พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางกงสุล
พ.ศ. ๒๕๔๑
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ ธันวาคม
พ.ศ. ๒๕๔๑
เป็นปีที่ ๕๓
ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางกงสุล
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑
พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางกงสุล
พ.ศ. ๒๕๔๑
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓
ให้รัฐผู้ส่งคณะทำการทางกงสุล สถานทำการทางกงสุล หัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
เจ้าพนักงานกงสุล ลูกจ้างทางกงสุล สมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ
บุคคลในครอบครัวของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุล และสมาชิกในคณะคนรับใช้ส่วนตัว
รวมตลอดถึงสถานที่ บรรณสารทางกงสุล
และบรรดาทรัพย์สินของสถานทำการทางกงสุลและของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลหรือของบุคคลในครอบครัวของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุล
ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ซึ่งทำเมื่อวันที่
๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๖ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันทางกงสุลตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาดังกล่าว
มาตรา ๔
เอกสิทธิและความคุ้มกันทางกงสุลตามมาตรา ๓
อาจถูกเพิกถอนหรือถูกกำกัดเสียทั้งหมดหรือบางส่วนได้ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ ตามประเพณีปฏิบัติทางกงสุล
หรือตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๕
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล
รัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้
โดยระลึกว่า
ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางกงสุลระหว่างประชาชนของชาติต่าง ๆ ตั้งแต่โบราณกาลมา
โดยคำนึงถึง
ความมุ่งประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ เกี่ยวกับความเสมอภาคทางอธิปไตยของรัฐ
การธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างชาติ
โดยพิจารณาว่า
ที่ประชุมของสหประชาชาติในเรื่องการติดต่อและความคุ้มกันทางทูต
ได้ลงมติรับอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต
ซึ่งได้เปิดให้ลงนามกันเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๑
โดยเชื่อว่า
การมีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล เอกสิทธิและความคุ้มกัน
จะมีส่วนช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างชาติด้วย
แม้ระบบรัฐธรรมนูญและสังคมของชาติเหล่านั้นจะแตกต่างกัน
โดยตระหนักว่า
ความมุ่งประสงค์ของเอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นว่านี้
มิใช่เพื่อเป็นคุณประโยชน์แก่ตัวบุคคล แต่เพื่อประกันการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของสถานทำการทางกงสุลในนามรัฐของตน
โดยยืนยันว่า
กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศคงใช้บังคับต่อไปในเรื่องที่มิได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งโดยบทบัญญัติของอนุสัญญานี้
ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้
บทนิยาม
๑.
เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้
ให้ถ้อยคำต่อไปนี้มีความหมายตามที่ได้กำหนดไว้ข้างท้ายนี้
(ก)
สถานทำการทางกงสุล หมายถึงสถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล
สถานรองกงสุลหรือสำนักตัวแทนทางกงสุลใด ๆ
(ข)
เขตกงสุล หมายถึงเขตพื้นที่สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุล
ที่ได้กำหนดไว้ให้แก่สถานทำการทางกงสุล
(ค)
หัวหน้าสถานทำการทางกงสุล หมายถึงบุคคลที่ได้รับมอบหน้าที่ให้กระทำการในฐานะนั้น
(ง)
เจ้าพนักงานกงสุล หมายถึงบุคคลใด
รวมทั้งหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลในฐานะนั้น
(จ)
ลูกจ้างทางกงสุล หมายถึงบุคคลใดที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานในด้านธุรการหรือวิชาการของสถานทำการทางกงสุล
(ฉ)
สมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ หมายถึงบุคคลใดที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานในด้านบริการรับใช้ของสถานทำการทางกงสุล
(ช)
สมาชิกในสถานทำการทางกงสุล หมายถึงเจ้าพนักงานกงสุล
ลูกจ้างทางกงสุล และสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ
(ซ)
สมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่กงสุล หมายถึงเจ้าพนักงานกงสุล
นอกจากหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล ลูกจ้างทางกงสุล
และสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ
(ฌ)
สมาชิกในคณะคนรับใช้ส่วนตัว หมายถึงบุคคลที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานเฉพาะในด้านรับใช้ส่วนตัวของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุล
(ญ)
สถานที่ทางกงสุล หมายถึงอาคาร
หรือส่วนของอาคารและที่ดินซึ่งอาคารตั้งอยู่
ซึ่งใช้โดยเฉพาะเพื่อความมุ่งประสงค์ของสถานทำการทางกงสุล
โดยไม่คำนึงถึงกรรมสิทธิ์
(ฎ)
บรรณสารทางกงสุล รวมถึงกระดาษเอกสาร เอกสาร
หนังสือติดต่อ หนังสือ ฟิล์ม เทปบันทึก และทะเบียนทั้งปวงของสถานทำการทางกงสุล
รวมทั้งกุญแจรหัสและรหัสบัตรดัชนี
และเครื่องเรือนใดซึ่งมุ่งใช้สำหรับคุ้มครองหรือเก็บรักษาสิ่งของเหล่านั้น
๒.
