การจัดทำประมวลกฎหมายในประเทศอังกฤษ
แปลและเรียบเรียงโดย
นายธรรมนิตย์ สุมันตกุล
กรรมการร่างกฎหมายประจำ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
บทคัดย่อ
บทความนี้กล่าวถึงแนวความคิดในการจัดทำประมวลกฎหมายในประเทศอังกฤษที่ไม่ประสบความสำเร็จ
ซึ่งปัจจุบันนี้นักกฎหมายอังกฤษยังคงมีความคิดต่อต้านการจัดทำประมวลกฎหมายอยู่
แต่เมื่อสำรวจกลับไปในทางประวัติศาสตร์แล้วปรากฏว่าอังกฤษก็เคยมีการจัดทำกฎหมายในรูปแบบของประมวล
ผู้เขียนบทความนี้ได้เสนอว่าการทำให้กฎหมายสามารถเข้าใจและใช้ได้ง่ายนั้นมีวิธีการอยู่หลายวิธีการด้วยกัน
แล้วแต่ความต้องการของสังคม
การจัดทำประมวลกฎหมายของอังกฤษน่าจะประสบความสำเร็จได้เพียงแต่ถ้านักกฎหมายอังกฤษจะละทิ้งอคติที่มีต่อประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส
และพิจารณาถึงประโยชน์หรือหน้าที่อันแท้จริงของประมวลกฎหมาย นั่นคือ
ประมวลกฎหมายจะทำให้การเข้าถึงกฎหมายที่กระจัดกระจายกันอยู่ได้เป็นไปได้ง่าย
ทั้งนี้ตามตัวอย่างการจัดทำประมวลกฎหมายสมัยใหม่ที่มีมาแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ดังเช่นที่จัดทำในสหรัฐอเมริกาหรือฝรั่งเศส เป็นต้น
บทความนี้ผู้แปลและเรียบเรียงจัดทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการศึกษาการจัดทำ
รวมกฎหมาย หรือ ประมวลกฎหมายสมัยใหม่
ขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าเราจะเรียกชื่อว่าอย่างไรก็ตาม
ซึ่งเมื่อกล่าวถึงการจัดทำประมวลกฎหมายเกือบทุกท่านจะนึกถึงแต่ประมวลกฎหมายของประเทศภาคพื้นยุโรปโดยเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสหรือประมวลกฎหมายของเยอรมันเช่นเดียวกับนักกฎหมายอังกฤษในบทความนี้
การแปลบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาในแง่ที่ว่าไม่ว่าเราจะเลือกวิธีการทางใดที่ทำให้มีการใช้กฎหมายได้ง่าย
แต่อย่างน้อยก็ได้มีการศึกษาในเชิงระบบกฎหมายแล้ว
บทนำ
ในเดือนมีนาคม ๒๐๐๔
ประเทศฝรั่งเศสได้ทำการเฉลิมฉลองสองร้อยปีของความสำเร็จในการจัดทำประมวลกฎหมาย
ซึ่งนับตั้งแต่ปี ๑๘๐๔ เป็นต้นมาที่มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง (Civil
Code)
ฝรั่งเศสได้กลายเป็นผู้นำในการจัดทำประมวลกฎหมายและประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสเองก็เป็นต้นแบบของประมวลกฎหมายของประเทศอื่นต่อมา
การฉลองสองร้อยปีประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสจึงเป็นโอกาสอันดีที่นักกฎหมายอังกฤษจะทำการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบมุมมองของการจัดทำประมวลกฎหมายในประเทศอังกฤษ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่ปี ๑๙๖๕ ที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย (Law
Commission)
ได้รับมอบหมายตามกฎหมายให้มีภาระหน้าที่ในการจัดทำประมวลกฎหมายด้วย
การมีประมวลกฎหมายในประเทศใดนั้นมักจะเป็นที่เข้าใจว่าเป็นอิทธิพลทางกฎหมายของระบบกฎหมายซีวิลลอว์
(Civilian Legal Tradition)
ซึ่งย่อมแตกต่างจากระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law
Tradition) ที่จะผูกพันอยู่กับบรรทัดฐานคำวินิจฉัย
ความแตกต่างดังกล่าวนี้ได้นำไปสู่วิธีการคิดและการใช้กฎหมายที่แตกต่างกันของสองระบบกฎหมายนี้ด้วย
ความแตกต่างของวิธีการคิดนี้ผู้พิพากษาท่านหนึ่ง คือ Lord Cooper
ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ปี ๑๙๔๙ ที่มหาวิทยาลัย Edinburgh ว่า
นักกฎหมายซีวิลลอว์คิดจากหลักกฎหมายไปสู่ข้อเท็จจริงเฉพาะ
(from principles to
instances)
นักกฎหมายคอมมอนลอว์จะพิจารณาจากข้อเท็จจริงเฉพาะก่อนแล้วไปสู่หลักกฎหมาย (from
instances to principles)
นักกฎหมายซีวิลลอว์ใช้หลักตรรกะแปลความ
ส่วนนักกฎหมายคอมมอนลอว์ใช้บรรทัดฐานคำวินิจฉัย
เมื่อจะตัดสินหรือวินิจฉัยนักกฎหมายซีวิลลอว์จะถามตนเองในใจว่า เราควรทำอย่างไรล่ะในคราวนี้
(What should we
do this time?)
