หน้าหลัก > ข่าวสารและผลงาน> บทความทางกฎหมาย
"สิทธิ" และ "เสรีภาพ" แท้จริงแล้วเหมือนหรือต่างกันอย่างไร (พงษ์พิลัย วรรณราช)

“สิทธิ” และ “เสรีภาพ” ความเหมือนที่แตกต่าง

“สิทธิ” และ “เสรีภาพ” แท้จริงแล้วเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

 

นางสาวพงษ์พิลัย  วรรณราช[๑]

 

๑. บทนำ

 

เมื่อกล่าวถึงสิทธิ (Right) และเสรีภาพ (Liberty) หลายคนคงเข้าใจว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งนี้สืบเนื่องจากเรามองเพียงว่าเราได้แสดงอาการใช้สิทธิและเสรีภาพของเราออกไปอย่างไร และมีใครมาโต้แย้งการใช้สิทธิและเสรีภาพของเราหรือไม่เท่านั้น โดยไม่ได้พิจารณาถึงเนื้อหาว่าสิ่งที่กฎหมายรับรองให้นั้น มันเป็น “สิทธิ” หรือเป็น “เสรีภาพ” กันแน่ ทั้งที่ความจริงแล้ว สิทธิกับเสรีภาพก็มีความแตกต่างกันอยู่ เพราะหากว่าเป็นสิ่งเดียวกันแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องใช้คำที่แตกต่างกัน

คำว่าสิทธิและเสรีภาพนี้ บ่อยครั้งได้ถูกนำมาเขียนหรือพูดติดกันเป็นคำเดียวกัน คือ “สิทธิเสรีภาพ” และใช้กันบ่อยมากจนกลายเป็นความเคยชินว่าเป็นคำเดียวกัน แต่ที่ถูกควรจะเขียนแยกกันหรือไม่ก็ใช้คำสันธานเชื่อม กล่าวคือ สิทธิและเสรีภาพ เช่น สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ[๒]

การกล่าวอ้างว่าเรามีสิทธิหรือมีเสรีภาพอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะกระทำการต่างๆ ตามที่กฎหมายรับรองไว้นั้นจะก่อให้เกิดผลเหมือนกันคือทำให้เกิดความชอบธรรมในการใช้อำนาจนั้นและขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นที่จะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของเรา ส่งผลทำให้เกิดความสับสนว่าสิ่งใดเป็นสิทธิและสิ่งใดเป็นเสรีภาพ ซึ่งความสับสนนี้ได้มีปรากฏให้เห็นเป็นลายลักษณ์อักษร เช่นที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบางช่วงเวลาก็กำหนดให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเสรีภาพ แต่ต่อมาในอีกยุคสมัยหนึ่งก็กำหนดให้เรื่องเดียวกันนั้นกลายเป็นสิทธิ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ มาตรา ๑๔ “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหะสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งคณะพรรคการเมือง การอาชีพ ทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งบทกฎหมาย” แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ มาตรา ๓๔ วรรคแรก กลับบัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตต์และการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย...” ทำให้เกิดข้อพิจารณาว่าสิ่งที่กฎหมายเคยรับรองว่าเป็นเสรีภาพนั้นเพราะเหตุใดจึงกำหนดให้สิ่งเดียวกันกลายเป็นสิทธิขึ้นมา

นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากกว่าฉบับใดๆ ที่ผ่านมา ก็ยังได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่ากรณีใดที่เป็นสิทธิ เช่น สิทธิในครอบครัว, สิทธิในทรัพย์สิน และสิทธิในการได้รับบริการทางสาธารณสุข เป็นต้น และกรณีใดที่เป็นเสรีภาพ เช่น เสรีภาพในเคหสถาน, เสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในทางวิชาการ เป็นต้น มีเพียงกรณีเดียวที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้เป็นทั้งสิทธิและเป็นทั้งเสรีภาพในขณะเดียวกัน ดังที่ปรากฏใน มาตรา ๓๑[๓] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นการรับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล หมายความว่า ตนเองเท่านั้นที่มีสิทธิเป็นเจ้าของชีวิตและร่างกายของตนเอง บุคคลอื่นใดไม่มีสิทธิมาพรากชีวิตไปจากตน หรือกระทำทารุณกรรมต่อร่างกายของตนได้ ขณะเดียวกัน ก็มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตและใช้ร่างกายของตนไปตามที่ตนเองปรารถนาโดยอิสระ ไม่ต้องให้ใครมาบีบบังคับหรือบงการ[๔] ดังนั้นการที่เราต้องพิจารณาถึงเนื้อหาของสิ่งที่กฎหมายรับรองว่าเป็นสิทธิหรือเป็นเสรีภาพ หรือเป็นทั้งสิทธิและเสรีภาพ จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การที่จะแบ่งแยก “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” ออกจากกันอย่างเด็ดขาดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้ เพราะแม้ว่าโดยสารัตถะของสิทธิและเสรีภาพนั้นจะมีความแตกต่างกันอยู่ก็ตาม แต่ในการใช้การตีความก็ต้องนำมาวินิจฉัยประกอบกันเสมอ ในขณะเดียวกันการที่ละเลยไม่พิจารณาที่เนื้อหาว่าสิ่งที่กฎหมายได้รับรองให้นั้นเป็น “สิทธิ” หรือเป็น “เสรีภาพ” โดยยังปล่อยให้มีการใช้กันอย่างสับสนอยู่ต่อไปก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเช่นกันเพราะอาจทำให้มีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยอาศัยช่องว่างดังกล่าว

 

๒. แนวความคิดอันเป็นที่มาพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพ[๕]

แนวความคิดเรื่องของสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ เริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ในยุคกรีก อริสโตเติล กล่าวไว้ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ย่อมมีเสรีภาพในการเลือก และด้วยเหตุผลที่ถูกต้องย่อมช่วยให้เขาเข้าถึงธรรมชาติได้ และ ณ จุดนี้เองคือเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์” โดยแนวความคิดนี้ถือว่า มนุษย์นั้นมีเสรีภาพอยู่แล้วตามกฎธรรมชาติ ภายใต้เหตุผลที่ถูกต้องเนื่องจากภูมิปัญญาของมนุษย์ ต่อมาเริ่มมีแนวความคิดว่ามนุษย์ตามธรรมชาตินั้นมีสิทธิเสรีภาพมาก และเมื่อทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ก็ไม่มีอำนาจในการบังคับซึ่งกันและกันหากไม่มีการลดเสรีภาพของแต่ละคนลงมา การกระทบกระทั่งตลอดจนการขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นในสังคมได้ ผู้อ่อนแอต้องตกเป็นทาสและถูกจำกัดเสรีภาพหมด การมีเสรีภาพโดยไม่มีขอบเขตจึงเป็นเหตุใหญ่ให้เกิดการไร้เสรีภาพ การเข้ามารวมเป็นสังคมยอมรับอำนาจการเมืองเหนือตนเป็นรูปแบบการปกครองต่างๆ ก็เพื่อให้อำนาจสูงสุดนั้นสูงเหนือทุกคนเป็นกรรมการคอยรักษากติกาไม่ให้ผู้เข้มแข็งกว่าใช้เสรีภาพโดยไม่มีขอบเขตรังแกผู้อ่อนแอกว่า

