสนาบดีที่จะประกาศยกเว้นหรือห้ามการจับสัตว์น้ำให้กว้างขวางขึ้นอีกเท่านั้น
เมื่อมาตรา ๑๓ เดิมที่ถูกยกเลิกไปได้มาตรา ๑๓ ใหม่ เข้ามาใช้แทน
และยังคงให้อำนาจเสนาบดีออกประกาศห้ามปรามการจับสัตว์น้ำอยู่ตามเดิม ดั่งนี้
กฎกระทรวงที่ได้ออกไว้โดยอาศัยความในพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รศ. ๑๒๐ มาตรา ๑๓
จึ่งยังคงใช้บังคับอยู่หาเป็นเหตุให้กฎนั้นต้องเลิกไปไม่
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง การแก้ไขประกาศสมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา ๑๕
แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
- เรื่องเสร็จที่๙๕/๒๕๔๔ -
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๓)
ประเด็นที่
๑ ประกาศสมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ ๓/๒๕๔๑ เรื่อง
หลักเกณฑ์การตีราคาหลักทรัพย์ ลงวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
เป็นข้อกำหนดของสมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกี่ยวกับหลักการบัญชีและวิธีการคำนวณมูลค่าของหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ
เพื่อนำไปใช้คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ บัญญัติว่า
การจัดการและค่าใช้จ่ายในการจัดการกองทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
ซึ่งข้อ ๓ และข้อ ๔ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๘)
ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการเงินกองทุนและการตีราคาหลักทรัพย์ไว้
ประกอบกับข้อ ๒.๔ ของประกาศสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์
เงื่อนไข
และขั้นตอนในการขออนุญาตและการอนุญาตให้เพิ่มประเภทผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ได้กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนต้องเป็นสมาชิกของสมาคมที่กลุ่มผู้จัดการกองทุนรวมตัวกันจัดตั้งขึ้น
และต้องปฏิบัติงานอยู่ในระเบียบที่สมาคมและนายทะเบียนกำหนดทุกประการ
เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา
๑๔ โดยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
ที่บัญญัติให้ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีหน้าที่และอยู่ในบังคับบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และมาตรา
๑๓๔ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.
๒๕๔๒ บัญญัติว่าผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามหลักเกณฑ์
เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
แต่เพื่อให้การจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามมาตรา
๑๓๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สามารถ
จัดการกองทุนที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ก่อนวันที่พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับ
ให้เป็นไปโดยต่อเนื่อง มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงได้กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับผู้จัดการกองทุนที่มีลักษณะดังกล่าวให้ยังคงจัดการกองทุนได้ต่อไปอีกไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลการจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมให้มีมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ใกล้เคียงกับผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
มาตรา ๑๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการ
ก.ล.ต. ในฐานะนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
เงื่อนไข ให้ผู้จัดการกองทุนปฏิบัติเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ มาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
ยังได้กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับบรรดากฎกระทรวงที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขในการจัดการกองทุน ฯลฯ
ให้ยังคงใช้บังคับกับผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมได้ต่อไปอีกไม่เกินหนึ่งปีเช่นเดียวกัน
จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
จะเห็นได้ว่า มาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ในฐานะนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมให้เป็นไปตามกฎกระทรวง
ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐
ประกาศสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข
และขั้นตอนในการขออนุญาตและการอนุญาตให้เพิ่มประเภทผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
รวมทั้งประกาศสมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ ๓/๒๕๔๑ เรื่อง
หลักเกณฑ์การตีราคาหลักทรัพย์ โดยนายทะเบียนสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบคุมดูแลการจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนเพิ่มเติมได้เท่านั้น
ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
ประกาศกำหนด
เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมมีมาตรฐานใกล้เคียงกับผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล
ตามนัยมาตรา ๑๓๔ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.