และในสถานการณ์อย่างเดียวกันนี้นักกฎหมายคอมมอนลอว์จะถามตนเองว่า กรณีที่เหมือนกันในครั้งก่อนนั้นเราตัดสินว่าอย่างไร
(What did we
do last time?)
จากแนวความคิดของการจัดทำกฎหมายเอกชนแห่งยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียว
(uniform European private
law)
และความคิดการจัดทำประมวลกฎหมายที่ปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่งในประเทศอังกฤษ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายอาญา (Criminal Law)
คำถามที่มีต่อนักกฎหมายคือทำอย่างไรจึงจะประสมประสานวิธีการทางกฎหมายของระบบกฎหมายที่ต่างกันนี้ได้
เพื่อที่จะได้วิธีการที่ดีที่สุดแก่ระบบกฎหมายสมัยใหม่
ซึ่งระบบกฎหมายสมัยใหม่จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับแนวบรรทัดฐานอีกแล้ว
แต่จะประกอบไปด้วยการตรากฎหมายออกมามากมายหลายฉบับที่ซับซ้อนและกระจัดกระจาย
ไม่ว่าจากกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่ตราออกมาโดยสภานิติบัญญัติ
กฎหมายในระดับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายของสหภาพยุโรป
หรือความตกลงระหว่างประเทศ
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศอังกฤษนั้นได้มีการมองไปถึงประเด็นการให้ความสำคัญแก่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย
ซึ่งประเทศอังกฤษยังไม่มีความสำเร็จในการทำกฎหมายที่ซับซ้อนให้เข้าถึงได้โดยง่ายอันเป็นการให้หลักประกันแก่หลักสิทธิมนุษยชน
และปรากฏว่ามีคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European
Civil Court of Human
Rights) หลายคดีวินิจฉัยว่า ความชัดเจน (clarity)
การเข้าถึงได้ (accessibility) การคาดหมายได้ (foresee
ability) ของกฎหมาย
และมาตรฐานการจัดทำกฎหมายเป็นประเด็นของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
นักกฎหมายทั้งสองฝ่ายจึงควรที่จะศึกษาร่วมกันที่จะหาวิธีการที่ทำให้มีการใช้กฎหมายได้ง่าย
ความพยายามของนักกฎหมายคอมมอนลอว์ไม่ว่าของอังกฤษหรือสก็อตแลนด์ที่จะจัดทำประมวลกฎหมายก็จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้นักกฎหมายซีวิลลอว์มีความเข้าใจในคอมมอนลอว์มากขึ้นในแง่ของกฎหมายเปรียบเทียบด้วย
อย่างไรก็ตาม
กระบวนการที่จะประนีประนอมแนวทางของซีวิลลอว์และคอมมอนลอว์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีประมวลกฎหมายนี้ ยังคงมีปัญหาจากวิธีการในการเปรียบเทียบกฎหมายอยู่ด้วย
ซึ่งหากใช้วิธีการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบจากแนวทางของนักกฎหมายเปรียบเทียบชาวอเมริกัน
คือ Rudolf Schlesinger แล้ว
อาจกล่าวได้ว่าจากประวัติอันยาวนานของศาสตร์ด้านนี้ จะมีวิธีการอยู่สองวิธี คือ Integrative
Comparison และ Contrastive Comparison
ในกรณี Integrative Comparison
นั้นมุ่งศึกษาไปที่ความเหมือนกันของกฎหมาย (similarities)
และความเป็นไปได้ที่จะถ่ายทอดกฎหมายในระหว่างกัน
วิธีการนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าระบบกฎหมายทั้งหลายเผชิญกับปัญหาอย่างเดียวกันและมุ่งที่จะวางกฎเกณฑ์ทั่วไปเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
