บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ....
หลักการ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
เหตุผล
โดยที่รัฐมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจ และศักยภาพในการแข่งขันของประเทศด้วยการส่งเสริมกระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และเห็นว่าพื้นที่ภาคตะวันออก มีความเหมาะสมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อผลักดันนโยบายดังกล่าว เนื่องจากมีความพร้อมด้านการคมนาคมขนส่งทั้งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก รวมทั้งอยู่ในระยะที่สามารถเชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานครและส่วนอื่นของประเทศได้โดยสะดวก นอกจากนั้น พื้นที่ภาคตะวันออกดังกล่าวสามารถปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวได้อย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่าง
พระราชบัญญัติ
พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
พ.ศ.
....
……………………….……….
…………………………….….
………………………………..
…………………...……………………...............................................................................……
….………………………………..
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
…………………...……………………...............................................................................……
….………………………………...
มาตรา ๑
พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ….”
มาตรา
๒
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓
ในพระราชบัญญัตินี้
“พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก”หมายความว่า พื้นที่ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ของจังหวัดชลบุรี ระยอง
และฉะเชิงเทรา
และพื้นที่อื่นใดที่จะมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเพิ่มเติม
“เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ”
หมายความว่า บริเวณพื้นที่ที่ประกาศกำหนดในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ให้เป็นเขตที่ได้รับการพัฒนา สิทธิประโยชน์ และการอำนวยความสะดวกเป็นการพิเศษ
“คณะกรรมการนโยบาย”หมายความว่า
คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
“อุตสาหกรรมเป้าหมาย” หมายความว่า อุตสาหกรรมซุปเปอร์คลัสเตอร์
และอุตสาหกรรมเป้าหมาย ๑๐ ประเภทตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด เช่น
อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม
อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร
อุตสาหกรรมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์
อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล
อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
“สำนักงาน”หมายความว่า
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
“เลขาธิการ”หมายความว่า
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
“นิคมอุตสาหกรรม” หมายความว่า
นิคมอุตสาหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“เขตประกอบการอุตสาหกรรม” หมายความว่า
เขตประกอบการอุตสาหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
“ชุมชนอุตสาหกรรม” หมายความว่า ชุมชนอุตสาหกรรม
ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
“เขตอุตสาหกรรม” หมายความว่า
เขตอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
“สวนอุตสาหกรรม” หมายความว่า
สวนอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน
ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่นๆ
มาตรา ๔
ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด
๑
บททั่วไป
มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑)
ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้มีศักยภาพ
และ
มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ
ต่อเนื่อง และยั่งยืน เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมีบทบาทต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต
(๒)
ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ระบบคมนาคม ระบบการขนส่ง และการอำนวยความสะดวกในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและให้ทันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
(๓)
ส่งเสริมการพัฒนาเมืองและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่และมีความทันสมัยระดับนานาชาติ
(๔)
ส่งเสริมการนำแนวคิดการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร
(One
Stop
Service) มาปรับใช้ในการให้บริการของภาครัฐ
โดยรวมอยู่ในจุดเดียวและมีเอกภาพในการบริหารจัดการ
เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับการบริการที่สะดวกและมีความรวดเร็ว
มาตรา
๖ รัฐพึงมีนโยบายพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ดังต่อไปนี้
(๑)
ส่งเสริมและดึงดูดให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยใช้มาตรการด้านสิทธิประโยชน์
แรงงาน การเงินการธนาคาร และการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งผลักดัน
และสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนา
รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
(๒)
กำหนดนโยบาย แผนงานระยะยาว
และมาตรการที่ชัดเจนในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
อย่างน้อยที่สุดในด้านคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม สาธารณูปโภค พลังงาน การจัดการน้ำ
การกำจัดขยะ การพัฒนาเมืองหรือชุมชน การพัฒนาระบบผลิตสินค้าและบริการ
โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการอื่นใด
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัตินี้
(๓) กำหนดหลักเกณฑ์
เงื่อนไขที่ชัดเจนและเหมาะสมในการร่วมลงทุนกับเอกชน
หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน
เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกบรรลุวัตถุประสงค์
และเป็นไปตามนโยบาย แผนงานหรือมาตรการที่กำหนด
(๔)
จัดสรรงบประมาณ จัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมและจำเป็น
รวมตลอดถึงให้การสนับสนุนด้านอื่น
เพื่อให้การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐบรรลุวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัตินี้
(๕)
เสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนโดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านต่างๆ ที่ทันสมัย มาตรฐานสูง
