หน้าหลัก > ข่าวสารและผลงาน> บทความทางกฎหมาย
การยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ (นิติพร ตันวิไลย)

ความเป็นมาของการมีกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

การยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔

 

นิติพร  ตันวิไลย*

 

ความเป็นมาของการมีกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คในประเทศไทย

 

“เช็ค” เป็นตราสารแทนการชำระหนี้ด้วยเงินสด เมื่อสภาพของสังคมและระบบธุรกิจการค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตประกอบกับความรีบเร่งในการประกอบธุรกิจด้านต่างๆ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประชาชนนิยมใช้เช็คกันมากขึ้น เพราะไม่ต้องจ่ายเงินด้วยธนบัตรเป็นจำนวนมาก ทั้งยังอำนวยความสะดวกปลอดภัยในการติดต่อธุรกิจค้าขาย เช็คจึงเป็นเครื่องมือทางการเงินในแวดวงการค้าเพื่อรองรับความเจริญในระบบธุรกิจ ความสำคัญของเช็คอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ได้รับเช็คว่าจะได้รับเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในเช็คอย่างแน่นอน

แต่การออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีเพียงพอที่จะจ่ายตามที่ระบุไว้ในเช็คเมื่อถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำนวนเพิ่มมากขึ้น ความน่าเชื่อถือและความนิยมใช้เช็คย่อมลดน้อยลงไปด้วยเพราะผู้รับเช็คเกิดความไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินตามเช็ค เนื่องจากการฟ้องคดีตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังต้องมีขั้นตอนการบังคับคดีเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาซึ่ง  ใช้ระยะเวลานานกว่าเจ้าหนี้จะได้รับเงินตามเช็ค และการฟ้องคดีอาญาฐานฉ้อโกงมิได้ครอบคลุมถึงการกระทำความผิดฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินจ่ายในทุกกรณี การออกเช็คที่มีการหลอกลวงและได้ทรัพย์สินไปจากการหลอกลวง เช่น การออกเช็คที่ไม่มีบัญชีหรือการออกเช็คที่บัญชีใช้เช็คถูกปิดแล้วเท่านั้นจึงจะมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา สภาพปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการประกอบการค้าและเศรษฐกิจในภาพรวม  รัฐบาลจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อสนับสนุนให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและคุ้มครองผู้ใช้เช็คให้เกิดความมั่นใจด้วยการมีหลักประกันให้กับผู้รับเช็คว่าผู้ที่สั่งจ่ายเช็คแล้วไม่มี เงินจ่ายตามจำนวนที่ระบุไว้ในเช็คจะมีความผิดและถูกลงโทษปรับไม่เกินสองเท่าของจำนวนเงินที่ระบุในเช็ค แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ เพราะการปล่อยให้เช็คขาดความน่าเชื่อถือย่อมกระทบกระเทือนเศรษฐกิจของประเทศได้

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำรูปแบบกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสมาเป็นแนวทางในการยกร่าง[๑] โดยบัญญัติให้ผู้ที่ออกเช็คโดยทุจริต[๒] คือ ออกเช็คโดยในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงจ่าย...ฯลฯ... มีความผิดต้องระวางโทษปรับหรือจำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับหลักการ[๓] และมีนโยบายให้ลงโทษรวมถึงการออกเช็คล่วงหน้าที่ไม่มีเงินเมื่อถึงกำหนดด้วย  ดังนั้น มาตรา ๓[๔] แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงไม่มีคำว่า “โดยทุจริต”  กล่าวคือ การออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าที่ไม่มีเงินจ่ายถือว่า มีความผิดทางอาญา กล่าวได้ว่า การออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้านั้นเป็นเรื่องของการตกลงยินยอมรับเช็คไว้เพื่อชำระหนี้ ซึ่งในขณะที่รับมอบเช็คก็ยังไม่อาจคาดหวังได้ว่าเมื่อถึงกำหนดวันที่ลงในเช็คแล้วผู้ออกเช็คจะมีเงินในบัญชีพอจ่ายตามจำนวนที่ระบุไว้ในเช็คหรือไม่ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ในอนาคต  ที่ไม่แน่นอน เจตนาทุจริตจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากเช็คลงวันที่ล่วงหน้าถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของผู้ออกเช็คจึงถือไม่ได้ว่ามีเจตนาทุจริต

ส่วนเจตนาทุจริตกรณีห้ามธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้น ถึงแม้ว่าจะมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๓ (๕) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ และมาตรา ๔ (๕) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้กระทำจะมีเจตนาทุจริตย่อมเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของผู้ออกเช็คที่ไม่ต้องการชำระเงินเมื่อเช็คถึงกำหนดเท่านั้นเอง ทำให้การดำเนินคดีเช็คจนถึงปัจจุบันพบว่ามีกรณีเดียวที่ศาลฎีกาพิพากษาว่า  มีเจตนาทุจริต คือ การออกเช็คชำระหนี้แทนผู้อื่น ต่อมากลับสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๒/๒๕๒๒) กรณีอื่นศาลฎีกาพิพากษาว่าผู้ออกเช็คใช้สิทธิห้ามธนาคารจ่ายเงินตามเช็คโดยสุจริตจึงไม่มีความผิดอาญา[๕]

การมีกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คทำให้ธุรกิจการค้าดำเนินไปด้วยดีมีการใช้เช็คกันอย่างแพร่หลาย แต่ยังมีช่องว่างเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายทำให้เจ้าหนี้บางรายนำมาเป็นเครื่องมือบีบบังคับลูกหนี้ให้ชำระเงินตามเช็คอันเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเร่งรัดหนี้สินกับลูกหนี้ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย รัฐบาลจึงต้องออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙๖ ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ เกี่ยวกับวิธีการควบคุมผู้ต้องหาโดยแยกการควบคุมตัวผู้กระทำผิดที่ออกเช็คไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ไว้เป็นกรณีพิเศษเท่าที่จะสอบถามคำให้การเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากการควบคุมตัวผู้ต้องหาโดยทั่วไป แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องของการบังคับใช้กฎหมายเพื่ออำนวยความยุติธรรมได้อย่างสมบูรณ์ ต่อมาในปี ๒๕๓๔ จึงได้มีการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