หลักการของสิทธิและเสรีภาพโดยเจตนารมณ์ร่วมกันของปวงชนนั้นพัฒนามาสู่ปัจจุบัน โดยมีการกำหนดวางหลักของสิทธิและเสรีภาพ เงื่อนไขและหลักการจำกัดสิทธิของประชาชน โดยถือว่าการที่ราษฎรต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยนั้น ก็เพราะประสงค์จะให้ตนมีสิทธิและเสรีภาพนั้นเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันจะมีบทบัญญัติกำหนดเรื่องสิทธิและเสรีภาพไว้ทั้งสิ้น

 

๓. ความหมายของ “สิทธิ” และ “เสรีภาพ”

“สิทธิและเสรีภาพ” เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีเพราะมักจะถูกนำมาอ้างในการกระทำการ หรือห้ามมิให้กระทำการ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐกระทำการหรือโต้แย้งการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐ และยังถือว่าเป็นคำที่มีความสำคัญต่อพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย

คำว่า “สิทธิ” (Right) ในทางกฎหมายนั้น ได้มีนักกฎหมายหลายท่านได้ให้คำนิยามไว้ เช่น

ขุนประเสริฐศุภมาตรา ได้อธิบายว่า สิทธิ หมายถึงอำนาจหรือความสามารถซึ่งกฎหมายรับรองป้องกันให้บุคคลผู้หนึ่งมีอำนาจร้องขอให้ผู้อื่นมีหน้าที่ต้องเคารพ[๖]

ศาสตราจารย์ ดร.หยุด  แสงอุทัย ได้อธิบายว่า สิทธิเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นในอันที่จะต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ รวมถึงมีหน้าที่ที่จะไม่รบกวนต่อสิทธิหรือหน้าที่ที่จะกระทำการหรืองดเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นไปตามสิทธิ ทั้งนี้ แล้วแต่ประเภทของสิทธินั้นๆ ด้วย[๗]

คณิน  บุญสุวรรณ ให้ความหมายไว้ว่า สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรมที่บุคคลสามารถที่จะมีหรือกระทำอะไรก็ได้ที่มีกฎหมายรองรับ แต่คำว่าจะทำอะไรก็ได้ในที่นี้ มิได้หมายความว่า ทำอะไรได้ตามใจ เพราะหากทำอะไรลงไปแล้วเกิดไปกระทบสิทธิของคนอื่นหรือทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อนเสียหาย หรือสูญเสียอะไรบางอย่าง การกระทำดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ต้องห้าม  เช่น สิทธิในการมีทรัพย์สินส่วนตัว สิทธิในที่ดิน สิทธิในการป้องกันตัวเอง หรือสิทธิในการใช้รถใช้ถนน สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เป็นต้น[๘]

รองศาสตราจารย์ ดร. วรพจน์  วิศรุตพิชญ์ อธิบายว่า สิทธิ คืออำนาจที่กฎหมายรับรองให้แก่บุคคลในอันที่จะกระทำการเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินหรือบุคคลอื่น  (เช่น สิทธิทางหนี้ กรรมสิทธิ์ฯลฯ) เป็นอำนาจที่กฎหมายรับรองให้แก่บุคคลหนึ่งในอันที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นอีกคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการบางอย่างบางประการให้เกิดประโยชน์แก่ตน หรือให้ละเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง[๙]

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุดม  รัฐอมฤต และคณะ มีความเห็นเรื่อง “สิทธิ” นี้ว่า หมายถึง อำนาจที่กฎหมายรับรองให้แก่บุคคลในอันที่จะกระทำการเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและบุคคลอื่นหรือเรียกร้องให้บุคคลอื่นหรือหลายคนกระทำการหรืองดเว้นกระทำการบางอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตน[๑๐]

ดร. บรรเจิด  สิงคะเนติ ได้แบ่งแยก “สิทธิตามรัฐธรรมนูญ” ออกจากความหมายของคำว่า “สิทธิตามความหมายทั่วไป” โดยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หมายถึง อำนาจที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุดได้บัญญัติให้การรับรอง คุ้มครองแก่ปัจเจกบุคคลในอันที่จะกระทำการใด หรือไม่กระทำการใด ซึ่งการให้อำนาจแก่ปัจเจกบุคคลดังกล่าวได้ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องที่จะไม่ให้บุคคลใดแทรกแซงในสิทธิตามรัฐธรรมนูญของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรียกร้องต่อองค์กรของรัฐมิให้แทรกแซงในขอบเขตสิทธิของตน ในบางกรณีการรับรองดังกล่าวได้ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้รัฐดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง สิทธิตามรัฐธรรมนูญยังหมายรวมถึง การให้หลักประกันในทางหลักการซึ่งหมายถึงการมุ่งคุ้มครองต่อสถาบันในทางกฎหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น สิทธิตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับรัฐ และสิทธิตามรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิที่ผูกพันองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายต้องให้ความเคารพ ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติ[๑๑]

หากนำหลักการและความคิดเกี่ยวกับสิทธิมาประมวลแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสิทธิมีลักษณะสำคัญที่ตรงกันอยู่หลายประการ ได้แก่[๑๒]

(๑) สิทธินั้นจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของสิทธิที่จะเลือกใช้สิทธิ สิทธิจะเป็นการรับรองให้เจ้าของสิทธิมี “อำนาจ” สามารถ “ใช้” สิทธินั้นได้ หรืออาจจะไม่ใช้สิทธินั้นได้ตามเจตจำนงของเจ้าของสิทธิ ในบางกรณีก็อาจจะให้ผู้อื่นใช้สิทธิของตนแทนได้ ซึ่งการให้ผู้อื่นใช้สิทธิแทนนี้มักพบในกฎหมายแพ่ง

(๒) สิทธินั้นเรียกร้องให้ผู้อื่นมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิของตนนั้น กล่าวคือ ถ้าเป็นสิทธิในทางแพ่ง จะสามารถเรียกร้องต่อทรัพย์ (ทรัพยสิทธิ) บุคคลอื่นมีหน้าที่ต้องยอมรับและไม่ละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์อันผู้อื่นมีสิทธิอยู่นั้น หรือเรียกร้องให้บุคคลดำเนินการหรือไม่ดำเนินการ (บุคคลสิทธิ) หรือในทางกฎหมายมหาชน สิทธินั้นจะเรียกร้องให้รัฐโดยหน่วยงานของรัฐ กระทำการ หรือไม่กระทำการใดๆ เพื่อตนได้ ทุกกรณีนั้นแสดงถึง “หน้าที่” ที่ผู้อื่นจะกระทำต่อสิทธินั้น กล่าวคือในทุกสิทธิจะมีหน้าที่ต่อผู้อื่นเสมอ

