หน้าหลัก > ข่าวสารและผลงาน> บทความทางกฎหมาย
การพิจารณาถึงผลบังคับใช้ของกฎหมายลำดับรองหรือกฎ (วิชัย สัตยชัยวรรณ)

สืบเนื่องจากการตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกายกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ

การพิจารณาถึงผลบังคับใช้ของกฎหมายลำดับรองหรือกฎ

 

 

นายวิชัย  สัตยชัยวรรณ

นักกฎหมายกฤษฎีกา ๕

ฝ่ายกฎหมายคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

 

โดยทั่วไป เรามักเข้าใจกันว่า การยกเลิกพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด ย่อมยกเลิกพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายนั้นๆ ไปในตัวด้วย เพราะแม่บทได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงได้ออกมาเพื่อจะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแม่บทเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดถูกยกเลิกไป ก็เป็นอันยกเลิกพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงไปในตัวด้วย เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์ที่จะใช้บังคับต่อไปในเมื่อแม่บทได้ถูกยกเลิกไปแล้ว การยกเลิกกฎหมายซึ่งมอบอำนาจย่อมจะทำให้พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจนั้นพลอยยกเลิกไปด้วย  ดังนั้น หากมีความประสงค์ที่จะให้พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงเหล่านั้นยังใช้บังคับต่อไปได้ ก็จะต้องกำหนดไว้เป็นบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงนั้น ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้ก็เป็นหลักการใช้บังคับกฎหมายที่ถูกต้อง แต่ปรากฏว่าความเข้าใจดังกล่าวนี้ก็ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมด

สืบเนื่องจากการตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกายกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. .... ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดทางหลวงให้เป็นทางหลวงที่ห้ามมิให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่ดินริมเขตทางหลวง จำนวน ๓ ฉบับ โดยพระราชกฤษฎีกาทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔๔[๑] แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยมาตรา ๓[๒] แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ ทั้งฉบับ และในบทเฉพาะกาลมาตรา ๗๖[๓] แห่งพระราชบัญญัติทางหลวงฯ ได้บัญญัติรองรับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้าง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ให้คงใช้บังคับได้ตามอายุของพระราชกฤษฎีกานั้น แต่มิได้บัญญัติรองรับพระราชกฤษฎีกากำหนดทางหลวงให้เป็นทางหลวงที่ห้ามมิให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่ดินริมเขตทางหลวงไว้ด้วย 

เรื่องนี้จึงมีประเด็นปัญหาว่า เมื่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้ถูกยกเลิกแล้วโดยพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ และมิได้มีบทเฉพาะกาลรองรับให้พระราชกฤษฎีกากำหนดทางหลวงให้เป็นทางหลวงที่ห้ามมิให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่ดินริมเขตทางหลวงยังคงใช้บังคับได้ต่อไปไว้ด้วย พระราชกฤษฎีกาทั้ง ๓ ฉบับจะยังมีผลใช้บังคับอยู่ และจะต้องตราพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาทั้ง ๓ ฉบับอีกหรือไม่ อย่างไร

จากการตรวจสอบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ปรากฏว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ ๑)[๔] ได้เคยวางแนวทางในการพิจารณาวินิจฉัยกรณีพระราชบัญญัติฉบับใดซึ่งได้มีบทบัญญัติให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงหรือตราพระราชกฤษฎีกาได้ แต่ต่อมาบทบัญญัติมาตรานั้นได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว บรรดากฎกระทรวงและพระราชกฤษฎีกาที่ได้ออกและตราขึ้นโดยมาตรานั้นจะยังมีผลใช้ได้หรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณาดูว่า บทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้บัญญัติในหลักการเดิม หรือได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมหลักการเดิมเสียใหม่ ถ้าปรากฏว่ามิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักการเดิม บรรดากฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกาที่ได้ใช้อยู่แล้วนั้นก็ยังมีผลใช้บังคับได้ ไม่จำเป็นต้องออกกฎกระทรวงหรือตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ แต่ถ้าหากว่าได้บัญญัติเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมหลักการขึ้นใหม่แล้ว กฎกระทรวงและพระราชกฤษฎีกาบรรดาที่ได้ตราขึ้นโดยอาศัยบทมาตรานั้นก็เป็นอันใช้ไม่ได้ จำเป็นจะต้องออกกฎกระทรวงและตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นใหม่ เพราะหลักการได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ฉะนั้น หลักการที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงหรือพระราชกฤษฎีกาอาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงหรือตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมายคณะที่ ๕ และกรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๖) ยังได้ใช้แนวทางดังกล่าวสำหรับการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับผลบังคับใช้ของประกาศและคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑ ภายหลังจากที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๑[๕] รวมทั้งการใช้บังคับประกาศผู้อำนวยการทางหลวงที่ออกตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ ไว้อีกด้วย[๖]

ในกรณีตามประเด็นปัญหานี้ พระราชกฤษฎีกาทั้ง ๓ ฉบับตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔๔[๗] แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยมาตรา ๓[๘] แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ ทั้งฉบับ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในพระราชบัญญัติทางหลวงฯ ปรากฏว่า มาตรา ๔๘[๙] แห่งพระราชบัญญัติทางหลวงฯ ได้บัญญัติโดยใช้เนื้อความเช่นเดียวกับมาตรา ๔๔ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฯ แสดงให้เห็นว่า มาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวงฯ มิได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการตามข้อ ๔๔ แต่อย่างใด  ดังนั้น พระราชกฤษฎีกาทั้ง ๓ ฉบับจึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ และจะต้องตราพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาทั้ง ๓ ฉบับต่อไป

จากแนวทางการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ ๑) ดังกล่าว จึงเป็นหลักการพิจารณาผลการใช้บังคับกฎหมายลำดับรองอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การพิจารณาถึงการดำรงอยู่ของกฎหมายลำดับรองหรือกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว มีหลักเกณฑ์ที่จะต้องพิจารณา ดังนี้

๑. กฎหมายใหม่ที่ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ได้บัญญัติบทเฉพาะกาลรองรับให้กฎหมายลำดับรองที่ออกและตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกยังคงใช้บังคับได้ต่อไปหรือไม่ อย่างไร

๒. บทบัญญัติของกฎหมายที่ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้บัญญัติหลักการเช่นเดียวกับบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกยกเลิกหรือไม่ หากปรากฏว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นมิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักการเดิม บรรดากฎหมายลำดับรองหรือกฎที่ได้ใช้อยู่แล้วก็ยังมีผลใช้บังคับได้ต่อไป

ผู้เขียนเห็นว่า หลักเกณฑ์ทางกฎหมายกรณีดังกล่าวนี้ เป็นหลักเกณฑ์ที่น่าสนใจ นอกเหนือจากหลักการใช้บังคับกฎหมายที่เข้าใจกัน จึงนำมาเผยแพร่ไว้เพื่อให้ได้รับทราบเป็นเกร็ดความรู้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายและการพิจารณาข้อหารือต่างๆ  ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ประเด็นปัญหาที่จะติดตามมาในกรณีนี้ก็คือ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลำดับรองที่ออกหรือตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกนั้น จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจะได้ศึกษาและนำเสนอต่อไป

 

                                   



[๑]  ข้อ ๔๔  เมื่อมีความจำเป็นจะต้องควบคุมทางเข้าออกทางหลวง เพื่อให้การจราจรบนทางหลวงเป็นไปโดยรวดเร็วและสะดวกหรือเพื่อความปลอดภัยในการจราจรบนทางหลวงห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่ดินริมเขตทางหลวงทั้งสายหรือบางส่วน ดังต่อไปนี้

