หน้าหลัก > ข่าวสารและผลงาน> บทความทางกฎหมาย
บุคคลล้มละลาย : กรณีลักษณะต้องห้ามและเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่ง (ยงยุทธ ภู่ประดับกฤต)

บุคคลล้มละลาย : กรณีการพ้นจากตำแหน่ง

บุคคลล้มละลาย :

กรณีลักษณะต้องห้ามและเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่ง[๑]

 

 

นายยงยุทธ  ภู่ประดับกฤต

นิติกร ๔

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

 

บทคัดย่อ

 

การเป็นบุคคลล้มละลาย (being a bankrupt) ย่อมส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลนั้นเอง ทั้งในด้านการจัดการทรัพย์สินและในด้านความสามารถ โดยหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเป็นบุคคลล้มละลายล้วนแต่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓  ดังนั้น ในการพิจารณาเกี่ยวกับการเป็นบุคคลล้มละลายจึงต้องใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นหลักในการพิจารณา  แต่อย่างไรก็ตาม กรณีของผลภายหลังจากการที่ตกเป็นบุคคลล้มละลายนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ เท่านั้น เนื่องจากในกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับได้กำหนดผลของการเป็นบุคคลล้มละลายไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งกรณีที่พบบ่อยครั้งที่สุด คือ การกำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งและเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งการที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อสงสัยว่า การเป็นบุคคลล้มละลายที่จะทำให้บุคคลผู้นั้นพ้นจากการดำรงตำแหน่งเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใดและอย่างไร รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กระทำไปแล้วจะมีผลเพียงใด บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะตอบคำถามในประเด็นปัญหาข้างต้น  ทั้งนี้ ผู้เขียนได้พิจารณาคำตอบของปัญหาโดยการศึกษาและค้นคว้าจากเอกสาร (documentary research) เป็นหลัก โดยรวบรวมข้อมูลจากหนังสือ งานวิจัย กฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกา ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อมูลทาง internet มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน (comparative and analytical approach)

จากการศึกษาพบว่า เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายล้มละลายแล้ว สามารถแยกการล้มละลายออกได้เป็นสองส่วนด้วยกัน คือ การล้มละลายที่มีผลเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและการล้มละลายที่มีผลเกี่ยวกับสถานภาพของบุคคล ซึ่งการล้มละลายที่มีผลเกี่ยวกับสถานภาพของบุคคลจะเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย และโดยลักษณะคดีล้มละลายที่ไม่มีการทุเลาการบังคับคดีดังเช่นคดีแพ่งสามัญ ย่อมทำให้บุคคลนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายโดยไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน ส่วนการพ้นจากตำแหน่งในกรณีนี้มิได้มีผลกระทบกระเทือนถึงการใด ๆ ที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด  ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

ผลของการศึกษายังชี้ให้เห็นว่า การบัญญัติกฎหมายที่กำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามและเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งนั้น อาจมีผลกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ ซึ่งในประเด็นนี้ควรมีการศึกษาในเชิงลึกเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับการร่างกฎหมายในอันที่จะไม่บัญญัติกฎหมายให้กระทบกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็นต่อไป

 

ความนำ

 

กฎหมายของไทยหลายฉบับได้กำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง กล่าวคือ หากบุคคลใดอยู่ในสถานะเป็นบุคคลล้มละลายแล้วย่อมไม่สามารถที่จะสมัครรับเลือกหรือได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง และการเป็นบุคคลล้มละลายยังเป็นเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งด้วย เช่น กรณีของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ในมาตรา ๑๐๙ (๒) ว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ ... (๒) เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี” หรือกรณีการดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ อาทิ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็กำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดีเป็นลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งไว้ด้วยเช่นกัน

บางกรณีกฎหมายยังใช้ถ้อยคำว่า “เป็นบุคคลล้มละลาย” โดยไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องเป็นกรณีซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี เช่น มาตรา ๗ (๙) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่บัญญัติว่า “ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ ... (๙) เป็นบุคคลล้มละลาย” หรือกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา ๙ (๑)[๒] แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้น ซึ่งในประเด็นนี้คงต้องมีข้อพิจารณาว่ารวมถึงบุคคลล้มละลายซึ่งศาลสั่งให้พ้นจากคดีแล้วด้วยหรือไม่

โดยส่วนใหญ่เมื่อกฎหมายกำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามในการเข้าสู่ตำแหน่งหรือการดำรงตำแหน่งแล้วก็จะกำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งนั้น ๆ ด้วย หรือหากไม่ได้กำหนดไว้เป็นลักษณะต้องห้ามในการเข้าสู่ตำแหน่งหรือการดำรงตำแหน่งก็จะกำหนดไว้ให้เป็นเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่ง เช่น มาตรา ๑๐๙ (๒) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดีเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็จะกำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดีเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพไว้ด้วย ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๑๘ (๕) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ ... (๕) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๙ ... (๒) ...” เป็นต้น

ประเด็นที่ควรพิจารณากันในที่นี้ คือ กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดมีสถานะเป็นบุคคลล้มละลายแล้วภายหลังจากที่ได้ดำรงตำแหน่งนั้น บุคคลเหล่านี้ต้องพ้นจากตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่พบได้บ่อยครั้งและมีการหารือในปัญหาดังกล่าวต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา อีกทั้งยังมีปัญหาต้องพิจารณาถึงผลของการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้กระทำไป รวมถึงความเหมาะสมในการที่จะบัญญัติลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งโดยอาศัยเหตุว่าเป็นบุคคลล้มละลายไว้ในกฎหมายด้วย

สำหรับเนื้อหาของบทความนี้ ผู้เขียนเริ่มต้นหัวข้อที่ ๑ ด้วยการนำเสนอหลักเกณฑ์การเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายอย่างสังเขป เพื่อเป็นพื้นฐานความเข้าใจสำหรับผู้อ่านที่อาจไม่เคยศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลายมาก่อน จากนั้นจะอธิบายถึงการเริ่มต้นล้มละลาย การพ้นจากตำแหน่ง และผลของการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนในหัวข้อที่ ๒ จะได้กล่าวถึงข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับบทกฎหมายที่บัญญัติให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่ง โดยผู้เขียนคาดหวังว่าเนื้อหาในส่วนนี้คงมีส่วนช่วยให้เกิดแนวคิดในการปรับปรุงและพัฒนาการร่างกฎหมายของประเทศไทยได้ในอนาคต และประการสุดท้าย ในหัวข้อที่ ๓ จะได้นำเสนอถึงบทสรุปและข้อเสนอแนะตามลำดับต่อไป

 

๑. การเป็นบุคคลล้มละลาย

 

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคคลล้มละลายนั้น ต้องอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการที่เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ของตนให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย และบัญญัติถึงวิธีการต่าง ๆ ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่ง หรือคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว มาเป็นหลักในการวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับบุคคลล้มละลาย โดยในเบื้องต้นการที่บุคคลใดจะตกเป็นบุคคลล้มละลายนั้น ต้องปรากฏเสียก่อนว่าบุคคลนั้นมีฐานะเป็นลูกหนี้และต้องปรากฏว่ามีมูลเหตุตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งศาลจะพิพากษาให้ล้มละลายได้[๓]

