คำสั่งทางปกครอง
ในกรณีที่ฝ่ายปกครองได้ออกคำสั่งต่างๆ นั้น
บางกรณีก็เป็นคำสั่งทางปกครองบางกรณีก็ไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง
ซึ่งการที่จะวินิจฉัยว่ากรณีใดเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่นั้น
จะต้องพิจารณาจากเนื้อหาของคำสั่งเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้ให้คำนิยามว่า คำสั่งทางปกครอง
หมายความว่า
การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ
เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผล กระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล
ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ
การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ
และการอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งปัจจุบันกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๒ ( พ.ศ. ๒๕๔๓)
ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้
เป็นคำสั่งทางปกครอง
(๑) การสั่งรับหรือไม่รับคำเสนอขาย รับจ้าง แลกเปลี่ยน ให้เช่า ซื้อ เช่า
ให้สิทธิประโยชน์
(๒) การอนุมัติสั่งซื้อ จ้าง แลกเปลี่ยน เช่า ขาย
ให้เช่า หรือให้สิทธิประโยชน์
(๓) การสั่งยกเลิกกระบวนการพิจารณาคำเสนอหรือการดำเนินการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
(๔) การสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน
(๕) การให้หรือไม่ให้ทุนการศึกษา
การพิจารณาว่ากรณีใดเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
กล่าวคือ หากคำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง เช่น การออกกฎ
การแจ้งข่าวสาร หรือการแถลงการณ์
คำสั่งนั้นจะมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปมิได้กระทบต่อสิทธิของผู้รับคำสั่งเป็นการเฉพาะ
แต่ถ้าเป็นคำสั่งทางปกครองแล้ว
คำสั่งนั้นย่อมมีผลทางกฎหมายต่อผู้ที่ได้รับคำสั่งหลายประการ กล่าวคือ
เมื่อผู้รับคำสั่งทางปกครองถูกกระทบสิทธิโดยผลของคำสั่งทางปกครองบุคคลนั้นก็จะต้องเข้ามาเป็นคู่กรณีตามมาตรา
๕
แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ
และมีสิทธิตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ โดยสังเขป ดังต่อไปนี้
(๑) สิทธิได้รับแจ้งผลกระทบต่อสิทธิ (มาตรา ๓๐)
(๒) สิทธิที่จะมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย (มาตรา ๒๓)
(๓) สิทธิแต่งตั้งผู้ทำการแทน (มาตร ๒๔ และมาตรา
๒๕)
(๔)
สิทธิได้รับคำแนะนำและได้รับแจ้งสิทธิหน้าที่ในกระบวนการพิจารณา (มาตรา ๒๗)
(๕) สิทธิตรวจดูเอกสารของเจ้าหน้าที่ (มาตรา ๓๑
และมาตรา ๓๒)
(๖) สิทธิได้รับพิจารณาโดยเร็ว
(๗)
สิทธิได้รับรู้เหตุผลของฝ่ายปกครองในการออกคำสั่ง (มาตรา ๓๗)
(๘)
สิทธิได้รับทราบแนวทางหรือวิธีการโต้แย้งคำสั่งทางปกครองต่อไป (มาตรา ๔๐)
หากผู้ได้รับคำสั่งทางปกครองไม่พอใจในผลของคำสั่งทางปกครองและประสงค์จะโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง
ในเบื้องต้นจะต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานออกคำสั่งทางปกครองนั้น
ซึ่งคู่กรณีมีสิทธิขอทราบขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งจากเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งได้
ในบางกรณีเจ้าหน้าที่อาจกำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งในเอกสารที่แจ้งคำสั่งนั้นก็ได้
เช่น คู่กรณีมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลา ๓๐
วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม
หากว่าในเรื่องนั้นไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องการอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะก็จะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
พ.ศ. ๒๕๓๙
หากคู่กรณีไม่ดำเนินการตามขั้นตอนการอุทธรณ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายให้ครบถ้วนเสียก่อนจะไม่มีสิทธินำคดีไปฟ้องยังศาลปกครองได้ตามมาตรา
๔๒ วรรคสอง
แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
แต่มีข้อยกเว้นคำสั่งศาลปกครอง ๒ ประเภทที่แม้กฎหมายมิได้กำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะก็ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
พ.ศ. ๒๕๓๙ คือ
๑. คำสั่งทางปกครองของรัฐมนตรี
เนื่องจากไม่มีผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่าที่จะพิจารณาอุทธรณ์ได้ (มาตรา ๔๔)
