ข้อขัดข้องการบังคับใช้มาตรฐานบรรษัทภิบาลของชาติตะวันตกในเอเชีย
บทนำ
บรรษัทภิบาล (Corporate governance)
เป็นเรื่องภายในองค์กรที่เกี่ยวกับการดำเนินการและการควบคุมการดำเนินการภายในของบริษัท
ในความเข้าใจอย่างง่าย บรรษัทภิบาล คือ การทำสิ่งที่ถูกต้อง (doing the
right thing)
เพื่อให้การรับรองว่าคณะผู้บริหารและกรรมการบริหารของบริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น
แนวความคิดของหลักบรรษัทภิบาลเริ่มต้นพัฒนาขึ้น
เมื่อปี ค.ศ. 1962
ในฐานะที่เป็นแนวทางการวางหลักประกันต่อผู้ลงทุนในบริษัทว่าจะได้รับปันผลกำไรจากการลงทุนอย่างเป็นธรรมโดยกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันการบริหารงานโดยไม่ชอบ
(management abuse) หรือ
การนำเงินทุนของบริษัทไปใช้โดยเปล่าประโยชน์ (poor use of their investment
capital) ทั้งนี้
การรู้ความเป็นมาของคำว่า การควบคุม
(governance) จะทำให้เข้าใจเรื่องบรรษัทภิบาลได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งนาย Farrar อธิบายว่า
ความหมายเชิงนิรุกติศาสตร์ของถ้อยคำดังกล่าวมักใช้การอุปมาอุปไมยกับแนวคิดเรื่องการถือท้ายเรือ
(steering) หรือการควบคุมเรือ (captaining a ship)
คำว่า ผู้ควบคุม (governor)
มาจากภาษาลาติน คำว่า gubernare หมายความถึง กัปตันเรือ
และคำว่า governance มาจากภาษาฝรั่งเศส คำว่า gouvernance
หมายความถึง การควบคุมและการปกครอง
ความหมายที่ชัดเจน ตรงประเด็นและเข้าใจกันทั่วไป
คำว่า บรรษัทภิบาล (Corporate
governance) หมายความถึง การควบคุมบริษัทและความไว้เนื้อเชื่อใจที่ผู้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลบริษัทพึ่งจะต้องมี
นาย Farrar
กล่าวเพิ่มเติมต่อไปว่า บรรษัทภิบาลมีความหมายไปไกลกว่าสิทธิหน้าที่ที่กำหนดโดยกฎหมาย
ซึ่งเราจะไม่พิจารณาเฉพาะแต่เพียงการควบคุมโดยกฎหมายเท่านั้น
แต่พิจารณาถึงการควบคุมทางข้อเท็จจริง (de facto control)
ของบริษัทด้วย นอกจากนี้ เราพิจารณาเรื่องความรับผิดชอบด้วย
ซึ่งไม่ใช่กำหนดในกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องสร้างระบบที่สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นเอง (systems
of self-regulations) และ จารีตทางปฏิบัติ (norms)
ที่เรียกได้ว่า ทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (best
practice) ด้วย
เหตุใดบรรษัทภิบาลที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ?
การตัดสินใจในการลงทุนคือสาระสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดระดับหลักการพื้นฐานของบรรษัทภิบาลที่ดี
ความสัมพันธ์ระหว่างบรรษัทภิบาลที่ดีและการลงทุนเป็นการสร้างความมั่นใจที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจลงทุน
ส่วนหนึ่งของรายงานในปี ค.ศ. 1990 แสดงให้เห็นถึงการประกอบการของบริษัทที่อื้อฉาวจำนวนมาก
ก่อให้เกิดการวิจารณ์สภาวะฝืดเคืองทางการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก
วิกฤตการณ์ของประเทศในทวีปเอเชียในรายงานปี ค.ศ. 1990
เปิดเผยถึงความไม่เพียงพอของกลไกการบริหารแบบบรรษัทภิบาลในบริษัทจำนวนมาก
ซึ่งเกิดจากปัญหาการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ความไม่โปร่งใส
การควบคุมการบริหารงานของกรรมการบริษัทที่ล้มเหลว ความอ่อนแอของกฎหมาย โครงสร้างการผูกขาดของตลาด
ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีสูงมากเกินไป และการกู้ยืมเงินเกินขนาด
สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจซึ่งบ่งชี้ในรายงานการศึกษาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจหลายฉบับ
หลายประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียบ่งชี้ว่าปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจเกิดจากความอ่อนแอของหลักบรรษัทภิบาล
โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ความไร้ประสิทธิภาพของคณะกรรมการบริหารบริษัท
ความอ่อนแอของการควบคุมภายในบริษัท การขาดการตรวจสอบทางบัญชี
ขาดการเปิดเผยข้อมูลบริษัทที่เพียงพอ
และขาดความเข้มงวดในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักบรรษัทภิบาลในหลายประเทศของเอเชีย
สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดบริษัทที่อื้อฉาวขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไขเพื่อฟื้นฟูความมั่นใจของนักลงทุนและขจัดพฤติกรรมที่ไม่ซื่อสัตย์ในการบริหารบริษัทออกไป
ในปัจจุบันวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในเอเชียและที่ใดก็ตามเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบขึ้นภายในบริษัท ทั้งนี้
การที่ประเทศในเอเชียขาดโครงสร้างการบริหารแบบบรรษัทภิบาลเป็นสาเหตุให้มีการศึกษาและนำเอาระบบการบริหารบริษัทแบบตะวันตกมาใช้
นอกจากนี้ การจูงใจนักลงทุนชาวตะวันตกให้มาลงทุนในประเทศของตนเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องนำรูปแบบการบริหารจากประเทศตะวันตกมาใช้
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization
for Economic Cooperation and Development, OECD)
พัฒนาหลักบรรษัทภิบาลโดยมีพื้นฐานจากกฎหมายและหลักทางจริยธรรมของชาติตะวันตก
หน่วยงานภาคเอกชนสามารถนำเอาหลักการดังกล่าวไปใช้เพื่อพัฒนาการบริหารให้เกิดระบบบรรษัทภิบาลและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดภายในบริษัท
องค์กรดังกล่าวมีความประสงค์ให้ประเทศต่างๆ
สามารถเข้าถึงและนำหลักการดังกล่าวไปใช้โดยไม่มีการบังคับ
และจะไม่มีการกำหนดรายละเอียดเพื่อบัญญัติเป็นกฎหมายภายใน แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำหลักการดังกล่าวไปใช้อ้างอิงในการบัญญัติกฎหมาย
ในส่วนแรกของบทความนี้ จะกล่าวถึงการนำหลักการของ
OECD ไปใช้บังคับในประเทศเอเชีย 4 ประเทศ คือ ประเทศญี่ปุ่น
ประเทศเกาหลี ประเทศจีน และประเทศสิงค์โปร์ โดยจะกล่าวถึงใน 3 ประเด็น คือ (1)
เรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสม (2)
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหาร และ (3)
ความเป็นอิสระของผู้บริหาร
รวมถึงการวิเคราะห์ความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและประเทศในตะวันตก
และข้อขัดข้องการนำหลักบรรษัทภิบาลของประเทศตะวันตกไปใช้ ในส่วนที่สองของบทความจะกล่าวถึง
อุปสรรคของการนำหลักบรรษัทภิบาลไปใช้ในประเทศที่มีความแตกต่างของระดับเศรษฐกิจและการพัฒนากฎหมาย
และอะไรคือปัจจัยทางวัฒนธรรมที่อาจมีผลกระทบต่อการนำหลักบรรษัทภิบาลของ OECD
ไปใช้ในประเทศเอเชีย
การนำหลักการของ OECD ไปใช้
1. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
การเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสมและโปร่งใสมีผลต่อพฤติกรรมของบริษัท
การคุ้มครองผู้ลงทุน และการดึงดูดเงินลงทุน
นอกจากนี้ ยังเป็นการรักษาความเชื่อมั่นของบริษัทในตลาดทุน
แต่หากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอหรือไม่ชัดเจนอาจเป็นอุปสรรคต่อกลไกของตลาดทุนได้
ดังนั้น
การเปิดเผยข้อมูลบริษัทที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมของตลาดและมาตรฐานทางจริยธรรมจะช่วยให้สาธารณชนเข้าใจโครงสร้างและการดำเนินการของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น
ความไม่สมดุลในการรับรู้ข้อมูล (information
asymmetry) เกิดขึ้นเมื่อผู้บริหารของบริษัทรู้ข้อมูลบางประการของบริษัทในขณะที่ผู้ลงทุนไม่รู้
หากความไม่สมดุลของการรับรู้ข้อมูลมีมากย่อมทำให้ผู้ลงทุนไม่เชื่อถือในบริษัทมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น จะต้องมีการทำข้อตกลงให้ผู้บริหารต้องแจ้งข้อมูลที่ตนรับรู้
วัตถุประสงค์ของการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้ลงทุน
เพื่อให้ผู้ลงทุนรู้สึกมั่นใจในการตัดสินใจลงทุน
ตามหลักการข้อที่ 4 ของ OECD
แนวทางของบรรษัทภิบาลต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการเปิดข้อมูลของบริษัท
สถานะทางการเงิน การชำระหนี้ ทรัพย์สินของบริษัท การบริหารบริษัท ข้อมูลทางการเงินและผลประกอบการของบริษัท
วัตถุประสงค์ของบริษัท สมาชิกในคณะกรรมการบริหาร ผู้บริหารสำคัญ
โครงสร้างการบริหาร ตลอดจนนโยบายของบริษัท ข้อมูลดังกล่าวจะต้องถูกตระเตรียม
ตรวจสอบ และต้องเปิดเผยตามมาตรฐานระดับสูงในเรื่องทางบัญชี การตรวจสอบบัญชี
รวมถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน
นอกจากนี้ กำหนดให้การเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรม
ตรงตามกำหนดเวลา และกำหนดค่าใช้จ่ายการเข้าถึงข้อมูลให้คุ้มกับต้นทุนการดำเนินการ
ประเทศญี่ปุ่นรับเอาหลักบรรษัทภิบาลในเรื่องดังกล่าวไปใช้
โดยกำหนดให้ CEO ต้องเปิดเผยข้อมูลของบริษัทตามวาระปกติ
หรือกรณีที่จำเป็นเพื่อแสดงให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน พนักงานของบริษัท ลูกค้า
และชุมชนต่างๆ ทราบถึงข้อมูลการประกอบกิจการของบริษัท
โดยต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ซึ่งในประเทศเกาหลี และจีน
กำหนดไว้เช่นเดียวกัน ดังนั้น หลักการบรรษัทภิบาลดังกล่าวจึงเป็นการส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสม
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงข้อมูลให้กับผู้เกี่ยวข้อง
และป้องกันการกระทำที่ไม่เป็นธรรม
มีข้อสังเกตว่าประเทศเกาหลีและประเทศจีนกำหนดรายละเอียดในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลมากกว่าประเทศญี่ปุ่น
ภายใต้หลักการของ OECD ดังกล่าว
การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทมีเนื้อหารวมถึงข้อมูลทางการเงินและผลประกอบการของบริษัท
ประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้ CEO
ต้องพยายามเปิดเผยข้อมูลที่มีผลกระทบกับราคาหุ้นของบริษัทโดยเร็วเพื่อแสดงให้เห็นว่าราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตามในประเทศจีนและเกาหลีมีข้อกำหนดเพิ่มเติมตามหลักการและคำแนะนำของ OECD
เช่น การเปิดเผยชื่อสมาชิกของคณะกรรมการบริหารบริษัท ผู้บริหารสำคัญ
และค่าตอบแทนของบุคคลดังกล่าว โดยกฎหมายของประเทศเกาหลีกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคณะผู้บริหาร
และพนักงานของบริษัท และระบบค่าตอบแทนของกรรมการ ผู้ตรวจสอบบัญชี ผู้บริหาร
และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
ส่วนในประเทศจีนกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทในเครือ
โครงสร้างของคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการตรวจสอบ บทบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการของ
OECD
ซึ่งกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลของสมาชิกคณะกรรมการบริหาร ในเรื่องคุณสมบัติ
กระบวนการสรรหา การดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทอื่น
และความเป็นอิสระในการบริหารงานของบริษัท
2.
