การลาออกจากราชการหรือตำแหน่ง
เพ็ญพิชชา
สิริสังข์วรวงศ์
วิธีการลาออกจากตำแหน่งและผลทางกฎหมายเนื่องจากการลาออกมีความสลับซับซ้อนพอสมควร
เนื่องจากบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการลาออกในกฎหมายต่างๆ บัญญัติไว้แตกต่างกันไป กล่าวคือ
กฎหมายบางฉบับกำหนดขั้นตอนและวิธีการลาออกไว้อย่างชัดเจน
บางฉบับกำหนดเงื่อนไขให้ต้องได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจแต่งตั้งเสียก่อน
และบางฉบับก็บัญญัติเพียงว่าให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อลาออกเท่านั้น
ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่วางบรรทัดฐานในเรื่องดังกล่าวไว้จึงแตกต่างกันไปด้วย
ปัญหาที่ได้วินิจฉัยไว้มีตั้งแต่เรื่องการลาออกของรัฐมนตรีไปจนกระทั่งผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ
ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่น่าสนใจ มีดังนี้
รัฐมนตรีลาออก
มาตรา ๑๕๕ (๒) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๕๒๑
บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อลาออก
โดยไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าวิธีการและขั้นตอนการลาออกจะต้องทำอย่างไร
และการลาออกมีผลเมื่อใด
คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า
หากกฎหมายประสงค์กำหนดขั้นตอนและวิธีการลาออกไว้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างก็จะบัญญัติไว้อย่างชัดเจน
เช่น ใบลาต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ต้องยื่นใบลาต่อผู้ใด
รวมทั้งการลาออกมีผลเมื่อใด เป็นต้น ดังนั้น
รัฐมนตรีที่ประสงค์จะลาออกอาจแสดงเจตนาลาออกด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้
โดยการลาออกด้วยวาจาจะต้องกระทำด้วยวิธีแสดงให้รู้ถึงเจตนาว่ามีความประสงค์จะลาออกอย่างแน่นอน
มิใช่เป็นเพียงการปรารภ ปรึกษาหารือ หรือกล่าวลอยๆ
ส่วนการลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นอาจอยู่ในรูปหนังสือราชการหรือจดหมายส่วนตัวซึ่งมีข้อความที่แสดงให้รู้ถึงเจตนาที่ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรี
แต่ในทางปฏิบัติพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีตามรายชื่อบุคคลที่นายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯ
และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงถอดถอนรัฐมนตรี
จึงเห็นว่า
รัฐมนตรีที่ประสงค์จะลาออกต้องแสดงเจตนาขอลาออกต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งรัฐมนตรี
การลาออกของรัฐมนตรีมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่เมื่อใด-
เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนและรับผิดชอบร่วมกันในนโยบายทั่วไปต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา
ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีคนใดไม่ประสงค์จะรับผิดชอบในหน้าที่ดังกล่าวอีกต่อไป
ย่อมต้องถือว่าเป็นสิทธิของรัฐมนตรีผู้นั้นที่จะลาออกเมื่อใดก็ได้ และไม่อยู่ภายใต้การยับยั้งของผู้ใด
กรณีที่รัฐมนตรีแสดงเจตนาลาออกด้วยวาจา การลาออกย่อมมีผลสมบูรณ์เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับทราบการแสดงเจตนานั้น
ส่วนกรณีแสดงเจตนาลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร
การลาออกย่อมมีผลสมบูรณ์นับแต่วันที่ได้กำหนดไว้ในใบลาออก ทั้งนี้
ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าใบลาออกนั้นต้องยื่น ณ
สถานที่และต่อบุคคลตามระเบียบปฏิบัติราชการโดยไม่จำต้องยื่นต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง
(เรื่องเสร็จที่ ๗๓/๒๕๒๕ บันทึก เรื่อง
ปัญหาการลาออกของรัฐมนตรี - คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย))
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลาออก
มาตรา ๙๙ (๓) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๔๙๒
กำหนดให้เป็นสิทธิแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะลาออกได้ซึ่งเป็นผลให้สมาชิกภาพแห่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง
การลาออกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องลาต่อสภาฯ กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ประสงค์ลาออกได้ทำหนังสือยื่นต่อประธานสภาฯ
และแม้ว่าในขณะที่ยื่นนั้นจะมีตัวบุคคลครองตำแหน่งประธานสภาฯ อยู่หรือไม่ก็ตาม
