พระราชบัญญัติ
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
พุทธศักราช ๒๔๗๕
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ
ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า
โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมภาษีโรงเรือนและขยายออกไปถึงที่ดินด้วย
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยบทมาตราต่อไปนี้
มาตรา ๑
พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน
พุทธศักราช ๒๔๗๕
มาตรา ๒[๑] ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ ๑
เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๕
มาตรา ๓
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้เฉพาะแต่ในท้องที่ซึ่งได้ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้
ต่อไปเมื่อทรงพระราชดำริเห็นสมควรจะใช้พระราชบัญญัตินี้ขยายออกไปในท้องที่ใด
จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ขยายออกไปเป็นคราว ๆ
มาตรา ๔
นับตั้งแต่วันที่ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป และภายในท้องที่ซึ่งได้ระบุไว้ตามมาตราก่อน
ให้ยกเลิกกฎหมายดังต่อไปนี้
๑.
ประกาศภาษีเรือโรงร้านตึกแพ ปีมะเมียโทศก จุลศักราช ๑๒๓๒
๒.
ประกาศแก้ข้อความในประกาศเก็บภาษีเรือโรงร้านตึกแพ ปีมะเมียโทศก
จุลศักราช ๑๒๓๒
๓.
ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมภาษีเรือโรงร้าน พุทธศักราช ๒๔๗๔
๔.
ประกาศว่าด้วยการใช้ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมภาษีเรือโรงร้าน พุทธศักราช ๒๔๗๔
มาตรา ๕
ในพระราชบัญญัตินี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
ที่ดิน
ให้กินความถึง ทางน้ำ บ่อน้ำ สระน้ำ ฯลฯ
โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น
ๆ ให้กินความถึงแพด้วย
ราคาตลาด
หมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินพร้อมทั้งสิ่งที่ทำเพิ่มเติมให้
ดีขึ้นทั้งสิ้น (ถ้ามี) ซึ่งจะจำหน่ายได้ในขณะเวลาที่กำหนดราคาตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับประเมิน
หมายความว่า บุคคลผู้พึงชำระค่าภาษี
ปี
หมายความว่า ปีตามปฏิทินหลวง
พนักงานเจ้าหน้าที่[๒] หมายความว่า
ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่รับแบบแสดงรายการทรัพย์สิน ประเมินภาษี
และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
พนักงานเก็บภาษี[๓] หมายความว่า
ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่จัดเก็บ รับชำระ รวมทั้งเร่งรัดให้ชำระภาษี
และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
รัฐมนตรี[๔] หมายความว่า
รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
กำหนด[๕] (ยกเลิก)
รัฐวิสาหกิจ[๖] หมายความว่า
รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
มาตรา ๖
เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ท่านให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็น ๒ ประเภท
คือ
(๑)
โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ
กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ
(๒)
ที่ดินซึ่งมิได้ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ
ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น
ๆ ตามความหมายแห่งมาตรานี้ หมายความว่า
ที่ดินซึ่งปลูกโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ
และบริเวณต่อเนื่องกันซึ่งตามปกติใช้ไปด้วยกันกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ
มาตรา ๖ ทวิ[๗]
ให้รัฐมนตรีมีอำนาจยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่รัฐวิสาหกิจสำหรับพื้นที่ที่เป็นบริเวณต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่ใช้ประโยชน์โดยตรงของรัฐวิสาหกิจนั้นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดได้
มาตรา ๗[๘]
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่น
รวมทั้งออกระเบียบและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้
ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง
กฎกระทรวงนั้น
เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๗ ทวิ[๙] เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษี
ภาค ๑
ภาษีโรงเรือน
และสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ กับที่ดินซึ่งใช้
ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างนั้น
ๆ
มาตรา ๘[๑๐]
ให้ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สิน คือ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นกับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นนั้น
ในอัตราร้อยละสิบสองครึ่งของค่ารายปี
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้
ค่ารายปี หมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ
ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี
แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้
หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน
ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ทั้งนี้
ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๙
ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ท่านให้ยกเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้
(๑)
พระราชวังอันเป็นส่วนของแผ่นดิน
(๒)[๑๑]
ทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะและทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการการรถไฟโดยตรง
(๓)
ทรัพย์สินของโรงพยาบาลสาธารณะและโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล
และใช้เฉพาะในการรักษาพยาบาลและในการศึกษา
(๔)
ทรัพย์สินซึ่งเป็นศาสนสมบัติอันใช้เฉพาะในศาสนกิจอย่างเดียว
หรือเป็นที่อยู่ของสงฆ์
(๕)
โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ
ซึ่งปิดไว้ตลอดปีและเจ้าของมิได้อยู่เองหรือให้ผู้อื่นอยู่ นอกจากคนเฝ้า
ในโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ หรือในที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกัน
(๖)[๑๒]
โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างของการเคหะแห่งชาติที่ผู้เช่าซื้ออาศัยอยู่เองโดยมิได้ใช้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรมหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้
มาตรา ๑๐[๑๓] โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ
ซึ่งเจ้าของอยู่เอง หรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา
และซึ่งมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรม
ท่านให้งดเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นไป
มาตรา ๑๑
ถ้าโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ถูกรื้อถอนหรือทำลายโดยประการอื่น
ท่านให้ลดยอดค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นตามส่วนที่ถูกทำลายตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ทำขึ้น
แต่ในเวลานั้นโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ
นั้นต้องเป็นที่ซึ่งยังใช้ไม่ได้
ในกรณีนี้ถ้าไม่มีโรงเรือนอื่นหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น
ๆ ในที่ดินนั้น ท่านให้กำหนดค่าภาษีในเวลาที่กล่าวข้างบนตามบทบัญญัติในภาค ๒
แห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๒
โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ซึ่งทำขึ้นในระหว่างปีนั้น
ท่านว่าให้เอาเวลาซึ่งโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ
นั้นได้มีขึ้นและสำเร็จจนควรเข้าอยู่ได้แล้วเท่านั้นมาเป็นเกณฑ์คำนวณค่ารายปี
ถ้าในระหว่างปีไม่มีโรงเรือนอื่นหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น
ๆ ในที่ดินนั้น ท่านให้กำหนดค่าภาษีเฉพาะเวลานั้น ตามบทบัญญัติในภาค ๒
แห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๓
ถ้าเจ้าของโรงเรือนใดติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก
เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น
โรงสี โรงเลื่อย ฯลฯ ขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ
ในการประเมินท่านให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้น
รวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วด้วย
มาตรา ๑๔
เวลาซึ่งลดค่ารายปีตามภาคนี้ ท่านให้คำนวณแต่เดือนเต็ม
มาตรา ๑๕
ในท้องที่ซึ่งได้จัดตั้งสุขาภิบาลแล้ว หรือจะตั้งขึ้นก็ดี
ท่านให้แบ่งผลประโยชน์จากภาษีนั้น ระหว่างสุขาภิบาล (สองส่วนในสาม) กับรัฐบาล
(หนึ่งส่วนในสาม)
ค่าใช้จ่ายในการเก็บภาษีทุกอย่าง
ท่านให้รัฐบาลเป็นผู้เสีย
ภาค ๒
ภาษีที่ดินซึ่งมิได้ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือน
หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น
ๆ[๑๔]
ภาค ๓
วิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษี
ซึ่งกล่าวในภาค ๑ และภาค ๒
การประเมิน
มาตรา ๑๘
ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้น ท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา
มาตรา ๑๙[๑๗]
ให้ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
แต่ถ้าในปีที่ล่วงมาแล้วมีเหตุจำเป็นอันเกิดจากสาธารณภัยหรือเหตุพ้นวิสัยที่จะป้องกันได้โดยทั่วไป
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเลื่อนกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปได้ตามที่เห็นสมควร
ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับแบบพิมพ์ตามวรรคหนึ่ง
หรือในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี
พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจมีหนังสือสอบถามผู้เช่าหรือผู้ครองทรัพย์สินเพื่อให้ตอบข้อความตามแบบพิมพ์เช่นเดียวกันได้
และผู้เช่าหรือผู้ครองทรัพย์สินต้องตอบข้อสอบถามในแบบพิมพ์ดังกล่าว
แล้วส่งคืนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือสอบถาม
ในกรณีเช่นนี้ผู้เช่าหรือผู้ครองทรัพย์สินต้องอยู่ในบทบังคับและมีความรับผิดเช่นเดียวกับผู้รับประเมินเพียงเท่าที่เกี่ยวกับการสอบถามข้อความ
มาตรา ๒๐[๑๘] ให้ผู้รับประเมิน ผู้เช่า
หรือผู้ครองทรัพย์สินกรอกรายการในแบบพิมพ์ตามความเป็นจริงตามความรู้เห็นของตนให้ครบถ้วน
และรับรองความถูกต้องของข้อความดังกล่าว พร้อมทั้งลงวันที่ เดือน ปี
และลายมือชื่อของตนกำกับไว้
แล้วส่งคืนไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่
การส่งแบบพิมพ์ตามวรรคหนึ่ง
จะนำไปส่งด้วยตนเอง มอบหมายให้ผู้อื่นไปส่งแทน
หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้
ในกรณีที่ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
ให้ถือว่าวันที่ส่งทางไปรษณีย์เป็นวันยื่นแบบพิมพ์
มาตรา ๒๑
ท่านให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพิจารณาแบบใบแจ้งรายการนี้
และถ้าเห็นจำเป็นก็ให้มีอำนาจสั่งให้ผู้รับประเมินแสดงรายการเพิ่มเติมละเอียดยิ่งขึ้น
และถ้าจะเรียกให้นำพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้อความในรายการนั้นก็เรียกได้
มาตรา ๒๒
ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มิได้รับคำตอบจากผู้รับประเมินภายในสิบวันหรือได้รับคำตอบอันไม่เพียงพอไซร้
ท่านให้มีอำนาจออกหมายเรียกผู้รับประเมินมา ณ สถานที่ซึ่งเห็นสมควร
และให้นำพยานหลักฐานในเรื่องอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ มาแสดงตามซึ่งเห็นจำเป็น
กับให้มีอำนาจซักถามผู้รับประเมินในเรื่องใบแจ้งรายการนั้น
มาตรา ๒๓
เพื่อประโยชน์ในการประเมิน
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจตราทรัพย์สินได้ด้วยตนเองต่อหน้าผู้รับประเมิน
ผู้เช่า หรือผู้ครอง หรือผู้แทน ระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตก
และเมื่อผู้รับประเมิน ผู้เช่าหรือผู้ครองได้รับคำขอร้องแล้ว
ก็จะต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจตรานั้น
ในการนี้ผู้รับประเมิน
ผู้เช่าหรือผู้ครองจะต้องได้รับแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบไม่ต่ำกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงก่อนตรวจ
มาตรา ๒๔
เมื่อได้ไต่สวนตรวจตราแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะกำหนด
(ก)
ประเภทแห่งทรัพย์สินตามมาตรา ๖
(ข)
ค่ารายปีแห่งทรัพย์สิน
(ค)
ค่าภาษีที่จะต้องเสีย
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งรายการตามที่ได้กำหนดไว้นั้นไปยังพนักงานเก็บภาษี
ให้พนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินไปให้ผู้รับประเมินทรัพย์สินในท้องที่ของตนทราบโดยมิชักช้า
มาตรา ๒๔ ทวิ[๑๙]
ผู้รับประเมินผู้ใดไม่ยื่นแบบพิมพ์แสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา
๑๙ หรือยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินและให้มีการแจ้งการประเมินย้อนหลังให้ผู้รับประเมินเสียภาษีตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินได้
การประเมินตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(๑)
ในกรณีไม่ยื่นแบบพิมพ์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตามมาตรา ๒๔ ย้อนหลังได้ไม่เกินสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา
๑๙
(๒)
ในกรณียื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตามมาตรา ๒๔
ย้อนหลังได้ไม่เกินห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา
๑๙
มาตรา ๒๕
ผู้รับประเมินผู้ใดไม่พอใจในการประเมินไซร้
ท่านว่าอาจยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากร หรือสมุหเทศาภิบาลตามแต่จะได้กำหนดไว้
เพื่อขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ โดยวิธีการดังจะได้กล่าวต่อไป
มาตรา ๒๖
คำร้องทุก ๆ ฉบับ ให้เขียนในแบบพิมพ์ซึ่งกรมการอำเภอจ่าย
เมื่อผู้รับประเมินลงนามแล้วให้ส่งต่อกรมการอำเภอในท้องที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ภายในเวลาสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งความตามมาตรา
๒๔ นั้น เพื่อให้ส่งต่อไปยังอธิบดีกรมสรรพากร หรือสมุหเทศาภิบาล แล้วแต่กรณี
มาตรา ๒๗
ถ้าคำร้องยื่นภายหลังเวลาซึ่งกำหนดไว้ในมาตราก่อน ท่านให้อธิบดีกรมสรรพากร
หรือสมุหเทศาภิบาลมีหนังสือแจ้งความให้ผู้รับประเมินทราบว่าหมดสิทธิที่จะให้พิจารณาการประเมินใหม่
และจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นเป็นจำนวนเด็ดขาด
เมื่อเป็นดังนี้ห้ามไม่ให้นำคดีขึ้นสู่ศาล เว้นแต่ในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งอ้างว่าเป็นเหตุหมดสิทธินั้น
