ข้อสรุปการศึกษาวิจัยกฎหมายที่มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
_____________
๑.
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน
ได้เสนอแนวความคิดสิทธิและเสรีภาพออกไปอย่างกว้างขวาง
จะเห็นได้ว่าได้มีการแบ่งแยกสิทธิและเสรีภาพออกเป็นสองประเภท คือ ประเภทที่หนึ่ง
สิทธิที่มีมาแต่กำเนิดหรือสิทธิขั้นมูลฐาน และประเภทที่สอง
สิทธิที่เกิดขึ้นเพราะคนมารวมกันเป็นรัฐหรือสิทธิของพลเมืองอันเกิดจากการรับรองของรัฐ
ซึ่งสิทธิและเสรีภาพทั้งสองประการดังกล่าวเป็นข้อกำหนดผูกพันการใช้อำนาจองค์กรของรัฐทุกองค์กร
ที่จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ตลอดจนให้หลักประกันว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองจะกระทำได้ก็แต่โดยเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น
และการตรากฎหมายจะต้องอ้างบทอาศัยอำนาจในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ในกฎหมายด้วย
อย่างไรก็ตาม
เนื่องจากความนึกคิดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพได้เปลี่ยนไปตามกาลสมัย
กฎหมายบางฉบับที่ดูเหมือนว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ อาจไม่สอดคล้องกับแนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญใหม่ก็ได้
รายงานการศึกษาวิจัยนี้จึงได้จัดทำขึ้นเพื่อตรวจสอบกฎหมายของประเทศที่ยังมีผลใช้บังคับ
เพื่อทราบว่ามีกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในส่วนที่รับรองสิทธิและเสรีภาพอยู่หรือไม่
จำนวนเท่าใด
๒. วัตถุประสงค์ของการศึกษา
(๑)
ทำการสำรวจกฎหมาย โดยศึกษา และวิเคราะห์กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนด
กฎหมายหรือประกาศหรือคำสั่งอื่นที่มีผลใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ว่ามีบทบัญญัติใดไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ
(๒)
เสนอแนะหรือกำหนดแนวทางปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
๓. วิธีการศึกษาวิจัย
ทำการศึกษาวิจัยในเชิงคุณภาพ
โดยวิเคราะห์ตัวบทกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในปัจจุบัน (ตามรายชื่อกฏหมายที่เสนอ
ซึ่งคณะผู้วิจัยได้เสนอกฎหมายที่ทำการวิเคราะห์จำนวนทั้งสิ้น ๕๕๕ ฉบับ)
ตามเกณฑ์หรือแนวทางการวิเคราะห์กฎหมายที่จัดทำขึ้น
พิจารณาประกอบกับเอกสารวิจัยต่างๆ บทความทางวิชาการ คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ
ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคำวินิจฉัยขององค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง
ขอบเขตแนวความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของต่างประเทศ
และประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย
สำหรับแนวทางหรือเกณฑ์ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์กฎหมายนั้น
ได้มาจากการศึกษาแนวความคิดของสภาร่างรัฐธรรมนูญ
จากเอกสารรายงานการประชุมการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ
หรือเอกสารวิชาการต่างๆ ที่จัดทำขึ้นในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ
ศึกษาแนวความคิดของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในกฎหมายต่างประเทศ
ตลอดจนขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพนั้นๆ
และประมวลเข้ากับความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ
เสนอเป็นเกณฑ์การวิเคราะห์ตรวจสอบกฎหมาย
๔.
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
(๑)
ทราบถึงที่มาและขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
(๒)
ทราบบทบัญญัติของกฎหมายที่ยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
(๓)
เป็นข้อมูลเพื่อเสนอต่อรัฐบาลหรือองค์การอื่น
ให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ฉบับปัจจุบัน
๕.