๒๕๔๒
และโดยที่การออกประกาศสมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ที่ ๓/๒๕๔๑ เรื่อง หลักเกณฑ์การตีราคาหลักทรัพย์ เป็นการปฏิบัติตามหนังสือและประกาศของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังซึ่งเป็นนายทะเบียน
(เดิม)
ที่กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและต้องปฏิบัติอยู่ในระเบียบตามที่สมาคมกำหนดไว้
ประกาศสมาคมฉบับดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา
๑๕ และมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
ที่ยังคงใช้บังคับกับผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมได้ต่อไปอีกไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
ดังนั้น การแก้ไขข้อ ๓ (๓)
ของประกาศสมาคมฉบับดังกล่าวเกี่ยวกับการตีราคาพันธบัตรรัฐบาลและตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กระทรวงการคลัง
ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย
เพื่อนำไปใช้คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ จากคำว่า ให้ใช้มูลค่าตามบัญชี เป็น ให้ใช้มูลค่ายุติธรรม จึงเป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
เกี่ยวกับการจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม ซึ่งมาตรา ๑๕
วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
มิได้บัญญัติให้อำนาจนายทะเบียนทำการแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่เดิมภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงไม่มีอำนาจแก้ไขประกาศสมาคมฉบับดังกล่าว
เนื่องจากไม่เป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบทเฉพาะกาลตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ทั้งนี้
จนกว่าระยะเวลาหนึ่งปีตามบทเฉพาะกาลจะได้ล่วงพ้นไปแล้ว
ประเด็นที่สอง
หนังสือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ด่วนมาก ที่ กค ๐๓๐๕/๗๐๖๔ ลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๑
เรื่อง การตีราคาหลักทรัพย์
เป็นหนังสือของผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เพื่อตอบข้อหารือของคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกี่ยวกับอำนาจในการออกประกาศสมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ที่ ๒/๒๕๔๑ โดยชี้แจงว่า
ประกาศสมาคมผู้จัดการกองทุนฉบับดังกล่าวมีความถูกต้องตามกฎหมายโดยรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
และขอให้สมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนำประกาศดังกล่าวเพื่อใช้บังคับกับสมาชิกต่อไป
และให้แจ้งต่อสมาชิกและคณะกรรมการกองทุนที่มีข้อสงสัยทราบด้วย
สำหรับหนังสือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ด่วนมาก ที่ กค ๐๓๐๕/๗๕๕๙ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๑ เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตีราคาหลักทรัพย์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหนังสือของนายทะเบียนเพื่อแจ้งให้สมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปรับปรุงแก้ไขประกาศสมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ที่ ๒/๒๕๔๑ ในส่วนที่รัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติม
จะเห็นได้ว่าหนังสือสำนักงานเศรษฐกิจการคลังทั้งสองฉบับเป็นหนังสือเวียนของนายทะเบียนเกี่ยวกับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อแจ้งให้สมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบและปฏิบัติตาม
ดังนั้น หนังสือสำนักงานเศรษฐกิจการคลังทั้งสองฉบับจึงเป็นหลักเกณฑ์ที่อยู่ภายใต้บังคับบทเฉพาะกาลตามมาตรา
๑๘ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
โดยยังคงมีผลใช้บังคับกับผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับการแต่งตั้งก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับได้ต่อไปอีกไม่เกินหนึ่งปี
ประเด็นที่สาม
หากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ในฐานะนายทะเบียนประสงค์จะให้ความเห็นชอบร่างประกาศสมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ที่ ๑/๒๕๔๓ ที่ได้แก้ไขประกาศสมาคมฯ ที่ ๓/๒๕๔๑ จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ นั้น
เห็นว่า ร่างประกาศสมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ ๑/๒๕๔๓
เป็นร่างประกาศที่สมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขความในข้อ
๓ (๓) ของประกาศสมาคมฯ ที่ ๓/๒๕๔๑ โดยนำหลักเกณฑ์ตามข้อ ๔ (๓) มาใช้บังคับแทน
กล่าวคือ การคำนวณมูลค่าเพื่อนำไปใช้คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิจากคำว่า ให้ใช้มูลค่าตามบัญชี เป็น ให้คำนวณเป็นราคาตลาด ซึ่งนายทะเบียน
(ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ยังมิได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ
การที่ร่างประกาศสมาคมฯ
ที่ ๑/๒๕๔๓ ได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม
จากการใช้มูลค่าตามบัญชีเป็นการให้คำนวณเป็นราคาตลาด ซึ่งมาตรา ๑๕ วรรคสอง
แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับมาตรา ๑๓๔
วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.