๒. คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการ เนื่องจากคณะกรรมการต่างๆ
เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจทางปกครองโดยเฉพาะและไม่อยู่ในระบบสายการบังคับบัญชา
คำสั่งของคณะกรรมการจึงเป็นที่สุดไม่มีองค์กรใดที่สูงกว่าที่จะพิจารณาได้ (มาตรา
๔๘)
คำสั่งทางปกครองทั้ง ๒
กรณีคู่กรณีสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้โดยตรงตามมาตรา ๔๒ วรรคแรก
แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีฯ กรณีคำสั่งทางปกครองอื่นๆ
ผู้ประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองจะต้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นเสียก่อน มิฉะนั้น
ศาลก็จะไม่รับคำฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ตามมาตรา ๔๒ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ
เมื่อคู่กรณีได้อุทธรณ์คำสั่งแล้วก็จะต้องพิจารณาว่ามีกฎหมายเฉพาะกำหนดระยะเวลาที่ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์และแจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ไว้หรือไม่
หากไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ก็เป็นไปตามมาตรา ๔๔
แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ
แต่หากเจ้าหน้าที่ไม่พิจารณาและไม่แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์จนเวลาระยะล่วงเลยดังกล่าวแล้ว
คู่กรณีก็สามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้ แต่ต้องอยู่ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา
๔๙
และมาตรา ๕๑
แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ
เว้นแต่เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะตามมาตรา ๕๒
แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ดังนั้น
ความสำคัญในเบื้องต้นเมื่อเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งและคำสั่งนั้นมีผลกระทบต่อผู้รับคำสั่ง
จะต้องพิจารณาก่อนว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่ ซึ่งหากเป็นคำสั่งทางปกครองแล้ว
ผู้รับคำสั่งทางปกครองไม่เห็นด้วยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด
หากผู้ได้รับคำสั่งนิ่งเฉยอาจจะเสียสิทธิตามกฎหมาย
ซึ่งหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาว่ากรณีใดเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่นั้น
มีข้อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ดังนี้
เมื่อพิจารณาจากคำนิยามของ คำว่า คำสั่งทางปกครอง
ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ
สามารถจำแนกองค์ประกอบอันเป็นสาระสำคัญของคำสั่งทางปกครองได้ ๕ ประการ
๑. เป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่
๒. เป็นการใช้อำนาจรัฐ
๓. เป็นการกำหนดสภาพทางกฎหมาย
๔. เกิดผลเฉพาะกรณี
๕. มีผลภายนอกโดยตรง
๑. เป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่
คำสั่งทางปกครองเป็นการกระทำโดย เจ้าหน้าที่
ซึ่งตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ได้ให้นิยามคำว่า เจ้าหน้าที่
หมายความว่า บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล
ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย
ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ
รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม
ต้องเป็นการใช้ อำนาจทางปกครองของรัฐ
คือ ส่วนหนึ่งของอำนาจบริหารไม่รวมถึงอำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจตุลาการ
ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ
หรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ได้ คือ
ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐนั้นอาจจะเป็นบุคลากรในภาครัฐหรือบุคลากรในภาคเอกชนก็ได้
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยในประเด็นนี้
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๐๓/๒๕๔๗
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา (ผู้ถูกฟ้องคดี)
มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งอิหม่ามประจำมัสยิด
เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา มิใช่เป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง
ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๘๓/๒๕๔๗ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา
๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ซึ่งตามข้อเท็จจริง การกลั่นแกล้ง การพูดจาเหยียดหยาม