เช่น สถานศึกษา สถานพยาบาล เป็นต้น และลดขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ
ให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
หมวด
๒
องค์กรกำกับดูแลพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ส่วนที่
๑
คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
มาตรา ๗ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง
เรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” ประกอบด้วย
(๑) นายกรัฐมนตรี
เป็นประธานกรรมการ
(๒)รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เป็นกรรมการ
(๔)
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ
(๕) ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และประธานสมาคมธนาคารไทย
เป็นกรรมการ
(๖) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจำนวนไม่เกินห้าคน
เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
การประชุมและการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการนโยบายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
การพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือการแต่งตั้งเพิ่ม
ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
มาตรา ๘
คณะกรรมการนโยบาย มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑)
กำหนดนโยบาย อนุมัติแผนงานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
รวมทั้งมาตรการในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
(๒) อนุมัติแผนงานหรือโครงการของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
(๓)
ติดตามประเมินผลการดำเนินการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ภาคตะวันออก
และรายงานคณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ
(๔)ประกาศกำหนดบริเวณพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งหรือหลายแห่งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
พร้อมทั้งกำหนดลักษณะและประเภทกิจการที่เหมาะสมกับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
(๕)
กำกับดูแลการดำเนินงานของสำนักงาน และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้
ให้มีอำนาจออกระเบียบให้สำนักงานปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัว
(๖) ออกข้อบังคับ
ระเบียบ และประกาศคณะกรรมการนโยบายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องต่าง ๆ
ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(๗) แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ
หรือคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย
(๘)
ปฏิบัติการอื่นใดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
การดำเนินการตาม (๑) และ (๒)
เมื่อคณะกรรมการนโยบายมีมติอนุมัติหรือเห็นชอบเรื่องใดแล้ว ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น
ก็ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหรือเห็นชอบตาม
มติคณะกรรมการนโยบาย
กรณีตาม (๖)
เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ส่วนที่
๒
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
มาตรา
๙ ให้มีสำนักงาน
มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐแต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น
สำนักงานเป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบาย
และเป็นหน่วยงานดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
มาตรา ๑๐
สำนักงานมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑)
เสนอแนะคณะกรรมการนโยบายเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้มีความทันสมัย และบูรณาการ เชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานทุกรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ
(๒)
จัดทำแผนภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคตามมาตรา
๒๖
(๓)ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
(๔)ศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
ความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจและการเงิน
แนวทางในการพัฒนาพื้นที่
ตลอดจนผลกระทบเบื้องต้นและแนวทางหรือมาตรการป้องกัน
แก้ไขหรือเยียวยาผลกระทบดังกล่าว และ ความคุ้มค่า ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับ
เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย
(๕)ศึกษา วิจัย เตรียมการ
และเสนอแนะกิจการต่าง ๆ อันเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบาย
(๖)ติดตาม ประสานงาน กำกับดูแลการบริหารการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
(๗)
รายงานความคืบหน้าและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกต่อคณะกรรมการนโยบาย
(๘)รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการนโยบาย
(๙)
ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้
หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการนโยบายมอบหมาย
ส่วนที่
๓
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
มาตรา ๑๑ ให้สำนักงานมีเลขาธิการหนึ่งคน
มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของสำนักงาน
ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการนโยบาย
ให้เลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน
มาตรา ๑๒ คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้แต่งตั้งเลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ในกรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งเลขาธิการ
ให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่งจำนวนเจ็ดคน
ประกอบด้วยบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย
ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้
ให้แต่งตั้งไม่เกินตำแหน่งละหนึ่งคน
เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองคน
และให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นเลขาธิการ
การแต่งตั้งเลขาธิการเพื่อดำรงตำแหน่งตามวาระ
ให้คณะกรรมการคัดเลือกเสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคสองต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณาก่อนครบวาระเป็นเวลาอย่างน้อยเก้าสิบวัน
ในกรณีที่เลขาธิการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ
ให้คณะกรรมการนโยบายดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามวรรคสองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เลขาธิการพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา
๑๓ ให้คณะกรรมการคัดเลือกกำหนดระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณา
และการคัดเลือก ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
โดยระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับความรู้และประสบการณ์ของเลขาธิการอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่
และลักษณะการมีส่วนได้เสียของเลขาธิการที่อาจขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการอย่างเพียงพอ
เพื่อที่คณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการพิจารณาคัดเลือกได้
ระเบียบตามวรรคหนึ่งให้มีผลใช้บังคับต่อไปแม้คณะกรรมการคัดเลือกที่กำหนดระเบียบดังกล่าวจะพ้นจากตำแหน่งแล้ว
การประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการคัดเลือกทั้งหมด
จึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้คณะกรรมการคัดเลือกพ้นจากตำแหน่ง
เมื่อการคัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการเสร็จสิ้น
มาตรา ๑๔ เลขาธิการต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่เกินหกสิบปี
และสามารถทำงานให้แก่สำนักงานได้เต็มเวลา และไม่มีลักษณะต้องห้าม
ดังต่อไปนี้
(๑)
เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๒)
เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ
(๓) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๔)เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(๕)เป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง
(๖) เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา
๒๐
(๗) เคยถูกไล่ออก
ปลดออก หรือให้ออกจากหน่วยงานของรัฐ
เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
(๘)
เคยต้องคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(๙)
เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
หรือกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหรือกฎหมายเกี่ยวกับการพนันในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก
มาตรา ๑๕ การแต่งตั้งเลขาธิการให้ทำเป็นสัญญาจ้างตามแบบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
โดยประธานกรรมการนโยบายเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้าง
สัญญาจ้างตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง
เงื่อนไขการทำงาน การประเมินผลงาน
การพ้นจากตำแหน่ง การเลิกจ้าง ค่าจ้าง
และประโยชน์ตอบแทนอื่นของเลขาธิการ
เลขาธิการอยู่ในตำแหน่งตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างซึ่งต้องไม่เกินคราวละสี่ปี
และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
ให้คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของเลขาธิการ
มาตรา ๑๖ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
เลขาธิการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑)ตาย
(๒)ลาออก
(๓)ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา
๑๔
(๔)ไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน
(๕)ถูกเลิกจ้างตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
(๖)คณะกรรมการนโยบายมีมติให้เลิกจ้างเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย
มาตรา ๑๗ เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑)กำหนดระเบียบและวิธีปฏิบัติงานในการทำงานของพนักงาน
และลูกจ้าง
(๒)
รับผิดชอบการบริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
และเป็นไปตามนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
(๓)ออกระเบียบหรือข้อบังคับอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้หรือ
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการที่ดีและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(๔) บังคับบัญชา บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด
ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน
ตลอดจนให้พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้
ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานตำแหน่งรองเลขาธิการ ผู้บริหารระดับสูง หรือผู้ตรวจสอบภายใน
ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายก่อน
(๕)
ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานโดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบหรือมติที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
(๖)
ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย
ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนสำนักงาน
และเพื่อการนี้เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดกระทำการแทนก็ได้ตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
มาตรา ๑๘ ให้มีรองเลขาธิการตามจำนวนที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดเพื่อช่วยเลขาธิการในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่เลขาธิการมอบหมาย
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่งของรองเลขาธิการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งรองเลขาธิการคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ
ในกรณีที่ไม่มีรองเลขาธิการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
ให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ
ให้ผู้รักษาการแทนเลขาธิการตามวรรคหนึ่งมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับเลขาธิการ
มาตรา ๒๐ เลขาธิการและรองเลขาธิการต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับสำนักงาน
หรือในกิจการที่กระทำให้แก่สำนักงานไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนโดยสุจริตในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น
ไม่เกินอัตราตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
บุพการี
คู่สมรส ผู้สืบสันดาน หรือบุพการีของคู่สมรสของเลขาธิการหรือรองเลขาธิการผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง
ให้ถือว่าเลขาธิการหรือรองเลขาธิการผู้นั้นมีส่วนได้เสียในกิจการของสำนักงาน