เจ้าพนักงานกงสุลมีสองประเภท คือ เจ้าพนักงานกงสุลอาชีพ และเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์
บทบัญญัติของหมวด ๒
ของอนุสัญญานี้ใช้กับสถานทำการทางกงสุลที่มีเจ้าพนักงานกงสุลอาชีพเป็นหัวหน้า
บทบัญญัติของหมวด ๓
บังคับกับสถานทำการทางกงสุลที่มีเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์เป็นหัวหน้า
๓.
สถานภาพเฉพาะของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลซึ่งเป็นคนชาติหรือเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรของรัฐผู้รับ
จะอยู่ในบังคับของข้อ ๗๑ ของอนุสัญญานี้
ความสัมพันธ์ทางกงสุลโดยทั่วไป
ตอน ๑
การสถาปนาและการดำเนินความสัมพันธ์ทางกงสุล
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางกงสุล
๑.
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางกงสุลระหว่างรัฐมีขึ้นด้วยความยินยอมซึ่งกันและกัน
๒.
ความยินยอมที่ให้แก่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างรัฐสองรัฐมีนัยเป็นความยินยอมเพื่อการสถาปนาความสัมพันธ์ทางกงสุลด้วย
เว้นแต่แถลงไว้เป็นอย่างอื่น
๓.
การตัดความสัมพันธ์ทางฑูตจะไม่เป็นการตัดความสัมพันธ์ทางกงสุลไปด้วยในตัว
การปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุล
สถานทำการทางกงสุลปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุล
คณะผู้แทนทางทูตก็ปฏิบัติหน้าที่นี้ได้เช่นกัน ตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้
การจัดตั้งสถานทำการทางกงสุล
๑.
สถานทำการทางกงสุลอาจจัดตั้งขึ้นได้ในอาณาเขตของรัฐผู้รับด้วยความยินยอมของรัฐผู้รับนั้นเท่านั้น
๒.
รัฐผู้ส่งจะกำหนดที่ตั้งและชั้นของสถานทำการทางกงสุลและเขตกงสุล ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของรัฐผู้รับ
๓.
รัฐผู้ส่งอาจเปลี่ยนที่ตั้งและชั้นของสถานทำการทางกงสุลหรือเขตกงสุลในภายหลังโดยความยินยอมของรัฐผู้รับเท่านั้น
๔.
ถ้าสถานกงสุลใหญ่หรือสถานกงสุลปรารถนาจะเปิดสถานรองกงสุลหรือสำนักตัวแทนทางกงสุลขึ้นในท้องถิ่นอื่นนอกจากท้องถิ่นที่สถานกงสุลนั้นเองได้ตั้งอยู่
จะต้องได้รับความยินยอมของรัฐผู้รับด้วย
๕.