มาตรา ๔[๖] แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ ยังคงหลักการเดิมไว้เพียงแต่เพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้นว่า การออกเช็คที่จะมีความผิดทางอาญานั้นต้องเป็นการออกเช็คเพื่อให้มีผลผูกพันและบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมายและให้คดีเช็คอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ความรับผิดทางอาญาของผู้ออกเช็คถูกจำกัดขอบเขตลงเฉพาะกรณีออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่เป็นเรื่องของการออกเช็คชำระหนี้โดยแท้ คือ ไม่ต้องมีหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายหากเงินในบัญชีมีไม่พอจ่ายตามเช็คก็มีความผิด ยกเว้นการออกเช็คค้ำประกันการกู้เงิน การขายลดเช็ค หรือการออกเช็คที่มีมูลหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้ออกเช็คไม่มีความผิดอาญา และการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายผู้ออกเช็คไม่อาจมีเจตนาทุจริตอยู่ในตัว เห็นได้ว่ากฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นเรื่องของการคุ้มครองป้องปรามการกระทำความผิดโดยถือเจตนาในการออกเช็คเป็นเกณฑ์ความรับผิดทางอาญา[๗] ซึ่งเป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากการไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาทางแพ่ง จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมืองที่เป็นเรื่องของการไม่ชำระหนี้ทางแพ่งและจะนำคดีแพ่งมาฟ้องร้องทางอาญาไม่ได้

ความรับผิดทางอาญาเกี่ยวกับการใช้เช็คตามกฎหมายต่างประเทศ

 

ประเทศฝรั่งเศส รัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๑๙๓๕ (แก้ไขเพิ่มเติม ๑๙๙๑)[๘] ได้กล่าวถึงความรับผิดทางอาญาเกี่ยวกับการใช้เช็คโดยกำหนดหน้าที่ให้ผู้สั่งจ่ายเช็คหรือเจ้าของบัญชีต้องนำเงินเข้าบัญชีที่จะมีการถูกหักเงินตามเช็ค ในกรณีธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ผู้สั่งจ่ายมีภาระการพิสูจน์ว่าได้มีการโอนเงินเข้าบัญชีในวันที่ออกเช็ค (มาตรา ๓)

และธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินมีหน้าที่แจ้งให้ผู้สั่งจ่ายหรือเจ้าของบัญชีแจ้งกับธนาคารอื่นที่ผู้สั่งจ่ายได้เปิดบัญชีเพื่อการใช้เช็คไว้เพื่อรับทราบถึงการออกเช็คที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และห้ามมิให้ผู้นั้นสั่งจ่ายเช็คอีกต่อไป เว้นแต่การถอนเงินจำนวนขั้นตำตามที่ระบุไว้กับธนาคาร หรือมีการชำระเงินตามเช็ค หรือได้นำเงินเข้าบัญชีไว้เพียงพอให้ธนาคารสามารถจ่ายเงินตามเช็คนั้น (มาตรา ๖๕-๓)

เมื่อเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินผู้สั่งจ่ายต้องเสียค่าปรับตามสัดส่วนของจำนวนรายได้ หรือบางส่วนของจำนวนรายได้ เว้นแต่ภายในระยะเวลา ๑ ปี ยังไม่เคยถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หรือผู้สั่งจ่ายนำเงินเข้าบัญชีได้ทันภายในระยะเวลา ๓๐ วัน นับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน (มาตรา ๖๕-๓-๑)

จำนวนค่าปรับจะเพิ่มเป็นอีกหนึ่งเท่าเมื่อผู้สั่งจ่ายถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คมาแล้ว ๓ ครั้ง ภายในระยะเวลา ๑ ปี (มาตรา ๖๕-๓-๒) ค่าปรับดังกล่าวจะถูกมอบให้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในรัฐกฤษฎีกา (มาตรา ๖๕-๓-๓)

ผู้สั่งจ่ายหรือเจ้าของบัญชีที่ถูกธนาคารห้ามมิให้สั่งจ่ายเช็คได้ผ่านกระบวนการชำระเงินตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวแล้วเท่านั้นจึงจะกลับมาใช้เช็คได้อีกครั้ง แต่ถ้าผู้สั่งจ่ายหรือเจ้าของบัญชีไม่ได้ชำระเงินตามกระบวนการดังกล่าวก็จะไม่มีสิทธิใช้เช็คเป็นระยะเวลาสิบปี นับจากวันห้ามใช้เช็ค (มาตรา ๖๕-๓-๔)

ผู้สั่งจ่ายเช็คที่มีเจตนาทุจริตในการออกเช็ค ถอนเงินด้วยประการอื่นใด โอนเงิน   ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นจะมีความผิดต้องระวางโทษ  จำคุก ๕ ปี และปรับตั้งแต่ ๓,๖๐๐ ฟรังค์ ถึง ๒,๕๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ หรือถูกลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง (มาตรา ๖๖)

เจตนาทุจริตในการออกเช็คตามกฎหมายฝรั่งเศสหมายความรวมถึงการกระทำโดยไม่สุจริตเนื่องจากผลของการออกเช็คนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น คือ ไม่ได้รับเงินตามเช็คโดยไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่   การออกเช็คนั้นจะมีการหลอกลวงและได้ทรัพย์สินไปจากการถูกหลอกลวงหรือไม่  กล่าวคือ การออกเช็คทั้งๆ ที่รู้ว่าในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในเช็คถือว่ามีเจตนาทุจริตโดยปริยาย ซึ่งเปรียบเทียบถึงความแตกต่างกับความผิดฐานฉ้อโกงกรณีสั่งซื้อและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือเข้าอยู่ในโรงแรมโดยรู้ว่าตนไม่สามารถชำระเงินค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าอยู่ในโรงแรมตามมาตรา ๓๔๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา กรณีดังกล่าว นอกจากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้วยังต้องมีเจตนาหลอกลวงโดยปริยายว่าตนสามารถชำระเงินค่าอาหารหรือค่าอยู่ในโรงแรมซึ่งความจริงแล้วไม่มีเงินจ่ายแต่ได้บริโภคอาหารไปแล้ว

กฎหมายเกี่ยวกับเช็คของฝรั่งเศสได้ป้องกันปัญหามิให้เจ้าหนี้ใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อบีบบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยการบัญญัติให้ผู้ที่รู้อยู่แล้วว่าการออกเช็คที่ไม่มีเงินในบัญชีพอจ่ายตามเช็ค รับมอบเช็คไว้ หรือสลักหลังเช็ค หรือโดยทุจริตเข้าร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าวต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ที่มีเจตนาทุจริตออกเช็คแล้วไม่มีเงินจ่าย