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่เลขาธิการหรือรองเลขาธิการได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายให้เป็นกรรมการในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่สำนักงานเป็นผู้ถือหุ้น
นิติกรรมใดที่ได้ทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามมาตรานี้ไม่มีผลผูกพันสำนักงาน
เว้นแต่คณะกรรมการนโยบายจะได้ให้สัตยาบัน
ส่วนที่
๔
ทรัพย์สิน
การเงิน และการบัญชี
มาตรา ๒๑ รายได้ของสำนักงาน
มีดังต่อไปนี้
(๑) รายได้
หรือผลประโยชน์อันได้มาจากการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
และสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้
(๒)
เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามสมควร
(๓) เงิน
หรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
(๔) ดอกผล
หรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่เกิดจากเงิน หรือทรัพย์สินของสำนักงาน
บรรดารายได้ที่สำนักงานได้รับจากการดำเนินงานในปีหนึ่ง
ๆ ให้ตกเป็นของสำนักงาน และเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
สำหรับการดำเนินงานและค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น
ค่าบำรุงรักษาและค่าเสื่อมราคา ประโยชน์ตอบแทนของคณะกรรมการนโยบาย
พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน เงินสมทบกองทุนเพื่อการสงเคราะห์และสวัสดิการ
เงินกองทุนและเงินสำรองเพื่อใช้จ่ายในกิจการของสำนักงานแล้ว
เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
เงินสำรองเพื่อใช้จ่ายในกิจการของสำนักงานตามวรรคหนึ่ง
ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด
เงินสำรองเพื่อขยายกิจการ เงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหนี้ และเงินสำรองอื่นเพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะตามที่คณะกรรมการนโยบายจะเห็นสมควร
เงินสำรองจะนำออกมาใช้ได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบาย
ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
มาตรา ๒๒
ให้สำนักงานจัดให้มีระบบบัญชีที่เหมาะสมกับกิจการเพื่อจัดทำบัญชีแสดงผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงตามมาตรฐานการบัญชีและหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปตามประเภทของเงินนั้น
ๆ
ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีอิสระที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน
ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานผลของการสอบบัญชีของสำนักงานเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
และให้สำนักงานเผยแพร่รายงานประจำปีของปีที่ล่วงไปนั้น
แสดงงบการเงินซึ่งผู้สอบบัญชีรับรองแล้วภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
มาตรา ๒๓ ให้สำนักงานจัดให้มีการตรวจสอบภายในเป็นประจำ
ให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคนเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ
เพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับผลการตรวจสอบภายในต่อคณะกรรมการนโยบาย
ในการตรวจสอบภายใน
ให้ผู้ตรวจสอบภายในรายงานผลการตรวจสอบภายในโดยตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบตามวรรคสอง
การประชุมและการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการตรวจสอบให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
หมวด
๓
การพัฒนาพื้นที่
ส่วนที่
๑
การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
มาตรา ๒๔
โครงการหรือกิจการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การจัดตั้ง
หรือดำเนินกิจการนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม ชุมชนอุตสาหกรรม
เขตประกอบการอุตสาหกรรม รวมทั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม
ชุมชนอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำหนดให้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญ
เป็นการเฉพาะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
มาตรา ๒๕
ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำแผนผังกลุ่มจังหวัดครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศใช้บังคับให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของคณะกรรมการนโยบายในด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรม
เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ระบบความสัมพันธ์ของชุมชน
การใช้ประโยชน์ที่ดิน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ โครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคมขนส่ง
ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ภายใต้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เมื่อแผนผังกลุ่มจังหวัดตามวรรคหนึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว
ให้กรมโยธาธิการและ
ผังเมือง จัดทำผังเมืองรวม
ให้สอดคล้องกับแผนผังกลุ่มจังหวัด
เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายอาจขอให้กรมโยธาธิการและ ผังเมืองจัดทำผังอื่นใดตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองก็ได้
ขั้นตอนการวางและจัดทำผัง การใช้บังคับ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง
มาตรา ๒๖
ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
ให้สำนักงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จัดทำแผนภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ
และจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาโครงการเพื่อจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกดังต่อไปนี้
ภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
(๑)ระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน
ระบบระบายน้ำ ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น
(๒)ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(๓)ระบบป้องกันอุบัติภัย
(๔)ระบบควบคุมและขจัดมลภาวะ
และการรักษาสิ่งแวดล้อม
(๕)ระบบการให้บริการของรัฐแก่ผู้ประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่สะดวกและรวดเร็ว
(๖)ระบบการคมนาคมและขนส่ง
(๗)สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น
ทั้งนี้
สำนักงานอาจจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์
ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยบูรณาการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม
และการศึกษาศักยภาพในการรองรับการพัฒนาของแผนงาน โครงการ
หรือในระดับพื้นที่เพื่อใช้ประกอบในการกำหนดมาตรการจัดการสิ่งแวดล้อม
และใช้ประกอบในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการหรือกิจการพัฒนาด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน
ระบบสาธารณูปโภค นิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม ชุมชนอุตสาหกรรม
เขตประกอบการอุตสาหกรรม รวมทั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม
ชุมชนอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัตินี้
เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ
มาตรา ๒๗ ถ้าแผนภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคตามมาตรา ๒๖
มีความจำเป็นต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องหรือเชื่อมโยงไปยังภายนอกพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และการดำเนินการดังกล่าวเป็นหน้าที่หรืออำนาจของหน่วยงานของรัฐอื่นใด
ให้สำนักงานเสนอแผนภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
ที่กำหนดไว้ในส่วนนั้นต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อให้ความเห็นชอบและเสนอคณะรัฐมนตรี
เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหรือเห็นชอบแล้ว
ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการและระยะเวลาที่กำหนดไว้
มาตรา ๒๘ เพื่อดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
และแผนภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ที่สำนักงานจัดทำขึ้นตามมาตรา
๒๖
ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย
ให้สำนักงานมีอำนาจ
(๑)จัดสรรที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษโดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาต
แต่ในการดำเนินการต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน
(๒)ควบคุมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นไปตามนโยบายของสำนักงาน
(๓)ลงทุนหรือร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นทั้งในและต่างประเทศเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
(๔)ตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามวัตถุประสงค์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
(๕)
ให้บริการด้านคำปรึกษาหรือแนะนำ
ด้านการผลิต การตลาด การบริหาร การจัดการแก่ผู้ประกอบกิจการภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
(๖)กำหนดราคาขาย ค่าเช่า
และค่าเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์หรือค่าตอบแทนในการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของสำนักงาน
หรือที่สำนักงานมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนได้ ทั้งนี้
ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด
(๗)กู้ยืมเงินเพื่อใช้ในกิจการของสำนักงานตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
(๘)ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุนโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
(๙)ดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวเนื่อง
หรือเป็นการส่งเสริม หรือสนับสนุนกิจการภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
มาตรา ๒๙ ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามวัตถุประสงค์
สำนักงานจะมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการ
หรือจะจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นดำเนินการแทนก็ได้
แต่จะมอบหมายให้ใช้อำนาจตามมาตรา ๓๓ มิได้
การมอบหมายตามวรรคหนึ่ง
อาจดำเนินการโดยวิธีจ้าง หรือวิธีให้บุคคลอื่นเป็นผู้ลงทุนและเรียกเก็บค่าใช้บริการจากสำนักงานหรือจากผู้ใช้บริการโดยตรงตามระยะเวลาที่ตกลงกัน
หรือวิธีอื่นใดที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สำนักงานและผู้ใช้บริการก็ได้
การจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามวรรคหนึ่ง
สำนักงานจะดำเนินการจัดตั้งขึ้นเองหรือร่วมกับบุคคลอื่น
รวมตลอดทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นใดของรัฐ
หรือผู้ใช้บริการก็ได้
ในการพัฒนา
หรือจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคตามแผนภาพรวมตามมาตรา ๒๖
ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐทุกประการ
แต่ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ การให้ความเห็นชอบหลักการโครงการ พิจารณาอนุมัติ
กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
ให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
ตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่องเพื่ออำนวยความสะดวก ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนา
หรือจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคบรรลุวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัตินี้
ส่วนที่
๒
การพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
มาตรา ๓๐ เมื่อคณะกรรมการนโยบายเห็นสมควรกำหนดให้นิคมอุตสาหกรรมใด
หรือพื้นที่ใดซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
การพัฒนาพื้นที่ การพัฒนาเมือง
และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ ให้สำนักงานศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ที่สมควรกำหนดเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจและการเงินในการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ แนวทางการพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ผลกระทบและแนวทางป้องกัน แก้ไข
หรือเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนและสภาพแวดล้อมทั้งก่อนและหลังการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
และความคุ้มค่าในการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
และเสนอรายงานการศึกษาดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ต่อไป
ให้สำนักงานเผยแพร่รายงานการศึกษาตามวรรคหนึ่ง
ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงานเพื่อให้ประชาชนตรวจดูได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
มาตรา
๓๑ การจัดตั้ง เปลี่ยนแปลงเขต
และการยุบเลิกเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
แต่ละเขตให้คณะกรรมการนโยบายประกาศในราชกิจจานุเบกษา