ขอบเขตและรายละเอียดของการศึกษาวิจัย
(๑)
ศึกษาขอบเขตและความหมายของสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ฉบับปัจจุบัน
(๒)
ศึกษาความหมายและขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพของรัฐธรรมนูญต่างประเทศ
เพื่อให้ทราบขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญต่างประเทศเป็นอย่างไร
ในกรณีคล้ายคลึงกับปัญหาของไทย ได้มีการวางแนววินิจฉัยไว้อย่างไร ดังต่อไปนี้
(๒.๑) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่เป็นรัฐธรรมนูญต้นแบบที่เป็น
ลายลักษณ์อักษรฉบับแรก
และได้ให้ความสำคัญแก่สิทธิและเสรีภาพค่อนข้างมาก
(๒.๒) ประเทศฝรั่งเศส
เป็นตัวอย่างของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของประเทศภาคพื้นยุโรป
(๒.๓)
ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญของการกำหนดกรอบการตรากฎหมายไม่ให้ขัดแย้งหรือก้าวล่วงสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพในทำนองเดียวกับมาตรา
๒๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน
(๒.๔) ประเทศญี่ปุ่น
ผู้วิจัยเลือกศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น
เพื่อให้เห็นตัวอย่างของรัฐธรรมนูญในประเทศแถบอาเซีย
ซึ่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นโดยอารยธรรมแบบตะวันออกได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสหรัฐอเมริกาภายหลังสงครามโลกครั้งที่
๒
(๓)
วางเกณฑ์เพื่อใช้ศึกษาวิเคราะห์กฎหมายไทย
โดยการสังเคราะห์ขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพที่ได้ศึกษาข้างต้นประกอบกับรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ
และยืนยันด้วยคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญไทย
และแนววินิจฉัยในเรื่องเดียวกันของศาลสูงหรือศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ
(๔)
วิเคราะห์กฎหมายไทย ตามรายชื่อกฎหมายในภาคผนวกที่ ๑ (จำนวน ๕๕๕ ฉบับ)
ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์กฎหมาย
ได้แยกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ออกไปก่อน เช่น
พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการออกเหรียญที่ระลึกในวาระต่างๆ
หรือพระราชบัญญัติกำหนดเครื่องแบบ
พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือการเปลี่ยนแปลงสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทต่างๆ
ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่มีเนื้อหากระทบต่อสิทธิและเสรีภาพอยู่แล้ว
กฎหมายที่ตราขึ้นใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน
จะสันนิษฐานว่าไม่มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
เว้นแต่แนวความคิดในเรื่องดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป
รวมทั้งในรายงานการศึกษาวิจัยนี้ได้ตรวจสอบวัตถุประสงค์ของกฎหมายและพิจารณารายมาตรา
เพราะเห็นว่าแม้ว่ากฎหมายนั้นทั้งฉบับจะไม่มีวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญในขณะร่างฯและประกาศใช้
แต่อาจมีบทบัญญัติบางมาตราที่ยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ฉบับปัจจุบันก็ได้
ผลการศึกษาวิจัย
ผูวิจัยได้จัดทำรายงานการศึกษาวิจัย โดยมีเค้าโครง
ดังนี้
บทนำ
บทที่ ๑ ที่มาและความหมายของสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
๑. ที่มาและความหมายของสิทธิและเสรีภาพ
๒. วิวัฒนาการการจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย
๓. การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
บทที่ ๒ ที่มาและความหมายของสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญต่างประเทศ
๒.๑ การศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา
๒.๒ การศึกษารัฐธรรมนูญประเทศฝรั่งเศส
๒.๓ การศึกษารัฐธรรมนูญประเทศเยอรมัน