เป็นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีมีลักษณะเป็นการกระทำอันเป็นเหตุส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายคดีจึงไม่ใช่เป็นการกระทำทางปกครองในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑/๒๕๔๕ และ ๔/๒๕๔๕
วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการปกครองสงฆ์
ด้านการดำเนินกิจการขององค์กรศาสนาที่มีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางการปกครองไว้ต่างหากแล้ว
จึงมิใช่ข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่การปฏิบัติราชการทางปกครอง
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑๙/๒๕๔๖
กรณีประธานกรรมการมรรยาททนายความมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำกล่าวหาว่าทนายความประพฤติผิดมรรยาททนายความเป็นคำสั่งทางปกครอง
ตามข้อบังคับของสภาทนายความ ว่าด้วยการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนั้น สภาทนายความจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองและการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ
๒. เป็นการใช้อำนาจรัฐ
การออกคำสั่งทางปกครองดังกล่าว
จะต้องใช้อำนาจทางปกครอง ไม่ใช่การใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ หรือ
อำนาจตามกฎหมายอื่น เช่น รัฐธรรมนูญ เป็นต้น
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยในประเด็นนี้
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๓๗/๒๕๔๕
วินิจฉัยว่า
ศาลยุติธรรมมิใช่หน่วยงานทางปกครองที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินการทางปกครองและผู้พิพากษาไม่อยู่ในความหมายของคำว่า
เจ้าหน้าที่ของรัฐ
เพราะ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีและแยกอำนาจพิจารณาคดีระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองออกเป็นสัดส่วนต่างหากจากกัน
(คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๒๑/๒๕๔๕ , ๓๒๙/๒๕๔๕ )
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๔/๒๕๔๔
การที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เป็นการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่
เป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน
ชั้นพนักงานอัยการ
และชั้นศาลไว้โดยเฉพาะคำสั่งของพนักงานอัยการจึงไม่ใช่คำสั่งทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๓๓๔/๒๕๔๕
คณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งเป็นองค์การที่ทำหน้าที่ของฝ่ายการเมืองไม่ใช่หน่วยงานทางปกครองตามความในมาตรา
๓ ดังกล่าว มติของคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวมิใช่คำสั่งทางปกครอง
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๙๔/๒๕๔๕
วินิจฉัยว่า
ธนาคารออมสินมีฐานะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ.
๒๔๘๙ มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง
แต่การดำเนินกิจการของธนาคารตามลักษณะของการประกอบธุรกิจเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ทั่วไปไม่เป็นการกระทำทางปกครอง
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๒๒/๒๕๔๖
วินิจฉัยว่า แพทยสภามีอำนาจในการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามข้อบังคับแพทยสภา
ว่าด้วยกระบวนพิจารณาคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๔๐
จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง
๓. เป็นการกำหนดสภาพทางกฎหมาย
คำสั่งทางปกครองจะต้องมุ่งประสงค์เพื่อให้เกิดผลทางกฎหมายอันเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ
เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล
การกระทำที่มิได้เป็นการก่อนิติสัมพันธ์ขึ้นใหม่ เช่น การให้ข้อมูลข่าวสาร คำแนะนำ
หรือการอธิบายความเข้าใจ ไม่ถือเป็น คำสั่งทางปกครอง
เพราะ ไม่มีผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นใหม่ เพียงแต่เป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับ คำสั่งทางปกครอง
เดิมเท่านั้น
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยในประเด็นนี้
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๕๕/๒๕๔๗
หนังสือปฏิเสธการทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเมื่อพิจารณาจากสาระของหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งข้อเท็จจริงให้ผู้ฟ้องคดีทราบเหตุที่ไม่อาจทำสัญญาเช่าที่ดินและอาคารพิพาทได้เท่านั้น