ผู้ที่ทุจริตออกเช็คแล้วไม่มีเงินจ่ายนอกจากจะถูกลงโทษจำคุกและปรับซึ่งเป็นโทษหลักแล้ว อาจถูกศาลมีคำสั่งห้ามใช้สิทธิทางแพ่ง สิทธิทางพลเมือง สิทธิในครอบครัว หรือห้ามใช้เช็คเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี อันเป็นโทษเสริมได้อีกด้วย

ปัญหาการออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้านั้นศาลฝรั่งเศสถือว่าวันที่เขียนเช็คเป็นวันออกเช็คและถือเจตนาทุจริตในการออกเช็คเป็นสำคัญจึงไม่มีข้อห้ามการลงวันที่ล่วงหน้าในเช็ค แต่เป็นข้อสันนิษฐานว่าในขณะออกเช็คนั้นผู้ออกเช็คไม่มีเงินในบัญชีและถือว่าผู้ที่รับเช็คลงวันที่ล่วงหน้า รู้อยู่แล้วว่าเป็นเช็คที่ไม่มีเงินพอจ่ายในขณะออกเช็ค เพราะศาลฝรั่งเศสถือว่าวันที่ออกเช็คตามความเป็นจริงเป็นวันกระทำความผิด[๙]

นอกจากนี้ธนาคารอาจมีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับเช็คในกรณีที่ธนาคารแจ้งยอดเงินของลูกค้าในบัญชีน้อยกว่ายอดเงินที่มีอยู่จริงในบัญชี หรือปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยไม่ระบุว่าการสั่งจ่ายเช็คนั้นไม่ชอบเพราะมีคำสั่งศาลหรือธนาคารห้ามไว้ หรือไม่ได้แจ้งจำนวนของการจ่ายเงินตามเช็คและความรับผิดเกี่ยวกับการใช้เช็คให้ธนาคารแห่งชาติฝรั่งเศสทราบ ธนาคารอาจ ถูกลงโทษปรับ ๘๐,๐๐๐ ฟรังค์

 

ประเทศสหรัฐอเมริกา การสั่งจ่ายเช็คที่เงินในบัญชีไม่พอจ่ายหรือการถอนเงินออกจากบัญชีเมื่อผู้ทรงนำเช็คไปขึ้นเงินแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน กฎหมาย Bad Check ในทุกมลรัฐบัญญัติว่ามีความผิดทางอาญา การลงโทษตามกฎหมายดังกล่าวบางมลรัฐจะลงโทษตามจำนวนเงิน ที่สั่งจ่าย หากเงินในเช็คมีจำนวนสูงถือว่าเป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรงมีโทษปรับและจำคุกที่สูงมาก

เดิมความผิดเกี่ยวกับการออกเช็คแล้วไม่มีเงินจ่ายกฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่มีปัญหาในการปรับบทความผิดฐานออกเช็คแล้วไม่มีเงินจ่ายให้เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกง หน่วยงานนิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกา[๑๐] เห็นว่า การออกเช็คคือ การแสดงโดยปริยายว่าผู้สั่งจ่ายมีเครดิตกับธนาคารเพียงพอที่จะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในเช็ค จึงได้ตรากฎหมาย   Bad Check เพื่อกำหนดความผิดอาญาขึ้นมาใหม่แยกออกจากความผิดอาญาฐานหลอกลวงโดยทั่วไป แต่มีโทษจำคุกที่ต่ำกว่า

 

การสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าของสหรัฐอเมริกาคือ การยอมรับว่าผู้สั่งจ่ายไม่มีเงินในบัญชีพอจ่ายตามเช็คเพียงแต่คาดว่าจะมีเงินจ่ายเมื่อถึงกำหนดใช้เงิน จึงไม่เป็นการแสดงโดยปริยายว่าขณะออกเช็คมีเงินพอที่จะโอนเข้าบัญชีเพื่อจ่ายตามเช็คได้

เหตุผลและความจำเป็นในการตรากฎหมาย Bad Check ประการหนึ่งคือ การตีความเกี่ยวกับการกล่าวหาว่าผู้ออกเช็คมีเจตนาหลอกลวงในการซื้อขายสินค้าด้วยเงินสดที่ผู้ซื้อสินค้าออกเช็คที่ไม่มีเงินในบัญชีให้กับผู้ขาย ซึ่งกฎหมายทั่วไปถือว่าสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินที่ซื้อขายยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะได้รับชำระเงินตามเช็ค เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้ซื้อที่ออกเช็คจึงยังไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น เพราะถือว่าการออกเช็คเป็นเพียงสัญญาการจ่ายเงินทางแพ่งทำให้ผู้ที่ออกเช็คชำระค่าสินค้าไม่มีความผิดอาญาฐานหลอกลวง

ส่วนการได้ไปซึ่งทรัพย์สินด้วยการออกเช็คที่มีเงินในบัญชีเพียงพอที่จะจ่ายแต่ผู้ออกเช็คได้ถอนเงินออกจากบัญชีก่อนที่ผู้รับเช็คจะนำไปขึ้นเงิน หรือผู้ออกเช็คแสดงโดยปริยายว่าจะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดเพื่อให้มีผลกระทบต่อการเรียกเก็บเงินตามเช็ค ก็มีปัญหาว่าเป็นเรื่องในอนาคตจึงไม่มีความผิดอาญาฐานหลอกลวง ซึ่งเป็นปัญหาในการพิจารณาของผู้พิพากษาเพราะ ความผิดฐานฉ้อโกงนั้นผู้ออกเช็คต้องแสดงออกภายนอกว่ามีการหลอกลวงว่ามีเงินที่จะชำระตามเช็ค จึงจะมีความผิด  มลรัฐส่วนใหญ่เห็นว่า แม้ไม่มีการแสดงออกภายนอกในขณะออกเช็คว่ามีการหลอกลวง ผู้ออกเช็คที่ไม่มีเงินจ่ายก็มีความผิดฐานฉ้อโกงโดยปริยายแล้ว ทำให้แนวความคิดยังไม่แน่นอนว่า นอกจากมีการกระทำที่หลอกลวงและมีความคิดที่ชั่วร้ายแล้วยังต้องกระทำเพื่อให้เกิดผลร้ายด้วยจึงจะมีความผิดอาญาใช่หรือไม่