๒๕๔๒ บัญญัติให้นายทะเบียนอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขให้ผู้จัดการกองทุนต้องปฏิบัติเพิ่มเติมได้ในกรณีที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมดูแลการจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนเท่านั้น
มิได้บัญญัติให้อำนาจนายทะเบียนทำการแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่เดิมภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ในฐานะนายทะเบียนจึงไม่มีอำนาจให้ความเห็นชอบร่างประกาศสมาคมฯ ที่ ๑/๒๕๔๓ จนกว่าจะพ้นระยะเวลาหนึ่งปีตามบทเฉพาะกาลในมาตรา
๑๕ และมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
ขอให้ดูความเห็นสองเรื่องนี้ประกอบด้วย
จะเห็นว่ากฎหมายใหม่นั้นเองหลักการเปลี่ยนและมีเจตนาที่จะไม่นำหลักเกณฑ์เดิมมาใช้
บันทึก เรื่อง
การทบทวนความเห็นเรื่องการกำหนดจำนวนรถยนต์สี่ล้อรับจ้างบรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกินเจ็ดคนที่จะจดทะเบียนในกรุงเทพมหานครตามกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์
พุทธศักราช ๒๔๗๓ ยังคงมีผลใช้บังคับหรือไม่ (ตีความมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ และมาตรา ๕ และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์
พ.ศ. ๒๕๒๒)
เรื่องเสร็จที่ ๔๘๘/๒๕๒๙ คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย)
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย)
เห็นว่า มาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลบัญญัติว่าบรรดากฎกระทรวง คำสั่ง หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติรถยนต์
พุทธศักราช ๒๔๗๓ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
จนกว่าจะมีกฎกระทรวง คำสั่ง หรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อความในข้อ ๓ แห่งกฎกระทรวง
ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๐๔) ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๔ (พ.ศ. ๒๕๑๓) ฯ
ที่กำหนดจำนวนรถยนต์สี่ล้อรับจ้างในกรุงเทพมหานครไว้ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา
๓๘ (๑๔) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยผลของพระราชบัญญัติรถยนต์
พ.ศ. ๒๕๒๒ และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารในจังหวัดหนึ่ง
ๆ ไว้ ดังนั้น ข้อ ๓ แห่งกฎกระทรวงดังกล่าวจึงถือว่าเป็นข้อความที่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติรถยนต์
พ.ศ. ๒๕๒๒ และไม่สามารถนำมาใช้กับพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ตามบทเฉพาะกาลดังกล่าวได้
เพราะตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงมหาดไทยไม่อาจออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารในจังหวัดหนึ่ง
ๆ ได้ เพราะฉะนั้น กฎกระทรวงดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับต่อไป เนื่องจากตามบทเฉพาะกาลนั้นกฎกระทรวงเดิมที่จะใช้บังคับได้จะต้องสามารถออกกฎกระทรวงใหม่ตามพระราชบัญญัติรถยนต์
พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ด้วย
บันทึก เรื่อง
หารือเกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกิจการอุตสาหกรรมบางประเภทที่ห้ามประกอบ
พ.ศ. ๒๕๐๓ - เรื่องเสร็จที่ ๑๔๘/๒๕๐๕ - คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่
๒)
เมื่อพระราชบัญญัติฉบับใดได้มีพระราชบัญญัติซึ่งตราขึ้นภายหลังยกเลิกเสียทั้งฉบับ
รวมทั้งกฎและข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ตลอดจนบทกฎหมายอื่นที่ขัดแย้ง
ตามหลักทั่วไปแล้ว การยกเลิกพระราชบัญญัติอันเป็นแม่บทย่อมมีผลทำให้พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง
คำสั่ง และข้อบังคับทั้งหลายซึ่งได้ออกใช้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติที่ได้ถูกยกเลิกนั้นต้องถูกยกเลิกไปด้วย
เว้นแต่ในบางกรณีซึ่งพระราชบัญญัติที่ออกภายหลังจะมีข้อความแสดงให้เห็นว่าเป็นเพียงการแก้ไขเพิ่มเติม
หรือปรับปรุงพระราชบัญญัติที่ถูกยกเลิกเพื่อให้เหมาะสมหรือสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ยังคงมีวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่และวิธีดำเนินการอันเป็นสาระสำคัญตรงกัน
ซึ่งจะต้องพิจารณาเทียบเคียงกันโดยละเอียดเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้ มีข้อควรสังเกตว่า ในกรณีที่ยกเลิกพระราชบัญญัติใด
ๆ ทั้งฉบับ โดยตราพระราชบัญญัติใหม่ขึ้นแทนที่ มักจะมีบทเฉพาะกาลไว้ในพระราชบัญญัติฉบับหลังว่า