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริหารของบริษัท (the board of
director) คือ ศูนย์กลางของบริษัท
และคำสั่งในการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารบริษัทถือเป็นที่สุด
คณะกรรมการบริหารมีความรับผิดชอบอย่างสูงในการควบคุมดูแลการบริหาร
เพื่อให้เกิดกำไรจากการประกอบการปันผลให้ผู้ถือหุ้นอย่างเพียงพอในขณะที่ต้องควบคุมดุลยภาพการแข่งขันภายในบริษัทและป้องกันผลประโยชน์ขัดกัน
ซึ่งหลักการข้อที่ 5 ของ OECD
ยอมรับโครงสร้างและการดำเนินงานของคณะกรรมการบริษัทที่หลากหลายแตกต่างกันในแต่ละประเทศ
(ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะเลือกใช้ระบบใด) อย่างไรก็ตาม
โครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท ภายใต้กรอบของหลักบรรษัทภิบาล
คณะกรรมการบริษัทจะต้องมีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการบริหารงานภายในบริษัท
และมีความรับผิดชอบต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น นอกจากนี้
เพื่อเป็นการยืนยันว่าคณะกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่
คณะกรรมการจะต้องเป็นอิสระจากการบริหาร โดยจะมุ่งพิจารณาผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง
(stakeholders) อาทิ พนักงาน เจ้าหนี้ ลูกค้า ผู้ส่งสินค้า
และชุมชน เป็นสำคัญ
นอกจากนี้ หลักการของ OECD
แสดงไว้อย่างชัดแจ้งว่า
กรรมการแต่ละคนจะต้องกระทำการโดยความยินยอมชัดแจ้งจากคณะกรรมการ มีความสุจริต
กระทำการโดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายกับบุคคลอื่น และปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง
เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและบรรดาผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการบริษัทจะต้องสามารถตัดสินให้ดำเนินการในกิจการของบริษัทโดยเป็นอิสระจากการบริหาร
มีข้อสังเกตว่าในประเทศเกาหลี
และประเทศจีนกำหนดรายละเอียดความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นและสิงค์โปร์ไม่ได้กำหนดไว้
กล่าวได้ว่าทั้งสองประเทศนำคำแนะนำของ OECD
ในเรื่องรายละเอียดและหน้าที่ของคณะกรรมการไปบัญญัติไว้ในกฎหมายของตน เช่น
การกำหนดให้คณะกรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม ระมัดระวัง
และซื่อสัตย์เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้น เป็นต้น
กฎหมายของประเทศเกาหลี
กำหนดให้กรรมการบริษัทจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น
โดยห้ามมิให้ใช้อำนาจบริหารเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลที่สาม
และถือประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นมาก่อนประโยชน์ของตน ในประเทศจีน
กรรมการบริษัทจะต้องฝึกอบรมอย่างจริงจังเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิ
พันธกรณีและหน้าที่ของกรรมการบริษัท
เพื่อให้คุ้นเคยกับการปฏิบัติหน้าที่กรรมการบริษัทซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ และความรู้ที่จำเป็นสำหรับการเป็นกรรมการบริษัท
ข้อกำหนดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประเทศจีนคาดหวังกับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการบริษัทไว้สูง
ซึ่งกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบกับมติที่ออกมาโดยละเมิดต่อกฎหมาย
มีความรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ากรรมการบริษัทได้แสดงการคัดค้านซึ่งได้บันทึกไว้ในรายงานการประชุม