(๓) สิทธิจะเกิดขึ้นก็แต่โดยกฎหมายเท่านั้น เนื่องจากสิทธิเป็นเรื่องของอำนาจและหน้าที่ที่จะบังคับต่อบุคคลอื่นหรือรัฐ ปัจเจกชนทั่วไปจะบังคับต่อบุคคลอื่นหรือรัฐได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายรับรองสิทธิของตน และกำหนดหน้าที่ต่อบุคคลอื่นเท่านั้น จริงอยู่แม้ในทางแพ่งบุคคลมีสิทธิจะทำนิติกรรมผูกพันได้โดยเสรี และนิติกรรมนั้นก็อาจจะเกิดสิทธิทางแพ่งขึ้นก็ได้ แต่การที่บุคคลสามารถทำนิติกรรมกันได้นั้นก็ต้องชอบด้วยเงื่อนไขที่กฎหมายได้กำหนดไว้ด้วย ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยกฎหมายเท่านั้น โดยกฎหมายอาจจะกำหนดสิทธิไว้โดยชัดเจนหรือให้อำนาจแก่ปัจเจกชนไปกำหนดก่อตั้งสิทธิระหว่างกันและกันได้โดยเสรี ตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนสิทธิต่อรัฐนั้นก็ชัดเจนว่าต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติเท่านั้น

ส่วนคำว่า “เสรีภาพ” (Liberty) นั้น แปลว่า “ความมีเสรีหรือสภาพที่ทำได้โดยปลอดอุปสรรค สภาพที่มีสิทธิที่จะทำ จะพูดได้โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น” กล่าวขยายความได้ว่า เสรีภาพเป็นอำนาจอันชอบธรรมที่กฎหมายรับรอง และคุ้มครองแก่บุคคลที่จะกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ตามที่เขาต้องการได้โดยอิสระ หรือโดยปลอดจากอุปสรรคหรือการบังคับขัดขวาง เสรีภาพจึงก่อหน้าที่ตามกฎหมายให้รัฐและบุคคลอื่นที่จะต้องเคารพและไม่ไปรบกวน ขัดขวางการใช้เสรีภาพของเขา[๑๓]

วรพจน์  วิศรุตพิชญ์ อธิบายว่า เสรีภาพ คือ ภาวะของมนุษย์ที่ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของผู้อื่น เป็นภาวะที่ปราศจากการถูกหน่วงเหนี่ยวขัดขวาง บุคคลใดบุคคลหนึ่งย่อมมีเสรีภาพอยู่ตราบเท่าที่เขาไม่ถูกบังคับให้กระทำในสิ่งที่เขาไม่ประสงค์จะกระทำและไม่ถูกหน่วงเหนี่ยวขัดขวางไม่ให้กระทำในสิ่งที่เขาประสงค์จะกระทำ โดยสรุปแล้ว เสรีภาพ คือ อำนาจของบุคคลในอันที่จะกำหนดตนเอง โดยอำนาจนี้บุคคลย่อมเลือกวิถีชีวิตของตนเองได้ด้วยตนเองตามใจปรารถนา เสรีภาพจึงเป็นอำนาจที่บุคคลมีอยู่เหนือตนเอง[๑๔]

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดม  รัฐอมฤต และคณะ มีความเห็นเรื่อง “เสรีภาพ” นี้ว่า หมายถึง สภาวการณ์ของมนุษย์ที่ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของบุคคลอื่น หรือปราศจากการหน่วงเหนี่ยวขัดขวาง บุคคลใดบุคคลหนึ่งย่อมมีเสรีภาพอยู่เท่าที่บุคคลนั้นไม่ถูกบังคับให้ต้องกระทำในสิ่งที่ไม่ประสงค์จะกระทำ หรือไม่ถูกหน่วงเหนี่ยวขัดขวางไม่ให้กระทำในสิ่งที่บุคคลนั้นประสงค์ที่จะกระทำ[๑๕]

แซลมอนด์ (Salmond) ได้ให้คำนิยามว่า “เสรีภาพ” หมายถึง ประโยชน์ซึ่งบุคคลได้มาโดยปราศจากหน้าที่ในทางกฎหมายใดๆ ต่อตนเอง เป็นสิ่งที่บุคคลอาจทำได้โดยจะไม่ถูกป้องกันขัดขวางโดยกฎหมาย และเป็นประโยชน์ที่บุคคลจะกระทำการใดๆ ได้ตามชอบใจโดยข่ายแห่งเสรีภาพตามกฎหมายที่ได้แก่ข่ายแห่งกิจกรรมซึ่งภายในข่ายกฎหมายนี้ปล่อยให้บุคคลใดๆ กระทำการไปโดยลำพัง[๑๖]

อย่างไรก็ดี อาจมีกรณีที่ก่อให้เกิดความสับสนได้ คือ กรณีของ “สิทธิในเสรีภาพ” (Freiheitsrecht) กล่าวคือ โดยลำพังของเสรีภาพนั้น ไม่ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่น เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการที่จะนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ในแง่นี้มิได้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นแต่อย่างใด แต่หากกล่าวว่า “สิทธิในเสรีภาพ” นั้นหมายความว่าบุคคลนั้นย่อมมีสิทธิที่จะใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองในความหมายนี้ ย่อมก่อให้เกิดความผูกพันต่อบุคคลอื่น กล่าวคือ บุคคลย่อมมีหน้าที่ที่จะไม่ละเมิดการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของบุคคลนั้น ตัวอย่างสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญของเยอรมันได้บัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพไว้ในมาตรา ๒ โดยในวรรคหนึ่งเป็น “เสรีภาพทั่วไปในการกระทำการ” โดยถือว่าเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐานหลัก”(Muttergrundrecth) ซึ่งจากสิทธิและเสรีภาพหลักดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสรีภาพเฉพาะเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ในกรณีที่มีการแทรกแซงในสิทธิและเสรีภาพโดยอำนาจรัฐในกรณีนี้ย่อมถือว่าสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวมีสถานะเป็น “สิทธิในการป้องกันตามกฎหมายมหาชน” อันเป็นสิทธิที่อาจเรียกร้องให้รัฐดำเนินการเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองได้อย่างสมบูรณ์[๑๗]

 