 

๑.๑ มูลเหตุที่ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

กฎหมายได้บัญญัติมูลเหตุที่ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายไว้ในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ว่า “ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอาจถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายได้ ถ้าลูกหนี้นั้นมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น” จากบทบัญญัติข้างต้นนี้ จึงอาจแยกองค์ประกอบของมูลเหตุที่ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ ดังนี้

๑.๑.๑ ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว คำว่า “ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว” ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์ไว้โดยเฉพาะ ในความหมายทั่วไปย่อมหมายถึงบุคคลที่มีทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้สินหรือจะเรียกว่าบุคคลที่มีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้ก็ได้[๔] การที่จะรู้ได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ จำต้องพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของทรัพย์สินและหนี้สินของลูกหนี้ว่ามีเท่าไรอันเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ มาตรา ๘[๕] แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ จึงได้กำหนดข้อสันนิษฐานว่ามีเหตุใดบ้างที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งบัญญัติไว้ให้เห็นเป็นสังเขปเท่านั้นว่า ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังสันนิษฐานไว้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่หากมีเหตุอื่นเกิดขึ้นนอกจากที่ระบุไว้แล้วศาลอาจถือว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ เช่น จำเลยนอกจากจะไม่ใช้หนี้โจทก์แล้ว ยังมีเจ้าหนี้อื่นที่จำเลยไม่ใช้หนี้เหมือนกัน ทั้งทรัพย์สินของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีเท่าใดแน่[๖] เป็นต้น

๑.๑.๒ ในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น ลูกหนี้นั้นมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทน หมายความว่า ลูกหนี้จะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรขณะที่ยื่นคำฟ้องหรือภายในหนึ่งปีก่อนฟ้อง หรือลูกหนี้ประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนขณะที่ยื่นคำฟ้องหรือภายในหนึ่งปีก่อนฟ้อง เจ้าหนี้จึงจะสามารถฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้

 

๑.๒ หลักเกณฑ์การฟ้องคดีล้มละลาย

พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ได้แบ่งหลักเกณฑ์การฟ้องคดีล้มละลายไว้สองประเภท กล่าวคือ

๑.๒.๑ การฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้ธรรมดา ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ดังนี้

(๑) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(๒) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท[๗]

(๓) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

คำว่า “หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน” หมายถึง หนี้ที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ตกลงกำหนดจำนวนกันไว้แน่นอน เช่น หนี้ตามสัญญาซื้อขาย หนี้เงินกู้ เป็นต้น กรณีหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งแม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุดก็ถือว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนด้วย เพราะว่าคู่ความยังต้องผูกพันในผลของคำพิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย[๘] ส่วนหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน เช่น หนี้ค่าเสียหายที่เกิดจากมูลละเมิดหรือจากการผิดสัญญา เป็นต้น

๑.๒.๒ การฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกัน ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ดังนี้

(๑) ต้องเข้าหลักเกณฑ์การฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้ธรรมดาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓

(๒) เจ้าหนี้มีประกันต้องมิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน ซึ่งกรณีนี้ก็คือ เจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ไม่มีข้อสัญญาเป็นพิเศษว่าลูกหนี้จะต้องรับผิดในหนี้ที่ขาดอยู่หลังบังคับจำนอง[๙]

(๓) เจ้าหนี้มีประกันต้องกล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท หากเจ้าหนี้มีประกันไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อนี้ถือว่าเป็นการฟ้องคดีล้มละลายโดยมิชอบ ศาลจะไม่รับฟ้องนั้นไว้พิจารณา[๑๐]

อนึ่ง คำว่า “เจ้าหนี้มีประกัน” นั้น มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ได้ให้นิยามว่า ““เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ” จากนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายล้มละลายคือเจ้าหนี้ที่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน และต้องเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น[๑๑] กรณีจึงแตกต่างจากเจ้าหนี้มีประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่อาจมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ใดก็ได้รวมทั้งเจ้าหนี้ที่มีบุคคลเป็นผู้ค้ำประกันด้วย

 

๑.๓ หลักเกณฑ์การวินิจฉัยชี้ขาดคดีล้มละลาย

มาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การวินิจฉัยชี้ขาดคดีล้มละลายว่า “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง” และเนื่องจากคดีล้มละลายเป็นคดีที่ฟ้องให้จัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้น การพิจารณาคดีล้มละลายไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะชี้ขาดหรือพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์โดยเฉพาะ จึงย่อมผิดแผกแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญเพราะประเด็นสำคัญในคดีล้มละลายมีอยู่ว่าจำเลยซึ่งถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้โจทก์จำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท สำหรับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หรือไม่น้อยกว่าสองล้านบาท สำหรับจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล หรือไม่ หากศาลพิจารณาได้ความจริงเช่นนั้นก็ต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด หากพิจารณาไม่ได้ความจริงหรือแม้ได้ความจริงแต่จำเลยนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้อง ดังนั้นการพิจารณาคดีล้มละลายศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาได้เพียง ๒ ประการ คือ มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษายกฟ้องเท่านั้น โดยไม่เปิดช่องให้ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นอื่นใดนอกเหนือไปจากที่กล่าวได้[๑๒]

๑.๓.๑ ให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ถ้าปรากฏว่า

(๑) การพิจารณาไม่ได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ และเมื่อการพิจารณาคดีล้มละลายแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญ เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดเสรีภาพของผู้ที่ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจึงต้องพิจารณาให้ได้ความจริงว่ามีเหตุที่จะฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลาย โดยไม่จำต้องถือเคร่งครัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง[๑๓]

(๒) ลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด คือ การที่ลูกหนี้แสดงได้ว่าตนอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด แม้การพิจารณาจะได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ ก็ตาม ศาลต้องยกฟ้อง เพราะการฟ้องคดีให้ลูกหนี้ล้มละลายเป็นการฟ้องขอให้จัดการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้ตามส่วน หากลูกหนี้สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ก็ไม่จำเป็นต้องรวบรวมทรัพย์สินดังกล่าว

(๓) มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย กรณีนี้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะไม่พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเพราะมีเหตุอันสมควร แม้ว่าในการพิจารณาจะได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ ก็ตาม เช่น หนี้ตามฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ถือได้ว่าเป็นเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้[๑๔] เป็นต้น

๑.๓.๒ ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ถ้าได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ แล้วแต่กรณี ประกอบกับลูกหนี้นำสืบไม่ได้ว่าตนอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย

มีข้อสังเกตว่า มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ได้ให้นิยามคำว่า “พิทักษ์ทรัพย์” หมายความว่า พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายจึงมีได้สองคำสั่ง คือ คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวและคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่หากใช้คำว่าพิทักษ์ทรัพย์และในคดีนั้นศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวและคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คำว่าพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนั้นจะหมายความรวมทั้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวและคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดด้วย

คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว เป็นวิธีการชั่วคราวก่อนวินิจฉัยชี้ขาดคดี โดยมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า “ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวก็ได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องนี้แล้วให้ดำเนินการไต่สวนต่อไปโดยทันที ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูล ก็ให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว แต่ก่อนจะสั่งดังว่านี้ จะให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ให้ประกันค่าเสียหายของลูกหนี้ตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้” โดยคำว่า “คดีมีมูล” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ซึ่งเป็นบทว่าด้วยการคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณาเพื่อป้องกันความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของลูกหนี้ในระหว่างนั้น มีความหมายว่ามีมูลที่จะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้หาได้หมายความเพียงมีมูลเป็นหนี้สินกันอยู่จริงแต่อย่างเดียวไม่[๑๕] นอกจากนี้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวก็มีได้เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น[๑๖]

คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นคำสั่งที่ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ตามฟ้อง ศาลจะมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งมีผลอย่างคำพิพากษา  ทั้งนี้ เพราะคดีล้มละลายนั้นเมื่อได้ความจริงตามฟ้องของโจทก์แล้วศาลจะพิพากษาให้จำเลยล้มละลายทันทีไม่ได้ แต่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเสียก่อนเพื่อให้โอกาสจำเลยที่จะขอประนอมหนี้ ถ้าการประนอมหนี้เป็นผลสำเร็จ จำเลยก็จะไม่ต้องถูกพิพากษาให้ล้มละลาย คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นอันถูกยกเลิกเพิกถอนไปในตัว ต่อเมื่อการประนอมหนี้ไม่สำเร็จหรือจำเลยไม่ยื่นคำขอประนอมหนี้ ศาลจึงจะพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายต่อไป[๑๗]

 

๑.๔ การเริ่มต้นล้มละลายและการพ้นจากตำแหน่ง

เมื่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีล้มละลาย[๑๘]ได้มีคำพิพากษาให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว บุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนั้นตั้งแต่เมื่อใด กรณีนี้จึงมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาก่อนว่าการเป็นบุคคลล้มละลายของบุคคลผู้นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด กล่าวคือ จะเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย และถ้าหากการเป็นบุคคลล้มละลายเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย คำพิพากษาที่ให้บุคคลนั้นตกเป็นบุคคลล้มละลายจะต้องเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุดหรือไม่ เมื่อพิจารณามาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ซึ่งบัญญัติว่า “การล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์” ปัญหาตามมาตรานี้ คือ คำว่า “การล้มละลาย” มีความหมายอย่างไร ในเรื่องนี้ปรากฏว่านักกฎหมายมีความเห็นแยกออกเป็นสองฝ่าย คือ

ฝ่ายที่หนึ่ง เห็นว่า การล้มละลายเป็นผลของคำพิพากษาให้ล้มละลาย เพราะฉะนั้นการล้มละลายจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากศาลยังไม่ได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา ๖๑[๑๙] แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ความเห็นของนักกฎหมายฝ่ายนี้ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๔๘/๒๔๙๘ ซึ่งวินิจฉัยว่า

“... ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นนั้นศาลยังมิได้พิพากษาให้ผู้ร้องล้มละลายแต่อย่างใด แม้เมื่อศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องก็ยังไม่ได้เป็นบุคคลล้มละลาย จึงไม่มีการล้มละลายอย่างใดที่ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกได้ ...”

ซึ่งหากพิจารณาตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๔๘/๒๔๙๘ น่าจะหมายความว่าเมื่อศาลยังมิได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ลูกหนี้ก็ยังไม่ใช่บุคคลล้มละลายและจะมาขอให้ศาลยกเลิกการล้มละลายไม่ได้ จึงเท่ากับว่าการล้มละลายต้องเกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

ฝ่ายที่สอง เห็นว่า แม้ศาลยังไม่ได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้ว ถือว่าการล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ความเห็นของนักกฎหมายฝ่ายนี้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๙๗ - ๑๘๙๘/๒๕๓๑ ซึ่งวินิจฉัยว่า

“... แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ซึ่งมีอยู่เพียงรายเดียวยังไม่ถึงที่สุด แต่เหตุที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์เป็นเพราะโจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๙๑ วรรคแรก เท่ากับคดีนี้ไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ การดำเนินคดีล้มละลายนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ถือได้ว่าเป็นเหตุที่จำเลยไม่สมควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย ศาลชอบที่จะสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ ตามมาตรา ๑๓๕ (๒) ...”

โดยที่เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ กำหนดให้มีการพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดก่อน ก็เพราะจะให้โอกาสลูกหนี้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายได้ ซึ่งถ้าหากปรากฏว่าลูกหนี้ขอประนอมหนี้สำเร็จ ลูกหนี้จะไม่ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ดังนั้นการตีความมาตรา ๖๒ ว่าการล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นทันทีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นควรหมายความเฉพาะการล้มละลายที่เกี่ยวกับการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้นที่มีผลทันที ส่วนการเป็นบุคคลล้มละลายของลูกหนี้ยังไม่เริ่มต้นขึ้น เพราะการเป็นบุคคลล้มละลายของลูกหนี้นั้นเป็นเรื่องสถานภาพของบุคคล ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายจะถือว่าลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายโดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา ๖๒ นี้ไม่ได้ เพราะหากตีความมาตรา ๖๒ ให้รวมไปถึงสถานภาพของบุคคล คือการเป็นบุคคลล้มละลายของลูกหนี้ด้วย การที่กฎหมายล้มละลายบัญญัติให้มีการพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดก่อนพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายย่อมไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด กรณีเกี่ยวกับการใช้มาตรา ๖๒ บังคับแก่คดีต่าง ๆ นั้น ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๓/๒๕๒๗ วินิจฉัยในประเด็นของคำว่า “ล้มละลาย” ตามมาตรา ๑๑๕๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้ากรรมการคนใดล้มละลาย ... กรรมการคนนั้นเป็นอันขาดจากตำแหน่ง” ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า

“การให้กรรมการบริษัทจำกัดขาดจากตำแหน่งตามความในมาตรานี้เนื่องจากสถานะบุคคลของกรรมการเปลี่ยนแปลงไป โดยตกเป็นบุคคลล้มละลายหรือเป็นผู้ไร้ความสามารถ คำว่า “ล้มละลาย” ในที่นี้หมายถึงศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเป็นเพียงคำสั่งชั้นหนึ่งก่อนที่จะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้และดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ไปก่อน แต่ถ้าหากลูกหนี้ทำการประนอมหนี้เป็นผลสำเร็จก็จะไม่ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายต่อไป  ฉะนั้น การที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงถือไม่ได้ว่าลูกหนี้ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ส่วนที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๖๒ บัญญัติว่า การล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น เป็นเรื่องผลเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้และการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเฉพาะ หามีผลให้สถานะบุคคลของลูกหนี้เปลี่ยนเป็นบุคคลล้มละลายตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไปด้วยไม่ ...”