ย่อมถือได้ว่าใบลาออกนั้นเป็นอันสมบูรณ์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นได้ขอลาออกต่อสภาฯ
แล้ว
(เรื่องเสร็จที่ ๕๖/๒๔๙๒ บันทึก เรื่อง สมาชิกสภาผู้แทนลาออก-
คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ ๑))
ผลกระทบต่อผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง
กรณีนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งหรือคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
มาตรา ๑๕๔
วรรคสอง (๕) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑
กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว
การลงชื่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีดังกล่าว ต้องเป็นการลงชื่อในตำแหน่งเดิม
มิใช่การรักษาการหรือรักษาการในตำแหน่งแต่อย่างใด
ข้าราชการการเมืองตำแหน่งต่างๆ
ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
รวมถึงคณะกรรมการหรือคณะที่ปรึกษาต่างๆ
ที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลแต่งตั้งขึ้น โดยมิใช่คณะกรรมการหรือคณะที่ปรึกษาตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือตามระเบียบปฏิบัติราชการประจำนั้น
ก็ยังคงต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปและจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ามารับหน้าที่เช่นเดียวกัน
เรื่องเสร็จที่ ๕๑๑/๒๕๓๓ บันทึก เรื่อง การพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการการเมือง
(กรณีที่คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง
- คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๖))
การลาออกที่กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา
ใช้บังคับได้เพียงใด
กรณีสมาชิกสภาจังหวัดขอลาออกจากตำแหน่งเพื่อมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ได้เขียนใบลาออกโดยระบุเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ให้ใบลาออกมีผลบังคับใช้
แต่ถ้าไม่ได้รับเลือกก็ให้ใบลาออกเป็นอันพับไป
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าเป็นการลาออกจากสมาชิกภาพแห่งสภาจังหวัดโดยมีเงื่อนไข
ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาลาออกที่สมบูรณ์เพราะเป็นการไม่แน่นอน
สุดแล้วแต่พฤติการณ์ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าตามมาตรา ๑๔๔
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (เดิม) เงื่อนไขนี้จึงไม่มีผลใช้บังคับ
อย่างไรก็ดี เมื่อการลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัดเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของสมาชิกที่ประสงค์จะลาออก
ดังนั้น
สมาชิกสภาจังหวัดผู้ประสงค์ลาออกอาจกำหนดให้การลาออกของตนมีผลตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ก็ได้
และการลาออกย่อมสมบูรณ์เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้นั้นโดยนัยมาตรา ๑๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(เดิม)
(เรื่องเสร็จที่ ๒๖๖/๒๕๒๙ บันทึก
เรื่อง การลาออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาจังหวัดโดยมีเงื่อนไข (ตีความมาตรา ๑๒ (๓)
แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘) - คณะกรรมการกฤษฎีกา
(ที่ประชุมร่วมกรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕ และคณะที่ ๘))
หนังสือลาออกที่ระบุเงื่อนเวลาไว้และได้รับอนุมัติแล้ว
ภายหลังผู้ขอลาออกจะขอยกเลิกการลาออกก่อนถึงกำหนดเงื่อนเวลาได้หรือไม่
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม
(อ.บ.จ.) ทำหนังสือลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๑ ถึงประธานสภา อ.บ.จ.นครปฐม ขอลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่
๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๑ โดยมอบหนังสือดังกล่าวไว้กับนาย ส. สมาชิกสภา อ.บ.จ.
เก็บรักษาไว้เพื่อนำไปมอบให้ประธานสภาฯ ในวันเปิดประชุมวันที่ ๒๑ สิงหาคม
๒๕๔๑ ต่อมาปรากฏว่า ประธานสภาฯ
ได้บันทึกในหนังสือลาออกว่า ได้รับใบลาออกของนายก อ.บ.จ. เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม
๒๕๔๑ อนุญาตให้ลาออกได้ตามความประสงค์ และลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๑ ในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม
๒๕๔๑ ที่ประชุมได้กล่าวถึงการลาออกของนายก อ.บ.จ. แต่ประธานสภาฯ
กลับแจ้งต่อที่ประชุมว่ายังไม่ได้รับใบลาออก ที่ประชุมลงมติว่านายก อ.บ.จ.