๔. สิทธิและเสรีภาพ : ความสัมพันธ์และความแตกต่างกัน

จะเห็นได้ว่าสิทธิกับเสรีภาพ มีความคล้ายคลึงกันในข้อที่ว่าต่างก็เป็นอำนาจอันชอบธรรมที่กฎหมายรับรองให้แก่บุคคล และยังมีความเกี่ยวพันอีกหลายประการ กล่าวคือ สิทธินั้นหมายความรวมถึง สิทธิที่จะมีเสรีภาพต่างๆ ตามควรแก่สภาพและฐานะของบุคคลด้วย และเสรีภาพนั้น ที่สำคัญคือเสรีภาพที่จะกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ได้ตามสิทธิของตน สิทธิยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงระดับความมีเสรีภาพ เนื่องจากความหมายของสิทธิและเสรีภาพใกล้เคียงกัน และสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันจึงมีการใช้ปนๆ กัน บางครั้งก็ใช้สลับกันหรือแทนกัน อาทิคำว่า สิทธิมนุษยชน (Human Right) นั้น หมายความรวมถึงบรรดาสิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนมีในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่สิทธิเท่านั้น เป็นต้น แต่คนส่วนใหญ่ มักจะใช้ควบคู่กันไปโดยเรียกรวมๆ ว่า “สิทธิเสรีภาพ” ซึ่งหมายถึง อำนาจอันชอบธรรมตามกฎหมายของบุคคลที่จะกระทำหรือไม่กระทำการต่างๆ โดยปลอดจากการรบกวนขัดขวางของรัฐหรือบุคคลอื่น[๑๘]

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพมีความแตกต่างจากสิทธิ เนื่องจากสิทธิเป็นอำนาจที่บุคคลใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้อื่น โดยการเรียกร้องให้ผู้อื่นกระทำการหรือละเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นประโยชน์แก่ตน แม้ว่าการที่กฎหมายรับรองเสรีภาพอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่บุคคลย่อมมีผลก่อให้เกิดหน้าที่แก่ผู้อื่นด้วยเหมือนกัน แต่หน้าที่ที่เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นอันเนื่องมาจากกฎหมายรับรองเสรีภาพให้แก่บุคคลคนหนึ่งนี้ เป็นแต่เพียงหน้าที่ที่จะต้องเคารพเสรีภาพของเขา ผู้ทรงเสรีภาพคงมีอำนาจแต่เพียงที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นละเว้นจากการรบกวนขัดขวางการใช้เสรีภาพของตนเท่านั้น หาได้มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการส่งเสริมการใช้เสรีภาพของตน หรือเอื้ออำนวยให้ตนใช้เสรีภาพได้สะดวกขึ้นไม่

การเปรียบเทียบสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในความครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น (Right of access to Government-Held Information) น่าจะแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างสิทธิกับเสรีภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น กล่าวคือ เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและข่าวสาร[๑๙] เราหมายความว่าราษฎรมีอำนาจตามกฎหมายในอันที่จะขอดูข้อมูลหรือข่าวสารต่างๆ ที่ตนสนใจจากหน่วยงานที่ครอบครองข้อมูลหรือข่าวสารเหล่านั้นได้ และหน่วยงานนั้นก็มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องให้ผู้ยื่นคำขอได้ดูข้อมูลข่าวสารนั้นด้วย ดังที่ปรากฏในมาตรา ๑๑ ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ[๒๐] ตรงกันข้าม เมื่อเรากล่าวว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น[๒๑] เราหมายความว่าราษฎรมีอำนาจตามกฎหมายในอันที่จะกล่าวถ้อยคำ เขียนหรือเผยแพร่ข้อความใดๆ ที่ตนประสงค์จะกล่าว เขียน หรือเผยแพร่ได้ โดยปราศจากการรบกวนขัดขวางจากองค์กรต่างๆ ของรัฐ แต่ราษฎรหามีอำนาจตามกฎหมายที่จะเรียกร้องให้รัฐจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยวิธีต่างๆ เหล่านั้นไม่ เช่น ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเรียกร้องให้รัฐจัดหาเครื่องกระจายเสียงให้ใช้พูด ปากกาดินสอหรือเครื่องพิมพ์ดีดและกระดาษให้ใช้เขียน ฯลฯ  อำนาจที่ราษฎรพึงมีต่อรัฐคงเป็นเพียงอำนาจที่จะเรียกร้องให้รัฐละเว้นกระทำการใดๆ ที่เป็นหรือจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการแสดงความคิดเห็นของตนเท่านั้น [๒๒]

ศาสตราจารย์ ดร.อมร  รักษาสัตย์  ได้ให้ความเห็นไว้ในทำนองเดียวกันว่า สิทธิและเสรีภาพมีผลบังคับใช้ต่างกัน ในหลักการสิ่งใดที่เป็นสิทธิของประชาชนหมายความว่าประชาชนมีสิทธิเลือกที่จะเรียกร้องให้ตนได้รับสิทธินั้นมาใช้อย่างจริงจังโดยรัฐบาลจะต้องจัดบริการหรือให้ความคุ้มครองพิทักษ์รักษาให้ได้ใช้สิทธินั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ในอีกทัศนะหนึ่งสิทธิเป็นผลประโยชน์สำคัญของบุคคลหนึ่งซึ่งบุคคลอื่นจะมีหน้าที่จัดหรือยอมให้บุคคลนั้นได้รับสิทธิ ส่วนคำว่าเสรีภาพ หมายถึง ความอิสระที่จะเลือกกระทำการใดๆ ภายในกรอบของกฎหมายหรือเท่าที่จะไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น  ทั้งนี้ แล้วแต่บุคคลนั้นจะเลือกใช้เสรีภาพนั้นหรือไม่ก็ได้โดยไม่ผูกมัดว่ารัฐจะต้องจัดให้บุคคลใช้เสรีภาพนั้นเพราะการใช้เสรีภาพนั้นมักต้องใช้ทรัพยากรและมักจะไปกระทบกระเทือนผู้อื่นหรือสิ่งขัดขวางอื่น[๒๓]

มีตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกาที่พอจะนำมาเทียบเคียงได้ คือ คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๘/๒๕๑๒ “เจ้าอาวาสมีหน้าที่ตามกฎหมายในการบำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี[๒๔] ย่อมมีสิทธิที่จะพิเคราะห์สั่งการในการซ่อมวิหารซึ่งชำรุดว่าจะเป็นการสมควรประการใด เมื่อเจ้าอาวาสเห็นว่าการซ่อมแซมควรหันหน้าวิหารและพระประธานไปทางทิศตะวันออก เพื่อให้เป็นแนวเดียวกับโบสถ์ เป็นระเบียบแบบแผนตามแผนผังของคณะสงฆ์ ใครจะอ้างความศรัทธาฝ่าฝืนเข้าซ่อมวิหารโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าอาวาสนั้นมิได้ หากยังขัดขืนเข้าซ่อมโดยพลการ เจ้าอาวาสย่อมมีสิทธิยับยั้งขัดขวางไว้โดยไม่เป็นการกระทำละเมิดด้วยการใช้สิทธิอันมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้ใด