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า แม้การล้มละลายของลูกหนี้จะเริ่มต้นทันทีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องรอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเสียก่อน แต่การล้มละลายที่เริ่มต้นทันทีตามมาตรา ๖๒ นี้ หมายความเฉพาะการล้มละลายที่เกี่ยวกับอำนาจการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงสถานภาพของลูกหนี้ด้วย เพราะสถานภาพของลูกหนี้คือการเป็นบุคคลล้มละลายนั้นจะเริ่มต้นเมื่อศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้วเท่านั้น และการเป็นบุคคลล้มละลายของลูกหนี้จะไม่มีผลย้อนหลังไปเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา ๖๒ เพราะเรื่องสถานภาพของบุคคลกับอำนาจในการจัดการทรัพย์สินนั้นแตกต่างกัน  เช่นนี้ เมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลได้มีคำพิพากษาให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดเป็นบุคคลล้มละลาย ย่อมทำให้สถานภาพของบุคคลนั้นเปลี่ยนเป็นบุคคลล้มละลายตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย

ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อมาก็คือ ถ้าหากการเป็นบุคคลล้มละลายเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย คำพิพากษาของศาลจะต้องเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุดหรือไม่ กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่า เนื่องจากคดีล้มละลายมีความแตกต่างจากคดีแพ่งสามัญหลายประการ เช่น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้[๒๐] ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙[๒๑] ประกอบกับมาตรา ๒๒[๒๒] แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ หรือคดีล้มละลายต้องพิจารณาเป็นการด่วน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓[๒๓] แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นต้น  นอกจากนี้ คำพิพากษาคดีล้มละลายกับคำพิพากษาคดีแพ่งสามัญก็มีความแตกต่างกัน คือ คดีแพ่งสามัญบังคับเฉพาะทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนคดีล้มละลายนอกจากจะกระทบกับทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว ยังกระทบถึงความสามารถในการจัดการทรัพย์สินและเสรีภาพของลูกหนี้โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเหมือนดังคดีแพ่งสามัญ เช่น กรณีตามมาตรา ๖๗ (๓) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ที่บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้หรือพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว และยังไม่ได้สั่งปลดจากล้มละลาย ... (๓) ลูกหนี้จะออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ได้ เว้นแต่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะอนุญาตเป็นหนังสือ และถ้าจะย้ายที่อยู่ ต้องแจ้งตำบลที่อยู่ใหม่เป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในเวลาอันสมควร” จึงเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ หาได้ประสงค์ให้มีการทุเลาการบังคับในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์หรือฎีกาดังเช่นคดีแพ่งสามัญไม่[๒๔] เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วสภาพบุคคลของลูกหนี้จะตกเป็นบุคคลล้มละลายทันที โดยไม่จำต้องรอคำพิพากษาของศาลสูงก่อน

ในกรณีดังกล่าวนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวินิจฉัยถึงการพ้นจากตำแหน่งโดยเหตุเป็นบุคคลล้มละลายไว้ในกฎหมายหลายฉบับ เช่น

กรณีตามพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๓ ในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (เรื่องเสร็จที่ ๑๑๖/๒๕๔๘) ซึ่งได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า การที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษาให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติผู้หนึ่งเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว สมาชิกผู้นั้นจะเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือไม่ และตั้งแต่เมื่อใด นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ในเรื่องเสร็จที่ ๑๑๖/๒๕๔๘ มีความเห็นโดยสรุปว่า เมื่อพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี และได้กำหนดให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติ ในกรณีนี้ เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย ซึ่งการจะเป็นบุคคลล้มละลายนั้นได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๓/๒๕๒๗ (ประชุมใหญ่) พิพากษาว่า คำว่า “ล้มละลาย” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๕๔ หมายถึง ศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว  ดังนั้น แม้ว่าสมาชิกผู้นั้นได้อุทธรณ์คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม ย่อมถือได้ว่ามีลักษณะต้องห้ามในการเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจะต้องพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาว่าเป็นบุคคลล้มละลายเป็นต้นไป

กล่าวโดยสรุป เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดถูกศาลพิพากษาให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย หากกฎหมายนั้นบัญญัติให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งและจะต้องพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเป็นต้นไป แม้จะเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ตามโดยไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน เพราะในคดีล้มละลายไม่มีการทุเลาการบังคับคดีระหว่างการอุทธรณ์ดังเช่นคดีแพ่งสามัญ

 

๑.๕ ผลของการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งได้กระทำไป

เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้นั้นยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวอยู่เนื่องจากเข้าใจว่าตนยังไม่พ้นจากตำแหน่ง กรณีดังกล่าวนี้หากกฎหมายนั้นมิได้กำหนดว่าเมื่อมีการออกจากตำแหน่งภายหลังจากที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามแล้ว การที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่จะเกิดผลอย่างไร ผู้เขียนเห็นว่า การพ้นจากตำแหน่งเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใด ๆ ที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ เพราะหากให้การกระทำนั้นเสียไปก็จะทำให้ระบบการปกครองและการบริหารหรือการดำเนินการตามกฎหมายเกิดความยุ่งเหยิง กรณีนี้ควรนำพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นกฎหมายกลางและสามารถนำมาอนุโลมใช้บังคับได้ในกรณีที่กฎหมายเฉพาะนั้นมิได้กำหนดไว้[๒๕] มาใช้บังคับ โดยมาตรา ๑๙[๒๖] แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้บัญญัติรองรับหลักการดังกล่าวว่า การที่บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น ไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่  แต่อย่างไรก็ตาม กรณีของค่าตอบแทนที่ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้รับไปในระหว่างที่ตนพ้นจากตำแหน่งไปแล้วแต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ ควรต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๓ วรรคสี่[๒๗] แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ประกอบกับหลักความเชื่อโดยสุจริต และหลักเรื่องลาภมิควรได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๑[๒๘] แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ด้วย ซึ่งในกรณีผลของการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งได้กระทำไปนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ในเรื่องเสร็จที่ ๑๑๖/๒๕๔๘ ได้วินิจฉัยว่า

“... ในกรณีดังกล่าวนี้พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๓ มิได้กำหนดไว้ว่าเมื่อมีการออกจากตำแหน่งภายหลังจากสมาชิกภาพสิ้นสุดลงจะเกิดผลอย่างไร กรณีจึงต้องอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายที่ใกล้เคียงมาอนุโลมใช้ ซึ่งปรากฏว่าพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ ว่า ถ้าปรากฏภายหลังว่าเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังกำหนดหลักการทำนองเดียวกันไว้สำหรับกรณีของสมาชิกรัฐสภาด้วย ...”

สำหรับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) อ้างถึงประกอบความเห็นนั้น ปรากฏอยู่ในมาตรา ๙๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติว่า “การออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อมไม่กระทบกระเทือนกิจการที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิก รวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว”

 

๒. ข้อควรพิจารณาบางประการเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากการเป็นบุคคลล้มละลาย

 

กฎหมายได้กำหนดลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากการเป็นบุคคลล้มละลายโดยใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกัน ๓ แบบ คือ[๒๙]

แบบที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลาย

แบบที่ ๒ ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย

แบบที่ ๓ ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

การกำหนดลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งโดยเหตุของการเป็นบุคคลล้มละลายดังกล่าวจะนำมาใช้สำหรับบุคคลในสามกรณี คือ

 

๒.๑ การกำหนดลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งในกรณีของกรรมการ

การกำหนดกลไกในกฎหมายเพื่อบริหารกฎหมายหรือให้มีการบังคับการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ในบางครั้งมีความจำเป็นต้องใช้กลไกของคณะกรรมการในกฎหมายเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการที่กำหนดขึ้นเพื่อให้มีอำนาจในการจัดการ คณะกรรมการที่มีอำนาจในการตัดสิน เป็นต้น และปรากฏว่ากฎหมายส่วนใหญ่ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการไว้ในกฎหมายค่อนข้างมาก  อย่างไรก็ตาม การที่จะกำหนดให้มีคณะกรรมการในกฎหมายนั้นมิใช่ว่าจะเหมาะสมในทุกกรณี เพราะคณะกรรมการเป็นวิธีการบริหารจัดการอย่างหนึ่ง บางครั้งอาจมีความเหมาะสมและจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการจัดการกับปัญหาในบางเรื่อง แต่บางกรณีอาจไม่มีความเหมาะสมที่จะใช้คณะกรรมการเป็นผู้แก้ปัญหา[๓๐] และโดยที่กรรมการเป็นองค์ประกอบหนึ่งของคณะกรรมการซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่ง ไม่ได้เป็นการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพซึ่งเป็นเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองไว้[๓๑] กฎหมายจึงสามารถกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามสำหรับการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม แต่ในกรณีที่กฎหมายกำหนดห้ามผู้ที่ “เคยเป็นบุคคลล้มละลาย” เข้าดำรงตำแหน่งใด เช่น มาตรา ๕ (๔) แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งบัญญัติว่า “กรรมการของรัฐวิสาหกิจนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ แล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ด้วย ... (๔) ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย” ย่อมมีความแตกต่างจากกรณีที่กฎหมายกำหนดห้ามผู้ที่ “เป็นบุคคลล้มละลาย” เพียงกรณีเดียวหรือกรณี “เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี” เนื่องจากจะทำให้ผู้นั้นไม่มีโอกาสดำรงตำแหน่งได้เลยแม้ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถหรือความเชี่ยวชาญเพียงใดก็ตามอันเป็นการบัญญัติกฎหมายที่เคร่งครัดมาก ด้วยเหตุนี้ในการกำหนดคุณสมบัติสำหรับกรรมการที่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเนื่องจากการเป็นบุคคลล้มละลาย จึงควรพิจารณาถึงเหตุผลและวัตถุประสงค์ของกฎหมายอย่างรอบคอบ เช่น ในกรณีกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน การคลัง หรือการพาณิชย์ อาจจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่ง  ทั้งนี้ เพราะการเป็นบุคคลล้มละลายย่อมแสดงให้เห็นอีกทางหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงิน การคลัง หรือการพาณิชย์ ตามกฎหมายนั้นได้

 

๒.๒ การกำหนดลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งในกรณีของข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ

การกำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งกรณีของข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ เช่น มาตรา ๓๐ (๙) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไปดังต่อไปนี้ ... (๙) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย” กรณีอย่างนี้ นักกฎหมายบางส่วนเห็นว่า การกำหนดในลักษณะดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะอาจมีปัญหากระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ หรือจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพที่เกินความจำเป็น โดยอาจกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา ๒๙[๓๒] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ ถ้าบุคคลเหล่านั้นไม่อาจเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐได้เลย ทั้งที่ความสามารถในการจัดการทรัพย์สินไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงานแต่อย่างใด[๓๓]  นอกจากนี้ ในบางกฎหมายได้ใช้ถ้อยคำว่า “ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว” เช่น มาตรา ๙ (๖)[๓๔] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือมาตรา ๒๔ (๘)[๓๕] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้น ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวมีความหมายใกล้เคียงกับการกำหนดว่าไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หากแต่เพียงเข้าหลักเกณฑ์ของการมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วต้องพ้นจากตำแหน่งโดยไม่ต้องพิจารณาต่อไปว่าผู้นั้นตกเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ และอาจมองว่าเป็นการบัญญัติกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ กรณีข้าราชการฝ่ายตุลาการและข้าราชการฝ่ายอัยการก็ใช้คำว่า “ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว” ด้วยเช่นกัน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ (๖)[๓๖] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ หรือมาตรา ๓๓ (๗)[๓๗] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งเป็นการกำหนดห้ามไว้ตั้งแต่ในชั้นการรับสมัครเลยทีเดียว  อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กำหนดไว้เช่นนั้นสำหรับข้าราชการฝ่ายตุลาการและข้าราชการฝ่ายอัยการย่อมไม่ถือว่าเป็นการนำฐานะทางเศรษฐกิจมาเป็นข้อจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ แต่เป็นการกำหนดเพื่อให้เหมาะสมกับศักดิ์ศรีของตำแหน่งข้าราชการดังกล่าว เพราะข้าราชการทั้งสองประเภทเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายมีหน้าที่ในการรักษาความยุติธรรม[๓๘] และมีหน้าที่ที่จะประกอบวิชาชีพนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องชอบธรรมในสังคม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าจะต้องมีบทบาทสำคัญในอันที่จะผดุงความยุติธรรมให้คงอยู่ในสังคมให้จงได้ ในกรณีที่กฎหมายไม่อำนวยความยุติธรรม ก็จะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะประสาทความยุติธรรมให้จงได้ ทั้งโดยลำพังตนเอง หรือโดยการผนึกกำลังของหมู่คณะเพื่ออุดมการณ์ร่วมกัน (professional solidarity)[๓๙] ซึ่งการที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุจุดมุ่งหมายคือความยุติธรรมนั้น ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยวิธีการอันบริสุทธิ์ ซึ่งความบริสุทธิ์คือความซื่อตรง (integrity) อันเป็นความสำนึกและปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหน้าที่ของตน ความซื่อตรงต่อหน้าที่นี้เป็นหน้าที่อันต้องมีต่อหลายฝ่าย ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายนอกจากมีหน้าที่ต้องซื่อตรงต่อผู้อื่นแล้วยังมีหน้าที่ต้องซื่อตรงต่อตนเองประการหนึ่ง คือ ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายมีความจำเป็นในการหาเลี้ยงชีพเพื่อตนเองและครอบครัวกับผู้ที่ต้องพึ่งพาอาศัยตน การงานจะดำเนินไปด้วยดีต้องตั้งต้นไปจากความเป็นปกติสุขในบ้านก่อน เป็นหน้าที่ของนักกฎหมายต้องไม่ลืมปฏิบัติต่อตนเองให้มีการอยู่ดีกินดีตามควรแก่อัตภาพและต้องรักษาระดับการครองชีพให้เหมาะแก่ฐานะที่เป็นบุคคลในสังคมและที่เป็นนักกฎหมาย ทั้งต้องไม่กระทำการใดอันเป็นการลดศักดิ์ศรีของวิชาชีพทางกฎหมายและลดประสิทธิภาพแห่งการอำนวยความยุติธรรม[๔๐] เช่นนี้แล้วหากผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการและอัยการเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวอาจถือได้ว่าเป็นการลดศักดิ์ศรีของวิชาชีพและย่อมนำมาซึ่งการลดประสิทธิภาพแห่งการอำนวยความยุติธรรมได้

อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗[๔๑] ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ตามหลังบรรดากฎหมายที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติที่กำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งสำหรับผู้ที่รับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ[๔๒] และถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายบางฉบับซึ่งประกาศใช้บังคับหลังพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗[๔๓] ยังกำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งอยู่ก็ตาม แต่แนวโน้มในการนำความเป็นบุคคลล้มละลายมากำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการหรือพนักงานของรัฐในปัจจุบันดูจะผ่อนปรนลงไปประกอบกับมีข้อถกเถียงในทางวิชาการเพิ่มมากขึ้นถึงความเหมาะสมของการมีบทบัญญัติดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม คงจะเป็นอำนาจของผู้เสนอร่างกฎหมายและฝ่ายนิติบัญญัติที่จะพิจารณาว่าบทบัญญัติที่กำหนดลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งโดยเหตุเพราะเป็นบุคคลล้มละลายนั้นสมควรที่จะกำหนดไว้สำหรับตำแหน่งใดในกฎหมายหรือไม่ เพียงไร

 

๒.๓ การกำหนดลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งในกรณีของผู้มาขออนุญาตจากทางราชการหรือกรรมการของภาคเอกชน

กฎหมายที่กำหนดลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งโดยเหตุเป็นบุคคลล้มละลายในกรณีนี้ เช่น มาตรา ๘ วรรคสาม (๒) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งบัญญัติว่า “… ในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ … (๒) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย” หรือมาตรา ๑๑ (๒) แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ ... (๒) ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย” ผู้เขียนเห็นว่า กรณีของผู้มาขออนุญาตจากทางราชการหรือกรรมการของภาคเอกชนในบางกฎหมายไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการทางการเงินหรือธุรกิจ เพราะแม้เป็นบุคคลล้มละลายก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้โดยไม่มีผลกระทบในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใด  เช่นนี้ การจะกำหนดลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งโดยเหตุเป็นบุคคลล้มละลายในกรณีของผู้มาขออนุญาตจากทางราชการหรือกรรมการของภาคเอกชนจึงควรพิจารณาถึงความเหมาะสมโดยรอบคอบเหมือนอย่างทั้งสองกรณีข้างต้น เพื่อป้องกันการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ด้วยเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ หรือจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ จนถึงขั้นทำให้เป็นบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

๓. บทสรุปและข้อเสนอแนะ

 

พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ กำหนดให้การล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นทันทีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แต่คงมีความหมายเฉพาะการล้มละลายที่เกี่ยวกับอำนาจการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงสถานภาพของลูกหนี้ด้วย เพราะสถานภาพของลูกหนี้คือการเป็นบุคคลล้มละลายนั้นจะเริ่มต้นเมื่อศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้วเท่านั้น และการเป็นบุคคลล้มละลายของลูกหนี้จะไม่มีผลย้อนหลังไปเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เพราะเรื่องสถานภาพของบุคคลกับอำนาจในการจัดการทรัพย์สินนั้นแตกต่างกัน  ดังนั้น เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดเป็นบุคคลล้มละลายย่อมทำให้สถานภาพของบุคคลนั้นเปลี่ยนเป็นบุคคลล้มละลายทันทีตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย โดยไม่จำต้องรอคำพิพากษาของศาลสูงก่อนเพราะกฎหมายล้มละลายหาได้ประสงค์ให้มีการทุเลาการบังคับในระหว่างการพิจารณาดังเช่นคดีแพ่งสามัญ  ดังนี้ หากปรากฏว่ากฎหมายบัญญัติให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่ง บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งและจะต้องพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเป็นต้นไป แม้จะเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ตาม

อย่างไรก็ดี หากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้นั้นยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวอยู่เนื่องจากเข้าใจว่าตนยังไม่พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีนี้หากกฎหมายนั้นมิได้กำหนดไว้ว่าเมื่อมีการออกจากตำแหน่งภายหลังจากสมาชิกภาพสิ้นสุดลงจะเกิดผลอย่างไร จึงต้องนำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งมีสภาพเป็นกฎหมายกลางมาใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้บัญญัติไว้เป็นหลักการว่า ถ้าปรากฏภายหลังว่าเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่

นอกจากนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบัญญัติให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่ง เพื่ออย่างน้อยอาจเป็นแนวทางในการพิจารณาร่างกฎหมายและพัฒนากฎหมายของไทย ดังนี้

กฎหมายของไทยได้นำเอาการเป็นบุคคลล้มละลายมาบัญญัติเป็นลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งไว้ในกฎหมายอยู่หลายฉบับ ซึ่งการบัญญัติเช่นนั้นจะทำให้ผู้ที่เป็นบุคคลล้มละลายพ้นจากตำแหน่ง อาชีพ หรือไม่สามารถดำเนินการตามที่กฎหมายอนุญาตต่อไปได้ ทั้งที่การดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบหากว่าบุคคลนั้นจะมีสถานภาพเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด และในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ “การเคยเป็นบุคคลล้มละลาย” เป็นลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งนั้น ผู้เขียนเห็นว่า เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ค่อนข้างเคร่งครัดและเป็นการตัดโอกาสของบุคคลที่จะประกอบอาชีพหรือกระทำการอื่นใดตามที่กฎหมายอนุญาตไว้ ทั้งที่บุคคลนั้นพ้นจากสถานภาพของการเป็นบุคคลล้มละลายตามที่กฎหมายบัญญัติแล้วก็ตาม  อย่างไรก็ดี ในบางกรณีกฎหมายย่อมมีความจำเป็นที่ต้องบัญญัติให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่ง เช่น กรณีของกรรมการตามกฎหมายซึ่งต้องใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ หรือความรู้ความสามารถในทางการเงินหรือทางธุรกิจ เป็นต้น

ดังนั้น ในการพิจารณาร่างกฎหมายไม่ว่าจะเป็นชั้นของผู้เสนอร่างกฎหมาย ชั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือในชั้นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ควรที่ต้องพิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็น และเจตนารมณ์ในการมีกฎหมายนั้น ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน เนื่องจากการบัญญัติให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งในบางกฎหมายอาจมีความจำเป็นแต่ในบางกฎหมายอาจไม่มีความจำเป็นเลยก็ได้

 

                              

 

 

เอกสารอ้างอิงและค้นคว้าเพิ่มเติม

 

เอกสารและหนังสือ

 

จิตติ  ติงศภัทิย์. หลักวิชาชีพนักกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพมหานคร : โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๒.