ไม่ต้องลาออก และไม่มีสมาชิกผู้ใดออกเสียงให้ลาออก นายก อ.บ.จ.
จึงอธิบายว่าได้ฝากหนังสือลาออกให้ประธานสภาฯ
ไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าได้ทำตามสัญญาเท่านั้น
เมื่อที่ประชุมยังไม่ให้ลาออกจึงขอหนังสือลาออกคืนโดยทำหนังสือแจ้งความประสงค์ต่อรองประธานสภาฯ
คนที่ ๑ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้น และรองประธานสภาฯ คนที่ ๑
ได้มอบหนังสือนั้นให้ประธานสภาฯ ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๑
คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า
การลาออกมีผลเมื่อผู้ลาออกได้แสดงเจตนาลาออกและการแสดงเจตนานั้นต้องผูกพันได้
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนังสือลาออกได้ลงวันที่ไว้ล่วงหน้า
อีกทั้งได้กำหนดเงื่อนเวลาให้การแสดงเจตนาลาออกมีผลในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๑
ดังนั้น ก่อนถึงวันดังกล่าว หนังสือลาออกจึงยังไม่มีผลผูกพัน แม้ประธานสภาฯ
ได้รับหนังสือและอนุญาตให้ลาออกเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๑ แล้วก็ตาม
การอนุญาตนั้นยังไม่มีผลใดๆ จนกว่าจะถึงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๑
ตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ และเจ้าของหนังสือยังมีสิทธิที่จะเพิกถอนได้
โดยเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๑ นายก อ.บ.จ.
ได้เพิกถอนหนังสือลาออกโดยแจ้งด้วยวาจาในที่ประชุมและมีหนังสือยืนยันต่อผู้ทำหน้าที่ประธานฯ
ในขณะนั้น การแสดงเจตนาลาออกตามหนังสือลาออกฉบับลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๑
ย่อมสิ้นผลไป นายก อ.บ.จ. จึงยังไม่พ้นจากตำแหน่ง
(เรื่องเสร็จที่ ๗๖๔/๒๕๔๑ บันทึก
เรื่อง
การลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการกฤษฎีกา
(กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕))
การลาออกมีผลเมื่อใด
กรณีที่กฎหมายบัญญัติเพียงว่าให้ความเป็นสมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือให้ผู้ดำรงตำแหน่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อลาออกนั้น
คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า การลาออกเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว และมีผลตั้งแต่ได้ยื่นหนังสือลาออกหรือหนังสือลาออกนั้นได้ลงรับในทะเบียนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยงานสารบรรณแล้ว
ตัวอย่างความเห็นที่ยกขึ้นอ้างอิง
สมาชิกสภาจังหวัดลาออกจากสมาชิกภาพแห่งสภาจังหวัดโดยมิได้ระบุในใบลาออกว่าจะลาออกเมื่อใด
การลาออกนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์เมื่อได้ยื่นใบลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าหน้าที่ของจังหวัดได้ลงรับใบลาออกในทะเบียนหนังสือรับของจังหวัดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยงานสารบรรณแล้ว
ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย)
ประสงค์ลาออกจากตำแหน่ง ถ้าได้ส่งหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการ ณ สถานที่
หรือต่อบุคคลตามระเบียบปฏิบัติราชการแล้ว
ไม่จำเป็นต้องยื่นต่อคณะรัฐมนตรีโดยตรงและไม่ต้องมีผู้ใดสั่ง
การลาออกย่อมมีผลสมบูรณ์นับแต่วันที่ได้กำหนดไว้ในหนังสือลาออก
(เรื่องเสร็จที่ ๒๖๓/๒๕๒๕ บันทึก เรื่อง
ขอหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการลาออกของกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย -
คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕) และเรื่องเสร็จที่ ๓๗๒/๒๕๒๕
บันทึก เรื่อง
การลาออกของประธานกรรมการองค์การเหมืองแร่ (มาตรา ๑๗ (๒) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่
พ.ศ.๒๕๒๐ - คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕)
วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน)
การลาออกทางโทรเลข
กรณีที่สมาชิกสภาเทศบาลประสงค์ลาออกจากตำแหน่งต้องแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรมีข้อความระบุว่าขอลาออกจากตำแหน่งและต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานในใบลาออกนั้น
ทั้งนี้ตามมาตรา ๑๙ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ประกอบกับมาตรา ๙
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโทรเลขนั้นเพียงแต่ระบุข้อความขอลาออกโดยไม่มีลายมือชื่อของผู้ลาออกซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่จะเชื่อถือเป็นแน่นอนได้
การส่งโทรเลขขอลาออกดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการลาออกตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด
เรื่องเสร็จที่
๑๔๔/๒๕๒๖ บันทึก เรื่อง
การลาออกจากสมาชิกสภาเทศบาลเมืองระนอง
(การขอลาออกโดยทางโทรเลขจะถือเป็นการลาออกตามมาตรา ๑๙ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล
พ.ศ. ๒๔๙๖ - คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕))
การแสดงเจตนาลาออกต้องเป็นเจตนาที่แท้จริง
นาย ฉ. เทศมนตรี
ได้ทำใบลาออกระบุว่ามีกิจธุระส่วนตัวไม่สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งได้ จึงขอลาออก
แต่ยังมิได้กรอกข้อความให้ครบถ้วนโดยเว้นข้อความในส่วนวันที่ขอลาออก
อีกทั้งยังปรากฏว่าได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่อเนื่องตลอดมา
มิได้แสดงให้เห็นว่าไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ดังที่ระบุไว้ในใบลาออก เมื่อ นาย ฉ. ทราบว่า นาย ว. นายกเทศมนตรี
นำใบลาออกนั้นไปยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด นาย ฉ.
ก็ได้ไปชี้แจงคัดค้านในวันเดียวกันนั้นว่าตนมิได้ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งเทศมนตรีในขณะนั้น
แต่สุดท้ายก็ได้กรอกข้อความที่เว้นว่างไว้ให้ครบถ้วนว่าขอลาออกตั้งแต่วันที่ ๒๘
กรกฎาคม ๒๕๓๓ เป็นต้นไป
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าจากข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ยืนยันให้เห็นว่า นาย ฉ.
ไม่มีความตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะลาออกจากตำแหน่งแต่อย่างใด เจตนาลาออกของนาย ฉ.
จึงยังไม่เกิดขึ้น
และใบลาออกนั้นยังไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายที่จะถือเป็นหลักฐานยืนยันว่านาย ฉ.
ประสงค์ใช้สิทธิลาออก
เมื่อได้พิจารณาจากพฤติการณ์เกี่ยวกับการจัดทำเอกสารนี้โดยตลอดแล้ว
เห็นว่ามีลักษณะเป็นการบังคับให้นาย ฉ.
ทำใบลาไว้ออกล่วงหน้าโดยไม่มีเจตนาที่จะลาออกอย่างแท้จริง
หากแต่ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักประกันว่านาย ฉ. จะต้องปฏิบัติงานภายในกรอบที่นาย ว.