มิได้เป็นคำสั่งทางปกครองอันมีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
ศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๔๓/๒๕๔๗
หนังสือลงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๖ เป็นหนังสือภายในที่ผู้ถูกฟ้องคดี
รับบัญชาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม
ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงการชี้แจงการได้มาซึ่งที่ดินของกรมชลประทานให้ผู้ฟ้องคดีทราบเท่านั้น
มิใช่คำสั่งทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่
๖๗/๒๕๔๗
วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน)
คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๓๖๐/๒๕๔๕
หนังสือเสนอประธานวุฒิสภา
แจ้งผลการสรรหาและการจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๘
และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา ๒๙
แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒
เพื่อให้ประธานวุฒิสภาให้ความเห็นชอบตามนัยตามมาตรา ๓๑
หนังสือดังกล่าวจึงไม่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ในอันที่จะก่อเปลี่ยนแปลง โอน
สงวน
ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกับประธานวุฒิสภาหรือวุฒิสภาและไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง
๔. เกิดผลเฉพาะกรณี
คำสั่งทางปกครองนั้นจะต้องกระทำโดยมุ่งกำหนดสภาพทางกฎหมายที่เป็นอยู่ในกรณีหนึ่งโดยเฉพาะ
โดยสภาพจะต้องมุ่งใช้บังคับกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยตรง
แม้ในตัวคำสั่งจะไม่ระบุชื่อบุคคลไว้ก็ได้ ซึ่งอาจจะเป็นคำสั่งรวมหรือคำสั่งทั่วไปใช้บังคับกับกลุ่มบุคคลก็ได้
แนวคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยในประเด็นนี้
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๕๑/๒๕๔๗
กระทรวงศึกษาธิการ(ผู้ถูกฟ้องคดี)ได้ออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่การศึกษา
ให้เขตพื้นที่การศึกษาแพร่ไปตั้งอยู่ที่อำเภอลอง ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง
ประกาศดังกล่าวนั้นไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลใดเป็นการเฉพาะ
จึงมีลักษณะที่เป็นกฎ ตามความหมายในมาตรา ๓
แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๓๕๒/๒๕๔๖
คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ประกาศ เรื่อง
กำหนดเส้นทางสำหรับการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสาร ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙
ตอนที่ ๒๘ง เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๕
ประกาศฉบับนี้จึงมีลักษณะเป็นบทบัญญัติที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
ประกาศดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีสถานะเป็นกฎตามมาตรา ๓
แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๒๗๒/๒๕๔๖
ข้อบังคับกองบัญชาการตำรวจนครบาล ว่าด้วยแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดให้รถเดินทางเดียว
และการใช้ทางเดินรถสำหรับรถบางประเภทในถนนเพชรบุรีกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๔๐
ข้อบังคับดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่มีผลบังคับกับทุกๆ คนเป็นการทั่วไป
มีสถานะเป็นกฎไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง
๕. มีผลภายนอกโดยตรง
หากการทำคำสั่งทางปกครองนั้นอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการหรือพิจารณาเพื่อออกคำสั่งทางปกครอง
และเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาจะเปลี่ยนแปลงเช่นใดก็ได้
กรณีดังกล่าวนี้ถือว่าอยู่ขั้นตอนที่มีผลภายใน ทั้งนี้
คำสั่งทางปกครองที่สมบูรณ์จะต้องมีการแสดงออกให้ผู้รับคำสั่งทางปกครองทราบคำสั่งนั้น
ดังนั้น
การพิจารณาคำสั่งว่าจะมีผลภายในหรือภายนอกนั้นต้องพิจารณาเนื้อหาของคำสั่งเป็นสำคัญ
แนวคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยในประเด็นนี้
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๓๘/๒๕๔๗ คำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
เป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในการที่ผู้มีอำนาจจะวินิจฉัยหรือดำเนินการทางวินัยต่อไป
ยังไม่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี
คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่
๒๔๐/๒๕๔๗,๑๗๗/๒๕๔๖ วินิจฉัยไว้ในทำนองเดียวกัน )
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๘๑/๒๕๔๗ การดำเนินการรังวัดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครอง
จึงไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๖๓/๒๕๔๖
วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน)
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๖๐/๒๕๔๗ การมีมติให้ผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์นั้น
เป็นอำนาจของคณะกรรมการ
เป็นเพียงขั้นตอนภายในทางธุรการโดยประสานแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบและหาแนวทางแก้ไขปัญหาตามคำร้องของผู้ฟ้องคดี
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๔๖/๒๕๔๗
ความเห็นและมติของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นคณะกรรมการสอบสวนนั้น
เป็นเพียงการดำเนินการพิจารณาภายในฝ่ายปกครองเพื่อเสนอให้พิจารณาออกคำสั่งทางปกครองต่อไป
คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๓๕๒/๒๕๔๖
มติของผู้ถูกฟ้องคดีในการประชุม ครั้งที่ ๑/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ นั้น
เป็นขั้นตอนภายในขั้นตอนหนึ่งก่อนจะมีการออกคำสั่งทางปกครอง ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่บุคคลภายนอกแต่ประการใด
มติดังกล่าวจึงยังไม่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ผู้ฟ้องคดีจะนำมาเป็นเหตุในการฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนมติดังกล่าวได้
(คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๓๓๖/๒๕๔๕ วินิจฉัยเรื่องเดียวกัน )
คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๓๕๐/๒๕๔๕
ขั้นตอนการดำเนินการตั้งแต่คณะกรรมการ
ป.ป.ช.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไปจนกระทั่งการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่
แล้วส่งสำนวนให้คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาว่าข้อกล่าวหามีมูลหรือไม่
อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อกระทำคำสั่งทางปกครอง
ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า การพิจารณาทางปกครอง ตามมาตรา
๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
การดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าว ยังไม่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี
คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๑๘/๒๕๔๕
การที่หน่วยงานทางปกครองมีคำสั่งย้ายเพื่อหมุนเวียนบุคลากรในหน่วยงานโดยไม่ทำให้ระดับตำแหน่งหรืออันดับเงินเดือนของผู้ถูกย้ายลดลง
ไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง คำสั่งย้ายบุคลากรถือเป็นมาตรการภายในของฝ่ายบริหารที่มีกฎหมายหรือระเบียบให้อำนาจผู้บังคับบัญชากระทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายหรือระเบียบกำหนด
แม้จะได้รับความเดือดร้อนเป็นการส่วนตัวบ้าง
แต่ไม่ถึงขนาดที่ถือว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
จากคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดในรอบปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า
ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความหลายคดี
เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะตามมาตรา
๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ
หรือกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๕๑
แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สาเหตุมาจากผู้ฟ้องคดีไม่เข้าใจในเรื่องคำสั่งทางปกครอง
ตลอดจนผลทางกฎหมายในกรณีที่คำสั่งนั้นเป็นคำสั่งทางปกครองแล้วจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างไร
กล่าวโดยสรุป
เมื่อผู้ได้รับคำสั่งได้รับคำสั่งจากฝ่ายปกครองแล้ว การพิจารณาว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่
อาศัยหลักเกณฑ์ ๕ ประการดังที่กล่าวมา คือ เป็นคำสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่หรือไม่
คำสั่งนั้นต้องเป็นการใช้อำนาจรัฐ เป็นคำสั่งที่กำหนดสภาพทางกฎหมาย
เป็นคำสั่งที่เกิดผลเฉพาะกรณี และคำสั่งนั้นมีผลภายนอกโดยตรง เมื่อเข้าใจหลักทั้ง
๕ ประการนี้แล้วก็จะสามารถวินิจฉัยได้ว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งทางปกครอง