 

ธรรมนิตย์  สุมันตกุล. “แบบกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการ.” เอกสารประกอบการบรรยายโครงการฝึกอบรมหลักสูตรนักกฎหมายกฤษฎีกา รุ่นที่ ๓ ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ๒๕๔๗.

 

ธานินทร์  กรัยวิเชียร. กฎหมายกับความยุติธรรม. กรุงเทพมหานคร : สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๔๗.

 

ปรีชา  พานิชวงศ์. คำอธิบายกฎหมายล้มละลาย. กรุงเทพมหานคร : นิติบรรณการ, ๒๕๔๓.

 

มูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมาย. กฎหมายที่มีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ. รายงานการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อ คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ๒๕๔๗.

 

วิชัย  วิวิตเสวี. กฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ : หลักกฎหมายจากคำพิพากษาฎีกา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร : อธิศปวีณ, ๒๕๔๖.

 

เว็บไซต์และสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์

 

ข้อมูลกฎหมายและความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา สามารถสืบค้นได้ที่

          เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา http://www.krisdika.go.th

 

ข้อมูลคำพิพากษาศาลฎีกา สามารถสืบค้นได้ที่

          เว็บไซต์ศาลฎีกา http://www.supremecourt.or.th/search.asp

 

ข้อมูลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สามารถสืบค้นได้ที่

          เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ http://www.concourt.or.th/concourt/04decis/04index.jsp

 

จิระนิติ  หะวานนท์. “หลักธรรมวิชาชีพนักกฎหมาย.” หลักวิชาชีพนักกฎหมาย.

          http://e-book.ram.edu/e-book/l/lw438/lw438.htm [November 7th, 2005].

 

สำนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรี. “ประมวลจริยธรรมข้าราชการอัยการ.”

            http://www.chan.ago.go.th/moral.html [November 7th, 2005].



[๑]   บทความนี้ปรับปรุงจากบันทึกความเห็นเบื้องต้นของผู้เขียนในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (เรื่องเสร็จที่ ๑๑๖/๒๕๔๘)  ทั้งนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณนายธรรมนิตย์  สุมันตกุล กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ได้ให้ข้อคิดในทางวิชาการอันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ผู้เขียน

[๒]   พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒

    มาตรา ๙  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๕ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

    (๑) เป็นบุคคลล้มละลาย

[๓]    มาตรา ๑๐ แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องผู้กู้ยืมเงินที่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ ของกฎหมายดังกล่าวเป็นบุคคลล้มละลายได้ ดังนี้

    พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗

    มาตรา ๑๐  เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงิน ให้พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องผู้กู้ยืมเงินที่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ เป็นบุคคลล้มละลายได้ เมื่อ

      (๑) เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้สินได้

    (๒) เป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินรายหนึ่งหรือหลายรายเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาท และ

      (๓) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

    การฟ้องคดีล้มละลายตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย โดยให้ถือว่าพนักงานอัยการมีฐานะและสิทธิหน้าที่เสมือนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม ค่าฤชาธรรมเนียม หรือการต้องวางเงินประกันต่าง ๆ ตามกฎหมายดังกล่าว ...

    และดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๑๖/๒๕๔๗

[๔]   ปรีชา  พานิชวงศ์, คำอธิบายกฎหมายล้มละลาย, (กรุงเทพมหานคร : นิติบรรณการ, ๒๕๔๓), น. ๒.

[๕]   พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓

    มาตรา ๘  ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

    (๑) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

    (๒) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนาลวง หรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

    (๓) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

    (๔) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้

    ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร

    ข. ไปเสียจากเคหะสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหะสถาน หรือหลบไป หรือวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ

    ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล

    ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ

    (๕) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้

    (๖) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใด ๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้

    (๗) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้

    (๘) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป

    (๙) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

[๖]   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๑/๒๔๘๕

[๗]   กฎหมายใช้คำว่า “ไม่น้อยกว่า” ไม่ได้ใช้คำว่า “เกินกว่า” หรือ “มากกว่า”  เพราะฉะนั้น แม้มีหนี้หนึ่งล้านบาทหรือสองล้านบาท แล้วแต่กรณี เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องได้

[๘]   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๗/๒๕๓๑, ๓๒๑๐/๒๕๓๒ และ ๒๔/๒๕๓๖ เป็นต้น

[๙]   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

    มาตรา ๗๓๓  ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

[๑๐]  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๕/๒๕๒๙

[๑๑]  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๕๐/๒๕๑๓, ๓๔๓๗/๒๕๓๖ และ ๗๓๗/๒๕๔๒ เป็นต้น

[๑๒]  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๘๙/๒๕๔๖

[๑๓]  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๒๓/๒๕๑๖

[๑๔]  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๑/๒๕๒๒

[๑๕]  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๙/๒๕๑๗

[๑๖]  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๔๒/๒๕๑๗ และคำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ ๕๖๗/๒๕๐๔

[๑๗]  วิชัย  วิวิตเสวี, กฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ : หลักกฎหมายจากคำพิพากษาฎีกา, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพมหานคร : อธิศปวีณ, ๒๕๔๖), น. ๒๑.

[๑๘]  พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒

    มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

      “ศาลล้มละลาย” หมายความว่า ศาลล้มละลายกลาง หรือศาลล้มละลายภาค

    “คดีล้มละลาย” หมายความว่า คดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่มิใช่คดีอาญาและให้รวมถึงคดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีดังกล่าวด้วย

    มาตรา ๗  ศาลล้มละลายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีล้มละลาย

    มาตรา ๑๑  ให้ศาลล้มละลายเป็นศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาใช้บังคับแก่ศาลล้มละลายโดยอนุโลม

[๑๙]  พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓

    มาตรา ๖๑  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย

    ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา

[๒๐]  มีข้อพิจารณาว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ในส่วนที่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจจัดการทรัพย์สินหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๔/๒๕๔๔ เห็นว่า “... พระราชบัญญัติล้มละลาย ฯ ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย รวมทั้งประชาชนทั่วไปซึ่งอาจได้รับความเสียหายจากการกระทำของลูกหนี้ ... ดังนั้น การที่พระราชบัญญัติล้มละลาย ฯ มาตรา ๒๒ บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น และประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้  จึงถือเป็นการจำกัดสิทธิของลูกหนี้ และเป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะต้องด้วย รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง  เพราะเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน และต้องด้วย มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง เพราะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะที่จำกัดสิทธิของบุคคลตามหลักการทั่วไปที่รัฐธรรมนูญรับรอง แต่ก็เป็นไปตามข้อยกเว้นของมาตราดังกล่าว เพราะการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้และประชาชนทั่วไป เป็นการป้องกันมิให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ไปก่อหนี้ได้อีก ซึ่งก็มิได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิดังกล่าวแต่อย่างใด

      อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยเสียงเอกฉันท์ ๑๒ เสียง ว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ในส่วนที่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจจัดการทรัพย์สินหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง”