สิ่งที่ปรากฏออกมาทั้งจากระบบกฎหมายซีวิลลอว์และคอมมอนลอว์อย่างชัดเจนมากที่ผ่านมาเป็นเวลายาวนานก็คือความพยายามที่จะลดความแตกต่างของทั้งสองระบบโดยเน้นไปที่ผลสัมฤทธิ์ที่เหมือนกันในการแก้ปัญหา
ส่วนวิธีการที่สอง Contrastive Comparison
เน้นไปที่ความแตกต่าง (differences) และรูปแบบหลากหลาย (patterns
of diversity)
วิธีการนี้จึงเน้นไปที่จารีตและวัฒนธรรมทางกฎหมาย (legal tradition
and culture)
กฎหมายของประเทศอื่นอาจนำมาใช้เป็นตัวกระตุ้นในการวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบกฎหมายของตน
แต่ไม่ใช่เป็นแบบอย่างในการพัฒนากฎหมาย
ในทุกวันนี้ยังคงมีความตึงเครียดในความแตกต่างระหว่างวิธีการทั้งสองนี้
โดยในประเทศภาคพื้นยุโรปซึ่งการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งของยุโรป (European
Civil Code)
ก็ได้ถูกท้าทายโดยความคิดที่เน้นถึงความละเอียดอ่อนและลักษณะเฉพาะของถิ่น (national
peculiarity) ของทั้งสองระบบ
ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการที่จะบูรณาการในทางกฎหมาย
ในทรรศนะเช่นนี้ย่อมหมายความว่าการจัดทำประมวลกฎหมายเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบคอมมอนลอว์
นักวิชาการบางท่านได้เห็นคล้อยตามความคิดที่สองที่ว่าประมวลกฎหมายและคอมมอนลอว์นั้นคงจะเข้ากันได้ยากในสถานการณ์ของอังกฤษในปัจจุบันนี้
เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ว่า แม้แต่คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย (Law
Commission) จะได้ใช้ความพยายามมาตั้งแต่ปี ๑๙๖๕
ในการจัดทำประมวลกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำประมวลกฎหมายอาญา (Criminal
Code) มาแล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่าไม่มีความสำเร็จในการประกาศใช้ประมวลกฎหมายใดเลย
จึงเห็นชัดว่าในอนาคตก็คงไม่มีความสำเร็จเช่นกัน
นอกจากความพยายามของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายที่ไม่ปรากฏผลใดๆ
แล้ว
การจัดทำประมวลกฎหมายที่ไม่สำเร็จนั้นยังขาดแรงผลักดันในทางการเมืองที่จะสนับสนุน ซึ่งปรากฏว่ามีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อที่จะสร้างความนิยมมากกว่าที่จะสนับสนุนให้มีโครงการจัดทำประมวลกฎหมายที่อาจจะยาวแต่มีคุณค่าต่อสังคม
นอกจากนี้แล้วนักกฎหมายคอมมอนลอว์เองก็มีความคิดในเชิงลบต่อการมีประมวลกฎหมายด้วยเหตุที่ติดยึดกับรูปแบบประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศภาคพื้นยุโรปและอุดมการณ์ที่มาของประมวลกฎหมายมากเกินไป
จนกระทั่งนักกฎหมายเปรียบเทียบชาวเยอรมัน คือ Hein Kötz
กล่าวกระทบต่อนักกฎหมายคอมมอนลอว์ว่า ไม่ต้องไปใส่ใจกับประมวลกฎหมายแพ่งมากนักก็ได้
(take civil codes
less seriously)
เมื่อพิจารณาข้อถกเถียงว่าควรมีประมวลกฎหมายในอังกฤษหรือไม่แล้ว
กลับกลายไปเน้นที่คุณลักษณะ (characteristics of
the codes)
ของประมวลกฎหมายของประเทศภาคพื้นยุโรป
และก็ไม่ต้องแปลกใจว่าการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งแห่งยุโรปก็ถูกต่อต้านด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันด้วย
ตามความเข้าใจจะไปเน้นที่ว่าประมวลกฎหมายต้องเป็นการวางหลักกฎหมาย
ทั้งที่ประมวลกฎหมายทั้งหมดก็มิได้เป็นเช่นนั้น ดังเช่นในสหรัฐอเมริกาในการจัดทำ Uniform
Commercial Code