การซ่อมวิหารกับการปฏิบัติพิธีกรรมในศาสนาเป็นคนละเรื่องกัน ใครจะอ้างเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ[๒๕]เข้าซ่อมวิหารโดยพลการหาได้ไม่” จากคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แม้บุคคลจะมีเสรีภาพตามที่กฎหมายได้รับรองไว้ก็ตาม แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวเป็นแต่เพียงความสามารถที่จะเลือกกระทำการใดๆ ได้โดยอิสระภายในกรอบของกฎหมายและไม่กระทบกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นเท่านั้น หาได้ก่อให้เกิดอำนาจในอันที่จะเรียกร้องหรือบังคับให้บุคคลอื่นต้องปฏิบัติการใดๆ เพื่อรองรับการใช้เสรีภาพของตนเองไม่ ในกรณีนี้แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีเสรีภาพในการถือศาสนา รวมทั้งมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมในศาสนาตามความเชื่อถือของตนซึ่งเป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้อย่างบริบูรณ์ กล่าวคือ ไม่ได้เปิดช่องให้รัฐออกกฎหมายมาจำกัดตัดสิทธิหรือเสรีภาพดังกล่าวได้ แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวนั้นจะต้องไม่กระทบกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นและมิได้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นที่จะต้องกระทำการใดเพื่อรองรับการใช้เสรีภาพนั้นไม่ เมื่อการใช้เสรีภาพของบุคคลนั้นไปกระทบกับสิทธิในการบริหารจัดการวัดของเจ้าอาวาส จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้เสรีภาพโดยชอบนั่นเอง

รศ.ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ และกล้า สมุทวณิช อธิบายว่า สิทธิเสรีภาพนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ที่ สิทธิเป็นประโยชน์ในเรื่องที่บุคคลชอบที่จะเรียกร้องเอาจากบุคคลอื่น หากการเรียกร้องนั้นเป็นการเรียกร้องเอาแก่บุคคลทั่วไปหรือปัจเจกชนก็เป็นสิทธิในทางเอกชนเช่นสิทธิทางแพ่ง ถ้าการเรียกร้องประโยชน์นั้นเป็นการเรียกร้องเอาจากรัฐ สิทธินั้นก็เป็นสิทธิตามกฎหมายมหาชนหรือสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือหากพิจารณาถึงวิธีการ สิทธินั้นเป็นสิ่งที่ต้อง “ใช้” เช่น การใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้อื่นชำระหนี้ทางแพ่ง หรือสิทธิในการเลือกตั้งแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง เป็นเรื่องที่จะเห็นว่าผู้ทรงสิทธินั้นจะต้องดำเนินการบางประการเพื่อใช้สิทธินั้น

ส่วนเสรีภาพนั้น คือประโยชน์ในลักษณะที่บุคคลจะกระทำการใดๆ โดยไม่ถูกบังคับหรืออยู่ภายใต้อาณัติ อันเป็นสิ่งที่ไม่ต้องเรียกร้องหรือดำเนินการเพื่อใช้ แต่เสรีภาพนั้นจะส่งผลให้บุคคลผู้ทรงเสรีภาพนั้นปลอดจากการถูกบังคับให้กระทำหรือไม่กระทำการอยู่แล้ว ตลอดเวลาที่ยังมีเสรีภาพนั้นคุ้มครองอยู่ อย่างไรก็ตาม เสรีภาพนั้นก็ก่อให้เกิดสิทธิเช่นกัน ซึ่งบางครั้งอาจจะเรียกว่า “สิทธิในเสรีภาพ” กล่าวคือ เสรีภาพนั้นก่อให้เกิดสิทธิในการที่จะเรียกร้องมิให้บุคคลอื่นหรือรัฐกระทำการอันเป็นการลิดรอนเสรีภาพนั้นได้ และหากมีการลิดรอนเสรีภาพ ผู้ทรงเสรีภาพก็ย่อมมีสิทธิในการร้องขอหรือเยียวยาเพื่อให้ยุติการลิดรอนเสรีภาพนั้น

 

๕. ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ “สิทธิ” และ “เสรีภาพ”

ดังที่ได้กล่าวว่าแล้วว่า “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” มีความแตกต่างกันและสามารถแบ่งแยกจากกันได้โดยพิจารณาในทางเนื้อหาและอำนาจบังคับ แต่การใช้การตีความก็ยังคงมีความสับสนอยู่ จึงได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมบางประการ ดังนี้

 

๕.๑ ในบางกรณีกฎหมายกำหนดให้สิ่งหนึ่งเป็น “สิทธิ” และเป็น “หน้าที่” ในขณะเดียวกัน

เมื่อพิจารณาจากธรรมชาติของสิทธิ จะเห็นได้ว่าสิทธิเป็นอำนาจอันชอบธรรมของผู้ทรงสิทธิที่จะใช้สิทธิที่ตนมีอยู่หรือไม่ก็ได้ การที่จะไปบังคับให้บุคคลใดใช้สิทธิของตนย่อมเป็นการขัดต่อธรรมชาติของสิทธินั้นเอง อย่างไรก็ตาม มีสิทธิบางประการที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองให้แก่บุคคลและได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในขณะเดียวกัน โดยเป็นที่สังเกตว่าไม่มีเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้เป็นหน้าที่ในขณะเดียวกัน จึงนับได้ว่าเป็นความแตกต่างอีกประการหนึ่งของ “สิทธิ” และ “เสรีภาพ”

สิทธิซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ในขณะเดียวกันที่สำคัญและเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างมากคือ สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘[๒๖]  ที่กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ขัดกับหลักเรื่องอำนาจอธิปไตย เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนแล้ว ประชาชนก็ย่อมไปใช้หรือไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แต่เหตุผลที่สนับสนุนให้มีการกำหนดให้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ด้วยนั้น เห็นว่า รัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายการตัดสินใจทางการเมือง โดยกำหนดให้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปในการใช้สิทธิเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกตั้ง ในขณะเดียวกัน เมื่อสังคมเห็นว่าการใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อประโยชน์ของสังคมและความเจริญก้าวหน้าของชาติ และเป็นการที่ประชาชนจะใช้สิทธิของตนเพื่อเลือกบุคคลที่จะมาใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนเอง ดังนั้น การกำหนดหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจึงไม่ขัดต่อหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่เป็นการส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิของประชาชนในฐานะของอธิปไตยให้มีความสมบูรณ์และจริงจังยิ่งขึ้นเท่านั้น[๒๗] อีกทั้งยังมีความเห็นว่า การกำหนดให้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ก็มิได้ขัดต่อธรรมชาติของสิทธิแต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายเพียงแต่กำหนดให้บุคคลต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนการที่บุคคลนั้นจะเลือกใครก็ถือว่าเป็นสิทธิของบุคคลนั้นอย่างเต็มที่ ซึ่งแม้แต่รัฐเองก็จะเข้าไปก้าวล่วงสิทธิดังกล่าวนี้ไม่ได้