๒.๔ การศึกษารัฐธรรมนูญประเทศญี่ปุ่น
บทที่ ๓ การเสนอเกณฑ์การพิจารณาวิเคราะห์กฎหมายไทย
บทที่ ๔ ผลการวิเคราะห์กฎหมาย
๑. สรุปภาพรวมของกฎหมายตามกลุ่มกฎหมาย
๒. ตารางแสดงผลการวิเคราะห์กฎหมาย
๓. ข้อสังเกตเกี่ยวกับ แบบ
การใช้ถ้อยคำในกฎหมายที่อาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
บทที่ ๕ บทสรุปและข้อเสนอแนะ
บรรณานุกรม
ภาคผนวก
ภาคผนวกที่
๑ รายชื่อกฎหมายที่เสนอทำการศึกษา
ภาคผนวกที่
๒ ขอบเขตและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ภาคผนวกที่
๓ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ. ๒๕๔๐ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับก่อนฉบับปัจจุบัน
ภาคผนวกที่
๔ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิบุคคลตามรัฐธรรมนูญ
ภาคผนวกที่
๕ ผลการวิเคราะห์กฎหมายรายฉบับ
เนื่องจากเป็นรายงานการศึกษาวิจัยที่มีขนาดใหญ่มาก
(จำนวน ๑,๓๘๖ หน้า) ในที่นี้จะขอสรุปผลการศึกษาวิจัยแต่เพียงสองส่วน คือ เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา และการเสนอกฎหมายที่มีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญพร้อมด้วยเหตุผล
ส่วนในรายละเอียดของการศึกษาวิจัย ขอท่านผู้อ่านโปรดค้นคว้าได้จาก www.lawreform.go.th
เกณฑ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์กฎหมาย
คณะผู้วิจัยได้เสนอเกณฑ์สำหรับใช้วิเคราะห์กฎหมายไทย
ดังนี้
๑.
ประการแรกได้พิจารณาว่าบทบัญญัติที่มองว่าเป็นการกระทบสิทธิหรือเสรีภาพนั้น
เป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ในหมวด ๓
สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยหรือไม่
๒.
การจำกัดสิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปเพื่อการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หรือไม่
๓. แม้เข้าหลักเกณฑ์ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพตาม
๒. ได้ก็ตาม เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติ เงื่อนไข
การออกกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย ฉะนั้น จะต้องนำเกณฑ์ในมาตรา ๒๙
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบันต่อไปนี้มาพิจารณาประกอบ ดังนี้
๓.๑
การจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น
๓.๒
การจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพไม่ได้
๓.๓
กฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง
๔. แม้ว่ากฎหมายที่ตราขึ้นเข้าตาม เงื่อนไข
ในมาตรา ๒๙ แล้ว
คณะผู้วิจัยยังคงได้พิจารณาความสมเหตุสมผลของวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือมาตรการของกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพ
(Rational
Relation
Test)
พร้อมกันไปด้วย
เพราะเหตุผลอันเป็นที่มาของการตรากฎหมายนั้นอาจไม่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพในปัจจุบัน
๕.
เกณฑ์การพิจารณาการเลือกปฏิบัติหรือความเสมอภาค (มาตรา ๓๐
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน)
พบว่ามีข้อยุ่งยากพอสมควรในการอธิบายคำว่า มาก
หรือ น้อย
หรือ ไม่เท่าเทียมกัน หรืออะไรเป็นสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกัน
ซึ่งไม่อาจอธิบายในเชิงตัวเลขได้เสมอ
ผู้วิจัยได้ใช้แนวพิจารณาของศาลสูงสหรัฐอเมริกาและศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันพิจารณาประกอบกัน
ซึ่งถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับเพศ เชื้อชาติ หรือศาสนา แล้ว
ย่อมจัดประเภทกฎหมายดังกล่าวไว้เป็น suspect classification
กล่าวคือ สงสัยไว้ก่อนเลยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ
เว้นแต่จะอธิบายเหตุผลและความมุ่งหมายได้
และจะตรวจสอบทั้งเป้าหมายและวิธีการของกฎหมายที่สร้างความแตกต่างนั้นว่ามีเหตุผลและเป็นไปได้เพียงใด