กฎหมาย Bad Check ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาและความยุ่งยากในการปรับบทความผิดดังกล่าวข้างต้นให้ผู้ออกเช็คที่ไม่มีเงินจ่ายมิใช่มีความรับผิดเฉพาะทางแพ่งเท่านั้นแต่ควรให้มีความรับผิดทางอาญาด้วย โดยมุ่งที่จะคุ้มครองทรัพย์สินไม่ให้เจ้าของต้องสูญเสียทรัพย์สินไปจากการถูกหลอกลวงด้วยวิธีการออกเช็คแล้วไม่มีเงินจ่าย อันเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชนในการใช้เช็คในกิจการด้านการพาณิชย์ โดยมลรัฐส่วนใหญ่บัญญัติความผิดอาญาจากผลของการออก Bad Check ว่า เพียงแต่มีเจตนาร้ายในใจโดยไม่ต้องได้ทรัพย์สินไปจากผู้เสียหายก็มีความผิดตามกฎหมาย Bad Check  กล่าวคือ ผู้ออกเช็คที่มีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็คก็เพียงพอสำหรับความผิดอาญา แต่บางมลรัฐบัญญัติกฎหมายว่าผู้ออกเช็คต้องมีเจตนาฉ้อโกง โดยไม่ต้องมีการได้ไปซึ่งทรัพย์สิน ก็ถือว่ามีความผิด[๑๑]

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบที่สำคัญของกฎหมาย Bad Check คือ เมื่อเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินจากธนาคารเพราะไม่มีเงินในบัญชีพอจ่าย และผู้ออกเช็คไม่สามารถชำระเงินตามเช็คได้ทันภายในเวลาที่กำหนดหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ถือว่าเป็นการแสดงถึงเจตนาภายในใจของผู้ออกเช็คว่าได้กระทำความผิดตามกฎหมาย Bad Check แล้ว

 

เปรียบเทียบกฎหมายเช็คต่างประเทศกับกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

 

เจตนารมณ์ของกฎหมายเกี่ยวกับเช็คในประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาที่กำหนดหลักเกณฑ์ความรับผิดทางอาญาเกี่ยวกับการใช้เช็คไว้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สาธารณชนเกิดความมั่นใจรับเช็คในธุรกรรมทางการค้าอันเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้เช็คเป็นตราสารชำระหนี้แทนเงินสดเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ ความแตกต่างกันจะมีเฉพาะการออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา[๑๒] ตลอดมาว่า “วันที่เขียนเช็คยังไม่ถือว่าเป็นวันออกเช็ค ต้องถือวันที่ลงในเช็คเป็นวันออกเช็คและเป็นวันเริ่มการกระทำความผิด โดยความผิดได้เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน” อาจเป็นไปได้ว่ามาตรา ๙๘๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้มีบทบัญญัติให้เช็คต้องมีรายการ “วันถึงกำหนดใช้เงิน” ดังเช่น ตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา ๙๐๙ (๔) และมาตรา ๙๘๓ (๓)  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องถือว่าวันที่ลงในเช็คเป็นวันออกเช็ค และเช็คถึงกำหนดใช้เงินเมื่อผู้ทรงเช็คทวงถามให้ธนาคารจ่ายเงินตามมาตรา ๙๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำพิพากษาดังกล่าวมีความสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลในอดีตที่ให้ลงโทษทางอาญารวมถึงการออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าที่ไม่มีเงินเมื่อถึงกำหนดด้วย ซึ่งแตกต่างกับการออกเช็คตามกฎหมายของฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาที่ถือว่าวันเขียนเช็คเป็นวันออกเช็คตามความเป็นจริง และเป็นข้อสันนิษฐานว่าการออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าถือว่าขณะออกเช็คผู้นั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีและผู้ที่รับเช็ครู้อยู่แล้วว่าเช็คนั้นไม่มีเงินพอจ่ายในขณะออกเช็ค  ดังนั้น เช็คลงวันที่ล่วงหน้าตามกฎหมายต่างประเทศจึงไม่มีความผิดทางอาญา

ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คมิได้หมายความเฉพาะ ผู้ออกเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่เป็นผู้กระทำความผิด ผู้สลักหลังที่ทราบฐานะทางการเงินของผู้สั่งจ่ายว่าเป็นเช็คที่ไม่มีเงินในบัญชี ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าเป็นตัวการร่วมกันกระทำผิดกับผู้สั่งจ่าย[๑๓] คำพิพากษาดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางของกฎหมายฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา แต่ในกรณีผู้ที่รับเช็คไว้โดยทราบฐานะของผู้สั่งจ่ายดีอยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีพอที่จะชำระหนี้ตามเช็คได้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าเป็นการรับเช็คไว้โดยไม่สุจริตผู้ทรงจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และผู้สั่งจ่ายไม่มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค[๑๔] ซึ่งยังมีความแตกต่างกับกฎหมายฝรั่งเศสที่บัญญัติว่าผู้ที่ยอมรับเช็คไว้ทั้งที่รู้ว่ามีการทุจริตออกเช็คโดยไม่มีเงินจ่ายอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้สั่งจ่าย

 

ความเหมาะสมของการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔

 

เมื่อได้ศึกษาถึงความเป็นมาและความจำเป็นในการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คประกอบกับการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาที่บัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการใช้เช็คให้ผู้ออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีพอจ่ายตามจำนวนที่ระบุไว้ในเช็คมีความผิดทางอาญาแล้ว จะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ในการบัญญัติความผิดอาญาเกี่ยวกับการใช้เช็ค โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีความเป็นมาไม่แตกต่างกับกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค  กล่าวคือ เดิมความผิดกรณีออกเช็คในขณะที่ผู้สั่งจ่ายทราบดีอยู่แล้วว่าตนไม่สามารถชำระเงินได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในเช็คไม่สามารถปรับการกระทำดังกล่าวให้เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงได้ทุกกรณี  ดังนั้น เพื่อให้สาธารณชนเกิดความมั่นใจในการใช้เช็คในธุรกรรมทางการค้าและแก้ไขปัญหาความยุ่งยากในการปรับบทความผิดอาญาที่จะลงโทษกับผู้ออกเช็คแล้วไม่มีเงินจ่ายได้ จึงมีความจำเป็นต้องบัญญัติกฎหมาย Bad Check ให้มีความรับผิดทางอาญาเพื่อให้ผู้สั่งจ่ายเพิ่มความระมัดระวังในการสั่งจ่ายเช็คมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นเช่นเดียวกับความจำเป็นในการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คในประเทศไทย