และให้มีแผนที่กำหนดเขตไว้ท้ายประกาศด้วย
ในกรณีที่มีการกำหนดผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมืองอยู่ก่อนวันที่ประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใช้บังคับ
และผังเมืองนั้นครอบคลุมพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
ให้ผังเมืองดังกล่าวสิ้นผลบังคับสำหรับพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
เมื่อได้มีการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามวรรคหนึ่ง
เลขาธิการอาจขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำผังเมืองเฉพาะหรือจัดทำผังอื่นใดตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษก็ได้
มาตรา ๓๒
การประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามมาตรา ๓๑
อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ
ดังต่อไปนี้
(๑)ชื่อของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้มีคำว่า
“เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ”นำหน้า
(๒)วัตถุประสงค์ของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
(๓)ขอบเขตของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้มีแผนที่กำหนดแนวเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษไว้ท้ายประกาศด้วย
(๔)สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการหรืออยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับตามพระราชบัญญัตินี้
(๕)
แผนผังกำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
มาตรา ๓๓ การดำเนินการหรือการกระทำใดภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังต่อไปนี้
และกฎหมายกำหนดให้ผู้ดำเนินการหรือผู้กระทำต้องได้รับอนุมัติ อนุญาต ใบอนุญาต
หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้น
หรือต้องจดทะเบียนหรือแจ้งต่อหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้นก่อน
ให้ถือว่าเลขาธิการเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต
หรือให้ความเห็นชอบ
หรือเป็นผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
(๑)
กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน
(๒) กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
(๓) กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร
(๔) กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
(๕) กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
(๖)
กฎหมายว่าด้วยโรงงาน
เมื่อผู้จะดำเนินการหรือผู้จะกระทำได้รับอนุมัติ
อนุญาต ใบอนุญาต หรือความเห็นชอบจากเลขาธิการหรือได้จดทะเบียนหรือแจ้งต่อเลขาธิการตามวรรคหนึ่งแล้ว
ให้ถือว่าผู้จะดำเนินการหรือผู้จะกระทำการนั้นได้รับอนุมัติ อนุญาต ใบอนุญาต
หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้นแล้ว
หรือได้จดทะเบียนหรือแจ้งต่อหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้นแล้ว
ในการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน
หรือรับแจ้งตามวรรคสอง เลขาธิการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนั้น
และแจ้งให้หน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
เลขาธิการจะมอบอำนาจตามวรรคหนึ่ง
ให้รองเลขาธิการหรือพนักงานของสำนักงานเป็นผู้ปฏิบัติการแทนก็ได้
เมื่อมีการมอบอำนาจดังกล่าวให้แจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทราบด้วย
ให้เลขาธิการ
รองเลขาธิการและพนักงานของสำนักงานที่เลขาธิการมอบอำนาจตามวรรคสี่
มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายตามวรรคหนึ่งด้วย
มาตรา ๓๔ การดำเนินการหรือการกระทำใดภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่กฎหมายอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๓
กำหนดให้ผู้ดำเนินการหรือผู้กระทำต้องได้รับอนุมัติ
อนุญาต ใบอนุญาต
หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้น
หรือต้องจดทะเบียนหรือแจ้งต่อหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้นก่อน
ผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ
หรือผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นจะมอบอำนาจเป็นหนังสือให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจปฏิบัติการแทนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวกำหนดก็ได้
มาตรา
๓๕ นอกจากการอนุมัติ อนุญาต
ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน
หรือรับแจ้งตามมาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ สำนักงานอาจจัดตั้งศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุนเพื่อเสริมประสิทธิภาพการให้บริการแก่นักลงทุน
โดยมีลักษณะเป็นศูนย์บริการร่วมของหน่วยงานภาครัฐที่สามารถเชื่อมโยงการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ นักลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ ณ
สถานที่แห่งเดียว ในการนี้ให้สำนักงานเสนอแผนการจัดตั้งต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อให้ความเห็นชอบและเสนอคณะรัฐมนตรีตามมาตรา
๑๐ (๑) เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหรือเห็นชอบตามมาตรา ๑๐
วรรคสองแล้ว หน่วยงานของรัฐ
ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนการจัดตั้งที่กำหนดไว้
มาตรา ๓๖ ในกรณีที่เห็นสมควร
เลขาธิการจะทำความตกลงกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความชำนาญในงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามมาตรา
๓๓ วรรคหนึ่ง
มาช่วยเหลือหรือแนะนำเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเพื่อให้การอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน
หรือรับแจ้งภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์เดียวกันกับหน่วยงานของรัฐนั้น
หรือจะขอให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมาปฏิบัติหน้าที่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
หรือภายในศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุนตามมาตรา
๓๕ เฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ
รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งก็ได้
มาตรา ๓๗ ในกรณีที่เลขาธิการเห็นว่าหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน
หรือรับแจ้งตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๓
สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ขจัดความซ้ำซ้อนหรือเป็นการลดภาระการดำเนินการหรือการกระทำใดในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
ให้เลขาธิการรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป
มาตรา ๓๘ ในการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต
ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งตามมาตรา ๓๓
ให้สำนักงานมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย
หรือค่าอื่นใดที่กฎหมาย ข้อบัญญัติ
หรือเทศบัญญัติว่าด้วยการนั้นกำหนดให้เรียกเก็บได้
ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บได้ตามวรรคหนึ่ง
เมื่อหักค่าใช้จ่ายของสำนักงานไม่เกินร้อยละสิบตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดแล้ว
ให้นำส่งหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนั้น
มาตรา ๓๙
ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้อยู่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ใช้ชื่อหรือถ้อยคำในประการที่น่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
ส่วนที่
๓
การได้มาและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
มาตรา ๔๐ ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้สำนักงานมีอำนาจดำเนินการ
โดยวิธีการจัดซื้อ เช่า เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืน ถมทะเล
หรือโดยวิธีการอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
ทั้งนี้ ก่อนการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง
ให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา ๘ (๗) ขึ้นคณะหนึ่ง
เพื่อศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ ความเหมาะสมทางด้านการเงิน
ตลอดจนผลกระทบและแนวทางหรือมาตรการป้องกัน แก้ไขหรือเยียวยาผลกระทบดังกล่าว
และความคุ้มค่าที่ประชาชนในพื้นที่และรัฐจะได้รับ
ในการถมทะเลตามวรรคหนึ่ง
ให้สำนักงานถมทะเลได้เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา ๒๔ แล้ว
โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ทั้งนี้
ให้ที่ดินที่เกิดขึ้นจากการถมทะเลเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่สำนักงานมีอำนาจใช้
จัดหาประโยชน์และดูแลรักษาเป็นการเฉพาะ
ที่ดินที่สำนักงานได้มาตามพระราชบัญญัตินี้
สำนักงานมีอำนาจใช้หรือจัดหาประโยชน์ในที่ดินนั้นได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
มาตรา ๔๑ เมื่อสำนักงานจะเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์จากบุคคลอื่น
หรือจะนำที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่า มิให้นำมาตรา ๕๔๐
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา ๕
แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๔๒
มาใช้บังคับ
การเช่า
หรือให้เช่าตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้เช่าเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าห้าสิบปีถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็นห้าสิบปี ทั้งนี้
กำหนดเวลาเช่าดังกล่าวนี้
เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้
แต่จะกำหนดเวลาเกินกว่าสี่สิบเก้าปีนับแต่วันต่อสัญญามิได้
การเช่า
หรือให้เช่าตามมาตรานี้ไม่ถือเป็นการร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
มาตรา ๔๒ บรรดาที่ดิน
และอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานได้มาตามส่วนนี้ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทั้งปวง
และในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้สำนักงานต้องเสียภาษีจากการได้มาหรือการแลกเปลี่ยนซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นให้สำนักงานได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าว
ส่วนที่ ๔
สิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
มาตรา
๔๓ ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
อาจได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามที่กำหนดในประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ดังต่อไปนี้
(๑)สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าว
(๒)สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร
(๓)สิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร
(๔)
สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน
(๕) สิทธิประโยชน์อื่น
สิทธิประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง
ให้กำหนดตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
แต่ละเขต
มาตรา ๔๔ ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้รับสิทธิตามมาตรา ๔๓ (๑)มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน
จำนวนที่ดินและจำนวนห้องชุดในอาคารชุดที่คนต่างด้าวจะพึงมีกรรมสิทธิ์
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
มาตรา ๔๕ ในกรณีที่คนต่างด้าวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามมาตรา
๔๔ วรรคท้าย ถ้ามิได้ประกอบกิจการหรือเข้าอยู่อาศัยภายในเวลาที่สำนักงานกำหนด
หรือเลิกประกอบกิจการหรือมิได้อยู่อาศัยในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นต่อไป คนต่างด้าวนั้นต้องจำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่สำนักงานหรือผู้ที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ
ภายในสามปีนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งให้ทราบ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว
ให้สำนักงานแจ้งอธิบดีกรมที่ดินดำเนินการจำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่สำนักงานหรือบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ราคาที่ดินที่จะขายตามวรรคหนึ่ง
ถ้าเป็นกรณีที่มิได้ประกอบกิจการหรือเข้าอยู่อาศัยภายในเวลาที่กำหนด
ให้คิดราคาตามที่ซื้อมาบวกด้วยดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์โดยเฉลี่ยตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
ถ้าเป็นกรณีอื่นให้คิดตามราคาตลาดแต่ต้องไม่เกินราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
มาตรา ๔๖ การเช่า
หรือให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มิให้นำมาตรา
๕๔๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
และมาตรา ๕
แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.