การเปิดที่ทำการซึ่งประกอบเป็นส่วนหนึ่งของสถานทำการทางกงสุลที่มีอยู่แล้วขึ้นในที่อื่นนอกจาก
ณ ที่ตั้งของสถานทำการทางกงสุลนั้น
จะต้องได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้งล่วงหน้าของรัฐผู้รับด้วย
หน้าที่ทางกงสุล
หน้าที่ทางกงสุลประกอบด้วย
(ก)
คุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐผู้ส่งและของคนชาติของรัฐผู้ส่ง ทั้งบุคคลธรรมดาและองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรัฐผู้รับ
ภายในขอบเขตที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต
(ข)
เพิ่มพูนการพัฒนาความสัมพันธ์ทางพาณิชย์ เศรษฐกิจ
วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐผู้ส่งกับรัฐผู้รับ
และส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกันในทางอื่นตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้
(ค)
สืบให้แน่ด้วยวิถีทางทั้งปวงอันชอบด้วยกฎหมายถึงสภาวะและพัฒนาการของสภาพทางพาณิชย์
เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ของรัฐผู้รับ แล้วรายงานไปยังรัฐบาล ของรัฐผู้ส่ง
และให้ข้อมูลแก่บุคคลที่สนใจ
(ง)
ออกหนังสือเดินทางและเอกสารเดินทางให้แก่คนชาติของรัฐผู้ส่ง และตรวจลงตราหรือออกเอกสารที่เหมาะสมให้แก่บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางไปยังรัฐผู้ส่ง
(จ)
ช่วยเหลือคนชาติของรัฐผู้ส่ง ทั้งบุคคลธรรมดาและองค์กรที่จัดตั้งขึ้น
(ฉ)
ทำหน้าที่โนตารีและนายทะเบียนราษฎร์และในฐานะหน้าที่อื่นที่คล้ายกัน
และปฏิบัติหน้าที่ที่มีลักษณะด้านปกครองบางประการ โดยมีเงื่อนไขว่า
หน้าที่นั้นไม่ขัดกับกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ
(ช)
พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของคนชาติของรัฐผู้ส่ง
ทั้งบุคคลธรรมดาและองค์กรที่จัดตั้งขึ้น ในกรณีที่มีการรับมรดกในอาณาเขตของรัฐผู้รับตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ
(ซ)
พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของผู้เยาว์และบุคคลหย่อนความสามารถอื่นซึ่งเป็นคนชาติของรัฐผู้ส่ง
ภายในขอบเขตที่ได้กำหนดไว้โดยกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ
โดยเฉพาะในกรณีที่จำเป็นต้องมีการใช้อำนาจปกครองหรือดูแลผลประโยชน์ใดในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลเหล่านั้น
(ฌ)
เป็นตัวแทนหรือจัดให้มีผู้แทนที่เหมาะสมสำหรับคนชาติของรัฐผู้ส่งในศาลและหน่วยงานอื่นของรัฐผู้รับ
เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะให้ได้มาซึ่งมาตรการชั่วคราวสำหรับการรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของคนชาติเหล่านี้ไว้ตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ
ในกรณีที่คนชาติเหล่านี้ไม่สามารถปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนในเวลาอันเหมาะสมได้
เพราะเหตุของการไม่อยู่หรือเหตุอื่นใด ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กับหลักปฏิบัติและวิธีดำเนินการที่ใช้อยู่ในรัฐผู้รับ
(ญ)
ส่งเอกสารทางศาลและเอกสารที่มิใช่ทางศาลหรือปฏิบัติตามหนังสือร้องขอของรัฐผู้ส่งที่ขอให้สืบพยานให้แก่ศาลของรัฐผู้ส่งตามความตกลงระหว่างประเทศที่ใช้บังคับอยู่
หรือในกรณีที่ไม่มีความตกลงระหว่างประเทศเช่นว่านั้น
โดยวิธีอื่นใดที่สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ
(ด)
ใช้สิทธิควบคุมดูแลและตรวจสอบเรือที่มีสัญชาติของรัฐผู้ส่ง และเครื่องบินที่จดทะเบียนในรัฐนั้น
และลูกเรือตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้ส่ง
(ต)
ให้ความช่วยเหลือแก่เรือและเครื่องบินที่ระบุไว้ในอนุวรรค (ด)