สำหรับเยอรมันมีข้อพิจารณาละเอียดลงไปว่า
การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันมีความมุ่งหมายเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
มีเหตุผลหรือไม่ การไม่เท่าเทียมกันเหมาะสมจำเป็นหรือไม่
รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติได้ตรวจสอบอย่างรอบคอบเมื่อออกฎหมายนั้นหรือไม่
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่ามาตรการที่มาชดเชยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เช่น การปฏิบัติต่อคนพิการ
หรือความเท่าเทียมกันของชายหญิงอาจทดแทนโดยการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นการให้ประโยชน์แก่หญิงได้
คือ เป็นกฎเกณฑ์ที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเสียเปรียบของสตรีในสังคม ฉะนั้น
ในการพิจารณาตรวจสอบกฎหมายไทยโดยใช้เกณฑ์นี้ จะต้องคำนึงถึงมาตรา ๓๐ วรรคสาม
ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น
ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ด้วย
แต่สำหรับความแตกต่างกันอันเนื่องมาจากประเพณีวัฒนธรรมหรือความคิดเห็นของสังคมนั้น
จะต้องพิจารณาลึกลงไปอีกว่าประเพณีวัฒนธรรมนั้นไม่ได้มาจากการที่มีมานาน
แต่จะต้องมีความยุติธรรมในขณะปัจจุบันด้วย
สำหรับสิทธิของคนต่างด้าว กฎหมายใดจะให้ความคุ้มครองแก่คนต่างด้าวย่อมเป็นไปตามเนื้อหาของกฎหมายแต่ละฉบับ
ในบางเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ความคุ้มครองคนต่างด้าวเท่าเทียมกับคนไทย เช่น
เสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่
๖.
หลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เกณฑ์การพิจารณาจากมาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญ ได้วางเกณฑ์ว่า
แม้กฎหมายจะออกมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพและรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ก็ตาม
แต่กฎหมายนั้นก็จะต้องไม่เป็นการขัดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งมีค่าที่สูงกว่าด้วย
ผลการวิเคราะห์กฎหมาย
เมื่อได้เสนองานวิจัยต่อคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศแล้ว
คณะผู้วิจัยได้รับความกรุณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณายกเลิกกฎหมายที่ได้ตรวจสอบงานวิจัยโดยเฉพาะการตรวจสอบการเสนอกฎหมายและการให้เหตุผลของการวิเคราะห์กฎหมายที่มีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ซึ่งคณะผู้วิจัยได้รับข้อคิดเห็นและมุมมองกฎหมายที่เป็นประโยชน์ยิ่งในการปรับปรุงผลการวิจัยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ข้อสรุปการวิเคราะห์กฎหมายในที่สุดแล้ว
คณะอนุกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมาย
(คณะที่ ๕)
ซึ่งดำเนินงานต่อจากคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ
ได้นำมาปรับปรุงเป็นรายงานที่ปรากฏนี้
บันทึก
เรื่อง กฎหมายที่อาจมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
ซึ่งมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ นั้น
มีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ
หลายประการ ทั้งบทบัญญัติในหมวด ๓ (สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย) และหมวด ๘
(ศาล) อย่างไรก็ดี
กฎหมายจำนวนมากได้ตราขึ้นก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีผลใช้บังคับ
จึงอาจมีบทบัญญัติของกฎหมายบางฉบับที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กรณีจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองไว้
ทั้งนี้
เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายเหล่านี้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญต่อไป
คณะอนุกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมาย
(คณะที่ ๕) พิจารณาผลการศึกษาวิจัย เรื่อง
กฎหมายที่มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศมอบหมายให้มูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมายดำเนินการตรวจสอบกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
(พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ประกาศของคณะปฏิวัติหรือประกาศอื่นที่มีฐานะทางกฎหมายเทียบเท่าพระราชบัญญัติ)
ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ จำนวน ๕๕๕ ฉบับ แล้ว เห็นว่ามีบทบัญญัติของกฎหมาย จำนวน
๔๙ ฉบับ
ที่อาจไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนของรัฐธรรมนูญ
(หมวด ๓ และหมวด ๘)
และมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำในบทบัญญัติว่าด้วยการรับโทษทางอาญาในกฎหมายและการกำหนดบทสันนิษฐานความผิดในทางอาญา
ดังนี้
ส่วนที่
๑
กฎหมายที่อาจมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
บรรดากฎหมายที่คณะอนุกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมาย
(คณะที่ ๕) เห็นว่าอาจมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ จำนวน ๔๙.ฉบับ นั้น
สามารถจำแนกความไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญออกได้เป็น ๘ กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่
๑ ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยความเสมอกันในกฎหมาย
มาตรา ๓๐
ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรับรองว่าบุคคลทุกคนต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
และจะเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพราะความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา
เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม
ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมิได้
แต่มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นนั้นไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
แต่ปรากฏว่ามีกฎหมาย จำนวน ๓๑ ฉบับ
ที่ถือปฏิบัติต่อบุคคลแตกต่างกันอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเพศ อายุ สุขภาพ
และฐานะทางเศรษฐกิจ และไม่มีลักษณะเป็นการขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
กฎหมายในกลุ่มนี้ได้แก่
๑.๑ กฎหมายที่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเพศ
๑.๑.๑ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา ๑๔๔๕
และมาตรา ๑๕๑๖)
๑.๑.๒ ประมวลกฎหมายอาญา
(มาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๗๗ และมาตรา ๒๘๖)
๑.๑.๓
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ (มาตรา ๑๖)
๑.๒ กฎหมายที่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางอายุ
๑.๒.๑
พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. ๒๕๐๕ (มาตรา ๙)
๑.๒.๒
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ (มาตรา ๙)
๑.๒.๓
พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. ๒๕๒๕ (มาตรา ๖)
๑.๒.๔ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช
พ.ศ. ๒๕๑๘ (มาตรา ๑๖)
๑.๒.๕ พระราชบัญญัติยา พ.ศ.
๒๕๑๐ (มาตรา ๑๔ และมาตรา ๔๘)
๑.๒.๖ พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ (มาตรา ๑๙)
๑.๓ กฎหมายที่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางร่างกาย/สุขภาพ
๑.๓.๑
พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ (มาตรา ๒๒)
๑.๓.๒ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก
พ.ศ. ๒๕๒๒ (มาตรา ๙๖)
๑.๔ กฎหมายที่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากฐานะทางเศรษฐกิจ
๑.๔.๑ พระราชบัญญัติหอการค้า
พ.ศ. ๒๕๐๘ (มาตรา ๑๐)
๑.๔.๒
พระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ (มาตรา ๑๐)
๑.๔.๓ พระราชบัญญัติยา พ.ศ.