3. ความเป็นอิสระของกรรมการบริษัท
ความเป็นอิสระที่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการบริษัทตามกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ ความเป็นอิสระถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดที่จะประกันว่ากรรมการบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ได้อย่างเต็มที่
เสียงส่วนใหญ่ของกรรมการเปรียบเสมือนมติของคณะกรรมการซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นอิสระในการใช้สิทธิออกเสียงของกรรมการแต่ละคน
ตามคำแนะนำของ OECD ความเป็นอิสระของคณะกรรมการบริษัทเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ตามหลักบรรษัทภิบาล
ในคณะกรรมการควรมีกรรมการที่ไม่ถูกว่าจ้างจากบริษัทและไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทหรือการบริหารกิจการของบริษัท
คณะกรรมการควรพิจารณาแต่งตั้งกรรมการที่ไม่มีหน้าที่บริหารในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้อำนาจในการวินิจฉัยตัดสินในเรื่องที่เกี่ยวกับความขัดแย้งหรือผลประโยชน์ของบริษัท
ยิ่งกว่านี้
กรรมการอิสระสามารถให้หลักประกันกับผู้ลงทุนว่าจะเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ให้กับผู้ลงทุนได้
ภายใต้หลักบรรษัทภิบาลของประเทศญี่ปุ่น
กรรมการบริษัทต้องประกอบด้วยบุคคลที่ไม่ได้ทำหน้าที่บริหาร (outside
director) และผู้ที่ทำหน้าที่บริหาร (director)
โดยจำนวนของกรรมการผู้ที่ไม่ได้ทำหน้าที่บริหารควรมากกว่าผู้ที่ทำหน้าที่บริหาร
เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีกำหนดให้กรรมการบริษัทประกอบด้วยบุคคลที่ไม่ได้ทำหน้าที่บริหารซึ่งต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจสอบและให้คำแนะนำเรื่องการเงิน
และกิจการขนาดใหญ่ของบริษัทมหาชน มีการกำหนดให้ค่อยๆ
เพิ่มจำนวนของกรรมการจากภายนอกขึ้นจนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
(ต้องมีกรรมการซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอย่างน้อย 3 คน) ทั้งนี้
แนวทางของประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างเคร่งครัดนัก
ในขณะที่ประมวลกฎหมายของประเทศสิงคโปร์กำหนดให้กรรมการต้องมีความเข้มแข็งและเป็นอิสระ
ซึ่งกรรมการอิสระต้องมีจำนวนอย่างน้อย 1 ใน 3 ของคณะกรรมการบริษัท
ในประเทศจีนได้กำหนดรายชื่อบริษัทสำคัญที่จะต้องมีกรรมการอิสระภายในคณะกรรมการบริหารของบริษัทโดยให้เป็นไปตามข้อบังคับ
การปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเป็นสิ่งที่พึงคาดหวัง
จึงกำหนดให้มีกรรมการอิสระที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นทั้งปวง
กรรมการอิสระดังกล่าวจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างจริงจังตามกฎหมาย กฎ
และข้อบังคับของบริษัท
และจักต้องคุ้มครองผลประโยชน์ทั้งมวลของบริษัทและผู้ถือหุ้นข้างน้อย อย่างไรก็ตาม
กฎหมายของประเทศจีนไม่ได้กำหนดจำนวนของกรรมการอิสระไว้ในประมวลหลักบรรษัทภิบาลของตน
ข้อขัดข้องในการใช้บังคับมาตรฐานบรรษัทภิบาลของชาติตะวันตก
ประมวลหลักบรรษัทภิบาล
ในประเทศเอเชียส่วนใหญ่มีหลักการเหมือนกับมาตรฐานบรรษัทภิบาลของ OECD
(หรือ มาตรฐานบรรษัทภิบาลของชาติตะวันตก) อย่างไรก็ตาม
การนำหลักบรรษัทภิบาลซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของตลาดทุนของชาติตะวันตกไปใช้ในหลายประเทศของเอเชียยังคงล้มเหลว เนื่องจากหลายประเทศในอาเซียนมีลักษณะ ตลาดแบบประเทศกำลังพัฒนา