ของข้อนี้และแก่ลูกเรือ บันทึกการให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการเดินทางของเรือ
ตรวจสอบและประทับตราเอกสารเรือ
และดำเนินการสืบสวนเหตุที่เกิดขึ้นใดในระหว่างการเดินทาง และระงับข้อพิพาทใด ๆ
ระหว่างนายเรือ เจ้าหน้าที่ประจำเรือ
กับคนประจำเรือเท่าที่กฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้ส่งอนุญาตให้กระทำได้
โดยไม่เสื่อมเสียต่ออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับ
(ถ)
ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดที่รัฐผู้ส่งมอบหมายให้สถานทำการทางกงสุลซึ่งกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับมิได้ห้ามไว้
หรือซึ่งรัฐผู้รับไม่ได้คัดค้าน
หรือตามความตกลงระหว่างประเทศที่ใช้บังคับอยู่ระหว่างรัฐผู้ส่งกับรัฐผู้รับ
การปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลนอกเขตกงสุล
ในพฤติการณ์พิเศษ
เจ้าพนักงานกงสุลอาจปฏิบัติหน้าที่นอกเขตกงสุลได้ โดยความยินยอมของรัฐผู้รับ
การปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลในรัฐที่สาม
หลังจากที่ได้แจ้งให้รัฐที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว
รัฐผู้ส่งอาจมอบหมายให้สถานทำการทางกงสุลที่ตั้งอยู่ในรัฐหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลในอีกรัฐหนึ่งได้
เว้นแต่จะมีการคัดค้านอย่างชัดแจ้งโดยรัฐที่เกี่ยวข้องรัฐใดรัฐหนึ่ง
การปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลในนามของรัฐที่สาม
เมื่อแจ้งอย่างเหมาะสมแก่รัฐผู้รับแล้ว
สถานทำการทางกงสุลของรัฐผู้ส่งอาจปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลในรัฐผู้รับในนามของรัฐที่สามได้
เว้นแต่รัฐผู้รับนั้นจะคัดค้าน
ชั้นของหัวหน้าของสถานทำการทางกงสุล
๑.
หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลแบ่งออกเป็น ๔ ชั้น กล่าวคือ
(ก)
กงสุลใหญ่
(ข)
กงสุล
(ค)
รองกงสุล
(ง)
ตัวแทนทางกงสุล
๒.
วรรค ๑ ของข้อนี้
ไม่เป็นการจำกัดสิทธิของภาคีสัญญาใดที่จะกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานกงสุลนอกจากหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
การแต่งตั้งและการยอมรับหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
๑.
รัฐผู้ส่งเป็นผู้แต่งตั้งหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลและรัฐผู้รับเป็นผู้ยอมรับบุคคลดังกล่าวให้ปฏิบัติหน้าที่
๒.
ภายใต้บังคับของบทบัญญัติของอนุสัญญานี้
แบบพิธีสำหรับการแต่งตั้งและการยอมรับหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลนั้น กำหนดโดยกฎหมาย
ข้อบังคับและประเพณีปฏิบัติของรัฐผู้ส่งและรัฐผู้รับตามลำดับ
สัญญาบัตรตราตั้งทางกงสุลหรือการแจ้งการแต่งตั้ง
๑.
ในการแต่งตั้งแต่ละครั้ง
รัฐผู้ส่งจะมอบเอกสารในรูปสัญญาบัตรตราตั้งหรือสารที่คล้ายกันให้แก่หัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
ซึ่งรับรองตำแหน่งฐานะของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลและโดยหลักทั่วไป จะระบุชื่อเต็ม
ประเภทและชั้นของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล เขตกงสุล
และที่ตั้งของสถานทำการทางกงสุล
๒.
รัฐผู้ส่งจะส่งสัญญาบัตรตราตั้งหรือสารที่คล้ายกันโดยผ่านวิถีทางการทูตหรือทางอื่นที่เหมาะสมไปยังรัฐบาลแห่งรัฐซึ่งหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจะปฏิบัติหน้าที่ในอาณาเขตของรัฐนั้น
๓.
หากรัฐผู้รับเห็นชอบ
รัฐผู้ส่งอาจส่งหนังสือแจ้งไปยังรัฐผู้รับซึ่งมีข้อความดังที่กำหนดไว้ในวรรค ๑
ของข้อนี้ แทนสัญญาบัตรตราตั้งหรือสารที่คล้ายกันได้
อนุมัติบัตร
๑.
หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจะได้รับการยอมรับให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ได้โดยการอนุมัติจากรัฐผู้รับ
ซึ่งเรียกว่าอนุมัติบัตร การอนุมัตินี้ไม่ว่าจะเป็นในรูปใดก็ตาม
๒.
รัฐซึ่งปฏิเสธที่จะให้อนุมัติบัตร
ไม่มีพันธะที่จะให้เหตุผลในการปฏิเสธเช่นว่านั้นแก่รัฐผู้ส่ง
๓.
ภายใต้บังคับของบทบัญญัติของข้อ ๑๓ และ ๑๕
หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจะไม่เข้ารับหน้าที่จนกว่าจะได้รับอนุมัติบัตรแล้ว
การยอมรับหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลเป็นการชั่วคราว
ในระหว่างที่รออนุมัติบัตร
หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลอาจได้รับการยอมรับให้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว
ในกรณีนั้น บทบัญญัติของอนุสัญญานี้จะใช้บังคับ
การแจ้งเจ้าหน้าที่ในเขตกงสุล
ในทันทีที่หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลได้รับการยอมรับให้เข้าปฏิบัติหน้าที่
แม้เป็นการชั่วคราว รัฐผู้รับจะแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในเขตกงสุลทันที รัฐผู้รับจะทำให้แน่ใจด้วยว่ามีมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลสามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ได้
และได้รับประโยชน์ของบทบัญญัติของอนุสัญญานี้
การปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
๑.
ถ้าหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
หรือตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลว่างลง
ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการอาจกระทำการในฐานะหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลเป็นการชั่วคราว
๒.
คณะผู้แทนทางทูตของรัฐผู้ส่ง หรือหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
ถ้ารัฐนั้นไม่มีคณะผู้แทนเช่นว่านั้นในรัฐผู้รับ
หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจใดของรัฐผู้ส่ง
ถ้าหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลไม่สามารถกระทำได้
จะแจ้งชื่อเต็มของผู้รักษาการหัวหน้าสถานทำการไปยังกระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับหรือไปยังเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงนั้นกำหนด
โดยหลักการทั่วไป การแจ้งนี้จะต้องกระทำล่วงหน้า
รัฐผู้รับอาจยอมรับบุคคลซึ่งมิใช่ทั้งตัวแทนทางทูตหรือเจ้าพนักงานกงสุลให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการได้
ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กับความยินยอมของรัฐผู้รับ
๓.
เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้รับจะให้ความช่วยเหลือและความคุ้มครองแก่ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการ
ในขณะที่ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการรักษาการหัวหน้าสถานทำการอยู่นั้น
บทบัญญัติของอนุสัญญานี้จะใช้กับบุคคลผู้นั้นบนพื้นฐานเดียวกันกับหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี
รัฐผู้รับไม่มีพันธะที่จะให้แก่ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการซึ่งความสะดวก
เอกสิทธิ
หรือความคุ้มกันใดที่หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลได้อุปโภคภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ
ซึ่งผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการนั้นมีไม่ครบถ้วน
๔.
ในกรณีที่อ้างถึงในวรรค ๑ ของข้อนี้ เมื่อสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่ทางทูตของคณะผู้แทนทางทูตของรัฐผู้ส่งในรัฐผู้รับได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐผู้ส่งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการ
บุคคลผู้นั้นจะคงได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูตต่อไป
ถ้ารัฐผู้รับไม่คัดค้าน
อาวุโสระหว่างหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
๑.
หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจะมีลำดับในแต่ละชั้นตามวันของการให้อนุมัติบัตร
๒.
อย่างไรก็ดี
ถ้าหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลได้รับการยอมรับให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวก่อนได้รับอนุมัติบัตร
อาวุโสของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลนั้นจะกำหนดตามวันของการยอมรับชั่วคราวนั้น
อาวุโสนี้จะคงไว้หลังจากการให้อนุมัติบัตร
๓.