ในระหว่างที่ยังไม่ได้ตราพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือข้อบังคับขึ้นใหม่ ให้ใช้พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง หรือข้อบังคับที่ใช้อยู่แต่เดิมนั้นบังคับได้โดยอนุโลมเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทแห่งพระราชบัญญัติที่ออกภายหลัง
กรณีตามข้อหารือนี้
มีข้อเท็จจริงว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๔๙๗ ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม
พ.ศ. ๒๕๐๓ หากจะพิจารณาโดยผิวเผินก็ดูจะเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติที่ถูกยกเลิกให้ดีขึ้นแต่ยังคงมีวัตถุประสงค์สาระสำคัญส่วนใหญ่อย่างเดียวกัน
ยิ่งกว่านั้นพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๐๓ ยังได้บัญญัติเป็นทำนองบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา
๒๔ ว่า
มาตรา ๒๔ กิจการอุตสาหกรรมใด ประเภทใด หรือขนาดใดต้องห้ามมิให้ประกอบ
หรือให้ประกอบได้ภายใต้เงื่อนไขอย่างใด และหรือระยะเวลาเท่าใด ให้ประกาศกำหนดในกฎกระทรวง
กฎกระทรวงที่ออกตามความในวรรคก่อน ไม่กระทบกระทั่งอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบมาอยู่แล้ว
หรือได้รับอนุญาตให้ตั้งหรือประกอบได้แล้วก่อนวันประกาศกฎกระทรวง
และมาตรา ๓๒ วรรคแรกบัญญัติว่า
ให้ถือว่าบุคคลผู้ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
เป็นผู้ได้รับการส่งเสริมตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขและระยะเวลาที่ปรากฏในความตกลงที่ได้ทำไว้เกี่ยวกับการที่ได้รับการส่งเสริมนั้น
ความในสองมาตราดังกล่าวนี้ย่อมมีความหมายตรงกันว่า
กิจการอุตสาหกรรมใด ประเภทใด หรือขนาดใดที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม
พ.ศ. ๒๕๐๓ นี้ใช้บังคับ จะไม่ได้รับการกระทบกระทั่ง หรือถูกยกเลิกการประกอบไปโดยผลแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่อย่างใด ทั้งนี้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลาที่ปรากฏในความตกลงที่ได้ทำไว้เกี่ยวกับการที่ได้รับการส่งเสริมนั้น
ซึ่งอาจถือเป็นข้อสันนิษฐานให้เข้าใจได้ว่า พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกิจการอุตสาหกรรมบางประเภทที่ห้ามประกอบ
พ.ศ. ๒๕๐๓ ยังคงใช้ได้อยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้นำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติที่ถูกยกเลิกกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม
พ.ศ. ๒๕๐๓ (ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปและตราพระราชบัญญัติใหม่ขึ้นใช้แทนที่ใน พ.ศ. ๒๕๐๕) มาพิจารณาเทียบเคียงโดยถ่องแท้จะเห็นได้ว่า
การที่จะตีความว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวยังใช้ได้อยู่นั้น น่าจะไม่เป็นการถูกต้อง ทั้งนี้ด้วยเหตุ
๓ ประการ กล่าวคือ
(๑) บทเฉพาะกาลมาตรา ๒๔ และมาตรา ๗๒
แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมนั้น กล่าวถึงอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นหรือมีอยู่อันจะได้รับการส่งเสริมต่อไป
แต่พระราชกฤษฎีกาที่เป็นปัญหา กล่าวถึงการอุตสาหกรรมที่ห้ามมิให้ประกอบหาใช่ที่จะส่งเสริมไม่
(๒) การระบุห้ามประกอบกิจการอุตสาหกรรมใดนั้น
ในพระราชบัญญัติใหม่ให้ออกเป็นกฎกระทรวง ไม่ใช่พระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นการกำหนดวิธีดำเนินการขึ้นใหม่
หากจะตีความว่า พระราชกฤษฎีกานั้นยังใช้ได้ในขณะนี้ จะไม่มีวิธีการที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชกฤษฎีกานั้นให้เหมาะสมตามกาลสมัยได้ จึงเห็นได้ชัดว่าพระราชบัญญัติใหม่มิได้มีความประสงค์เช่นนั้น
และ
(๓) การฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาที่หารือมา
เดิมบัญญัติให้เป็นความผิดในทางอาญา (มาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรม
พ.ศ. ๒๔๙๗) แต่พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๐๓ หาได้บัญญัติให้เป็นความผิดอาญาไม่
จะต้องถือว่าได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในส่วนสำคัญ
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้
คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเห็นว่า พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกิจการอุตสาหกรรมบางประเภทที่ห้ามประกอบ
พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น
ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ.