หรือในฝรั่งเศสที่มีการจัดทำประมวลกฎหมายที่เรียกว่า codification
à droit constant
ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของกฎหมายเดิม
แต่เป็นเพียงการนำกฎหมายมาเรียงใหม่เพื่อให้มีการใช้งานง่ายของทั้งฝ่ายปกครอง ศาล
และประชาชน ซึ่งหากมองในแง่เทคนิคการจัดทำกฎหมายแล้วก็เป็นเพียงการจัดโครงสร้าง (restructure)
ของกฎหมายใหม่เพื่อให้ค้นหาและเข้าใจง่ายเท่านั้น
หลังจากที่กล่าวในบทนำนี้แล้ว บทความนี้จะแบ่งเป็นสองส่วน
ส่วนแรกจะสำรวจอุดมการณ์ (ideological approach)
อีกครั้งหนึ่ง และส่วนที่สองจะกล่าวถึงการทำหน้าที่ (functions)
ของประมวลกฎหมาย
ส่วนที่หนึ่ง
อุดมการณ์ในการจัดทำประมวลกฎหมาย
ข้อเท็จจริงที่ทำให้โครงการจัดทำประมวลกฎหมายในอังกฤษไม่เคยสำเร็จอาจมาจากความเข้าใจอุดมการณ์ของการจัดทำประมวลกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง
๑.๑
การจัดทำประมวลกฎหมายจะต้องใช้แบบอย่างของประมวลกฎหมายนโปเลียน (Continental
Napoleonic Code) เท่านั้นหรือ?
ศาสตราจารย์ Tallon
กล่าวว่า ความที่ไม่ต้องการประมวลกฎหมายในระบบกฎหมายอังกฤษนั้นมาจากความรู้สึกเดิมที่ฝังรากกับการที่ไม่ค่อยชอบจักรพรรดินโปเลียน
และคิดแต่ว่าเมื่อกล่าวถึงประมวลกฎหมายแล้วหมายถึงประมวลกฎหมายนโปเลียนเท่านั้น
ทัศนคติเช่นนี้เห็นได้จากบทความในหน้าหนังสือพิมพ์ในปี ๒๐๐๒ นี้เอง
จากการขึ้นหัวเรื่องว่า Napolean Threatens
UK Legal System
(นโปเลียนบุกโจมตีระบบกฎหมายอังกฤษ)
ซึ่งวิจารณ์โครงการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งแห่งยุโรปของสภาแห่งยุโรป (European
Parliament) ดังนี้
สภาแห่งยุโรปได้จัดทำโครงการที่อาจล้มล้างระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ของอังกฤษที่มีสืบเนื่องมากว่าพันปีเพื่อสร้างความสะดวกให้กับระบบกฎหมายประเทศภาคพื้นยุโรป
บริเทนและไอร์แลนด์มีจารีตทางกฎหมายจากการสร้างของผู้พิพากษา (judge
made law)
ร่างประมวลกฎหมายที่จะจัดทำขึ้นจะล้มล้างสิ่งเหล่านี้ไปหมดและใช้ประมวลกฎหมายนโปเลียนของฝรั่งเศสแทนในทุกประเทศสมาชิก
ตัวอย่างที่สองเป็นความเห็นของนักวิชาการ คือ
ศาสตราจารย์ Pierre Legrand กล่าวว่า ความคิดในการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งแห่งยุโรปเป็นของยุคสมัยอื่น
มาจากโลกเผด็จการของนโปเลียน เป็นมรดกของ positivists
ในการให้คำตอบว่าประมวลกฎหมายที่จริงแล้วเป็นอย่างไรนี้
อาจกล่าวได้ว่าการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสนั้นมาจากการเคลื่อนไหวทางแนวความคิดในปลายศตวรรษที่
๑๘ และต้นศตวรรษที่ ๑๙ ในประเทศภาคพื้นยุโรป เมื่อประมวลกฎหมายเป็นผลรวมของปัญญา
การเมือง และสังคม ตามปรัชญาของยุคแห่งความรู้แจ้ง (Enlightenment)
ที่มองว่าประมวลกฎหมายเป็นวิธีการในเชิงอุดมคติ (ideal means)
ที่จะนำกฎของเหตุผลมาปฏิบัติ
ผู้ปกครองในยุคนั้นใช้ประมวลกฎหมายเพื่อเป็นนโยบายในการรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียว
และต้องการที่จะแก้ปัญหาทางสังคม กล่าวคือ
ประมวลกฎหมายจะเป็นการลดการกีดกันและการขัดขวางทางสังคมที่เคยมีมาก่อน ดังนั้น
การเกิดมีขึ้นของระบบกฎหมายหนึ่งเดียวในประเทศก็จะเข้ามาแทนที่กฎหมายที่มีมาแต่เดิมและรวมกฎหมายที่มีเนื้อหาเป็นกฎหมายเอกชนเข้าด้วยกัน