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๙ “บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” จะเห็นได้ว่า มีหน้าที่บางประการที่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญในขณะเดียวกัน เช่น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้สิทธิอย่างเสมอภาคแก่บุคคลในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย[๒๘] แต่ในขณะเดียวกันก็บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่รับการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าพลเมืองที่มีการศึกษาดีย่อมเป็นทรัพยากรที่ดีในการพัฒนาประเทศต่อไป การกำหนดหน้าที่ดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ของบุคคลเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติหรือสังคมส่วนรวม[๒๙] หรือในกรณีสิทธิในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[๓๐] ก็ยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของชนชาวไทยไปในขณะเดียวกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีกรณีใดที่จะกำหนดให้เป็นทั้งหน้าที่และเป็นทั้งเสรีภาพในขณะเดียวกัน ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า สืบเนื่องจากการที่ “เสรีภาพ” ส่วนใหญ่แล้วมีลักษณะเป็นเรื่องส่วนบุคคลโดยแท้ การใช้เสรีภาพไม่ได้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นโดยตรงแต่อย่างใด บุคคลอื่นมีหน้าที่เพียงต้องเคารพและไม่ก้าวล่วงเข้ามาในแดนเสรีภาพของเราเท่านั้น แต่สิทธิเป็นกรณีที่หากมีการใช้สิทธิแล้วย่อมส่งผลออกไปภายนอก ก่อให้เกิดอำนาจแก่บุคคลผู้ทรงสิทธิในการที่จะบังคับให้เป็นไปตามสิทธิของตนเหมือนกับในกรณีของหน้าที่ที่ต้องมีการแสดงออกมาเช่นกัน กล่าวคือ เป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และการปฏิบัติหน้าที่นั้นก็มีผลกระทบกับบุคคลอื่นเช่นกัน กล่าวคือ บุคคลอื่นก็ต้องยอมรับให้ผู้ที่มีหน้าที่นั้นได้ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนภายในกรอบที่กฎหมายกำหนดแม้ว่าตนจะได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นก็ตาม

ได้มีผู้แสดงทัศนะไว้อย่างน่าฟังว่า เสรีภาพต้องใช้ควบคู่กับความรับผิดชอบ และสิทธิต้องใช้ควบคู่กับหน้าที่ อย่างแรกหมายถึง การใช้เสรีภาพใด ต้องตั้งใจให้เกิดผลดีที่สุดต่อตนเองและผู้อื่น เป็นไปในทางสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและสังคม ไม่ใช้เสรีภาพไปในทางละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น หรือก่อความเสียหายแก่ตนเองหรือผู้อื่นและหากมีผลเกิดขึ้นอย่างใดไม่ว่าดีหรือร้ายก็รับผิดชอบต่อผลนั้น อย่างที่สองหมายถึง สิทธิต้องใช้โดยควบคู่กับหน้าที่ด้วย สิทธิที่ได้ทุกอย่างจะมาพร้อมกับหน้าที่ที่จะต้องทำด้วยเสมอ ผู้ที่ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องก็จะเป็นผู้ที่ใช้สิทธิอย่างถูกต้องด้วย เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ เมื่อได้สิทธิก็ต้องทำหน้าที่ด้วย สิทธิเป็นเรื่องของการที่จะได้ที่จะเอา ส่วนหน้าที่เป็นเรื่องของการที่จะให้ที่จะสละออกไป[๓๑]

๕.๒ ในกรณีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์โดยตรงจะกำหนดให้เป็นสิทธิเสมอ

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นได้ว่าบางเรื่องกำหนดให้เป็นสิทธิแต่ในบางเรื่องกำหนดให้เป็นเสรีภาพ โดยมีข้อสังเกตว่าเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์โดยแท้ กล่าวคือ เป็นสิ่งที่เกิดมีขึ้นอันเนื่องจากการที่บุคคลนั้นมีความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่ติดตัวบุคคลมาตั้งแต่กำเนิด โดยเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วก่อนที่ความเป็นรัฐจะเกิดมีขึ้น ซึ่งแม้แต่รัฐเองก็ไม่สามารถลบล้างสิ่งนั้นจากบุคคลผู้เป็นเจ้าของได้ เช่น สิทธิในชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคล เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ในรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้เป็น “สิทธิ” เสมอ ไม่กำหนดให้เป็น “เสรีภาพ” ทั้งนี้ เนื่องจากสิ่งที่กฎหมายต้องการรับรองให้เป็นสิทธินั้นมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับบุคคลโดยตรง มีผลกระทบกับผู้ทรงสิทธินั้นอย่างมาก และการที่กำหนดให้เป็นสิทธินั้นก่อให้เกิดอำนาจในการบังคับให้เป็นไปตามสิทธิของตนได้ รวมทั้งบุคคลอื่นก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสิทธิตนเช่นกัน ทำให้สิ่งที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองเกิดผลใช้บังคับได้จริง

ในขณะที่เสรีภาพส่วนใหญ่นั้นเป็นอิสระของบุคคลที่จะกระทำการใดหรือไม่กระทำการใดที่เป็นประโยชน์แก่ตน อาจจะมองในแง่หนึ่งว่าเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพของตนอย่างอิสระ ซึ่งเสรีภาพหลายๆ ประการเป็นเสรีภาพที่เกิดขึ้นมาภายหลังจากที่มีรัฐเกิดขึ้นแล้ว มิใช่เป็นเสรีภาพที่มีมาแต่ดั้งเดิม เช่น เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม , เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นต้น ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นเสรีภาพที่มีมาแต่เดิมพร้อมกับความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ เป็นเสรีภาพมีเกิดขึ้นก่อนที่จะมีรัฐเกิดขึ้น เช่น เสรีภาพในชีวิตและร่างกาย , เสรีภาพในการถือศาสนา เสรีภาพในการเดินทางและเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ เป็นต้น ซึ่งโดยสภาพแล้วสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้เป็นเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องของการแสดงออกเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพของตนไม่ได้มีผลกระทบกับสารัตถะของความเป็นมนุษย์โดยตรง ดังนั้น จึงรับรองให้เป็น “เสรีภาพ” โดยเป็นการรับรองเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามาก้าวล่วงหรือขัดขวางการใช้เสรีภาพของตนเท่านั้นแต่ไม่ถึงขนาดจะกำหนดให้อำนาจในการบังคับให้บุคคลอื่นกระทำการเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ตนได้

๕.๓  ลักษณะการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ

ในกฎหมายเกือบทุกฉบับล้วนแล้วแต่ต้องมีคำว่า “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” อยู่ด้วยเสมอ ทั้งในกรณีที่อยู่ในบทบัญญัติและกรณีที่ไม่ได้อยู่ในบทบัญญัติแต่อยู่ในบทอาศัยอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้การออกกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจะต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วยเสมอ แต่เมื่อพิจารณาจากบทอาศัยอำนาจในกฎหมายฉบับต่างๆ แล้ว เห็นว่ามีลักษณะการบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพที่ต่างกัน ๓ ลักษณะ ดังนี้