การวิพากษ์วิจารณ์ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่บัญญัติให้ผู้ออกเช็คแล้วไม่มีเงินจ่ายมีความรับผิดทางอาญาไม่น่าจะสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและอาจเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศได้พัฒนาจนมีความมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อยมีทางเลือกที่หลากหลายมากกว่าในอดีต  ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คจึงน่าจะเป็นความรับผิดทางแพ่งเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

๑. ประเด็นที่ว่า ความผิดตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มิได้มีลักษณะเป็นความผิดในตัวเองหรือเป็นการกระทำที่เป็นอาชญากรรม ที่ชั่วร้ายนั้น เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการออกเช็คบางกรณีก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้กระทำไม่มีเจตนาที่ชั่วร้าย  เช่น การออกเช็คโดยเจตนาเขียนข้อความลงในเช็คที่ไม่ตรงตามรูปแบบ หรือการลงลายมือชื่อไม่ตรงตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารเพื่อให้ผู้รับเช็คนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารไม่ได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง เนื่องจากมิได้มีเจตนาหลอกลวง เช่น เป็นการออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าหรือเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระค่าซื้อขายสินค้า แต่การออกเช็คดังกล่าวจะมีความผิดตามมาตรา ๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔  ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ออกเช็คเพิ่มความระมัดระวังในการใช้เช็คมิให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินจากการกระทำของผู้สั่งจ่าย แต่ถ้ามีการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คโดยไม่มีมาตรการอื่นมาทดแทนโทษทางอาญาอย่างได้ผล การกระทำดังกล่าวนอกจากจะไม่มีความผิดทางอาญาแล้วอาจจะทำให้เช็คขาดความน่าเชื่อถือในระบบธุรกิจการค้าได้

๒. ประเด็นที่ว่า การมีกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นการสร้างภาระให้กับรัฐในการดำเนินคดีอาญาและเป็นช่องทางให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบของเจ้าพนักงานนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องมีการปรับปรุงระบบกระบวนการยุติธรรมให้เกิดความคล่องตัวรวดเร็วยิ่งขึ้นมิให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ดังกล่าวได้ โดยเฉพาะการนำเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมาลงโทษทั้งทางวินัยและทางอาญาโดยเร็ว เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีให้กับประชาชนเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและป้องปรามการกระทำความผิดต่อทรัพย์สินของผู้อื่น

๓. ประเด็นที่ว่า เจ้าหนี้ใช้กระบวนการยุติธรรมบีบบังคับลูกหนี้ให้ชำระหนี้ตามเช็คนั้น เป็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ใช้กฎหมายว่าจะแสวงหาประโยชน์จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็คหรือไม่ แนวทางในการแก้ไขปัญหานี้สามารถกระทำได้ด้วยการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยกำหนดให้ผู้ที่ยอมรับเช็คไว้ทั้งที่รู้ว่าเป็นเช็คที่ไม่มีเงินจ่ายมีความผิดเช่นเดียวกับผู้สั่งจ่ายตามแนวทางกฎหมายฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ประการสำคัญคือ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้วควรกำหนดหน้าที่ของธนาคารและผู้สั่งจ่ายไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย ปัจจุบันเมื่อเช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินธนาคารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ที่นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน  กล่าวคือ ถ้าหากเงินที่ระบุไว้ในเช็คมีจำนวนมากอัตราค่าธรรมเนียมก็จะสูงตามไปด้วย โดยธนาคารไม่มีหน้าที่กำหนดให้ผู้สั่งจ่ายต้องแจ้งกับธนาคารอื่นที่ผู้สั่งจ่ายเปิดบัญชีไว้ได้ทราบถึงการปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค และธนาคารมิได้   สั่งห้ามการสั่งจ่ายเช็คอีกต่อไป นอกจากนี้ควรกำหนดหน้าที่ให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คให้กับผู้ทรงภายในวงเงินที่ธนาคารได้ทำความตกลงไว้กับผู้สั่งจ่ายไปก่อน แม้เงินในบัญชีของผู้สั่งจ่ายในขณะออกเช็คจะมีจำนวนไม่เพียงพอก็ตาม เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้รับเช็คว่าจะได้รับเงินตามเช็คอย่างแน่นอน เนื่องจากธนาคารสามารถเรียกค่าบริการจากผู้ใช้เช็คได้

๔. ประเด็นที่ว่า ผู้เสียหายในคดีเช็คจะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ ประการใดนั้น เนื่องจากการยกเลิกกฏหมายที่มีโทษทางอาญาต้องมีผลใช้บังคับทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่อาจบัญญัติบทเฉพาะกาลมารองรับคดีอาญา ที่ค้างการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรมได้ เพราะจะเกิดปัญหาการประวิงการดำเนินคดีทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความเสียหาย  ดังนั้น ผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องนำมูลหนี้เดิมก่อนสั่งจ่ายเช็คมาฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ภายในกำหนดอายุความ ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ การที่โจทก์ในคดีอาญาต้องเริ่มต้นนำมูลหนี้ที่มีการออกเช็คมาฟ้องเป็นคดีแพ่งซึ่งมูลหนี้บางกรณีอาจเกินกำหนดอายุความการฟ้องร้องคดีแพ่ง หรือพยานหลักฐานต่างๆ ได้สูญหายไปหมดแล้ว ทำให้ผู้ที่รับเช็คไว้ชำระหนี้แทนเงินสดต้องถูกกระทบกระเทือนในสิทธิตามที่กฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คบัญญัติรับรองไว้ในขณะที่รับมอบเช็ค ส่วนผู้กระทำความผิดที่สั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเงินจ่ายกลับหลุดพ้นความรับผิดทางอาญาทันทีที่กฎหมายยกเลิกดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เห็นได้ว่าการนำมูลหนี้เดิมก่อนที่จะมีการออกเช็คมาฟ้องเป็นคดีแพ่งหลังจากการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้น นอกจากจะเป็นการผลักภาระค่าธรรมเนียมศาลให้กับประชาชนและเพิ่มจำนวนคดีแพ่งในกระบวนการยุติธรรมแล้ว รัฐยังต้อง  สูญเสียงบประมาณและอัตรากำลังในกระบวนการยุติธรรมเพราะการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวมิได้เป็นการแก้ไขปัญหาภาระด้านงบประมาณรายจ่ายในกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง

๕. ประเด็นที่ว่า การนำมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตมารองรับการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้น ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่มีมาตรการสร้างความน่าเชื่อถือในการใช้เช็คตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.. ๒๕๐๕ เช่น การกำหนดจำนวนเงินคงเหลือไว้ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน การวิเคราะห์การใช้เช็คของลูกค้าเป็นระยะโดยพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของบัญชี การปิดบัญชีของลูกค้าที่ถูกคืนเช็คเพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วไม่นำเงินเข้าบัญชีภายในกำหนดระยะเวลา การเรียกเช็คที่เหลือคืนจากลูกค้าทันทีเมื่อมีการปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หรือการแจ้งรายชื่อของลูกค้าที่ถูกปิดบัญชีให้สมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยทราบเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบประวัติของลูกค้า กรณีต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ผู้สั่งจ่ายเช็คที่ไม่มีเงินจ่ายยังมีสิทธิเปิดบัญชีเพื่อใช้เช็คกับธนาคารอื่นได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ  ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรทีมีอำนาจหน้าที่ควบคุมการดำเนินกิจการของธนาคารพาณิชย์จะต้องเร่งรัดการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการรับฝากเงินตามมาตรา ๑๓ จัตวา[๑๕] ประกอบกับมาตรา ๒๒ วรรคสอง[๑๖] แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยเคร่งครัดต่อไป เมื่อธนาคารพาณิชย์ได้ถือปฎิบัติตามหลักเกณฑ์การใช้เช็คดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพเป็นผลให้จำนวนเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินลดลงแล้ว การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คอาจนำมาพิจารณาในลำดับต่อไป

 

สำหรับการขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเพื่อเบิกถอนเงินจากบัญชีด้วยวิธี    สั่งจ่ายเช็คให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ถือว่าเป็นการ “ฝากทรัพย์” มิใช่การขอ “สินเชื่อ” ตามความหมายของนิยามคำว่า “ข้อมูลเครดิต” ที่ หมายความว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ขอ “สินเชื่อ”[๑๗] และการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแก่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการที่ประสงค์จะใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูลตามมาตรา ๒๐[๑๘] แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. ๒๕๔๕  ดังนั้น การตรวจสอบข้อมูลของลูกค้าที่ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่มิได้มีข้อตกลงเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร     จึงเป็นการเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าที่กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตไม่ได้ให้อำนาจไว้[๑๙] เฉพาะลูกค้าที่มีการขอ “สินเชื่อ”เท่านั้น ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลเครดิตได้

๖. ประเด็นที่ว่า การไม่มีเงินจ่ายตามบัตรเครดิตเหตุใดจึงไม่มีความผิดทางอาญานั้น โดยที่ผู้ถือบัตรเครดิตมีนิติสัมพันธ์กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน (ผู้ออกบัตร) ตามสัญญาการ  ขอสินเชื่อเพื่อใช้บริการบัตรเครดิต กล่าวคือ ผู้ออกบัตรเป็นผู้ชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการตามวงเงินในสัญญาให้กับบุคคลที่สามแทนผู้ถือบัตร และผู้ถือบัตรรับจะชำระเงินให้แก่ผู้ออกบัตร      ในภายหลัง โดยบุคคลที่สามจะได้รับการชำระหนี้ตามยอดเงินที่มีการใช้บริการบัตรเครดิตตามสัญญาอย่างแน่นอน ซึ่งแตกต่างจากการรับเช็คจากผู้สั่งจ่ายแล้วมีการสลักหลังหรือส่งมอบเช็คให้กับผู้ทรง กรณีที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ผู้ทรงเช็คซึ่งเป็นบุคคลที่สามย่อมเป็นผู้เสียหายที่เกี่ยวข้องกับระบบความน่าเชื่อถือของการสั่งจ่ายเช็คเพราะสภาพของเช็คเป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้ ส่วนการใช้บริการบัตรเครดิตเป็นสัญญาการขอสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงินเป็นการเฉพาะราย การ        ผิดสัญญาใช้บริการบัตรเครดิตทำให้ธนาคารหรือสถาบันการเงิน (ผู้ออกบัตร) เป็นผู้เสียหายทางแพ่ง โดยผู้ถือบัตรเครดิตต้องชำระดอกเบี้ยให้กับผู้ออกบัตรในอัตราที่สูงแทนความรับผิดทางอาญา

ส่วนความแตกต่างระหว่างเช็คกับตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ผู้ที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน[๒๐] เป็นบุคคลที่ผูกพันตนในอันที่จะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้โดยตรง เนื่องจากไม่มีบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารและไม่มีลูกหนี้ที่จะสั่งให้ชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงินได้  ดังนั้น ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วแลกเงินจึงต้องชำระเงินเมื่อตั๋วถึงกำหนด หากผิดสัญญาผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและ  ตั๋วแลกเงินต้องชำระดอกเบี้ยตามตั๋วให้กับเจ้าหนี้ โทษทางอาญาจึงไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดไว้

๗. ประเด็นที่ว่า การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คแล้วนำความผิดฐานห้ามธนาคารจ่ายเงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริตตามมาตรา ๔ (๕) แห่งพระราชบัญญัติ  ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาบัญญัติให้เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม  มาตรา ๓๔๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น ตามที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่าความผิดกรณีห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คโดยทุจริตเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ยาก และพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามมาตรา ๔ (๑) ถึง (๔) มีความร้ายแรงแห่งความผิดที่เท่าเทียมกับความผิดตาม  มาตรา ๔ (๕)  ดังนั้น การยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ แล้วนำความผิดตามมาตรา ๔ (๕) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค    พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่ไม่มีองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงไปแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในมาตรา ๓๔๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจกระทำได้

 