๒๕๑๐ (มาตรา ๑๔ และมาตรา ๔๘)
๑.๔.๔ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช
พ.ศ. ๒๕๑๘ (มาตรา ๑๖)
๑.๔.๕
พระราชบัญญัติการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๒๒ (มาตรา ๒๘)
๑.๔.๖
พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ (มาตรา ๑๙)
๑.๔.๗
พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. ๒๕๓๑ (มาตรา ๑๔)
๑.๔.๘
พระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. ๒๕๔๒ (มาตรา ๒๗)
๑.๕ กฎหมายที่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากการเป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายหรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว
๑.๕.๑
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ (มาตรา ๓๐)
๑.๕.๒
พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘
(มาตรา ๙)
๑.๕.๓
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. ๒๕๒๓ (มาตรา ๒๓)
๑.๕.๔
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘ (มาตรา ๒๔)
๑.๕.๕
พระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. ๒๕๓๓ (มาตรา ๘)
๑.๕.๖
พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ๒๕๒๗ (มาตรา ๑๑)
๑.๕.๗
พระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๐๒ (มาตรา ๑๘)
๑.๕.๘
พระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. ๒๕๓๔ (มาตรา ๑๙)
๑.๕.๙
พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. ๒๕๓๔ (มาตรา ๑๙)
๑.๕.๑๐
พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ (มาตรา ๓๕ และมาตรา ๖๙)
๑.๕.๑๑
พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ (มาตรา ๓๔ และมาตรา ๖๔)
๑.๖ กฎหมายที่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเหตุที่เคยต้องโทษจำคุก
๑.๖.๑ พระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. ๒๕๒๘ (มาตรา ๘)
๑.๖.๒ พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ
พ.ศ. ๒๕๐๕ (มาตรา ๙)
๑.๖.๓
พระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. ๒๕๔๒ (มาตรา ๓๕)
๑.๖.๔ พระราชบัญญัติสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๓๗ (มาตรา ๑๘)
๑.๖.๕ พระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๓๐ (มาตรา ๑๖)
๑.๗ กฎหมายที่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากการมีสถานะเป็นข้าราชการ
๑.๗.๑
พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ (มาตรา ๓๕ (๖))
๑.๗.๒
พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ (มาตรา ๓๔ (๖))
๑.๗.๓
พระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๐ (มาตรา ๑๖ (๓))
๑.๗.๔
พระราชบัญญัติสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๗ (มาตรา ๑๘)
๑.๘ กฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะ
๑.๘.๑
พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล
พ.ศ. ๒๔๘๙ (ทั้งฉบับ)
กลุ่มที่
๒ ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
มาตรา
๓๑
ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
และการทรมาน ทารุณกรรม
หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้
แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีกฎหมาย จำนวน ๒ ฉบับ
ที่กำหนดวิธีการลงโทษผู้ต้องขังด้วยการขังห้องมืดและการเฆี่ยนซึ่งไม่สอดคล้องกับวิธีการลงโทษที่เป็นสากล
กฎหมายในกลุ่มนี้ได้แก่
๒.๑
พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ (มาตรา ๓๕)
๒.๒
พระราชบัญญัติเรือนจำทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ (มาตรา ๑๐)
กลุ่มที่ ๓
ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน
การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
มาตรา
๓๙
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น
การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
การตรากฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพดังกล่าวต้องเป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ
เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น
เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้มีการสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง
หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ด้วย ส่วนการกำหนดให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์
สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง
หรือวิทยุโทรทัศน์นั้นจะกระทำได้เฉพาะในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงครามหรือการรบเท่านั้น
แต่บทบัญญัติของกฎหมาย จำนวน ๒ ฉบับ ที่จำกัดเสรีภาพของบุคคลโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
กฎหมายดังกล่าวได้แก่
๓.๑ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘ (มาตรา ๘)
๓.๒ พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.