นายกเทศมนตรีประสงค์เสมอ กรณีเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการขัดต่อมาตรา ๔๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖
ที่กำหนดให้การลาออกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของเทศมนตรีแล้ว ยังมีผลทำให้นายกเทศมนตรีสามารถบังคับให้เทศมนตรีผู้หนึ่งผู้ใดพ้นจากตำแหน่งได้ตามอำเภอใจอีกด้วย
ทั้งที่พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖
มิได้มีบทบัญญัติใดให้อำนาจนายกเทศมนตรีที่จะถอดถอนเทศมนตรีได้โดยลำพัง การจัดทำใบลาออกไว้ล่วงหน้าในลักษณะนี้จึงเป็นการกระทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงบทกฎหมายโดยตรง
(เรื่องเสร็จที่ ๔๗๔/๒๕๓๒ บันทึก
เรื่อง เทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ลาออกจากตำแหน่ง)
เทศมนตรีลาออกจากตำแหน่ง
การลาออกมีผลเมื่อเทศมนตรีผู้นั้นยื่นใบลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเป็นทางการแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของจังหวัดได้ลงรับใบลาออกในสมุดรับหนังสือของจังหวัดตามระเบียบงานสารบรรณแล้ว
ถือได้ว่าการลาออกนั้นมีผลสมบูรณ์แล้ว
เพราะการลาออกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของเทศมนตรีโดยไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด
(เรื่องเสร็จที่ ๑๐๖/๒๕๒๓ บันทึก เรื่อง
หารือการออกจากตำแหน่งของเทศมนตรี - คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕))
มาตรา ๔๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล
พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙
กำหนดให้เทศมนตรีลาออกโดยยื่นใบลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า การลาออกจากตำแหน่งจะสมบูรณ์เมื่อเทศมนตรีผู้นั้นได้ทำใบลาออกเป็นหนังสือยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
และการยื่นใบลาออกย่อมสมบูรณ์เมื่อได้ยื่น ณ
สถานที่หรือต่อบุคคลตามระเบียบปฏิบัติอยู่ในทางราชการ แม้ว่าการยื่นหนังสือใดๆ
ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
จะไม่มีระเบียบหรือบทบัญญัติใดกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องยื่นต่อมือผู้ว่าราชการจังหวัดเอง
แต่ก็มีระเบียบที่ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ให้รับไว้แทนได้ เช่น มาตรา ๖๒
แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดและเทศบาลตำบลอาจส่งเอกสารต่างๆ
ไปยังนายอำเภอเพื่อส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ดังนั้น
การที่เทศมนตรียื่นใบลาออกต่อนายอำเภอเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๒
และนายอำเภอได้นำใบลาออกนั้นส่งต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเวรรับส่งหนังสือของจังหวัดประทับตรารับหนังสือเมื่อวันที่
๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ และผู้ว่าราชการจังหวัดได้พบใบลาออกนั้นเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๒
อันเป็นวันภายหลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งให้พักเทศมนตรีทั้งคณะเมื่อวันที่
๔ ธันวาคม ๒๕๐๒ จึงถือว่าการลาออกของเทศมนตรีคนดังกล่าวเป็นผลสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่
๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นวันที่ยื่นใบลาออก
(เรื่องเสร็จที่ ๔๒/๒๕๐๔ บันทึก เรื่อง หารือเกี่ยวกับเทศมนตรีลาออก -
คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ ๒))
สมาชิกสภาเทศบาลลาออกในระหว่างถูกสอบสวน
สมาชิกสภาเทศบาลซึ่งอยู่ระหว่างถูกสอบสวนในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนได้เสียในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำให้แก่เทศบาลนั้นหรือที่เทศบาลนั้นจะกระทำ
ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าการยื่นหนังสือลาออกไม่เป็นเหตุให้การสอบสวนนั้นต้องยุติลง
และภายหลังหากได้ความว่าสมาชิกผู้นั้นมีส่วนได้เสียย่อมมีผลทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่มีส่วนได้เสียดังกล่าวโดยผู้ว่าราชการจังหวัดไม่จำเป็นต้องสั่งให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งอีก
และการลาออกไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลทางกฎหมายที่กำหนดให้สมาชิกผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีส่วนได้เสีย
ตามมาตรา ๑๙ (๖) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.
๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
(เรื่องเสร็จที่ ๒๖๒/๒๕๔๗
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง
การดำเนินกิจการของคณะเทศมนตรีภายหลังสมาชิกสภาเทศบาลลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี
และการมีส่วนได้เสียของสมาชิกสภาเทศบาลและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล -
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑))
ลาออกในระหว่างถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย
ในระหว่างที่พนักงานรัฐวิสาหกิจผู้นั้นถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยการเรียกรับเงิน
ได้ขอลาออกจากงานเพื่อไปสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา
และภายหลังจะขอกลับเข้ามาทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นอีก
คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า
การลาออกเป็นผลให้สถานภาพการเป็นพนักงานสิ้นสุดลงแล้ว แม้ต่อมาจะบรรจุกลับเข้าทำงานใหม่ในตำแหน่งระดับเดิมและอัตราเงินเดือนเดิม
ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นต่อเนื่องตลอดมาอันจะพิจารณาลงโทษทางวินัยได้
รัฐวิสาหกิจแห่งนั้นจึงไม่มีอำนาจที่จะนำความผิดที่ถูกกล่าวหาไว้ก่อนมาพิจารณาลงโทษทางวินัยได้
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีพยานหลักฐานว่ามีการเรียกรับเงินจริง
ก็อาจถือได้ว่าเข้าลักษณะเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี
ซึ่งขาดคุณสมบัติทั่วไปที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทยในครั้งใหม่ และอยู่ในอำนาจของผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยที่จะสั่งให้ออกจากงานได้โดยพลัน
ตามข้อบังคับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๓ฯ
(เรื่องเสร็จที่ ๓๕๖/๒๕๔๕
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง
การพิจารณาโทษพนักงาน
(กรณีการเรียกรับเงินช่วงก่อนลาออกไปสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแต่มีกรณีกล่าวหาภายหลังได้รับการบรรจุและแต่งตั้งกลับเข้าเป็นพนักงานใหม่)
- คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๙))
ข้าราชการตำรวจลาออก
จ.ส.ต.บุญฯ ประสงค์ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม
๒๕๑๙ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๑๙
กรมตำรวจมีคำสั่งอนุญาตให้ออกจากราชการได้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๙
แต่ไม่ได้แจ้งคำสั่งให้ จ.ส.ต.บุญฯ ทราบ แต่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาจนกระทั่งวันที่
๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ จึงแจ้งให้ จ.ส.ต.บุญฯ ลงนามรับทราบคำสั่งดังกล่าว
กรณีนี้ต้องถือว่า จ.ส.ต.บุญฯ พ้นสภาพการเป็นข้าราชการตั้งแต่วันถัดจากวันที่ ๑
กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ เป็นต้นไป ดังนั้น คำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ จ.ส.ต.บุญฯ
ก่อนหน้านี้ย่อมมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย
(เรื่องเสร็จที่ ๓๗๔/๒๕๒๕ บันทึก เรื่อง
วันพ้นจากสภาพการเป็นข้าราชการและการเลื่อนขั้นเงินเดือน ข้าราชการ
(การลาออกจากราชการของ จ.ส.ต.บุญ พลีน้อย)- คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย
คณะที่ ๒))
ข้าราชการตำรวจขอลาออกเพื่อไปสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(คณะกรรมการ ป.ป.ช)
ข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาไว้ ต่อมาในระหว่างที่การพิจารณาของคณะกรรมการ
ป.ป.ช. ยังไม่แล้วเสร็จ
ผู้ถูกกล่าวหาได้ลาออกจากราชการเพื่อไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
เช่นนี้เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากราชการเพราะเหตุใดๆ นอกจากถึงแก่ความตาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงยังคงมีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไปได้ ทั้งนี้ตามมาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
พ.ศ. ๒๕๔๒
(เทียบเคียงอ้างอิง เรื่องเสร็จที่
๖/๒๕๓๒ บันทึก เรื่อง คณะกรรมการ ป.ป.ป.
มีอำนาจดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้าราชการตำรวจที่ถูกกล่าวหาร้องเรียนว่าร่ำรวยผิดปกติและได้ลาออกจากราชการไปแล้วได้หรือไม่
(มาตรา ๒๑ จัตวา
แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ)-
คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๔))
การยับยั้งการลาออกขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
การกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขในการยับยั้งการลาออกของพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ว่าด้วยระเบียบพนักงาน พ.ศ. ๒๕๑๗
ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น
เป็นไปเพื่อประโยชน์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการพิจารณาถอดถอนหรือเลิกจ้างพนักงานไม่ให้เกิดผลเสียหายแก่องค์กรและเพื่อความต่อเนื่องของงานบริการสาธารณะกิจการการไฟฟ้า
อันเป็นการคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค
ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมิได้บัญญัติคุ้มครองเรื่องสิทธิในการลาออกของพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น
การยับยั้งการลาออกในกรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่กระทำได้
ไม่เป็นการลิดรอนสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใด
(เรื่องเสร็จที่ ๖๒๑/ ๒๕๔๔ เรื่อง บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง
การใช้อำนาจของผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการยับยั้งสิทธิการลาออกของพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๙))
_______________