ร่าง
พระราชบัญญัติ
การยาสูบแห่งประเทศไทย
พ.ศ.
....
.........................................
.........................................
.........................................
..................................................................................................................................................................................
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการยาสูบแห่งประเทศไทย
..................................................................................................................................................................................
มาตรา
๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. ....
มาตรา
๒
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา
๓ ในพระราชบัญญัตินี้
ยาสูบ หมายความว่า
ยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต
ใบยา หมายความว่า
ใบยาตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต
กิจการใบยา หมายความว่า การเพาะปลูกต้นยาสูบ
การบ่มใบยา การอบใบยา การหั่นใบยา
หรือการดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับใบยาเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ
ผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น หมายความว่า
ผลิตภัณฑ์จากพืชอื่นซึ่งเป็นประโยชน์
ต่อการประกอบอุตสาหกรรมหรือการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยาสูบหรือใบยาตามที่กำหนด
ในพระราชกฤษฎีกา
คณะกรรมการ หมายความว่า
คณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย
ผู้ว่าการ หมายความว่า
ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย
พนักงาน หมายความว่า
พนักงานของการยาสูบแห่งประเทศไทย
ลูกจ้าง หมายความว่า
ลูกจ้างของการยาสูบแห่งประเทศไทย
รัฐมนตรี หมายความว่า
รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา
๔
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น
เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
การจัดตั้ง ทุน และทุนสำรอง
มาตรา ๕ ให้จัดตั้งการยาสูบขึ้น เรียกว่า การยาสูบแห่งประเทศไทย
เรียกโดยย่อว่า ยสท. และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า
Tobacco Authority of Thailand เรียกโดยย่อว่า TOAT
และให้มีตราเครื่องหมายของ ยสท.
รูปลักษณะของตราเครื่องหมายตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๖ ให้ ยสท. เป็นนิติบุคคล
มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่น
และจะจัดตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ
ที่อื่นใดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรก็ได้
แต่การตั้งสำนักงานภายนอกราชอาณาจักรต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๗ ให้ ยสท.
มีวัตถุประสงค์ในการผลิตบุหรี่ซิกาแรตซึ่งเป็นกิจการผูกขาดของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต
และการกระทำกิจการอื่น ดังต่อไปนี้
(๑)
ประกอบอุตสาหกรรมและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยาสูบ ใบยา หรือผลิตภัณฑ์
จากพืชอื่น ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
(๒)
รับจ้างผลิตยาสูบเพื่อส่งออกไปจำหน่ายนอกราชอาณาจักร
(๓) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์
เครื่องมือ หรือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหรือธุรกิจตาม (๑)
(๔) ส่งเสริมให้มีการศึกษา วิจัย
พัฒนา และปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานการผลิตยาสูบ ใบยา หรือผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น
(๕)
ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาสูบ
ใบยา หรือผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น
(๖)
ดำเนินกิจการอื่นอันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของ ยสท. หรือเพื่อประโยชน์แก่
ยสท.
มาตรา ๘ ให้ ยสท. มีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา
๗
ทั้งในและนอกราชอาณาจักร และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง
มีทรัพยสิทธิต่าง ๆ หรือมีสิทธิอื่น
(๒) กระทำนิติกรรมใด ๆ
(๓) ช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษา
ฝึกอบรม ให้ความรู้หรือความร่วมมือ
ทางวิชาการ เกี่ยวกับยาสูบ ใบยา หรือผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น
(๔) กู้หรือยืมเงิน
(๕)
ให้กู้หรือให้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินเพื่อส่งเสริมกิจการใบยา
อุตสาหกรรมยาสูบ หรือผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น
(๖)
ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อใช้ในการลงทุน
(๗) จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการของ
ยสท. ทั้งนี้
บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งในราชอาณาจักร
จะมีคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวถือหุ้นอันเป็นทุนเกินกว่า
ร้อยละสี่สิบเก้าของทุนจดทะเบียนของบริษัทนั้นไม่ได้
(๘)
จัดตั้งนิติบุคคลที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน
(๙)
เข้าร่วมกิจการกับหน่วยงานอื่นไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือของรัฐ
ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคล หรือถือหุ้น
ในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งนี้
เพื่อประโยชน์แก่กิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของ ยสท.