(emerging markets)
เหตุผลที่เป็นไปได้ว่าทำให้เกิดข้อขัดข้องในการใช้บังคับมาตรฐานบรรษัทภิบาลของชาติตะวันตกในเอเชียมีหลายประการ
อาทิ การมีสัดส่วนของสมาชิกในครอบครัวที่มีอำนาจควบคุมบริษัทสูง
การเมืองและอิทธิพลของรัฐ การขาดความสนใจดูแลของผู้ถือหุ้น และ
ประสิทธิภาพที่ไม่เพียงพอของระบบการฟ้องร้องดำเนินคดี
ซึ่งบ่งชี้ถึงสาเหตุแห่งความล้มเหลวดังกล่าว สาเหตุดังกล่าวปรากฏในรายงานการศึกษา โดยขออธิบายตามลำดับ
ดังต่อไปนี้
1. ธุรกิจครอบครัว (Large Family Control)
จากการศึกษาของ Classens, Djankov และ
Lang ในบริษัทจำนวน 2,980 แห่ง ใน 9 ประเทศ ของเอเชียตะวันออก (ฮ่องกง
อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย) พบว่า
มีบริษัทที่มีการบริหารโดยสมาชิกครอบครัวมากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทในเอเชียตะวันออก
ตามรายงานสรุปกล่าวว่า
ในประเทศต่างๆ เหล่านี้
อำนาจควบคุมสูงสุดของบริษัทอยู่ที่ครอบครัวเล็กๆ เพียงไม่กี่ครอบครัว
ครอบครัวที่ใหญ่ที่สุด 10 ครอบครัวในประเทศฮ่องกงและประเทศเกาหลีควบคุมบริษัทในตลาดถึง
1 ใน 3 ส่วน
เหตุแห่งการควบคุมบริษัทโดยสมาชิกในครอบครัวอาจไม่สามารถกล่าวได้ว่าไม่ถูกต้องตามมาตรฐานบรรษัทภิบาลเสียทีเดียว
เนื่องจาก ขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบกันมานั้น
ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลบริษัทให้กับผู้ถือหุ้นโดยทั่วไปเท่ากับเจ้าของบริษัท
บริษัทมักไม่มีผู้ถือหุ้นภายนอกมากนัก
และโดยปกติแล้วคณะกรรมการบริหารบริษัทประกอบด้วยสมาชิกในครอบครัว
ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปกติที่ผู้ถือหุ้นทราบกันอยู่ทั่วไป ทั้งนี้
การแต่งตั้งกรรมการบริษัทจากภายนอกยังไม่เกิดประโยชน์เนื่องจากในทางข้อเท็จจริงผลประโยชน์ตอบแทนของกรรมการบริษัทกำหนดโดยผู้ถือหุ้นไว้เรียบร้อยแล้ว
ส่งผลให้ไม่มีกรรมการบริษัทจากบุคคลภายนอกที่จะควบคุมการออกคำสั่งและการบริหารของผู้บริหาร
นอกจากนี้
เป็นที่ทราบกันว่าบริษัทของครอบครัวในเอเชียมีลักษณะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคล 4
ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ถือหุ้น ฝ่ายนักภาษี ฝ่ายธนาคาร และฝ่ายบุคคลในครอบครัว
2. อิทธิพลของรัฐ (State Influence)
นอกเหนือจากการที่บริษัทส่วนใหญ่ควบคุมโดยครอบครัวแล้ว
รัฐถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน
ซึ่งธนาคารโลก และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการร่วมมือทางการเงิน (International
Finance Corporation) วิจารณ์ว่า
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (local
government)
มีความรับผิดชอบที่จะคัดเลือกบริษัทเพื่อจัดทำรายชื่อบริษัท ดังนั้น
บริษัทซึ่งอยู่ในรายชื่อบริษัทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศจีนเป็นบริษัทที่มีผู้ลงซื้อขายหุ้นมากที่สุด และมีความเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับรัฐบาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ดังนั้น
รัฐบาลของจีนยังคงมีบทบาทในการควบคุมผู้ถือหุ้นของบริษัท
ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของหุ้นสองประเภทที่ไม่สามารถซื้อขายได้
คือ หุ้นของรัฐ (state shares) และหุ้นของนิติบุคคล (legal
person shares)
ซึ่งสะท้อนถึงการควบคุมบริษัทโดยรัฐบาลอันเป็นสาเหตุให้เกิดความอ่อนแอในการใช้บังคับหลักบรรษัทภิบาลภายในบริษัทเหล่านี้
3.