๒๕๐๓
๑๒. สืบทอดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเดิม
โปรดสังเกตความในวรรคสองของตัวอย่างนี้
เป็นตัวอย่างที่ดี และควรเขียนไว้ด้วย เพื่อแก้ปัญหาองค์ประชุมซึ่งเราจะไม่อาจทราบได้เลยว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่
แต่ก็เขียนเปิดช่องไว้เผื่อถ้ามีปัญหา
ตัวอย่าง
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓
มาตรา ๘๖ ให้คณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิตามพระราชบัญญัตินี้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการตุลาการตามวรรคหนึ่งว่างลง และมีกรรมการตุลาการเหลืออยู่ไม่พอที่จะเป็นองค์ประชุม ก็ให้กรรมการตุลาการที่เหลืออยู่ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ เฉพาะการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อมิให้เสียหายแก่ราชการ
๑๓. เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมในอัตราใหม่
เพื่อกำหนดภาระภาษีให้เป็นที่แน่ชัด
ตัวอย่าง
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
มาตรา ๑๖๗ รถที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่ถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป
ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้
ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้รถตามวรรคหนึ่ง
ซึ่งจะชำระภาษีครั้งแรกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องชำระภาษีคราวละกี่งวดก็ได้
๑๔. คำขอใบอนุญาตที่ยังพิจารณาไม่เสร็จ
ตัวอย่าง
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
มาตรา ๑๖๘ คำขออนุญาตใดๆ ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
ให้ถือว่าเป็นคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม และถ้าคำขออนุญาตดังกล่าวมีข้อความแตกต่างไปจากคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขออนุญาตเพื่อให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ได้
๑๕. การบริการประชาชนในกรณีที่ส่วนราชการยังไม่พร้อม
ตัวอย่าง
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
มาตรา ๑๖๙ ในเขตท้องที่จังหวัดใดในระหว่างที่ยังไม่มีขนส่งจังหวัดให้อำนาจและหน้าที่ของขนส่งจังหวัด เป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนกลาง
๑๖. รับรองสิทธิเดิม
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
พ.ศ. ๒๕๔๑
มาตรา
๓๙
บรรดาผู้ซึ่งได้รับประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง และประกาศนียบัตรวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ของวิทยาลัยช่างกลปทุมวันตามหลักสูตรของกรมอาชีวศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้มีศักดิ์และสิทธิเท่ากับผู้ได้รับปริญญาตามพระราชบัญญัตินี้
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติรถยนต์
(ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
มาตรา ๑๗ ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถตลอดชีพอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ใช้ใบอนุญาตขับรถนั้นได้ต่อไป
การขอใบแทนใบอนุญาตขับรถตลอดชีพ
ให้นำมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้คิดค่าธรรมเนียมฉบับละหนึ่งร้อยบาท
๑๗. เพื่อให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปให้ครบถ้วน
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
พ.ศ. ๒๕๔๑
มาตรา
๔๓ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๓๒๗ (๙) ของรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
ทั้งนี้
กฎหมายดังกล่าวจะต้องกำหนดระยะเวลาการยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นทุกฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ตราขึ้นใหม่ประกาศใช้บังคับ
ซึ่งจะกำหนดระยะเวลาให้แตกต่างกันตามสภาพความพร้อมที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแต่ละแห่งก็ได้
แต่ต้องมิให้เกินห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
๑๘. เพื่ออุดช่องว่างในกรณีที่กฎหมายยังไม่มี
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๑๒๖ ในกรณีที่มีการสรรหากรรมการในระหว่างที่ยังไม่มีประธานศาลปกครองสูงสุดให้คณะกรรมการสรรหากรรมการตามมาตรา
๗ มีจำนวนสิบสี่คนประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือเจ็ดคน
และผู้แทนพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน
เป็นกรรมการ
๑๙.