กล่าวโดยสรุป  กฎหมายต่างประเทศเกี่ยวกับการใช้เช็คได้กำหนดให้ผู้สั่งจ่ายที่ไม่มีเงินในบัญชีพอจ่ายตามเช็คให้สันนิษฐานว่าเป็นการออกเช็คโดยทุจริตและมีความรับผิดทางอาญาโดยกำหนดหน้าที่ให้ผู้สั่งจ่ายต้องแจ้งกับธนาคารอื่นที่ตนได้เปิดบัญชีใช้เช็คไว้ได้ทราบถึงการออกเช็ค  ที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และห้ามมิให้ผู้นั้นสั่งจ่ายเช็คอีกต่อไป หากผู้สั่งจ่ายไม่นำเงินตามจำนวนในเช็คมาชำระภายในเวลาที่กำหนด นอกจากจะถูกลงโทษทางอาญาคือจำคุกและปรับแล้ว ยังถูกห้ามใช้เช็คเป็นระยะเวลาสิบปีนับจากวันห้ามใช้เช็ค ส่วนการรับเช็คไว้โดยทราบดีว่าเป็นเช็คที่ไม่มีเงินจ่ายผู้รับเช็คมีความผิดเช่นเดียวกับผู้สั่งจ่าย แตกต่างจากกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คที่กำหนดให้ผู้ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าที่ไม่มีเงินจ่ายมีความรับผิดทางอาญาด้วยแม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการใช้เช็คลงวันที่ล่วงหน้าในประเทศไทยทำให้ระบบการค้ารายย่อยเกิดสภาพคล่อง แต่การรับมอบเช็คลงวันที่ล่วงหน้าไว้นั้น  กฎหมายต่างประเทศถือว่าเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าผู้สั่งจ่ายไม่มีเงินในบัญชีพอจ่ายตามเช็คก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลเช่นเดียวกันจึงสมควรนำแนวทางกฎหมายต่างประเทศมาปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาในปัจจุบันแทนการยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับเนื่องจากกฎหมายดังกล่าวยังมีประโยชน์ในการบังคับใช้กรณีการออกเช็คที่มีเจตนาไม่จ่ายเงินตามเช็ค ไม่เช่นนั้นจะทำให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็คบางกรณีหลุดพ้นไปจากองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา ประการสำคัญคือ ในขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับฝากเงินเพื่อนำมาเป็นมาตรการรองรับการใช้เช็คแทนการลงโทษทางอาญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔  จึงเป็นการตรากฎหมายย้อนหลังเพื่อเป็นคุณแก่ฝ่ายจำเลยในขณะเดียวกันอาจทำให้ประชาชนที่ใช้เช็คหรือโจทก์ในคดีเช็ค (ในกรณีคดีแพ่งขาดอายุความ) ต้องได้รับความเสียหาย  บทความนี้เป็นเพียงข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจการค้าอันเป็นปัจจัยสำคัญที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ   

 
บรรณานุกรม

 

หนังสือ

 

ชนินทร์  พิทยาวิวิธ       “ธนาคารใช้อะไรในการพิจารณาให้สินเชื่อ” สำนักพิมพ์อัมรินทร์พริ้นติ้ง

 กรุ๊ฟ ๒๕๒๓

เถกิงศักดิ์  คำสุระ        “คำตอบล่าสุดคดีเช็ค” กองผู้ช่วยฯ ศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรม พิมพ์ครั้งที่ 2

 ๒๕๓๘

รุ่งโรจน์  รื่นเริงวงศ์       “ออกเช็คอย่างไรจึงไม่ติดคุก” สำนักพิมพ์วิญญูชน ๒๕๓๖

วิชัย  ตันติกุลานันท์       “สาระ – คดีเช็ค สาระสำหรับผู้ต้องการชนะคดีเกี่ยวกับ พรบ. เช็ค”

 ห้างหุ้นส่วนจำกัดพิมพ์อักษร พฤศจิกายน ๒๕๔๕

สมชาย  พ่วงภู่            “เจาะลึกคดีเช็ค” โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์ พิมพ์ครั้งที่ ๓, สิงหาคม ๒๕๔๖

สุพิศ  ปราณีตพลกรัง     “ข้อสังเกตทางกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจาก

การใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔” กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์   

กันยายน ๒๕๓๔

สัมฤทธิ์  รัตนดารา        “เช็ค” คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

อัมพร  ณ ตะกั่วทุ่ง        คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตั๋วเงิน สำนักพิมพ์นิติบรรณการ

 ๒๕๔๕

 

California Penal Code, ๑๙๘๘ Compact Edition. West publishing co.

Myint Soe, The law of Banking and Negotiable Instrument in Singapore and Malaysia 

                                     (Second Edition) ๑๙๘๓.

Wayne R. LaFave, Criminal Law (Fourth Edition).West’s Criminal Practice Series.

 

บทความ

 

โกเมน  ภัทรภิรมย์        “ความผิดฐานรับเช็คไม่มีเงิน” บทบัณฑิตย์ เล่มที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๔

 ตอนที่ ๔

Website

 

www.nationalcredit.com/bad cheek

www.colorado attoney.co.us

 



* นักกฎหมายกฤษฎีกา ๘ ว. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (E-mail :ntptonvilai@yahoo.com)

[๑] ส่งพร้อมหนังสือ ลับ-ด่วนมาก ที่ ๒๑๖๗/๒๔๙๗ ลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๗ ซึ่งสำนักงาน

คณะกรรมการกฤษฎีการมีถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร

[๒] มาตรา ๓ ผู้ใดโดยเจตนาทุจริต ออกเช็คโดยในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงจ่ายได้ก็ดี ออกเช็คจ่ายเงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงจ่ายได้ในขณะที่ออกเช็คนั้นก็ดี ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงจ่ายเงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ดี ห้ามธนาคารมิให้จ่ายเงินตามเช็คก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองเท่าของจำนวนเงินที่ระบุไว้ในเช็ค แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

[๓]  หนังสือกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ ๙๗๘๖/๒๔๙๗ ลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๙๗

[๔] มาตรา ๓ ผู้ใด

   (๑) ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น

   (๒) ออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้

   (๓) ออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่

ออกเช็คนั้น

   (๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็ค จนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้ หรือ

   (๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต

   ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองเท่าของจำนวนเงินที่ระบุในเช็ค แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

[๕] คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๙-๓๙๐/๒๕๐๕,๒๔๐/๒๕๑๒,๑๐๒๓/๒๕๒๖,๓๒๗๙/๒๕๒๗,๒๙๑๖/๒๕๒๘,๓๓/๒๕๒๙,๓๗๔๓/๒๕๓๐, ๑๔๔๐/๒๕๓๑ และ ๒๔๙๘/๒๕๓๔

[๖] มาตรา ๔ ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมี

การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

   (๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น

   (๒) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้

   (๓) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี อันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น

   (๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้

   (๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต

เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือตำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

[๗] คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๙/๒๕๑๑ (การขอรับเงินตามเช็คไม่เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเพราะความรับผิดทางแพ่งคือ เช็คที่ออกให้เจ้าหนี้ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินผู้ออกเช็คต้องรับผิดตามเช็คนั้น ส่วนคดีอาญาถือเจตนาในการออกเช็คเป็นเกณฑ์ความรับผิดทางอาญา ลูกหนี้จะมีเงินใช้ตามเช็คหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่ถ้ามีเงินมาจ่ายตามเช็คก็ไม่เป็นความผิดอาญา ความรับผิดเกี่ยวกับเช็คทางแพ่งจึงไม่ต้องอาศัยมูลคดีอาญา การฟ้องคดีอาญาจึงไม่ทำให้อายุความทางแพ่งสะดุดหยุดลง)

[๘] DÈCRET  unifiant le droit en matière de chèques et relatif aux cartes de paiement

(jo ๓๑ oct. ๑๙๓๕) (๓๖) (๓๗).