    (๑) สร้างหรือดัดแปลงต่อเติมอาคารตามประเภท ชนิด หรือลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือสถานีบริการน้ำมัน หรือติดตั้งป้ายโฆษณาภายในระยะไม่เกินสิบห้าเมตรจากเขตทางหลวง

    (๒) สร้างศูนย์การค้า สนามกีฬา สนามแข่งขัน โรงมหรสพ สถานพยาบาล สถานศึกษา หรือจัดให้มีตลาด ตลาดนัด งานออกร้าน หรือกิจการอื่นที่ทำให้ประชาชนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ภายในระยะไม่เกินห้าสิบเมตรจากเขตทางหลวง

    ทั้งนี้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง ในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้

   การกำหนดทางหลวงสายใดทั้งสายหรือบางส่วนที่จะห้ามมิให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

[๒]  มาตรา ๓  ให้ยกเลิก

    (๑) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕

    (๒) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ พ.ศ. ๒๕๒๒

   (๓) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐

[๓]  มาตรา ๗๖  พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้าง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ให้คงใช้บังคับได้ตามอายุของพระราชกฤษฎีกานั้น

    ในกรณีที่มีการเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ยังไม่เสร็จสิ้น ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ต่อไป

[๔]  บันทึก เรื่อง หารือการใช้บังคับกฎกระทรวงการคลังและพระราชกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ ๑๔๖/๒๔๙๔)

[๕]  บันทึก เรื่อง ผลบังคับใช้ของประกาศและคำสั่งที่ออกตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑ และมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒ ภายหลังจากที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๑ (เรื่องเสร็จที่ ๕๖๑/๒๕๓๑)

[๖]  บันทึก เรื่อง การใช้บังคับประกาศผู้อำนวยการทางหลวงที่ออกตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ (เรื่องเสร็จที่ ๑๓๙/๒๕๓๖)

[๗]  โปรดดูเชิงอรรถที่ ๑

[๘]  โปรดดูเชิงอรรถที่ ๒

[๙]  มาตรา ๔๘  เมื่อมีความจำเป็นจะต้องควบคุมทางเข้าออกทางหลวง เพื่อให้การจราจรบนทางหลวงเป็นไปโดยรวดเร็วและสะดวกหรือเพื่อความปลอดภัยในการจราจรบนทางหลวง ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่ดินริมเขตทางหลวงทั้งสายหรือบางส่วน ดังต่อไปนี้

    (๑) สร้างหรือดัดแปลงต่อเติมอาคารตามประเภท ชนิด หรือลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือสถานีบริการน้ำมัน สถานีบริการก๊าซ สถานีบริการล้างหรือตรวจสภาพหรือติดตั้งป้ายโฆษณา ภายในระยะไม่เกินสิบห้าเมตรจากเขตทางหลวง

   (๒) สร้างศูนย์การค้า สนามกีฬา สนามแข่งขัน โรงมหรสพ สถานพยาบาล สถานศึกษา หรือจัดให้มีตลาด ตลาดนัด งานออกร้าน หรือกิจการอื่นที่ทำให้ประชาชนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ภายในระยะไม่เกินห้าสิบเมตรจากเขตทางหลวง

    ทั้งนี้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง ในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้

    การกำหนดทางหลวงสายใดทั้งสายหรือบางส่วนที่จะห้ามมิให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 56 57

ร่างกฏหมายที่น่าสนใจ
ความเห็นทางกฎหมายที่น่าสนใจ 
งานวิจัย
บทความทางกฎหมาย
บุคลากร
จัดซื้อ / จัดจ้าง
กฤษฎีกาสาร  
ข่าวประชาสัมพันธ์
สำนักกฎหมายปกครอง
  
บริการอื่น ๆ
เสนอแนะ - ติชมเว็บไซต์



สำหรับทำให้ IE เปิดไฟล์ TIFF ได้
© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๔๕ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  
เว็บไซต์นี้เหมาะสำหรับจอภาพขนาด 1,024 x 768 พิกเซล