(๑๐) ปกครอง ดูแล บำรุงรักษา จัดการ
ใช้ และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของ ยสท.
(๑๑)
กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดการให้สำเร็จ
ตามวัตถุประสงค์ของ ยสท.
มาตรา ๙ ทุนของ ยสท. ประกอบด้วย
(๑) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา
๓๙
(๒)
เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้เป็นทุน
(๓)
เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่รับโอนจากทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล
มาตรา ๑๐ ยสท. อาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
(๑) รายได้จากการประกอบอุตสาหกรรมและการดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของ
ยสท.
(๒)
รายได้จากการลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการของ
ยสท.
(๓) ค่าตอบแทน ค่าบริการ
หรือรายได้อื่นจากการดำเนินการ
(๔) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของ
ยสท.
มาตรา ๑๑ เงินสำรองของ ยสท.
ให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้
เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อขยายกิจการ เงินสำรองเพื่อการไถ่ถอนหนี้
และเงินสำรองอื่น ๆ
ตามความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
เงินสำรองจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
มาตรา ๑๒ ทรัพย์สินของ ยสท.
ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
หมวด ๒
คณะกรรมการและผู้ว่าการ
มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการการยาสูบ
แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย
ประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกไม่เกินเก้าคน
ให้ผู้ว่าการเป็นกรรมการและเลขานุการ
และให้ผู้ว่าการแต่งตั้งพนักงาน
จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่น
มาตรา ๑๔ ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเกษตรศาสตร์
อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
การบริหาร เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือกฎหมาย
มาตรา ๑๕
ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระ
การดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง
หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการขึ้นใหม่
ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น
อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่
เข้ารับหน้าที่
ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
มาตรา ๑๖ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๕
ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ
ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน เว้นแต่วาระเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน
จะไม่แต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการแทนก็ได้
และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น
อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ
ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่จนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการตามวรรคสอง
และในกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ
ให้กรรมการที่เหลือเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานกรรมการเป็นการชั่วคราว
มาตรา ๑๗
ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ
ยสท. หน้าที่และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑)
ออกระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามมาตรา
๗ และมาตรา ๘
(๒)
ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบกิจการใบยา
หรือการดำเนินการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น
(๓)
ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารและการดำเนินงาน
(๔)
ออกระเบียบหรือข้อบังคับการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ
(๕)
ออกข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติงานของผู้ว่าการ
และการมอบให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนผู้ว่าการ
(๖)
ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ แต่งตั้ง การประเมินผลงาน
การเลื่อนเงินเดือนหรือลดเงินเดือน วินัยและการลงโทษทางวินัย
การอุทธรณ์การลงโทษทางวินัย
การออกจากตำแหน่ง ตลอดจนการกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง
และเงินอื่น ๆ
ของพนักงานและลูกจ้าง
(๗)
ออกข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการ
ของพนักงาน ลูกจ้าง และครอบครัว
(๘)
ออกระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบและเครื่องแต่งกายของประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ
และพนักงาน
(๙)
แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินกิจการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ระเบียบหรือข้อบังคับซึ่งมีข้อความจำกัดอำนาจผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายในการทำนิติกรรม
ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๘ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ
และอนุกรรมการได้รับประโยชน์
ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ว่าการ
มาตรา ๒๐
ผู้ว่าการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละไม่เกินสี่ปี
และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา ๒๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๐
ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) สัญญาจ้างสิ้นสุดลง
(๔)
คณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่
หรือมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
(๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
มาตรา ๒๒ ผู้ว่าการมีหน้าที่บริหารกิจการของ ยสท.
ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ
และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง
ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของ
ยสท.