๑) ใช้คำว่า “สิทธิและเสรีภาพ” ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้ลักษณะนี้ เช่น  พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.. ๒๕๔๕[๓๒] เป็นต้น

๒) ใช้คำว่า “สิทธิเสรีภาพ” เช่น พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๔[๓๓] และพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๒[๓๔] เป็นต้น

๓) ใช้คำว่า “สิทธิ” และใช้คำว่า “เสรีภาพ” แยกออกจากกันอย่างชัดเจน เช่น  พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕[๓๕]

ส่วนในบทบัญญัติที่เป็นเนื้อหาของกฎหมายเองก็มีการใช้คำว่า “สิทธิ” และคำว่า “เสรีภาพ” ในหลายกรณี ซึ่งหลายฉบับก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจน เช่น พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔[๓๖] ได้บัญญัติแยกกันอย่างชัดเจนว่ากรณีใดเป็นสิทธิและกรณีใดเป็นเสรีภาพ ทำให้เกิดความชัดเจน ไม่สับสน ในขณะที่บางฉบับได้บัญญัติไว้อย่างรวมๆ ไม่ชัดเจน เช่น พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. ๒๕๔๕[๓๗] และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒[๓๘] ซึ่งการที่บัญญัติโดยใช้คำว่า “สิทธิเสรีภาพ” นั้น ไม่ได้ระบุโดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นสิทธิใดหรือเสรีภาพใด แต่เป็นการบัญญัติไว้ในลักษณะโดยรวม กล่าวคือ หมายรวมสิทธิและเสรีภาพทุกอย่างที่ประชาชนหรือบุคคลพึงมี

นอกจากนี้ ในกฎหมายบางฉบับยังมีความสับสนในเรื่องของการใช้ถ้อยคำในกรณีดังกล่าวได้ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐

“มาตรา ๕  ข้อตกลงจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน หรือการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพซึ่งไม่เป็นโมฆะ แต่เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น”

ซึ่งการใช้คำว่า “สิทธิหรือเสรีภาพ” มิได้ใช้คำใดคำหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง แสดงให้เห็นว่าผู้ร่างกฎหมายยังไม่สามารถหาเกณฑ์ในการตัดสินว่าจะกำหนดให้กรณีดังกล่าวเป็นสิทธิหรือเป็นเสรีภาพ จึงได้กำหนดให้เป็นทางเลือกไว้ทั้งสองทางคือ เป็นสิทธิก็ได้หรือเป็นเสรีภาพก็ได้ ทั้งที่ การประกอบอาชีพเป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้อย่างชัดแจ้ง ส่วนการทำนิติกรรมนั้นในทางกฎหมายเอกชนมองว่าเป็นเรื่อง “เสรีภาพในการทำสัญญา” เพราะเป็นเรื่องการแสดงเจตนาโดยอิสระของเอกชน ไม่ใช้คำว่า “สิทธิในการทำสัญญา” แต่อย่างใด ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการร่างกฎหมาย คณะพิเศษ เพื่อตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. .... [๓๙] ก็ยังมีความสับสนในเรื่องการใช้ถ้อยคำอยู่ คือ ในร่างกฎหมายก่อนที่จะมีการแก้ไขนั้น ใช้คำว่า “ผู้ถูกจำกัดสิทธิ” แต่ได้มีการแก้ไขเป็น “ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ” ในภายหลังเพื่อให้มีความเหมาะสม

 

๖. บทสรุปและข้อเสนอแนะ

การทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ในทางปฏิบัติเพราะยังไม่มีเกณฑ์ในการแบ่งแยกที่ชัดเจน อีกทั้งบุคคลที่เป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพเองก็ยังไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าวเท่าใดนัก มักจะมองในประเด็นที่ว่ามีใครมาโต้แย้งสิทธิและเสรีภาพของตนหรือไม่เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การที่กำหนดให้ชัดเจนว่าสิ่งที่กฎหมายรับรองให้นั้นเป็น “สิทธิ” หรือเป็น “เสรีภาพ” ก็นับว่าเป็นประโยชน์ไม่น้อย ทั้งนี้โดยอาศัยเกณฑ์ในการแบ่งที่สำคัญคือ “อำนาจบังคับ” ซึ่งทำให้ผู้ทรงสิทธิและผู้ทรงเสรีภาพทราบได้ว่าในกรณีใดที่เขามีอำนาจบังคับให้บุคคลอื่นต้องกระทำการเพื่อรองรับการใช้สิทธิของตนได้และในกรณีใดที่เขามีเพียงอิสระที่จะกระทำการแต่ไม่มีอำนาจบังคับให้บุคคลอื่นกระทำการใดให้เป็นประโยชน์แก่ตน

เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญเองได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าสิ่งใดบ้างที่เป็นสิทธิและสิ่งใดบ้างที่เป็นเสรีภาพ ในขณะที่กฎหมายฉบับต่างๆ กลับมีความสับสนไม่ชัดเจนเนื่องจากใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพไม่อาจทราบได้ว่าจะแสดงอาการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของตนได้มากน้อยแค่ไหนหรือมีอำนาจบังคับบุคคลอื่นให้กระทำการที่เป็นประโยชน์ให้แก่ตนได้หรือไม่ ดังนั้น การบัญญัติกฎหมายจึงควรใช้ถ้อยคำที่มีความชัดเจน โดยกำหนดไว้ให้เข้าใจได้ว่าสิ่งนี้เป็น “สิทธิ” และสิ่งนี้เป็น “เสรีภาพ” ที่กฎหมายนั้นประสงค์จะรับรองและคุ้มครองให้ อย่างไรก็ตามการแบ่งแยกสิทธิและเสรีภาพอย่างชัดเจนคงไม่สามารถกระทำได้ในทุกกรณีเพราะในบางเรื่องก็ไม่สามารถกำหนดชัดว่าเป็นสิทธิหรือเป็นเสรีภาพหรือในบางกรณีกฎหมายประสงค์จะคุ้มครองทั้งสิทธิและเสรีภาพจึงจำเป็นต้องใช้คำรวมกันไปเพื่อให้บุคคลได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ ในการใช้ถ้อยคำจึงจำต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและความมุ่งหมายของกฎหมายนั้นประกอบกันด้วย ในด้านของประชาชนซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพเองเมื่อเข้าใจความแตกต่างระหว่างสิทธิและเสรีภาพแล้ว ก็ต้องใช้สิทธิและเสรีภาพของตนให้ถูกต้องเหมาะสมด้วย เพราะแม้ว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพจะเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนแต่ก็ต้องคำนึงความเสียหายที่ผู้อื่นได้รับและประโยชน์ของสังคมประกอบกันด้วย

                            



[๑]   นิติกร ๔ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

[๒]    คณิน  บุญสุวรรณ, คู่มือการใช้สิทธิของประชาชน, (กรุงเทพมหานคร : สุขภาพใจ, ๒๕๔๗) น. ๒๑.