ประมวลกฎหมายแพ่งยังเป็นที่รวมของพัฒนาการของกฎหมายที่มีมาก่อนเป็นเวลายาวนาน
ระบบกฎหมายของฝรั่งเศสหรือเยอรมันเป็นผลจากความคิดที่สุกงอมของสถานการณ์และการเรียนรู้
ประมวลกฎหมายของทั้งฝรั่งเศสและเยอรมันยังเขียนขึ้นอย่างเป็นระบบดังที่ Domat
และ Pothier กระทำในฝรั่งเศส
และคงไม่ต้องกล่าวว่าเงื่อนไขสภาพทางสังคมเช่นนี้ในปัจจุบันนี้ไม่มีอยู่อีกแล้วในอังกฤษที่จะกดดันให้มีประมวลกฎหมายตามแนวทางประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม
ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการจัดทำประมวลกฎหมายขึ้นมาได้อีกเลย
และหากจะยกคำกล่าวของศาสตราจารย์ Kötz ก็เป็นว่า
ไม่ควรที่จะนำเอาเหตุผลเงื่อนไขสภาพสังคมในการจัดทำประมวลกฎหมายในประเทศหนึ่ง
ในยุคหนึ่ง และด้วยเหตุผลหนึ่ง
มาสนับสนุนหรือคัดค้านการทำประมวลกฎหมายในประเทศอังกฤษในปัจจุบันนี้
๑.๒
กฎหมายคอมมอนลอว์จะถูกทำลายโดยประมวลกฎหมายหรือ?
เหตุผลอีกประการหนึ่งจากการถกเถียงที่ยกขึ้นอ้างว่าความเป็นมาอันยาวนานของคอมมอนลอว์จะถูกทำลายลง
ในบทความที่ลงพิมพ์เมื่อปี ๑๙๖๗ ในวารสาร Modern Law
Review ศาสตราจารย์ Hahlo
ได้แสดงทัศนะว่า หากมีประมวลกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว
ก็คงจะไม่มีคอมมอนลอว์อีกต่อไป
มีหลายจุดซึ่งน่าคิด คือ
ประมวลกฎหมายไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติวิชาชีพของนักกฎหมายคอมมอนลอว์หรือระบบกฎหมายอังกฤษแต่อย่างใด
พบว่าในอังกฤษก็เคยมีการจัดทำประมวลกฎหมายมาตั้งแต่สมัยของ Sir
Francis Bacon ในปี ๑๖๑๔
ในสมัยของพระเจ้าเจมส์ ที่ ๑ และต่อมาเมื่อปลายศตวรรษที่ ๑๘ Jeremy
Bentham ได้เสนอไว้เช่นกันว่าการจัดทำประมวลกฎหมายจะสามารถทำให้การปฏิรูปกฎหมายอังกฤษประสบความสำเร็จได้
ผู้พิพากษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น J. Austin,
F.W. Maitland, H. Maine,
S. Amos และ Mackenzie
Chalmers ล้วนแต่มีส่วนในการจัดทำประมวลกฎหมาย และที่ชัดเจนกว่านั้นคือในศตวรรษที่
๑๙ ปรากฏมีประมวลกฎหมายชุดหนึ่ง ที่เรียกว่า Indian Codes
ร่างขึ้นเพื่อใช้ในอินเดียโดยนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงหลายท่านในเวลานั้น
ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสัญญา กฎหมายอาญา ทรัสต์ พยานหลักฐาน
หรือในหัวข้ออื่นเพื่อประโยชน์ต่อการบริหารการยุติธรรม ในอังกฤษเองก็มีกฎหมายในรูปแบบของประมวลกฎหมาย
เช่น Sale of Goods Act
1893 หรือ Children Act
1989
ส่วนที่สอง ความจำเป็นและประสบการณ์ร่วมกัน
จากการสังเกตการณ์พบว่าประมวลกฎหมายเป็นความพยายามและการตรวจสอบกฎหมายของสังคมที่จะนำกฎหมายที่มีอยู่มาสร้างเป็นกฎหมายที่ง่ายต่อการเข้าใจ
และพบว่าประมวลกฎหมายเป็นวิธีการที่จะออกกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมความประพฤติของสังคม
หากเราพิจารณาประวัติศาสตร์ของระบบกฎหมาย (legal
system)
จะพบว่าไม่มีประเทศใดเลยที่ไม่เคยมีประสบการณ์การจัดทำประมวลกฎหมาย
การจัดทำประมวลกฎหมายเป็นเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับระบบกฎหมาย
หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ จะพบ Hammurabi of
Babylon (ประมาณปี ๑๗๕๐ ก่อนคริสตกาล) กฎหมายสิบสองโต๊ะ หรือ Twelve
Tables (๔๕๐ ปีก่อนคริสตกาล) Gregorian