การขาดความกระตือรือร้นของผู้ถือหุ้นและความไร้ประสิทธิภาพในการดำเนินคดี
ชาวเอเชียมีวิถีชีวิตแบบประสานประโยชน์
ไม่นิยมฟ้องคดี
ส่งผลให้บริษัทที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นเจ้าของบริษัทจำนวนมากที่ผู้บริหารบริษัทมีสายสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้น
จึงแทบจะหาผู้ถือหุ้นที่ฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทที่ตนเป็นผู้แต่งตั้งในความผิดเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบหรือการกระทำผิดต่อหน้าที่ของผู้บริหารบริษัทไม่ได้
การขาดความกระตือรือร้นของผู้ถือหุ้นยังเกิดจากลักษณะของตลาดแบบประเทศกำลังพัฒนา
(emerging markets)
ที่มีประวัติศาสตร์การพัฒนาการที่ไม่ยาวนานนักและขาดสถาบันการลงทุน (institutional
investors) ดังนั้น
ผู้บริหารในประเทศเอเชียจึงมีความกดดันในการบริหารน้อยกว่าผู้บริหารในประเทศตะวันตก นอกจากนี้
ผู้ถือหุ้นในประเทศตะวันตกจะมีความกระตือรือร้นติดตามการบริหารบริษัทของผู้บริหาร
และไม่เกรงใจที่จะให้สิทธิลงคะแนนถอดถอนหรือลงโทษผู้บริหารบริษัท
บทสรุป
บทความนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของประเทศในทวีปเอเชียในการนำมาตรฐานหลักบรรษัทภิบาลไปปรับใช้กับประเทศของตน
ปัญหาดังกล่าวเกิดจากข้อเท็จจริงบางประการที่ทำให้ไม่พร้อมที่จะถือหลักนิติธรรม (rule
of law) แต่กลับยังคงถือหลักตัวบุคคล (rule of man)
เป็นสำคัญ ในขณะที่กฎหมายและระเบียบต่างๆ ไม่ได้นำมาใช้บังคับอย่างเหมาะสม
ในประเด็นดังกล่าวนี้ Claessens, Djankov
และ Lang
ร่วมกันทำวิจัยเกี่ยวกับระบบการฟ้องร้องดำเนินคดีของประเทศในทวีปเอเชีย
ซึ่งปรากฏผลการวิจัยดังนี้
ประเทศ
|
ความเข้มข้นของธุรกิจครอบครัว
|
ประสิทธิภาพของระบบการฟ้องร้องดำเนินคดี
|
หลักนิติธรรม
|
การทุจริต
|
ฮ่องกง
|
34.4
|
10.00
|
8.22
|
8.52
|
อินโดนีเซีย
|
61.7
|
2.50
|
3.98
|
2.15
|
ญี่ปุ่น
|
2.8
|
10.00
|
8.98
|
8.52
|
เกาหลี
|
38.4
|
6.00
|
5.35
|
5.30
|
มาเลเซีย
|
28.3
|
9.00
|
6.78
|
7.38
|
ฟิลิปปินส์
|
55.1
|
4.75
|
2.73
|
2.92
|
สิงคโปร์
|
29.9
|
10.00
|
8.57
|
8.22
|
ไต้หวัน
|
20.1
|
6.75
|
8.52
|
6.85
|
ไทย
|
53.5
|
3.25
|
6.25
|
5.18
|
ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าบางประเทศในทวีปเอเชียมีอัตราคะแนนเรื่องประสิทธิภาพของระบบการฟ้องร้องดำเนินคดี
และหลักนิติธรรมอยู่ในระดับสูง (ฮ่องกง, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์)
แต่ในอีกหลายประเทศยังไม่เป็นเช่นนั้น
หลายประเทศในทวีปเอเชียนำเอาหลักมาตรฐานบรรษัทภิบาลของประเทศตะวันตกไปปรับใช้เพื่อจะเพิ่มขีดความสามารถทางการตลาดของตลาดทุนให้ยกระดับไปสู่ตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม
การนำหลักการดังกล่าวไปปรับใช้ยังคงเป็นเรื่องยากตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นในบทความนี้
ความสำเร็จในการนำหลักการดังกล่าวไปใช้นั้น บริษัทต่างๆ ในเอเชียจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
โดยเปลี่ยนจากบริษัทที่ควบคุมโดยสมาชิกในครอบครัวหรือรัฐมาเป็นบริษัทที่ควบคุมโดยผู้ถือหุ้น
(institutional shareholders) นอกจากนี้
ต้องเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมปฏิบัติบางประการที่จำเป็นที่เกี่ยวพันกับการฟ้องร้องคดี
โดยสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นมีความกระตือรือร้นที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทที่ประพฤติมิชอบต่อบริษัท
การปรับปรุงมาตรการหรือกลไกการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามการเอื้ออำนวยให้นำหลักบรรษัทภิบาลของชาติตะวันตกไปใช้อย่างเหมาะสมในเอเชีย
ยังเป็นที่สงสัยว่าหากประเทศในเอเชียสามารถนำเอาหลักการดังกล่าวไปใช้ได้สำเร็จแล้ว
อาจเกิดคำถามที่ตามมาอันไม่อาจคาดหมายได้และอาจไม่พึงปรารถนาว่าเอเชียจะกลายเป็นอาณานิคม
(colony) ของชาติตะวันตกหรือไม่