[๙] ดร. โกเมน  ภัทรภิรมย์, ความผิดฐานรับเช็คไม่มีเงิน, บทบัณฑิตย์ เล่มที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๑๔ ตอนที่ ๔, หน้า ๙๔๑-๙๕๐

[๑๐] Wayne R. LaFave, Criminal Law (Fourth Edition), west’s Criminal Practice Series. page.๙๘๑-๙๘๕

[๑๑] มาตรา ๔๗๖ a  เช็ค ดราฟท์หรือคำสั่งให้ธนาคารจ่ายเงิน เงินในบัญชีไม่พอจ่าย  เจตนาฉ้อโกง การลงโทษ พยานหลักฐาน ความหมายคำว่า “เครดิต” ความสมบูรณ์บางส่วน

  (a) บุคคลใดก็ตาม เพื่อตนเอง หรือในฐานะตัวแทนหรือผู้แทนของผู้อื่น หรือในฐานะพนักงานบริษัท มีเจตนาฉ้อโกงโดยการทำ เขียน ปลอม ส่งมอบเช็ค หรือดราฟท์ หรือมีคำสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินแก่ธนาคารหรือสถานที่รับฝากเงิน หรือบุคคล หรือสถานประกอบการ หรือบริษัท เพื่อเป็นการชำระเงินทั้งๆ ที่รู้ว่าในขณะที่ทำ หรือเขียน หรือปลอม หรือขณะส่งมอบดังกล่าวนั้น ผู้ทำ ผู้เขียน หรือบริษัทมีเงินในบัญชีไม่พอจ่าย หรือมี (credit) กับธนาคารหรือสถานที่รับฝากเงิน หรือบุคคล หรือสถานประกอบการ หรือบริษัทไม่เพียงพอสำหรับการชำระเงินตามเช็ค ดราฟท์ หรือคำสั่งให้ธนาคาร  จ่ายเงินและเช็ค หรือดราฟท์ หรือคำสั่งให้จ่ายเงินเมื่อได้เห็นอย่างอื่นๆ ได้เต็มจำนวน เมื่อมีการนำไปขึ้นเงิน แม้ว่าจะไม่ได้มีการแสดงให้เห็นเช่นนั้นโดยตรงเกี่ยวกับสิ่งที่กล่าวมา การกระทำดังกล่าวข้างต้น  ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกในเรือนจำของ (country) ไม่เกินหนึ่งปี หรือในเรือนจำของมลรัฐ

ฯลฯ                                          ฯลฯ

 ประมวลกฎหมายอาญา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (พิมพ์รวมเล่ม ปี ๑๙๘๘)

 [๑๒] คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๖๗/๒๕๐๕, ๑๐๑๗/๒๕๐๗ (ประชุมใหญ่), ๑๑๒๔/๒๕๑๓,

๙๓๔-๙๓๕/๒๕๒๕ และ ๗๑๐๐/๒๕๔๒

[๑๓]  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๐/๒๕๐๓, ๒๙๕๖/๒๕๓๑, ๒๕๒๕/๒๕๓๔, ๔๒๖๘/๒๕๓๔,๕๖๓๗/๒๕๔๒ และ ๒๒๖๐/๒๕๔๗

[๑๔] คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๖/๒๕๐๒, ๑๕๒๓-๑๕๒๔/๒๕๒๕, ๒๕๗๐/๒๕๒๖, ๔๓๙๙/๒๕๓๐, ๕๕๒๖/๒๕๓๑ และ ๒๔๗๗/๒๕๓๓

[๑๕] มาตรา ๑๓ จัตวา ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการรับฝากเงิน การกู้ยืมเงินหรือการซื้อขาย ตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใดได้

    การกำหนดตามวรรคหนึ่งจะกำหนดตามประเภทของเงินฝากหรือเงินกู้ยืมประเภทของบุคคล ประเภทของเอกสารการรับฝากเงินหรือการกู้ยืมเงิน หรือประเภทของตราสารก็ได้

[๑๖] มาตรา ๒๒ ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ใด

ฯลฯ                                          ฯลฯ

    (๘) กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดขึ้นเพื่อพิทักษ์รักษาประโยชน์ของประชาชน

    ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้ธนาคารพาณิชย์นั้นกระทำการหรืองดเว้นกระทำการหรือแก้ไขการดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ในการนี้จะกำหนดเงื่อนไขและระยะเวลาไว้ด้วยก็ได้

[๑๗] มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

ฯลฯ                                                        ฯลฯ

“ข้อมูลเครดิต” หมายความว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ขอสินเชื่อ ดังต่อไปนี้

ฯลฯ                                                        ฯลฯ

[๑๘] มาตรา ๒๐  ให้บริษัทข้อมูลเครดิตเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการที่ประสงค์จะใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อ รวมทั้งการรับประกันภัย การรับประกันชีวิต และการออกบัตรเครดิต  ทั้งนี้ จะต้องได้รับคำยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูลเพื่อให้เปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการนั้นก่อน

[๑๙] มาตรา ๕๐  บริษัทข้อมูลเครดิตใดหรือผู้ประมวลผลข้อมูลผู้ใดเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิกของตนหรือผู้ใช้บริการเพื่อประโยชน์อย่างอื่นหรือเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่ผู้อื่น นอกเหนือจากที่กำหนดในมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[๒๐] มาตรา ๙๘๒ ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ออกตั๋วให้    คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับเงิน

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 56 57

ร่างกฏหมายที่น่าสนใจ
ความเห็นทางกฎหมายที่น่าสนใจ 
งานวิจัย
บทความทางกฎหมาย
บุคลากร
จัดซื้อ / จัดจ้าง
กฤษฎีกาสาร  
ข่าวประชาสัมพันธ์
สำนักกฎหมายปกครอง
  
บริการอื่น ๆ
เสนอแนะ - ติชมเว็บไซต์



สำหรับทำให้ IE เปิดไฟล์ TIFF ได้
© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๔๕ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  
เว็บไซต์นี้เหมาะสำหรับจอภาพขนาด 1,024 x 768 พิกเซล