มาตรา ๒๘
เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทน หรือสมุหเทศาภิบาล แล้วแต่กรณี
ได้รับคำร้องแล้ว มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ร้องมาซักถาม
แต่ต้องให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวัน
มาตรา ๒๙
ผู้ร้องผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทน
หรือสมุหเทศาภิบาล หรือไม่ยอมให้ซักถาม หรือไม่ตอบคำถาม
หรือไม่นำพยานหลักฐานมาสนับสนุนคำร้องของตนเมื่อเรียกให้นำมา
ท่านว่าผู้นั้นหมดสิทธิที่จะขอให้พิจารณาการประเมินใหม่
และจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นเป็นจำนวนเด็ดขาด แต่ทั้งนี้ไม่ให้เป็นการปลดเปลื้องผู้ร้องให้พ้นจากความรับผิดในการแจ้งความเท็จโดยเจตนาหรือโดยที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ
มาตรา ๓๐
คำชี้ขาดของอธิบดีกรมสรรพากร หรือสมุหเทศาภิบาลนั้น
ให้แจ้งไปยังผู้ร้องเป็นลายลักษณ์อักษร
ถ้ามีการลดจำนวนเงินที่ประเมินไว้เป็นจำนวนเท่าใดก็ให้แจ้งไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่
เพื่อจะได้แก้ไขบัญชีการประเมินตามคำชี้ขาดนั้น
มาตรา ๓๑
ผู้รับประเมินผู้ใดไม่พอใจในคำชี้ขาดของอธิบดีกรมสรรพากร หรือสมุหเทศาภิบาล
จะนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกก็ได้
แต่ต้องทำภายในสามสิบวัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด
ถ้าอธิบดีกรมสรรพากร
หรือสมุหเทศาภิบาลชี้ขาดว่าผู้รับประเมินหมดสิทธิที่จะให้การประเมินของตนได้รับพิจารณาใหม่ตามมาตรา
๒๙ ห้ามไม่ให้นำคดีขึ้นสู่ศาล เว้นแต่ในปัญหา
ข้อกฎหมายซึ่งอ้างว่าเป็นเหตุหมดสิทธินั้น
ในกรณีที่ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจในคำชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง
เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร
ให้รัฐวิสาหกิจนั้นนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน
นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา ๓๐
ในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ตามที่เห็นสมควร
มติของคณะรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด[๒๐]
มาตรา ๓๒
เมื่อคำพิพากษาที่สุดของศาลซึ่งแก้คำชี้ขาดของอธิบดีกรมสรรพากร
หรือสมุหเทศาภิบาลนั้น ได้ส่งไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบแล้ว
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้บัญชีการประเมินให้ถูกต้องโดยเร็ว
มาตรา ๓๓
การขอยกเว้น ขอให้ปลดภาษี หรือขอลดค่าภาษีตามความในภาค ๑ และภาค ๒ นั้น
ผู้รับประเมินต้องเขียนลงในแบบพิมพ์ที่ยื่นต่อกรมการอำเภอทุก ๆ ปี
พร้อมด้วยพยานหลักฐานที่จะสนับสนุน เพื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้สามารถสอบสวนให้แน่นอนโดยการ
ไต่สวน หรือวิธีอื่นว่าคำร้องขอนั้นมีมูลดีและควรจะให้ยกเว้นหรือปลดหรือลดภาษีเพียงใดหรือไม่
มาตรา ๓๔
ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งยกคำขอยกเว้นหรือคำขอให้ปลดภาษีหรือลดค่าภาษีก็ให้แจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้รับประเมิน
และผู้รับประเมินมีสิทธิเช่นเดียวกับในเรื่องที่ได้บ่งไว้ในหมวดนี้ที่ว่าด้วยการประเมิน
มาตรา ๓๕
ในการกำหนดค่าภาษีนั้น เศษที่ต่ำกว่าครึ่งสตางค์ให้ปัดทิ้ง
ถ้าครึ่งสตางค์ขึ้นไปให้นับเป็นหนึ่งสตางค์
มาตรา ๓๖
หนังสือแจ้งความและหมายเรียกตามพระราชบัญญัตินี้จะให้คนนำไปส่งหรือจะส่งโดยทางจดหมายไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้
ถ้าให้คนนำไปส่งเมื่อผู้ส่งไม่พบผู้รับไซร้ จะส่งให้แก่บุคคลใด
ซึ่งมีอายุเกินยี่สิบปีที่อยู่ในบ้านเรือนหรือสำนักการค้าของผู้รับก็ได้
และการส่งเช่นนี้ให้ถือว่าเป็นการพอเพียงตามกฎหมาย
ถ้าหาตัวผู้รับมิได้และไม่มีบุคคลที่จะรับดังกล่าวข้างบนไซร้
ท่านว่าอาจส่งโดยวิธีปิดหนังสือแจ้งความหรือหมายนั้นในที่ที่เห็นได้ถนัดที่ประตูบ้านผู้รับ
หรือโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่
ก็ได้
มาตรา ๓๗
ถ้าผู้รับประเมินจะต้องลงนามในแบบพิมพ์ใดตามพระราชบัญญัตินี้
ท่านว่าจะมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตัวแทนลงนามแทนก็ได้
ถ้าผู้รับประเมินได้รับหมายเรียกตัวตามพระราชบัญญัตินี้
นอกจากที่กล่าวในหมายเรียกว่าต้องไปเอง ท่านว่าจะมอบฉันทะเป็น
ลายลักษณ์อักษรให้ตัวแทนไปแทนตัวก็ได้
แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องพอใจว่าผู้แทนนั้นได้รับมอบอำนาจโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การเก็บภาษี
มาตรา ๓๘[๒๑] ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีนำค่าภาษีไปชำระต่อพนักงานเก็บภาษีภายในสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
ณ
สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตั้งอยู่