หรือ Theodosian codices
(คริสต์ศตวรรษที่ ๓) และต่อมาการรวบรวมกฎหมายโรมันโดย จักรพรรดิ Justinian
(คริสต์ศตวรรษที่ ๖) ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อของ Corpus Juris
Civilis นอกจากนี้ในสมัยกลาง (Medieval Europe)
องค์กรในทางศาสนายังได้พบว่าการจัดทำประมวลจะนำตัวบท (text)
ที่กระจัดกระจายหลายที่มารวมกัน ดังเช่นตัวอย่างการรวมของ Cannon
Law หรือ Corpus Juris
Canonici ซึ่งตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในปี ๑๕๘๓
อันเป็นการรวมคำสั่งของพระสันตะปาปา (Papal Legislation)
มาไว้ในที่เดียวกัน ในศตวรรษที่ ๑๒ ยังพบ Maimonides
จัดทำประมวลกฎหมายของยิว (Jewish law)
ที่เรียกว่า Mishneh Torah
(1177) ในศตวรรษที่ ๑๘ ในยุคแห่งความรู้แจ้ง (Enlightenment)
ปรากฏมีประมวลกฎหมายของหลายประเทศ เช่น Bavarian (1756)
Prussian (1794) และ Austrian
(1811) ซึ่งนำมาสู่การจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน (German
Civil Code) ในปี ๑๙๐๐ ส่วนในปี ๑๘๐๔
ที่มีประมวลกฎมายแพ่งฝรั่งเศสนั้น เป็นจุดยอดรวมของวิวัฒนาการทางกฎหมายฝรั่งเศส
ซึ่งแต่เดิมได้เริ่มมาตั้งแต่ปี ๑๔๕๓ แล้ว เมื่อ King Charles
VII มีคำสั่งให้รวบรวมจารีตประเพณีของฝรั่งเศส
กฎหมายของยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกก่อนที่จะเข้าสู่ระบบสังคมนิยม
ได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก Romano - Germanic
Law ได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายหลายฉบับโดยใช้รูปแบบเดียวกับประเทศภาคพื้นยุโรป
ซึ่งการจัดทำประมวลกฎหมายได้กลายมาเป็นทิศทางแรกของการปฏิรูปกฎหมาย (Law
Reform) ดังเช่นประมวล Russian Civil
Code
การจัดทำประมวลกฎหมายยังมีขึ้นในประเทศทางเอเชีย
ปรากฏว่า จีนมีประมวลกฎหมายตามแนวทางประเทศตะวันตกมาเป็นเวลานาน
ในยุคปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่งของจีนฉบับแรก ประกาศใช้ในปี ๑๙๑๑
มีโครงสร้างแบบประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ในปี ๑๙๓๐ มีการประกาศใช้ Republic
Civil Code ในปี ๑๙๔๙
ประเทศจีนยกเลิกการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ
และใช้ประมวลกฎหมายในรูปแบบของระบบกฎหมายโซเวียต แต่ในปี ๑๙๗๙
เมื่อเปิดประเทศมากขึ้นได้มี Peoples Republican
of China (PRC) Civil
Code ซึ่งเป็นกฎหมายสมัยใหม่
ในไต้หวันมีประมวลกฎหมายแพ่งเช่นกันซึ่งรับรูปแบบมาจากกฎหมายประเทศภาคพื้นยุโรปโดยมีหลักการทางกฎหมายเหมือนประเทศทางตะวันตก
เช่น เสรีภาพในการทำสัญญาหรือหลักเรื่องทรัพยสิทธิ เป็นต้น
การจัดทำประมวลกฎหมายจึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่กฎหมายแพ่งเท่านั้น
ในสหรัฐอเมริกาก็เคยมีตัวอย่างของความพยายามในการประมวลหลักคอมมอนลอว์จากงานของ David
Dudley Fields code
(ศตวรรษที่ ๑๙) และใกล้เข้ามาในยุคสมัยของเรา คือ ความสำเร็จของ American
Law Institutes Restatements
and Uniform Commercial
Code
สิ่งสำคัญที่พบจากการศึกษาการจัดทำประมวลกฎหมายข้างต้นนี้ก็คือ
การจัดทำประมวลกฎหมายเป็นไปเพื่อทำให้กฎหมายมีเหตุมีผลและทำให้เป็นสมัยใหม่ (Rationalize
and Modernize law)