เพื่อเร่งรัดให้มีการแต่งตั้งกรรมการหรือสรรหากรรมการโดยเร็ว
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๖๖ ให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการตามมาตรา
๘ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
กำหนดวันดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง
ให้หมายถึงวันในสมัยประชุมของรัฐสภา
๒๐. เขตอำนาจศาล
ตัวอย่าง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๑๐๕ บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องหรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอื่นอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
และมีลักษณะเป็นคดีปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ศาลนั้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไปจนคดีนั้นถึงที่สุด
มาตรา ๑๐๖ สิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามมาตรา
๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ในคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัตินี้
ให้ถือว่าเป็นสิทธิฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม
๒๑. บทเร่งรัด/บทบังคับ
ตัวอย่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๗๑ ให้กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานการศึกษา และสถานศึกษาที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยังคงมีฐานะและอำนาจหน้าที่เช่นเดิม
จนกว่าจะได้มีการจัดระบบการบริหารและการจัดการศึกษาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
การเขียนบทเฉพาะกาลทำนองนี้มีประเด็นพิจารณาว่าเป็นบทบังคับหรือบทเร่งรัด
ซึ่งมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
บันทึก เรื่อง หารือปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ.๒๕๓๑ - เรื่องเสร็จที่ ๔๕๓/๒๕๓๒ คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย)
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ.๒๕๓๑ มีบทเฉพาะกาลบัญญัติดังนี้
มาตรา ๕๔
ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
คงปฏิบัติหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่อไป
จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
และมีการแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้
ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติรองรับให้นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ใช้บังคับ คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
ฯ แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
และมีการเลือกตั้ง
กรรมการสภามหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่
แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
การที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ก็เพราะต้องการจะให้มีการแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิและเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยเร็ว
เป็นข้อกำหนดเร่งรัดให้ดำเนินการจัดให้มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดใหม่
มิใช่เป็นเงื่อนเวลาหรือกำหนดเวลาที่จะทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดเก่าพ้นจากตำแหน่งแต่อย่างใด
นอกจากนี้การตีความในลักษณะที่ก่อให้เกิดผลไม่มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่ปฏิบัติหน้าที่นั้น
กล่าวโดยสรุป เห็นว่า
กำหนดระยะเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๔
แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ นั้น บัญญัติขึ้นเพื่อเร่งรัดการแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อยังไม่แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดใหม่
กรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดเก่าจึงยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
บันทึก เรื่อง
การบอกเลิกสัญญาให้เช่าเวลาจัดรายการทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์
- เรื่องเสร็จที่ ๔๔๕/๒๕๔๓ - คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๕)
กรมประชาสัมพันธ์ได้มีหนังสือขอหารือว่า
กรมประชาสัมพันธ์จะใช้สิทธิตามสัญญาเช่าเวลา
บอกเลิกสัญญาเพื่อนำคลื่นความถี่มาใช้ประโยชน์ราชการตามแผนแม่บทจะกระทำได้หรือไม่
และจะเป็นการต้องห้ามหรือขัดแย้งกับบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๓๕(๒)
ประการใดหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๕) เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าเวลาจัดรายการทุกฉบับได้ระบุให้ผู้ใช้เช่าบอกเลิกสัญญาได้
หากเป็นความประสงค์หรือเป็นประโยชน์ของทางราชการ
ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวก็เป็นไปตามความตกลงของคู่สัญญา
และไม่ได้เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด
กรมประชาสัมพันธ์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ส่วนที่กรมประชาสัมพันธ์เกรงว่าจะเป็นการขัดกับมาตรา ๓๓๕ (๒) ของรัฐธรรมนูญนั้น
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๕) เห็นว่า มาตรา ๓๓๕ (๒) เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับเฉพาะการตรากฎหมายเพื่ออนุวัตการให้เป็นไปตามมาตรา
๔๐ เท่านั้น
จึงไม่เกี่ยวกับกรณีการบอกเลิกสัญญาตามปัญหาที่กรมประชาสัมพันธ์หารือมานี้แต่อย่างใด
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.