[๓]    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    มาตรา ๓๑  บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

    การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ แต่การลงโทษประหารชีวิตตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้

    การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

[๔]    คณิน  บุญสุวรรณ, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๒, น. ๓๐.

[๕]    สมคิด  เลิศไพฑูรย์ และกล้า  สมุทวณิช, รายงานวิจัยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยศาลรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพมหานคร : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๖) น. ๔ - ๖.

[๖]    ขุนประเสริฐศุภมาตรา, หนังสือว่าด้วยกฎหมายภาคสิทธิ, (ม.ป.พ., ๒๔๗๗) น. ๑, อ้างถึงใน นันทวัฒน์  บรมานันท์, “รายงานผลการศึกษาวิจัย เรื่อง การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ ๑) เผยแพร่ใน www.pub-law.net

[๗]   หยุด แสงอุทัย, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ประกายพรึก, ๒๕๓๕) น. ๒๒๔, อ้างถึงใน นันทวัฒน์  บรมานันท์, “รายงานผลการศึกษาวิจัย เรื่อง การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ ๑) เผยแพร่ใน www.pub-law.net

[๘]    คณิน  บุญสุวรรณ, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๒, น. ๒๐ - ๒๑.

[๙]    วรพจน์  วิศรุตพิชญ์, สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน, ๒๕๔๓) น. ๒๑.

[๑๐]  อุดม  รัฐอมฤต และคณะ, การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา ๒๘, (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๔) น. ๘๖.

[๑๑]  บรรเจิด  สิงคะเนติ, หลักพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐, (กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน, ๒๕๔๗) น. ๕๘.

[๑๒]  สมคิด  เลิศไพฑูรย์ และกล้า  สมุทวณิช, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๕, น. ๗.

[๑๓]  พิชัย  พืชมงคล, “การปฏิรูปทางการเมืองกับรัฐธรรมนูญใหม่ (ตอนที่ ๒) เผยแพร่ใน www.dlo.co.th, น. ๑.

[๑๔]  วรพจน์  วิศรุตพิชญ์, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๙, น. ๒๒.

[๑๕]  อุดม  รัฐอมฤต และคณะ, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑๐, น. ๘๗.

[๑๖]  หยุด  แสงอุทัย, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๗, น. ๒๒๓.

[๑๗]  บรรเจิด  สิงคะเนติ, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑๑, น. ๕๖ - ๕๘.

[๑๘]  วรพจน์  วิศรุตพิชญ์, รายงานการวิจัย สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ (ศึกษารูปแบบการจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้ไว้อย่างเหมาะสม), (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), ๒๕๓๘) น. ๑๘, อ้างถึงในพิชัย  พืชมงคล, “การปฏิรูปทางการเมืองกับรัฐธรรมนูญใหม่ (ตอนที่ ๒) เผยแพร่ใน www.dlo.co.th

[๑๙]  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

     มาตรา ๕๘  บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

[๒๐]  พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐

     มาตรา ๑๑  นอกจากข้อมูลข่าวสารของราชการที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาแล้วหรือที่จัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้แล้วหรือที่มีการจัดให้ประชาชนได้ค้นคว้าตามมาตรา ๒๖ แล้ว ถ้าบุคคลใดขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการและคำขอของผู้นั้นระบุข้อมูลข่าวสารที่ต้องการในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามควร ให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ขอภายในเวลาอันสมควร เว้นแต่ผู้นั้นขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

[๒๑]  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    มาตรา ๓๙  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

[๒๒]  วรพจน์  วิศรุตพิชญ์, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๙, น. ๒๒ - ๒๔.

[๒๓]  อมร  รักษาสัตย์, รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนพร้อมบทวิจารณ์, (กรุงเทพมหานคร : บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด ,๒๕๔๑) น. ๖๘.

[๒๔]  พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

    มาตรา ๓๗  เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้

    (๑) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี

                       ฯลฯ                                           ฯลฯ

[๒๕]  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑

    มาตรา ๒๖  บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

    ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวในวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนาหรือลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น

[๒๖]  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    มาตรา ๖๘  บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

    บุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ

    การแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งและการอำนวยความสะดวกในการไปเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

[๒๗]  อมร  รักษาสัตย์, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๒๓, น. ๗๓ - ๗๕.

[๒๘]  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    มาตรา ๔๓  บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

                       ฯลฯ                                            ฯลฯ

[๒๙]  อมร  รักษาสัตย์, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๒๓, น. ๗๔.

[๓๐]  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    มาตรา ๔๖  บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

[๓๑]  พิชัย  พืชมงคล, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑๓ , น. ๕.

[๓๒]  ในส่วนของคำปรารภใช้คำว่า “พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

[๓๓]  ในส่วนของคำปรารภใช้คำว่า “พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

[๓๔]  ในส่วนของคำปรารภใช้คำว่า “โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอันมีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในเคหสถาน ในทรัพย์สิน และการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

[๓๕]  พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕

     มาตรา ๓ ทวิ  พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในเคหสถาน สิทธิในทรัพย์สินของบุคคล และเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๕ วรรคสอง มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”

[๓๖]  พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

    มาตรา ๕๐  ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางคมนาคม ...”

[๓๗]  พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. ๒๕๔๕

     มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

                       ฯลฯ                                            ฯลฯ

     “ข้อมูลห้ามจัดเก็บ” หมายความว่า ข้อมูลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เกี่ยวกับการรับบริการ การขอสินเชื่อ หรือที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้เป็นเจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน ...”

[๓๘]  พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒

     มาตรา ๑๖  ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ดังนี้

                       ฯลฯ                                            ฯลฯ

    (๑๕) การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

[๓๙]  บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. .... (เรื่องเสร็จที่ ๒๒๓/๒๕๓๙)

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 56 57

ร่างกฏหมายที่น่าสนใจ
ความเห็นทางกฎหมายที่น่าสนใจ 
งานวิจัย
บทความทางกฎหมาย
บุคลากร
จัดซื้อ / จัดจ้าง
กฤษฎีกาสาร  
ข่าวประชาสัมพันธ์
สำนักกฎหมายปกครอง
  
บริการอื่น ๆ
เสนอแนะ - ติชมเว็บไซต์



สำหรับทำให้ IE เปิดไฟล์ TIFF ได้
© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๔๕ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  
เว็บไซต์นี้เหมาะสำหรับจอภาพขนาด 1,024 x 768 พิกเซล