จากกฎหมายที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย และในรูปแบบกฎหมายหลายแบบที่ โบราณ ล้าสมัย
รวมทั้งมีเนื้อหาสับสน
ในแง่มุมนี้ก็หมายความว่าการจัดทำประมวลกฎหมายจึงเป็นไปเพื่อให้ประชาคมโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย
(accessible) อีกทั้งทำให้กฎหมายมีความชัดเจนแน่นอนขึ้น (more
certain)
และมีเนื้อหาที่สามารถปรับเข้ากับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน (more
adapted) ได้
สถานการณ์ดังกล่าวนี้มีอยู่ในประเทศอังกฤษเมื่อครั้งแรกเริ่มให้มีคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย
(Law Commission)
และยังคงมีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งรายงานของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายหลายฉบับก็ยังคงระบุว่าการเข้าถึงกฎหมายเป็นปัญหาที่สำคัญ
เหตุใดการจัดทำประมวลกฎหมายที่กระทำอยู่ในประเทศอื่นจึงไม่สามารถสำเร็จได้ในประเทศอังกฤษ
นอกจากนี้แล้ว
การจัดทำประมวลกฎหมายไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว
ประมวลกฎหมายนั้นอาจเป็นเพียงการรวมกฎหมาย (compilations)
ไปจนถึงการจัดทำประมวลกฎหมายในลักษณะเต็มรูปแบบก็ได้
ซึ่งในที่นี้อาจกระทำได้สี่รูปแบบ ดังนี้
๑. การรวมกฎหมายหลายฉบับเข้าไว้ด้วยกัน (Compilations)
นำกฎหมายที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่มารวมในที่เดียวกัน
ไม่ว่าจะจัดเรียงตามวันเวลาที่ประกาศบังคับใช้ (in chronological
order) หรือเรียงตามเนื้อหา (by subject)
ทั้งนี้โดยไม่ได้แก้ไขแบบฟอร์มหรือรูปแบบของกฎหมายแต่อย่างใด
๒. การรวมกฎหมายและตราขึ้นใหม่ (Consolidation)
นำกฎหมายที่กระจัดกระจายมาเขียนใหม่ให้เป็นฉบับเดียวกัน
๓. การทำกฎหมายขึ้นใหม่ (Restatement)
เป็นการจัดทำกฎหมายขึ้นฉบับหนึ่ง
ซึ่งไม่ใช่ความคิดที่จะปฏิรูปกฎหมายขึ้นใหม่แม้จะยกเลิกแก้ไขตัวบทที่ล้าสมัยหรือขจัดความขัดแย้งกันในตัวบทออกไปบ้างก็ตาม
๔. การจัดทำประมวลกฎหมายเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย (Codification
- reform)
ซึ่งเข้าไปตรวจพิจารณากฎหมายทั้งหมดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย (complete
reconsideration of the law
in a particular
field with a view
to its reform)
ในประการแรกนั้น
การรวมกฎหมายหลายฉบับเข้าไว้ด้วยกัน (Compilations)
คงจะไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการจัดทำประมวลกฎหมายที่แท้จริง เนื่องจากไม่มีการสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมา
การริเริ่มจัดทำอาจเป็นการดำเนินการของสำนักพิมพ์ (private publishers)
ที่รวมกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ใช้กฎหมายเพื่อการค้นหากฎหมาย
โดยนำกฎหมายเรื่องเดียวกันมารวมกัน โดยไม่ได้พิจารณาถึงความไม่สอดคล้องของเนื้อหาหรือข้อกฎหมายหรือไม่
ประการที่สอง
การจัดทำประมวลกฎหมายเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย (Codification -
reform)
เป็นการเริ่มต้นการมีกฎหมายใหม่และยุติการใช้กฎหมายเดิมลง
มีมิติทางสังคมการเมืองใหม่ และสอดคล้องกับยุคสมัยมากกว่าเดิม
ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ก็ต่างจากการรวมกฎหมายและตราขึ้นใหม่