๒๕๓๐ (มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑)
กลุ่มที่
๔ ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคมหรือหมู่คณะ
มาตรา
๔๕
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ห้ามมิให้จำกัดเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม
สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น
เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน
เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจ แต่มีกฎหมาย จำนวน ๒ ฉบับ
ที่จำกัดเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด
กฎหมายดังกล่าวได้แก่
๔.๑. พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๕
(มาตรา ๑๔)
๔.๒ พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ (หมวด
๘ การควบคุมกีฬา (มาตรา ๕๓ ถึง มาตรา ๕๘))
กลุ่มที่ ๕
ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น
มาตรา ๔๖ รับรองสิทธิของบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ แต่มีกฎหมาย
จำนวน ๑ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๕ (มาตรา ๖
และมาตรา ๑๕) ที่ให้อำนาจรัฐในการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเรื่องใด ๆ ก็ได้ ให้เป็น วัฒนธรรม
ซึ่งบุคคลต้องปฏิบัติตาม
การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเรื่องใดให้เป็นวัฒนธรรมจึงอาจกระทบต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือจารีตประเพณีของกลุ่มชนหรือของชาติที่จะพัฒนาขึ้นตามความดีงามได้
กลุ่มที่
๖ ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน
แม้มาตรา ๔๘
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จะเปิดให้มีการตรากฎหมายขึ้นเพื่อจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลโดยมิได้บัญญัติเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิดังกล่าวไว้ด้วย
แต่กฎหมายที่จะตราขึ้นเพื่อจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลนั้นต้องเป็นไปตามมาตรา
๒๙
ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ
ต้องเป็นไปเพียงเท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิในทรัพย์สินมิได้
แต่มีกฎหมาย จำนวน ๒ ฉบับ
ที่ตราขึ้นเพื่อจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลโดยเกินความจำเป็น
กฎหมายดังกล่าวได้แก่
๖.๑ พระราชบัญญัติการเดินอากาศ
พุทธศักราช ๒๔๙๗ (มาตรา ๕๓ ทวิ)
๖.๒ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม
พุทธศักราช ๒๔๙๘ (มาตรา ๑๔)
กลุ่มที่ ๗
ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
มาตรา
๕๐
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เปิดโอกาสให้จำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ
การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค
การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ
การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม
สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาด
หรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน แต่มีกฎหมาย จำนวน ๑๐ ฉบับ
ที่จำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
โดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด กฎหมายดังกล่าวได้แก่
๗.๑ พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ (มาตรา ๑๖
และมาตรา ๑๗)
๗.๒ พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ (มาตรา ๗
และมาตรา ๑๔ ทวิ)
๗.๓ พระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พุทธศักราช ๒๔๙๖
(มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๓)
๗.๔ พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๙๙
(ทั้งฉบับ)
๗.๕ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๐ ลงวันที่ ๑๕ มกราคม
พ.ศ. ๒๕๐๒ (สถานบริการ) (ข้อ ๒)
๗.๖ พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. ๒๕๐๕ (มาตรา ๖)
๗.๗ พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ (มาตรา ๑๖)
๗.๘ พระราชบัญญัติสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๓๗ (มาตรา ๑๔)
๗.๙
พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ (มาตรา ๕๔)
๗.๑๐
พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. ๒๕๔๕ (มาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๘ และมาตรา
๑๐)
กลุ่มที่
๘ ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยการจับกุมและคุมขังบุคคล และการค้นในที่รโหฐาน
มาตรา ๒๓๗ และมาตรา ๒๓๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติว่าการค้นในที่รโหฐาน การจับกุม
และการคุมขังจะกระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งหรือหมายของศาล แต่มีกฎหมาย จำนวน ๔ ฉบับ
ที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติดังกล่าว ได้แก่
๘.๑
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (มาตรา ๕๘ มาตรา ๕๙ มาตรา
๖๑ วรรคสี่ มาตรา ๗๘ วรรคสอง
มาตรา ๘๗ และมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง)
๘.๒
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ (มาตรา ๑๐๑)
๘.๓
พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พุทธศักราช ๒๔๗๒ (มาตรา ๘ และมาตรา ๑๑)
๘.๔
พระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช ๒๔๘๖ (มาตรา ๑๒)
ทั้งนี้
เหตุผลในการวิเคราะห์ว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นอาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปรากฏตามเอกสารแนบ
ส่วนที่ ๒
ข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการฯ
ในการตรวจสอบบทบัญญัติของกฎหมายที่อาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
คณะอนุกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมาย (คณะที่ ๕)
มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำในบทบัญญัติว่าด้วยการรับโทษทางอาญาในกฎหมายและการกำหนดบทสันนิษฐานความผิดในทางอาญา
ดังนี้
๒.๑
การใช้ถ้อยคำในบทบัญญัติว่าด้วยการรับโทษทางอาญาในกฎหมาย
มาตรา ๓๒
ของรัฐธรรมนูญกำหนดหลักเกณฑ์การลงโทษอาญาแก่บุคคลไว้ว่า
บุคคลต้องรับโทษอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้
และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้
แต่จากการตรวจสอบปรากฏว่ามีกฎหมาย จำนวน ๓ ฉบับ
ที่มิได้บัญญัติว่าการกระทำใดเป็นความผิดและมิได้กำหนดบทลงโทษสำหรับการกระทำนั้นไว้ชัดเจน
โดยให้นำบทบัญญัติที่กำหนดให้การกระทำอื่นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้
มาใช้บังคับแก่การกระทำนั้นโดยอนุโลม กรณีจึงมีผลเสมือนว่ากฎหมายนั้นมิได้บัญญัติบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ
กฎหมายในกลุ่มดังกล่าวได้แก่
(๑)
พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๓๕ (มาตรา ๓๗)
(๒)
พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ (มาตรา ๔๖ ทศ)
(๓)
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
พ.ศ. ๒๕๒๒ (มาตรา ๗๕ เตรส)
ดังนั้น
เพื่อให้การใช้ถ้อยคำในบทบัญญัติว่าด้วยการรับโทษทางอาญาในกฎหมายต่าง ๆ
สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ คณะอนุกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมาย (คณะที่
๕) จึงเห็นว่า การเขียนบทบัญญัติว่าด้วยการรับโทษอาญานั้นสมควรระบุให้ชัดเจนว่าการกระทำใดเป็นการกระทำผิดอาญา
และกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนให้ชัดเจน ไม่สมควรบัญญัติให้นำบทบัญญัติที่กำหนดให้การกระทำอื่นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้
มาใช้บังคับแก่การกระทำนั้นโดยอนุโลม
๒.๒ การกำหนดบทสันนิษฐานความผิดในทางอาญา
ในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น
มาตรา ๓๓
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด
จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ดังนั้น
ภาระการพิสูจน์ว่าบุคคลใดกระทำความผิดอาญาจึงตกเป็นของฝ่ายที่กล่าวหาว่าบุคคลอื่นกระทำความผิดอาญา
อย่างไรก็ดี มีกฎหมาย จำนวน ๗๕ ฉบับ
ที่บัญญัติให้ภาระการพิสูจน์ตกแก่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา เช่น พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
พ.ศ. ๒๕๑๔ (มาตรา ๗๖) พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน
พ.ศ. ๒๕๒๘ (มาตรา ๙๒) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐
(มาตรา ๙๕) พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๒ (มาตรา
๗๘) เป็นต้น
โดยกฎหมายกลุ่มนี้จะบัญญัติว่าในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด
ให้กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้แทนของนิติบุคคล
หรือบุคคลหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล แล้วแต่กรณี
ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของบุคคลอื่น
หรือมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้น
หรือได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว
ซึ่งแม้การกำหนดบทสันนิษฐานความผิดในทางอาญาและการกำหนดภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาเช่นนี้
จะเป็นผลดีต่อการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา แต่ก็อาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญได้
และโดยที่เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ คณะอนุกรรมการฯ
จึงเห็นควรพิจารณาให้รอบคอบและต้องใช้เวลาดำเนินการพอสมควร
ส่วนที่
๓
แนวทางดำเนินงานต่อไป
เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่อาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น
คณะอนุกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมาย (คณะที่ ๕) ใคร่ขอเสนอคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมายเพื่อพิจารณาและมีมติดังนี้
(๑) รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ
ดังกล่าวข้างต้น
(๒) มีมติให้คณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการต่อไป
โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฯ ที่จะพิจารณาว่าสมควรตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการศึกษากฎหมายที่อาจมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น
หรือสมควรส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ดำเนินการ
หรือสมควรมอบส่วนราชการผู้รับผิดชอบกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
คณะอนุกรรมการนโยบายแห่งชาติ
ว่าด้วยการพัฒนากฎหมาย
(คณะที่ ๕)
พฤศจิกายน
๒๕๔๗