[๒๑]  พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓

    มาตรา ๑๙  คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่า เป็นหมายของศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย

    ในการยึดทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใด ๆ อันเป็นของลูกหนี้ หรือที่ลูกหนี้ได้ครอบครองอยู่ และมีอำนาจหักพังเพื่อเข้าไปในสถานที่นั้น ๆ รวมทั้งเปิดตู้นิรภัย ตู้หรือที่เก็บของอื่น ๆ ตามที่จำเป็น

    ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ยึดไว้ตามมาตรานี้ ห้ามมิให้ขายจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่เป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น

[๒๒]  พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓

    มาตรา ๒๒  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้

    (๑) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป

    (๒) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น

    (๓) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

[๒๓]  พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓

    มาตรา ๑๓  เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้ว ให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า ๗ วัน

[๒๔]  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๐/๒๕๓๐

[๒๕]  พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

    มาตรา ๓  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

    ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งที่กำหนดในกฎหมาย

[๒๖]  พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

    มาตรา ๑๙  ถ้าปรากฏภายหลังว่าเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งการพ้นจากตำแหน่งเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่

[๒๗]  พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

    มาตรา ๕๓ วรรคสี่  คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ อาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนโดยให้มีผลย้อนหลังหรือไม่มีผลย้อนหลังหรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กำหนดได้ในกรณีดังต่อไปนี้

    (๑) มิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าในอันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งทางปกครอง

    (๒) ผู้ได้รับประโยชน์มิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าในอันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของคำสั่งทางปกครอง

[๒๘]  พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

    มาตรา ๕๑  การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงิน หรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ ให้คำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้นกับประโยชน์สาธารณะประกอบกัน

    ความเชื่อโดยสุจริตตามวรรคหนึ่งจะได้รับความคุ้มครองต่อเมื่อผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ใช้ประโยชน์อันเกิดจากคำสั่งทางปกครองหรือได้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินไปแล้วโดยไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หรือการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายเกินควรแก่กรณี

    ในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้รับคำสั่งทางปกครองจะอ้างความเชื่อโดยสุจริตไม่ได้

    (๑) ผู้นั้นได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งหรือข่มขู่ หรือชักจูงใจโดยการให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์อื่นใดที่มิชอบด้วยกฎหมาย

    (๒) ผู้นั้นได้ให้ข้อความซึ่งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญ

    (๓) ผู้นั้นได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองในขณะได้รับคำสั่งทางปกครองหรือการไม่รู้นั้นเป็นไปโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

    ในกรณีที่เพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลัง การคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไป ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยถ้าเมื่อใดผู้รับคำสั่งทางปกครองได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองหรือควรได้รู้เช่นนั้นหากผู้นั้นมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะไม่สุจริตตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป และในกรณีตามวรรคสาม ผู้นั้นต้องรับผิดในการคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้รับไปเต็มจำนวน

[๒๙]  มูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมาย, กฎหมายที่มีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ, รายงานการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อ คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ๒๕๔๗, น. ๓๗๙.

[๓๐]  ธรรมนิตย์  สุมันตกุล, “แบบกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการ,” เอกสารประกอบการบรรยายโครงการฝึกอบรมหลักสูตรนักกฎหมายกฤษฎีกา รุ่นที่ ๓ ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ๒๕๔๗, น. ๑.

[๓๑]  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    มาตรา ๕๐  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

    การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

[๓๒]  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    มาตรา ๒๙  การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

    กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย

    บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วย โดยอนุโลม

[๓๓]  มูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมาย, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๒๘, น. ๓๗๙ - ๓๘๐.

[๓๔]  พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕

    มาตรา ๙  ผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่นนอกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ...

    (๖) ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

[๓๕]  พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘

    มาตรา ๒๔  ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญ ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปดังต่อไปนี้ ...

    (๘) ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

[๓๖]  พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓

    มาตรา ๒๖  ผู้สมัครสอบคัดเลือก ผู้สมัครทดสอบความรู้ หรือผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ ...

    (๖) ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

[๓๗]  พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑

    มาตรา ๓๓  ผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ...

    (๗) ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

[๓๘]  ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ

    ข้อ ๑  หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมายและนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนเองและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ

    ที่มา : จิระนิติ  หะวานนท์, “หลักธรรมวิชาชีพนักกฎหมาย,” หลักวิชาชีพนักกฎหมาย, (http://e-book.ram.edu/e-book/l/lw438/lw438.htm) p. 47. [November 7th, 2005].

    ประมวลจริยธรรมข้าราชการอัยการ

    ข้อ ๑  ข้าราชการอัยการมีอำนาจหน้าที่อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยเสมอภาค รักษาผลประโยชน์ของรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยจักต้องกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถูกต้อง เที่ยงธรรม รอบคอบ รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน

    ข้อ ๓  ข้าราชการอัยการต้องมุ่งมั่นรักษาผลประโยชน์ของรัฐอย่างดีที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็พึงคำนึงถึงความเป็นธรรมของเอกชนผู้มีข้อพิพาทกับฝ่ายรัฐด้วย

    ที่มา : สำนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรี, “ประมวลจริยธรรมข้าราชการอัยการ,” (http://www.chan.ago.go.th/moral.html) [November 7th, 2005].

[๓๙]  ธานินทร์  กรัยวิเชียร, กฎหมายกับความยุติธรรม, (กรุงเทพมหานคร : สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๔๗), น. ๔๖.

[๔๐]  จิตติ  ติงศภัทิย์, หลักวิชาชีพนักกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ ๘ (กรุงเทพมหานคร : โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๒), น. ๑๐๖ - ๑๑๖.

[๔๑]  ราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๑๘ ก หน้า ๑ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗

[๔๒]  อย่างไรก็ตาม ข้อ ๒ (๓) แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๑ (๒) มาตรา ๔๘ (๖) และมาตรา ๑๐๐ (๓) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้กำหนดให้การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจไว้ด้วย ดังนี้

    กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗

    ข้อ ๒  การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ ผู้ที่จะได้รับการบรรจุนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๔๘ (๑) ถึง (๕) แล้ว จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามมาตรา ๔๘ (๖) ดังต่อไปนี้ ...

    (๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

[๔๓]  ราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๗๙ ก หน้า ๒๒ วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๗

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 56 57

ร่างกฏหมายที่น่าสนใจ
ความเห็นทางกฎหมายที่น่าสนใจ 
งานวิจัย
บทความทางกฎหมาย
บุคลากร
จัดซื้อ / จัดจ้าง
กฤษฎีกาสาร  
ข่าวประชาสัมพันธ์
สำนักกฎหมายปกครอง
  
บริการอื่น ๆ
เสนอแนะ - ติชมเว็บไซต์



สำหรับทำให้ IE เปิดไฟล์ TIFF ได้
© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๔๕ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  
เว็บไซต์นี้เหมาะสำหรับจอภาพขนาด 1,024 x 768 พิกเซล