(Consolidation) และการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายขึ้นใหม่ (Restatement)
การรวมกฎหมายและตราขึ้นใหม่ (Consolidation)
เป็นการใช้กฎหมายใหม่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
แต่เป็นเพียงการเข้าแทนกฎหมายเดิมที่กระจัดกระจายแล้วรวมเป็นกฎหมายใหม่ที่ใหญ่โตขึ้น
(a more single voluminous)
ในประเทศอังกฤษการดำเนินการเช่นนี้กระทำมาตั้งแต่ปี ๑๙๔๙
ซึ่งมีกฎหมายประเภทนี้หลายฉบับ เช่น Companies Act
1985 เป็นตัวอย่าง หรือในเนื้อหากฎหมายที่กว้าง ก็มี Criminal
Procedure (Scotland) Act 1995
เป็นตัวอย่าง ประโยชน์ของการรวมกฎหมายโดยวิธีการดังกล่าวนี้คือการเสนอร่างกฎหมายทำนองนี้ไม่ก่อปัญหาในการอภิปรายหรือการคัดค้านในรัฐสภา
อย่างไรก็ตามมีข้อเสียคือไม่สามารถลบล้างคอมมอนลอว์ได้
เนื่องจากมีผลบังคับใช้ได้เท่ากัน
การแก้ไขทำกฎหมายขึ้นใหม่ (Restatement)
มาจากการริเริ่มของ American Law Institute
ที่ตั้งขึ้นในปี ๑๙๒๓ ตัวอย่างของ American Restatements
เป็นแบบอย่างการรวมคอมมอนลอว์อย่างเป็นระบบในกฎหมายเรื่องหนึ่งเรื่องใด เช่น สัญญา
ละเมิด ทรัพย์ ทรัสต์ และกฎหมายขัดกัน เป็นต้น
ในเนื้อหาของการรวบรวมก็จะมีการสังเคราะห์กฎหมายไว้เป็นหลักทั่วไป ซึ่งก็จะเป็นวิธีการที่คล้ายคลึงกับการจัดทำประมวลกฎหมาย
(code) และแม้ว่าจะไม่มีผลในการบังคับใช้ (no
binding authority)
แต่ก็มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมายและก็เป็นที่เชื่อถือโดยศาล
ประโยชน์ของวิธีการนี้ก็คือ จะรวมข้อสังเกต (comments) และตัวอย่าง
(illustrations) ที่จะทำให้มีความเข้าใจความหมายและขอบเขตได้
โดยเฉพาะบรรทัดฐานของคดีความ (case law)
ซึ่งโดยรวมแล้ววิธีการนี้ก็เป็นการสร้างความยอมรับในบรรดานักกฎหมายด้วย
และจากการรวมกฎหมายโดยวิธีการนี้ ก็มีความสัมพันธ์กับวิธีการรวมกฎหมายสมัยใหม่ของฝ่ายบริหารของประเทศฝรั่งเศส
(Administrative Codification)
ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๑๙๘๙ โดยคณะกรรมการที่มีชื่อว่า Commission
superieure de codification
ซึ่งมีประมวลกฎหมายในเนื้อหาของกฎหมายครอบครัว (family law)
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค (consumer law)
กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property)
กฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (local government)
เป็นต้น ซึ่งจนถึงวันนี้กฎหมายครึ่งหนึ่งของฝรั่งเศสได้รวมเป็นประมวลกฎหมายแล้ว
แต่ที่ต่างจาก American Restatements
ก็คือประมวลกฎหมายที่จัดทำขึ้นนี้มีผลใช้เป็นกฎหมายที่อ้างอิงได้
บทสรุป
บทความนี้ได้สำรวจการจัดทำประมวลกฎหมาย
จากแนวคิดที่ไม่ต้องการประมวลกฎหมาย
จนมาถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายอังกฤษต่อการจัดทำประมวลกฎหมาย
การที่จะให้มีการยอมรับการจัดทำประมวลกฎหมายนี้จะต้องเริ่มจากการละทิ้งอคติต่อประมวลกฎหมาย
จากประสบการณ์ของต่างประเทศพบว่าได้มีการเสนอรูปแบบของประมวลกฎหมายที่มีความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักกฎหมายอังกฤษได้
การที่ไม่ยอมละทิ้งทัศนคติเดิมนั้นก็ปรากฏให้เห็นอยู่แล้วว่าอังกฤษไม่สามารถจัดทำประมวลในเนื้อหาของกฎหมายสัญญา
(contract law) และกฎหมายอาญา (criminal
law) ให้สำเร็จลงได้