๒๕๔๒ - เรื่องเสร็จที่ ๒๙๗/๒๕๔๕ - คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่)
มาตรา ๘๖
บรรดาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช
๒๔๗๔ ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ คำสั่ง
ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแทน ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
กำหนดเวลาหนึ่งปีตามมาตรา ๘๖
แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อเร่งรัดการดำเนินการออกกฎกระทรวงเท่านั้น ดังนั้น แม้จะพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงใช้บังคับแล้วและยังไม่มีกฎกระทรวงตามกฎหมายดังกล่าวออกมาใช้บังคับก็ตาม
บรรดาบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง
พุทธศักราช ๒๔๗๔ ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่
การปฏิบัติและการกำกับดูแลจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัตินั้น
การวินิจฉัยให้บุคคลรับโทษทางอาญาซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตร่างกายและเสรีภาพของบุคคลเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเป็นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
การนำบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษมาใช้บังคับในกรณีนี้ต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมายตามมาตรา
๓๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ
กฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงต้องบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นำบทกำหนดความผิดอาญาและบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง
พุทธศักราช ๒๔๗๔ มาใช้บังคับ เพราะหากไม่มีการบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งผู้กระทำการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดย่อมไม่อาจทราบได้ว่าในขณะที่ตนกระทำการดังกล่าวจะเป็นความผิดและจะต้องได้รับโทษอาญาหรือไม่
อย่างไร
ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา
(ที่ประชุมใหญ่) โดยมติเสียงข้างมาก จึงเห็นว่า เมื่อมาตรา ๘๖
แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๒
ไม่ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นำบทกำหนดโทษมาใช้บังคับด้วย
การนำบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงมาใช้บังคับจึงไม่รวมถึงบทกำหนดโทษสำหรับกรณีที่กระทำความผิดโดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง มาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ -เรื่องเสร็จที่
๑๔๙/๒๕๔๕- คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่๑)
บทบัญญัติดังกล่าวเป็นระยะเวลาเร่งรัดในการดำเนินการ
แต่แม้จะไม่มีผลในทางทำให้กระทบต่อฐานะและอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม ฯลฯ
แต่ก็มีผลเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบในทางการเมืองหรือทางวินัยที่ต้องสามารถอธิบายได้
อย่างไรก็ตาม
ก็อย่าสับสนกับบทบัญญัติที่เป็นบทบังคับจริงๆ ตามความเห็นต่อไปนี้
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจับ -เรื่องเสร็จที่ ๕๗๘/๒๕๔๕- คณะกรรมการกฤษฎีกา
(คณะที่ ๑๑)
มาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ที่กำหนดให้ศาลเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจออกหมายจับมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้นโดยกำหนดให้ผู้ที่มีอำนาจออกหมายจับและผู้ที่ปฏิบัติการจับกุมเป็นคนละองค์กรกัน
อันจะเป็น
การควบคุมการใช้อำนาจของรัฐในเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชนตามมาตรา
๓๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ฉะนั้น การที่บทเฉพาะกาลมาตรา ๓๓๕ (๖) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติมิให้นำมาตรา ๒๓๗ มาใช้บังคับจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ นั้น เห็นว่า
เงื่อนไขการบังคับใช้มาตรา ๒๓๗ อยู่ที่กำหนดเวลาห้าปีมากกว่าการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นบทบังคับเด็ดขาด เพราะเป็นการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศใช้บังคับแล้ว
แม้ว่าจะยังไม่มีการแก้ไขมาตรา ๕๘ (๑) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ให้สอดคล้องกับมาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็ตาม มาตรา ๒๓๗
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ก็จะมีผลใช้บังคับ ส่วนมาตรา ๕๘ (๑)
แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นอันใช้บังคับมิได้