๒๕๔๒ มาใช้บังคับ
การเช่า
หรือให้เช่าตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้เช่าเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าห้าสิบปีถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็นห้าสิบปี ทั้งนี้
กำหนดเวลาเช่าดังกล่าวนี้ เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้
แต่จะกำหนดเวลาเกินกว่าสี่สิบเก้าปีนับแต่วันต่อสัญญามิได้
มาตรา ๔๗ ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ให้ผู้ประกอบกิจการซึ่งได้รับสิทธิตามมาตรา ๔๓ (๒)มีสิทธินำคนต่างด้าวดังต่อไปนี้
เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรได้ตามจำนวนและระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการนโยบาย
แม้ว่าจะเกินกำหนดจำนวนหรือระยะเวลาให้อยู่ได้ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
(๑)ช่างฝีมือ
(๒)ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ
(๓)คู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลใน (๑)หรือ (๒)
เมื่อสำนักงานอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เลขาธิการแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองทราบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
มาตรา ๔๘ ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว
เพียงเท่าที่พระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ให้ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรตามมาตรา ๔๗ (๑)และ (๒)มีสิทธิทำงานเฉพาะตำแหน่งหน้าที่การทำงานที่ได้รับอนุญาตได้ตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวตลอดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา
๔๗ (๑) และ (๒) โดยให้เลขาธิการแจ้งการอนุญาตดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวทราบ
เพื่อออกใบอนุญาตทำงานให้คนต่างด้าวนั้น
มาตรา
๔๙ ผู้ประกอบกิจการภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
มีสิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรตามมาตรา
๔๓ (๓)ทั้งนี้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน
ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
ในกรณีที่กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
มีสิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรหรือได้รับคืนภาษีอากรตามที่ผู้ประกอบกิจการที่ประกอบกิจการภายในเขตปลอดอากรพึงได้รับตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษนั้นเป็นผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรโดยไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
และให้นำบทบัญญัติในหมวด
๑๐ ทวิ
เขตปลอดอากร และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับกับการนำเข้า
การเก็บรักษา การส่งของออก การควบคุมการย้ายของในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
และอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุโลม
มาตรา ๕๐ ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้รับสิทธิตามมาตรา ๔๓ (๔)อาจได้รับสิทธิดังต่อไปนี้
(๑)ได้รับยกเว้นไม่ต้องขาย
หรือฝากเงินตราต่างประเทศ
(๒) สามารถซื้อ โอน หรือถอนเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ
ระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนธนาคารพาณิชย์ไทย และธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ให้สามารถเปิดให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
โดยให้ได้รับการผ่อนผันการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
(๔) สิทธิประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
ส่วนที่
๕
กองทุนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
มาตรา ๕๑ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน
เรียกว่า “กองทุนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก”
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนในการกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น
พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
มาตรา
๕๒ กองทุนประกอบด้วย
(๑) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้
(๒)
เงินบำรุงกองทุนที่จัดเก็บตามมาตรา ๕๔
(๓) เงินค่าปรับตามมาตรา ๕๗ และมาตรา ๕๘
(๔) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
(๕) ดอกผลหรือผลประโยชน์ใดๆ
ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
เงินและทรัพย์สินที่เป็นของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
มาตรา
๕๓ ให้สำนักงานเป็นผู้รับเงิน จ่ายเงิน
เก็บรักษา และบริหารจัดการเงินกองทุน
แยกออกจากงบประมาณของสำนักงาน
การรับเงิน
การจ่ายเงิน การเก็บรักษา
และการบริหารจัดการเงินกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
มาตรา
๕๔ ให้สำนักงานจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากรายได้
หรือผลประโยชน์อันได้มาจากการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้
ตามอัตราที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บเงินกองทุน
คณะกรรมการนโยบายอาจกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษนำส่งเงินเข้ากองทุน
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำส่งเงินเข้ากองทุน
ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่จะต้องรับภาระในการนำส่งเงินเข้ากองทุนด้วย
มาตรา
๕๕
เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ
ดังต่อไปนี้
(๑) เพื่อการพัฒนา
ยกระดับหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
(๒)
เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน
การใช้จ่ายเงินกองทุนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
และต้องจัดให้มีการแยกบัญชีตามกิจการที่ใช้จ่ายอย่างชัดเจน
หมวด ๔
การกำกับดูแล
มาตรา ๕๖ ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงาน เพื่อการนี้จะสั่งให้สำนักงานชี้แจงข้อเท็จจริง
แสดงความคิดเห็น หรือทำรายงานก็ได้
ในกรณีที่เห็นว่าสำนักงานกระทำการใดอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหาย
ให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้สำนักงานยับยั้งหรือระงับการกระทำการนั้นได้
อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
ในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
นายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้รัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติแทนก็ได้
หมวด
๕
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๕๗ ผู้ประกอบกิจการ
อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนด
ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง
ให้เลขาธิการมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด
หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว
ให้เลขาธิการมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นชำระค่าปรับทางปกครองเป็นรายวันในอัตราวันละไม่เกินหนึ่งล้านบาทจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
และในกรณีที่การไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขนั้นก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายต่อสำนักงาน
หรือเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อย่างร้ายแรง
และเป็นกรณีที่ผู้นั้นเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจากสำนักงาน
เลขาธิการจะบอกเลิกสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก็ได้
มาตรา ๕๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา
๓๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
บทเฉพาะกาล
มาตรา
๕๙ ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ๒๕๕๘ ลงวันที่ ๒๙
ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ทำหน้าที่คณะกรรมการนโยบายตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน
จนกว่าจะมีคณะกรรมการนโยบายตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๖๐ ในวาระเริ่มแรก
ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทำหน้าที่สำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน
จนกว่าจะมีสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา
๖๑
ในวาระเริ่มแรก
ให้ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการของสำนักงานไปพลางก่อน
จนกว่าจะมีการแต่งตั้งเลขาธิการตามมาตรา ๑๒
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
.................................
นายกรัฐมนตรี