หรือสถานที่อื่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดโดยประกาศล่วงหน้าไว้ ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
การชำระภาษีจะชำระโดยการส่งธนาณัติ
ตั๋วแลกเงินของธนาคาร
หรือเช็คที่ธนาคารรับรองทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังสถานที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้
โดยสั่งจ่ายให้แก่องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ หรือโดยการชำระผ่านธนาคาร
หรือโดยวิธีอื่นตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด
การชำระภาษีให้ถือว่าได้มีการชำระแล้วในวันที่พนักงานเก็บภาษีได้ลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงิน
เว้นแต่การชำระภาษีตามวรรคสองให้ถือว่าวันส่งทางไปรษณีย์ วันชำระผ่านธนาคาร
หรือวันชำระโดยวิธีอื่นตามที่กำหนด แล้วแต่กรณี เป็นวันชำระภาษี
มาตรา ๓๘ ทวิ[๒๒] การชำระค่าภาษีตามพระราชบัญญัตินี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะกำหนดให้มีการผ่อนชำระก็ได้
วงเงินค่าภาษีที่จะมีสิทธิผ่อนชำระ
รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการในการผ่อนชำระ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๙
ถ้ามีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลตามความในมาตรา ๓๑
ท่านห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามกฎหมาย
เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระ
เพราะเวลาซึ่งท่านให้ไว้ตามมาตรา ๓๘ นั้น ได้สิ้นไปแล้ว
หรือจะถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล
ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี
ท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือน โดยไม่คิดค่าอย่างใด
มาตรา ๔๐
ค่าภาษีนั้น ท่านให้เจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้เสีย
แต่ถ้าที่ดินและโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น
ๆ เป็นของคนละเจ้าของ เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ
ต้องเสียค่าภาษีทั้งสิ้น
ในกรณีเช่นนั้นถ้าเจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ไม่เสียภาษี
ท่านว่าการขายทรัพย์สินทอดตลาดของผู้นั้นตามมาตรา ๔๔ ให้รวมขายสิทธิใด ๆ
ในที่ดินอันเจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ยังคงมีอยู่นั้นด้วย
มาตรา ๔๑
ถ้าผู้รับประเมินยื่นคำร้องและปรากฏว่าผู้รับประเมินได้เสียหายเพราะทรัพย์สินว่างลงหรือทรัพย์สินชำรุดถึงจำเป็นต้องซ่อมแซมในส่วนสำคัญ
ท่านว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะลดค่าภาษีลงตามส่วนที่เสียหาย หรือปลดค่าภาษีทั้งหมดก็ได้
ถ้าผู้ร้องไม่พอใจ
ท่านว่าจะร้องขอให้อธิบดีกรมสรรพากร หรือสมุหเทศาภิบาลพิจารณาอีกชั้นหนึ่งก็ได้
คำตัดสินของอธิบดีกรมสรรพากรหรือสมุหเทศาภิบาลนั้น ท่านว่าเป็น
คำตัดสินเด็ดขาด
ค่าภาษีค้าง
มาตรา ๔๒
ถ้าค่าภาษีมิได้ชำระภายในเวลาที่ได้กำหนดในหมวด ๒ ไซร้
ท่านว่าเงินค่าภาษีนั้นค้างชำระ
มาตรา ๔๓
ถ้าเงินค่าภาษีค้างชำระ ท่านให้เพิ่มจำนวนขึ้นดังอัตราต่อไปนี้
(๑)
ถ้าชำระไม่เกินหนึ่งเดือนนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๘
ให้เพิ่มร้อยละสองครึ่งแห่งค่าภาษีที่ค้าง
(๒)
ถ้าเกินหนึ่งเดือนแต่ไม่เกินสองเดือน ให้เพิ่มร้อยละห้าแห่งค่าภาษีที่ค้าง
(๓)
ถ้าเกินสองเดือนแต่ไม่เกินสามเดือน ให้เพิ่มร้อยละเจ็ดครึ่งแห่งค่าภาษีที่ค้าง
(๔)
ถ้าเกินสามเดือนแต่ไม่เกินสี่เดือน ให้เพิ่มร้อยละสิบแห่งค่าภาษีที่ค้าง
มาตรา ๔๔[๒๓]
ถ้ามิได้มีการชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มภายในสี่เดือนตามมาตรา ๔๓
ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึด อายัด
หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ซึ่งค้างชำระค่าภาษีเพื่อนำเงินมาชำระเป็นค่าภาษี
เงินเพิ่ม ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายโดยมิต้องขอให้ศาลสั่งหรือออกหมายยึด
การยึด
อายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม
มาตรา ๔๕
ถ้าค่าภาษีค้างอยู่และยังมิได้ชำระขณะเมื่อทรัพย์สินได้โอนกรรมสิทธิ์
ไปเป็นของเจ้าของใหม่โดยเหตุใด ๆ ก็ตาม
ท่านว่าเจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีนั้นร่วมกัน
ภาค ๔
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๔๖
ผู้ใดละเลยไม่แสดงข้อความตามที่กล่าวไว้ในมาตรา ๒๐
เว้นแต่จะเป็นด้วยเหตุสุดวิสัย
ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
มาตรา ๔๗
ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจละเลยไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่
ไม่แจ้งรายการเพิ่มเติมละเอียดยิ่งขึ้นเมื่อเรียกร้อง ไม่นำพยานหลักฐานมาแสดง
หรือไม่ตอบคำถามเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซักถาม ตามความในมาตรา ๒๑ และ ๒๒
ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา ๔๘
ผู้ใด
(ก)
โดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ
หรือตอบคำถามด้วยคำอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง
เพื่อหลีกเลี่ยงหรือจัดหาทางให้ผู้อื่นหลีกเลี่ยงการคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินตามที่ควรก็ดี
(ข)
โดยความเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกง โดยอุบาย
หรือโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้นที่จะหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของตนตามที่ควรก็ดี
ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน
หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประกาศมา
ณ วันที่ ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
บัญชีแสดงท้องที่ใช้พระราชบัญญัติภาษี
โรงเรือนและที่ดิน
พุทธศักราช ๒๔๗๕[๒๔]
เขตจังหวัดพระนคร
ทิศตะวันตก
ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากคลองบางซื่อ ตลอดลงมาถึงปากคลองวัว
ทิศเหนือ
ตั้งแต่ปากคลองบางซื่อไปตามลำคลองเข้าคลองเปรมประชากร เข้าคลองประปาที่หลักเขตหมาย
ภ.ร.ด. ๑ ตามลำคลองประปาไปถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๒
หักไปทางทิศตะวันออกตรงไปหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๓ ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองเปรมประชากร
ตามลำคลองนั้นไปทางเหนือถึงคลองขุดเจ้าพระยาวรพงศ์
เข้าคลองขุดนั้นไปถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๔ ซึ่งตั้งอยู่ริมทางรถไฟ
ทิศตะวันออก
ตั้งแต่หลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๔ ไปทางทิศใต้ตามทางรถไฟถึงคลองประปา
ตามคลองประปาไปทางทิศใต้และเลี้ยวเข้าคลองสามเสน
ตามลำคลองสามเสนไปทางทิศตะวันออกเข้าคลองบางกระสัน ตามลำคลองนั้นไปออกคลองบางกะปิ
ตามลำคลองบางกะปิไปทางทิศตะวันออกถึงหัวถนนแหม่มโคล์
ไปตามแนวถนนนั้นตรงไปถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๗ อันตั้งอยู่ที่มุมข้อศอกคลองไผ่สิงห์โต
(และในระวางหัวถนนแหม่มโคล่ถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๗ นั้น
ให้ขยายเขตไปทางทิศตะวันออกอีก ๑๐ เส้น ถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๕ และ ภ.ร.ด. ๖)
ตั้งแต่หลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๗ นั้น ไปตามลำคลองไผ่สิงห์โตทางทิศตะวันตก
ถึงทางรถไฟสายช่องนนทรี ตามทางรถไฟนั้นไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๘
หักไปทางทิศตะวันออกตามแนวทางเดินถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๙
ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองไผ่สิงห์โต ตามลำคลองนั้นไปทางทิศใต้เข้าคลองหัวลำโพง
เลี้ยวไปทางทิศตะวันออกเข้าคลองเตยและตามลำคลองเตยไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศใต้ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ตั้งแต่ปากคลองเตยมาทางทิศตะวันตกถึงทางรถไฟสายช่องนนทรีริมคลองวัดช่องลม
ตามทางรถไฟนั้นมาถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๑๐ ซึ่งตั้งอยู่ที่หัวถนนศรีบำเพ็ญ
ตามถนนศรีบำเพ็ญ ถนนเย็นอากาศถึงคลองมหาเมฆ
ตามลำคลองนั้นไปทางทิศเหนือแล้วเลี้ยวเข้าลำคูไปทางทิศตะวันออกเข้าถนนงามดูพลี
ตามถนนงามดูพลีไปออกถนนสาธร ตามถนนนั้นไปออกถนนเจริญกรุง
(และในระวางตั้งแต่ที่ถนนงามดูพลีจดถนนสาธรถึงที่ถนนสาธรจดถนนเจริญกรุงนั้น
ให้ขยายเขตไปทางทิศใต้ ๑๕ เส้น เสมอกับเขตสุขาภิบาล)
ตั้งแต่ที่ถนนสาธรจดถนนเจริญกรุง ตามถนนเจริญกรุงไปทางทิศใต้เข้าตรอกป่าช้าจีน
ไปถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๑๑ อันตั้งอยู่เชิงสะพานคอนกรีต
แล้วเข้าตรอกหลังป่าช้าจีนไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๑๒
เลี้ยวตามทางเดินไปทางทิศตะวันออกถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๑๓ ออกถนนซอยสะพานที่ ๒
ตรงไปถึงตรอกจันทร์ ตามตรอกนั้นไปทางทิศตะวันตกเข้าถนนซอยที่ ๒
ตามถนนนั้นไปถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๑๔
ตามทางเดินขึ้นสะพานยาวตรอกบางขวางถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๑๕
ไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๑๖ ซึ่งตั้งอยู่ที่สะพานยาวบ้านใหม่
ไปตามสะพานนั้นทางทิศตะวันตกถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๑๗ เลี้ยวไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตหมาย
ภ.ร.ด. ๑๘ เลี้ยวไปทางทิศตะวันตกถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๑๙
ตามทางเดินไปถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๒๐ และเลี้ยวตามทางนั้นไปถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด.
๒๑ หักไปทางทิศตะวันออกถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๒๒ ตรงไปถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๒๓
และ ภ.ร.ด. ๒๔ ไปตามทางเดินถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๒๕
ซึ่งตั้งอยู่ที่ปลายสะพานยาวตรอกนางบางไปตามสะพานนั้นถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๒๖
อันตั้งอยู่ที่มุมสุเหร่าเลียบเขตสุเหร่าไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๒๗
ตรงไปถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๒๘ แล้วไปตามลำคูถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๒๙
อันตั้งอยู่ริมคลองสวนหลวง ตามลำคลองนั้นไปทางทิศตะวันออกถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๓๐
อันตั้งอยู่ริมคลองสวนหลวงเลี้ยวตามสะพานไปตามทางเดินตรอกสุเหร่าเก่าถึงหลักเขตหมาย
ภ.ร.ด. ๓๑ ตรงไปถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๓๒ เลี้ยวไปทางทิศตะวันตกถึงหลักเขตหมาย
ภ.ร.ด. ๓๓ แล้วไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๓๔
เลี้ยวไปทางทิศตะวันตกถึงหลักเขตหมาย ภ.ร.ด. ๓๕ แล้วไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตหมาย
ภ.ร.ด. ๓๖ อันตั้งอยู่ที่คลองวัว ตามลำคลองวัวไปทางทิศใต้ออกลำน้ำเจ้าพระยา
เขตจังหวัดธนบุรี
ทิศเหนือ
ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ไปตามลำคลองบางกอกน้อยถึงที่ตรงหัวถนนบ้านจาก
ทิศตะวันตก
ตั้งแต่ที่ตรงหัวถนนบ้านจาก หลังวัดอัมรินทร์ตามถนนบ้านจาก ถนนบ้านช่างหล่อ
และถนนสวนอนันต์ จดเขตวัดพระยาธรรม หักมาทางตะวันออกลงคลองวัดพระยาธรรมถึงคลองมอญ
ข้ามคลองมอญไปเข้าคลองวัดนากกลางและตามลำคลองนั้นไปเข้าคลองวัดอรุณ ไปตามคลองนั้นทางทิศตะวันตกหักเข้าคูวัดอรุณผ่านหน้าปรกเลี้ยวเข้าถนนโพธิ์สามต้นไปทางทิศตะวันตกเลี้ยวเข้าถนนเจริญพาศน์มาตามถนนนั้นทางทิศใต้
หักเข้าตรอกบ้านลาวเหนือ กุฎีเจ้าเซ็น ไปตามคลองวัดราชสิทธารามทางใต้
ออกคลองบางกอกใหญ่ ตามลำคลองนั้นไปทางตะวันตกถึงคลองบางไส้ไก่ (ข้างที่ว่าการกิ่งอำเภอบุบผาราม)
เข้าคลองบ้านสมเด็จไปถึงหัวห้องแถวตลาดแขก
เลี้ยวเข้าตรอกหลังตลาดแขกไปตามตรอกนั้นถึงคลองวัดน้อยใหม่
เลี้ยวเข้าคลองนั้นไปทางทิศตะวันตกออกคลองบางไส้ไก่ตอนปลายไปตามลำคลองบางไส้ไก่ทางใต้ถึงทางรถไฟสายแม่กลอง
ทิศใต้
ตั้งแต่ที่ทางรถไฟสายแม่กลองผ่านกับคลองบางไส้ไก่ตามทางรถไฟมาทางทิศตะวันออกถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศตะวันออก
ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ เลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาทางทิศใต้
ถึงสถานีรถไฟคลองสานบรรจบกับปลายเขตทางทิศใต้
ลำน้ำเจ้าพระยา
ทิศเหนือ
เส้นตรงตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้
ข้ามลำน้ำเจ้าพระยามาฝั่งตะวันออกตรงที่ว่าการกรมทหารราบ ๒
ทิศใต้
เส้นตรงตั้งแต่ท่าเรือของสถานีรถไฟคลองสาน
ข้ามลำน้ำเจ้าพระยามาฝั่งตะวันออกตรงปากคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งใต้
ประกาศกำหนดเขตต์ท้องที่ใช้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน
พุทธศักราช ๒๔๗๕[๒๕]
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม
พุทธศักราช ๒๔๗๕[๒๖]
มาตรา
๒
ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน
(ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๕[๒๗]
มาตรา
๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา
๔
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน
(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔[๒๘]
มาตรา
๒
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา
๑๙
บรรดาค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่รัฐวิสาหกิจใดยังมิได้ดำเนินการชำระหรือค้างชำระอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้รัฐวิสาหกิจนั้นชำระให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
แต่ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจใดที่ค้างชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการสาธารณูปโภค
หรือสาธารณูปการตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ก็ให้ค่าภาษีที่ค้างชำระนั้นเป็นอันพับไป
บทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง
ไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกคืนค่าภาษีหากได้มีการชำระไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา
๒๐ ผู้ใดมีหน้าที่เสียภาษีให้แก่กรุงเทพมหานคร
เทศบาล เมืองพัทยา สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด แล้วแต่กรณี
แต่ยังมิได้ยื่นแบบพิมพ์แสดงรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษี หรือยังมิได้ชำระภาษี
หรือชำระภาษียังไม่ครบถ้วน หากผู้นั้นได้ติดต่อขอชำระภาษีตามมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐
แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕
และได้นำเงินค่าภาษีไปชำระต่อพนักงานเก็บภาษีภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นโทษทางอาญาและไม่ต้องเสียค่าปรับหรือเงินเพิ่ม
สำหรับเงินค่าภาษีในส่วนที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา
๒๑
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :-
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
โดยเหตุที่การจัดเก็บภาษีในปัจจุบันมีขั้นตอนมาก และยังมีวิธีการที่จำกัด
อีกทั้งการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจากรัฐวิสาหกิจยังไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนและเป็นธรรมพอ
ดังนั้น
เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระภาษีและเพื่อให้การคิดคำนวณภาษีเกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น
สมควรปรับปรุงวิธีการในการจัดเก็บและการชำระภาษีทั้งของรัฐวิสาหกิจและของประชาชนเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น
เพื่อเร่งรัดให้มีการชำระภาษีที่ค้างชำระเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นต่อไป
สมควรกำหนดเวลาให้มีการนำภาษีที่ค้างมาชำระภายในกำหนด โดยยกเว้นโทษทางอาญา
รวมทั้งเงินเพิ่ม และค่าปรับต่าง ๆ ให้
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน
(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๓[๒๙]
มาตรา
๒
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา
๖
ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้รับประเมินยื่นคำร้องขอให้พิจารณาประเมินใหม่ได้
ให้ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้ชี้ขาด เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้
ผู้บริหารท้องถิ่นอาจมอบอำนาจและหน้าที่ดังกล่าวให้หน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการแทนก็ได้
มาตรา
๗
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :-
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
เนื่องจากพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗
กำหนดให้มีองค์การบริหารส่วนตำบลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง
สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน เพื่อให้ครอบคลุมถึงการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
นอกจากนี้โดยที่ถ้อยคำเกี่ยวกับราชการส่วนท้องถิ่นในกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินมีใช้อยู่หลายคำตามรูปแบบของราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอยู่หลากหลาย
สมควรปรับปรุงถ้อยคำดังกล่าวเพื่อให้ครอบคลุมถึงราชการส่วนท้องถิ่นทุกประเภท จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
หยก/ปรับปรุง
๑๗ เมษายน ๒๕๕๖
อุดมลักษณ์/ตรวจ
๒๓ เมษายน ๒๕๕๖
[๑] ราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๔๙/-/หน้า ๕๑/๒๐ เมษายน ๒๔๗๕
[๒] มาตรา ๕
นิยามคำว่า พนักงานเจ้าหน้าที่
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๓] มาตรา ๕
นิยามคำว่า พนักงานเก็บภาษี
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๔] มาตรา ๕
นิยามคำว่า รัฐมนตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน
(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๕] มาตรา ๕
นิยามคำว่า กำหนด ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.
๒๕๓๔
[๖] มาตรา ๕
นิยามคำว่า รัฐวิสาหกิจ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔)
พ.ศ. ๒๕๓๔
[๗] มาตรา ๖ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน
(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๘] มาตรา ๗
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๙] มาตรา ๗ ทวิ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๑๐] มาตรา ๘
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๑๑] มาตรา ๙ (๒)
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๑๒] มาตรา ๙ (๖)
เพิ่มโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๑๓] มาตรา ๑๐
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช
๒๔๗๕
[๑๔] มาตรา ๔
แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕
ได้บัญญัติให้ยกเลิกภาษีที่ดินซึ่งมิได้ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น
มาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นไป โดยบัญญัติว่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕
เป็นต้นไปให้ยกเลิกภาษีที่ดินซึ่งมิได้ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่าง
อื่น ๆ ตามภาค ๒ มาตรา ๑๖, ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช
๒๔๗๕
[๑๕] มาตรา ๑๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม
พุทธศักราช ๒๔๗๕
[๑๖] มาตรา ๑๗
ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕
[๑๗] มาตรา ๑๙
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๑๘] มาตรา ๒๐
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๑๙] มาตรา ๒๔ ทวิ
เพิ่มโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๒๐] มาตรา ๓๑ วรรคสาม
เพิ่มโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๒๑] มาตรา ๓๘
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๒๒] มาตรา ๓๘ ทวิ
เพิ่มโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
[๒๓] มาตรา ๔๔
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๒๔] บัญชีแสดงท้องที่ใช้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน
พุทธศักราช ๒๔๗๕
แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกำหนดเขตต์ท้องที่ใช้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน
พุทธศักราช ๒๔๗๕
[๒๕] ราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๔๙/-/หน้า ๑๓๐/๒๙ พฤษภาคม ๒๔๗๕
[๒๖] ราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๔๙/-/หน้า ๒๕๙/๑๔ สิงหาคม ๒๔๗๕
[๒๗] ราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๒๙/หน้า ๙๐๑/๒๘ เมษายน ๒๔๘๕
[๒๘] ราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๑๙๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
[๒๙] ราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๑๖ ก/หน้า ๓๘/๗ มีนาคม ๒๕๔๓