มาตรา ๒๓ ผู้ว่าการมีอำนาจ
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด
ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัย
และกิจการอื่นด้านการบริหารงานบุคคลของพนักงานและลูกจ้าง
ตามระเบียบหรือข้อบังคับ
ที่คณะกรรมการกำหนด
แต่ถ้าเป็นพนักงานตั้งแต่ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไป
จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
(๒)
วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและกำหนดเงื่อนไขในการทำงานของพนักงานและลูกจ้าง
โดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบหรือข้อบังคับและนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๔ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก
ให้ผู้ว่าการเป็นผู้แทนของ ยสท. และเพื่อการนี้
ผู้ว่าการอาจมอบให้บุคคลใดปฏิบัติงานแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับ
ที่คณะกรรมการกำหนด
กิจการที่ผู้ว่าการกระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับตามมาตรา
๑๗ วรรคสอง ย่อมไม่ผูกพัน ยสท. เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน
มาตรา ๒๕
ในกรณีที่ผู้ว่าการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด
หรือเมื่อตำแหน่งผู้ว่าการว่างลงและยังมิได้มีการแต่งตั้งผู้ว่าการ
ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงาน
ในระดับรองผู้ว่าการคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทน
แต่ในกรณีที่ไม่มีรองผู้ว่าการหรือรองผู้ว่าการ
ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทน
ให้ผู้รักษาการแทนผู้ว่าการมีหน้าที่และอำนาจอย่างเดียวกับผู้ว่าการ
มาตรา ๒๖ ประธานกรรมการ กรรมการ และพนักงาน อาจได้รับโบนัส
หรือเงินรางวัลตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
หมวด ๓
การร้องทุกข์และการสงเคราะห์
มาตรา ๒๗
พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๘ ให้ ยสท.
จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์
หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของพนักงาน ลูกจ้าง และครอบครัว
ในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย
หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์
ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
การจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นตามวรรคหนึ่ง
การกำหนดหลักเกณฑ์การออกเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์
การกำหนดประเภทของผู้ซึ่งพึงได้รับ
การสงเคราะห์ และหลักเกณฑ์การสงเคราะห์
ตลอดจนการจัดการเกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์
ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
หมวด ๔
การเงิน การบัญชี
และการตรวจสอบ
มาตรา ๒๙ ให้ ยสท.
จัดทำงบประมาณประจำปีโดยจำแนกเงินที่จะได้รับ
ในปีหนึ่ง ๆ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ
ให้แยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ
สำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ
ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
มาตรา ๓๐ รายได้ที่ ยสท.
ได้รับจากการดำเนินงานในปีหนึ่ง ๆ ให้ตกเป็นของ ยสท.
สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อได้หักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงาน
ค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม รวมตลอดถึงค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา
เงินสำรองตามมาตรา ๑๑ หนี้เงินกู้
ที่ถึงกำหนดชำระ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างตามมาตรา
๒๘ และเงินลงทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เหลือเท่าใดให้ ยสท.
นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้
ตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด
มาตรา ๓๑ ให้ ยสท.
เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด
มาตรา ๓๒ ให้ ยสท.
วางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี
ที่รับรองทั่วไป แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ
มีการลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่จริงและตามที่ควรตามประเภทงาน
พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการดังกล่าว
และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ
มาตรา ๓๓ ให้ ยสท.
จัดทำงบการเงินส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
มาตรา ๓๔ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี
และทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของ ยสท.
ทุกรอบปีบัญชี
ให้ผู้สอบบัญชีจัดทำรายงานการสอบบัญชีและการเงินเสนอต่อคณะกรรมการ
เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
มาตรา ๓๕ ให้ ยสท.
จัดทำและโฆษณารายงานประจำปีที่ล่วงมาแล้ว
โดยแสดงงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับรองแล้ว
รวมทั้งรายงานสรุปผลงานของ ยสท. ในปีที่ล่วงมาแล้ว
หมวด ๕
การกำกับและควบคุม
มาตรา ๓๖ ให้รัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ
ยสท.
เพื่อการนี้ จะสั่งให้ ยสท. ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น
ทำรายงาน กระทำการหรือยับยั้ง
การกระทำใด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี
ตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของ ยสท. ได้
มาตรา ๓๗ ในกรณีที่ ยสท. จะต้องเสนอเรื่องใด ๆ
ไปยังคณะรัฐมนตรี ให้ ยสท. นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี ในการนี้ รัฐมนตรีอาจเสนอความเห็น
เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยก็ได้
มาตรา ๓๘ ยสท.
ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะดำเนินการดังต่อไปนี้ได้
(๑)
โครงการลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป
(๒)
กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินเป็นจำนวนเกินคราวละหนึ่งร้อยล้านบาท
(๓)
ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อใช้ในการลงทุน
(๔)
จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาเกินสิบล้านบาท
(๕) จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดในหรือนอกราชอาณาจักร
(๖) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น
หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด
หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคล
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๓๙ ให้กระทรวงการคลังโอนบรรดากิจการ เงิน
ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ และความรับผิด
ของกระทรวงการคลังในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปเป็นของ ยสท.
ซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
แต่ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้โอนเฉพาะในส่วนที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจการของ
ยสท. ดังนี้
(๑)
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงาน โรงพยาบาลโรงงานยาสูบ
หรือใช้ในกิจการของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
ตามรายการที่รัฐมนตรีกำหนดตามข้อเสนอ
ของกรมธนารักษ์ร่วมกับโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
รวมทั้งส่วนควบและอุปกรณ์ ให้โอนไปเป็นของ ยสท. ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(๒)
อสังหาริมทรัพย์อื่นตามที่กรมธนารักษ์และ ยสท. ตกลงร่วมกันและรัฐมนตรี
ให้ความเห็นชอบ
ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุมาใช้บังคับกับการโอน
ตามวรรคหนึ่ง
ในระหว่างที่ยังมิได้โอนอสังหาริมทรัพย์ตาม
(๒) ให้ ยสท. ใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ต่อไปได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า
เพื่อประโยชน์ในการสงเคราะห์พนักงาน ลูกจ้าง
และครอบครัว และให้บริการ
แก่ชุมชน ให้ ยสท. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจดำเนินกิจการของโรงพยาบาลโรงงานยาสูบ
ที่รับโอนมา
ตาม (๑) ต่อไป
โดยอาจทำความตกลงร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ทางการแพทย์
และสาธารณสุขหรือองค์กรสาธารณกุศลอื่นเพื่อพัฒนาการให้บริการได้
มาตรา ๔๐
ให้ประธานกรรมการและกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
เป็นประธานกรรมการและกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัตินี้
และปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัตินี้
ซึ่งต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๔๑ ให้ผู้อำนวยการยาสูบ
ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการจนกว่าจะครบกำหนดตามสัญญาจ้าง ทั้งนี้ ให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่
ค่าตอบแทนพิเศษ และสิทธิประโยชน์อื่นตามสัญญาจ้างต่อไป
การนับวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าการตามมาตรา
๒๐ ให้นับรวมวาระการดำรงตำแหน่งการเป็นผู้อำนวยการยาสูบด้วย
มาตรา ๔๒ ให้บรรดาพนักงานและลูกจ้างของโรงงานยาสูบ
กระทรวงการคลัง
ซึ่งดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของ ยสท. แล้วแต่กรณี ตามพระราชบัญญัตินี้
โดยให้ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการและ
ประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นเท่าที่เคยได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน
จนกว่าผู้ว่าการจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
แต่จะแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น
ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิมไม่ได้ ทั้งนี้
ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้
ใช้บังคับ
การเปลี่ยนสถานะไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของ
ยสท. ตามวรรคหนึ่ง ไม่ถือว่า
เป็นการออกจากงานเพราะสังกัดเดิมเลิกจ้าง
และให้ถือว่าระยะเวลาการทำงานในขณะที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของโรงงานยาสูบ
กระทรวงการคลัง เป็นระยะเวลาที่ทำงานให้แก่ ยสท.
มาตรา ๔๓ ให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานของโรงงานยาสูบ
กระทรวงการคลัง ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังคงอยู่ต่อไป
โดยให้ ยสท. ที่จัดตั้งขึ้น
ตามพระราชบัญญัตินี้มีฐานะเป็นนายจ้าง
มาตรา ๔๔ บรรดาคดีเกี่ยวกับโรงงานยาสูบ
กระทรวงการคลัง
ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นคู่ความหรือเข้าเกี่ยวข้องในฐานะใด ๆ
ที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ ยสท. เข้าเป็นคู่ความหรือเป็นผู้เกี่ยวข้องในฐานะนั้นแทน
ไม่ว่าการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นจะอยู่ในชั้นใด
และให้ถือว่าผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนกระทรวงการคลังในคดีนั้น ๆ
เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก ยสท. ต่อไปด้วย
มาตรา ๔๕ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง
ของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ
หรือคำสั่ง
ตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ผู้รับสนองพระราชโองการ
...........................................
นายกรัฐมนตรี