ลำดับอาวุโสระหว่างหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลสองคนหรือมากกว่า
ซึ่งได้รับอนุมัติบัตรหรือการยอมรับชั่วคราวในวันเดียวกัน
จะกำหนดตามวันที่ยื่นสัญญาบัตรตราตั้ง หรือสารที่คล้ายกัน หรือการแจ้งที่อ้างถึงในวรรค
๓ ของข้อ ๑๑ ต่อรัฐผู้รับ
๔.
ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการจะมีลำดับอยู่หลังหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลทั้งปวง
และในระหว่างกันเองแล้ว
ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการจะมีลำดับตามวันที่เข้ารับหน้าที่ในฐานะผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการดังที่ได้ระบุไว้ในการแจ้งซึ่งกระทำตามวรรค
๒ ของข้อ ๑๕
๕.
เจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
จะมีลำดับในแต่ละชั้นหลังหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลอาชีพ
ตามลำดับและตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในวรรคก่อน
๖.
หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจะมีอาวุโสสูงกว่าเจ้าพนักงานกงสุลซึ่งไม่มีสถานะนั้น
การปฏิบัติหน้าที่ทางทูตโดยเจ้าพนักงานกงสุล
๑.
ในรัฐที่รัฐผู้ส่งไม่มีคณะผู้แทนทางทูต
และไม่มีคณะผู้แทนทางทูตของรัฐที่สามเป็นผู้แทนอยู่
เจ้าพนักงานกงสุลอาจได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ทางทูตได้ด้วยความยินยอมของรัฐผู้รับ
และไม่กระทบกระเทือนต่อสถานะทางกงสุลของบุคคลนั้น
การปฏิบัติหน้าที่เช่นว่านั้นโดยเจ้าพนักงานกงสุลจะไม่เป็นการให้สิทธิใดแก่เจ้าพนักงานกงสุลนั้นที่จะเรียกร้องเอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูต
๒.
หลังจากที่ได้แจ้งรัฐผู้รับแล้ว
เจ้าพนักงานกงสุลอาจกระทำการเป็นผู้แทนของรัฐผู้ส่งในองค์การระหว่างรัฐบาลใดก็ได้
เมื่อกระทำการเช่นนั้น
บุคคลดังกล่าวจะมีสิทธิที่จะได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันใดที่ได้ประสาทให้แก่ผู้แทนเช่นว่าโดยกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
หรือโดยความตกลงระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี
ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลใดโดยบุคคลนั้น
บุคคลนั้นจะไม่มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มกันจากเขตอำนาจเกินกว่าความคุ้มกันซึ่งเจ้าพนักงานกงสุลมีสิทธิที่จะได้รับตามอนุสัญญานี้
การแต่งตั้งบุคคลคนเดียวกันเป็นเจ้าพนักงานกงสุลโดยรัฐสองรัฐหรือมากกว่า
โดยความยินยอมของรัฐผู้รับ
รัฐสองรัฐหรือมากกว่าอาจแต่งตั้งบุคคลคนเดียวกันเป็นเจ้าพนักงานกงสุลในรัฐนั้นได้
การแต่งตั้งสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่กงสุล
๑.
ภายใต้บังคับของบทบัญญัติของข้อ ๒๐ ๒๒ และ ๒๓
รัฐผู้ส่งอาจแต่งตั้งสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่กงสุลได้โดยเสรี
๒.
รัฐผู้ส่งจะแจ้งชื่อเต็ม ประเภทและชั้นของเจ้าพนักงานกงสุลทั้งปวง
นอกจากหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลไปยังรัฐผู้รับ
โดยให้มีเวลาเพียงพอที่จะให้รัฐผู้รับใช้สิทธิตามวรรค ๓ ของข้อ ๒๓ ได้ ถ้ารัฐผู้รับประสงค์เช่นนั้น
๓.
หากกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้ส่งกำหนดไว้ รัฐผู้ส่งอาจขอให้รัฐผู้รับให้อนุมัติบัตรแก่เจ้าพนักงานกงสุล
นอกเหนือจากหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
๔.
หากกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับกำหนดไว้
รัฐผู้รับอาจให้อนุมัติบัตรแก่เจ้าพนักงานกงสุล
นอกเหนือจากหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
ขนาดของคณะเจ้าหน้าที่กงสุล
เมื่อไม่มีความตกลงอย่างชัดแจ้งในเรื่องขนาดของคณะเจ้าหน้าที่กงสุล
รัฐผู้รับอาจกำหนดให้รักษาขนาดของคณะเจ้าหน้าที่ไว้ภายในขอบเขตที่พิจารณาเห็นว่าสมเหตุผลและปกติ
โดยคำนึงถึงพฤติการณ์และสภาวะในเขตกงสุลและความจำเป็นของสถานทำการทางกงสุลแห่งนั้นโดยเฉพาะ
อาวุโสระหว่างเจ้าพนักงานกงสุลของสถานทำการทางกงสุล
คณะผู้แทนทางทูตของรัฐผู้ส่ง
หรือถ้ารัฐนั้นไม่มีคณะผู้แทนเช่นว่าในรัฐผู้รับ
หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจะแจ้งลำดับอาวุโสระหว่างเจ้าพนักงานกงสุลของสถานทำการทางกงสุลและการเปลี่ยนแปลงใดของลำดับอาวุโสนั้นไปยังกระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับ
หรือไปยังเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงนั้นกำหนด
สัญชาติของเจ้าพนักงานกงสุล
๑.
ในหลักการ เจ้าพนักงานกงสุลควรมีสัญชาติของรัฐผู้ส่ง
๒.
เจ้าพนักงานกงสุลนั้นไม่อาจแต่งตั้งจากบรรดาบุคคลซึ่งมีสัญชาติของรัฐผู้รับ
เว้นแต่ด้วยความยินยอมอย่างชัดแจ้งของรัฐนั้นซึ่งอาจเพิกถอนในเวลาใดก็ได้
๓.
รัฐผู้รับอาจสงวนสิทธิเช่นเดียวกันนี้ในเรื่องเกี่ยวกับคนชาติของรัฐที่สามซึ่งมิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้ส่งด้วย
บุคคลที่ถูกประกาศว่าไม่พึงปรารถนา
๑.
รัฐผู้รับอาจแจ้งรัฐผู้ส่งในเวลาใดก็ได้ว่า เจ้าพนักงานกงสุลเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาหรือว่าสมาชิกอื่นใดในคณะเจ้าหน้าที่กงสุลเป็นที่ไม่พึงยอมรับได้
ในกรณีนั้น
รัฐผู้ส่งจะต้องเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นกลับหรือให้ยุติหน้าที่ของผู้นั้นในสถานทำการทางกงสุล
แล้วแต่กรณี
๒.
ถ้ารัฐผู้ส่งปฏิเสธหรือไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้วรรค ๑
ของข้อนี้ภายในระยะเวลาอันสมควร
รัฐผู้รับอาจเพิกถอนอนุมัติบัตรจากบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นหรือเลิกถือว่าบุคคลนั้นเป็นสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่กงสุล
แล้วแต่กรณี
๓.
บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลอาจถูกประกาศว่าเป็นที่ไม่พึงยอมรับได้
ก่อนที่จะมาถึงอาณาเขตของรัฐผู้รับ หรือถ้าอยู่ในรัฐผู้รับแล้ว
ก่อนเข้ารับหน้าที่กับสถานทำการทางกงสุล ในกรณีเช่นว่านั้น
รัฐผู้ส่งจะต้องเพิกถอนการแต่งตั้งบุคคลนั้น
๔.
ในกรณีที่ได้ระบุไว้ในวรรค ๑ และ ๓ ของข้อนี้
รัฐผู้รับไม่มีพันธะที่จะให้เหตุผลในการวินิจฉัยแก่รัฐผู้ส่ง
การแจ้งรัฐผู้รับถึงการแต่งตั้ง
การมาถึง และการเดินทางออกไป
๑.
กระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงนั้นกำหนด
จะต้องได้รับการแจ้งถึง
(ก)
การแต่งตั้งสมาชิกในสถานทำการทางกงสุล
การมาถึงหลังจากการแต่งตั้งมาประจำสถานทำการทางกงสุล การเดินทางออกไปครั้งสุดท้าย
หรือการสิ้นสุดหน้าที่ของบุคคลนั้น
และการเปลี่ยนแปลงอื่นใดอันกระทบกระเทือนสถานะของบุคคลนั้น
ซึ่งอาจเกิดขึ้นในระหว่างที่บุคคลนั้นทำงานอยู่กับสถานทำการทางกงสุลนั้น
(ข)
การมาถึงและการเดินทางออกไปครั้งสุดท้ายของบุคคลในครอบครัวของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุล
ซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว และในกรณีที่เหมาะสม
การที่บุคคลใดกลายเป็นหรือยุติการเป็นสมาชิกในครอบครัวเช่นว่านั้น
(ค)
การมาถึงและการเดินทางออกไปครั้งสุดท้ายของสมาชิกในคณะคนรับใช้ส่วนตัว
และในกรณีที่เหมาะสม การสิ้นสุดลงของบริการเช่นว่านั้นของสมาชิกเหล่านั้น
(ง)
การว่าจ้างและการเลิกจ้างบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้รับเป็นสมาชิกในสถานทำการทางกงสุล
หรือสมาชิกในคณะคนรับใช้ส่วนตัวซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกัน
๒.
เมื่อกระทำได้ จะแจ้งล่วงหน้าถึงการมาถึงและการเดินทางออกไปครั้งสุดท้ายด้วย
ตอน ๒
การสิ้นสุดหน้าที่ทางกงสุล
การสิ้นสุดหน้าที่ของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุล
นอกจากประการอื่นแล้ว
หน้าที่ของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลจะสิ้นสุดลง
(ก)
เมื่อรัฐผู้ส่งได้แจ้งรัฐผู้รับว่า หน้าที่ของบุคคลดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว
(ข)
เมื่อมีการเพิกถอนอนุมัติบัตร
(ค)
เมื่อรัฐผู้รับได้แจ้งรัฐผู้ส่งว่า
รัฐผู้รับได้เลิกถือว่าบุคคลนั้นเป็นสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่กงสุล
การเดินทางออกจากอาณาเขตของรัฐผู้รับ
แม้ในกรณีการขัดกันด้วยอาวุธ
รัฐผู้รับจะให้เวลาและความสะดวกตามที่จำเป็นแก่สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลและสมาชิกในคณะคนรับใช้ส่วนตัว
นอกเหนือไปจากคนชาติของรัฐผู้รับ
และสมาชิกในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของบุคคลเหล่านั้น
เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถตระเตรียมการเดินทางออกไป และจากไปได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายหลังการสิ้นสุดหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น
โดยเฉพาะในกรณีจำเป็น
รัฐผู้รับจะจัดพาหนะให้สำหรับการขนส่งที่จำเป็นสำหรับตัวบุคคลและทรัพย์สินของบุคคลเหล่านั้น
นอกเหนือจากทรัพย์สินที่ได้มาในรัฐผู้รับเป็นทรัพย์สินที่ห้ามส่งออกในเวลาที่เดินทางออกไป
การคุ้มครองสถานที่และบรรณสารทางกงสุล
และ
ผลประโยชน์ของรัฐผู้ส่งในพฤติการณ์พิเศษ
๑.
ในกรณีที่มีการตัดความสัมพันธ์ทางกงสุลระหว่างรัฐสองรัฐ
(ก)
แม้ในกรณีการขัดกันด้วยอาวุธ รัฐผู้รับจะต้องเคารพและคุ้มครองสถานที่ทางกงสุล รวมทั้งทรัพย์สินของสถานทำการทางกงสุลและบรรณสารทางกงสุล
(ข)
รัฐผู้ส่งอาจมอบหมายการพิทักษ์สถานที่ทางกงสุล
รวมทั้งทรัพย์สินซึ่งมีอยู่ในนั้นและบรรณสารทางกงสุลแก่รัฐที่สามซึ่งเป็นที่ยอมรับของรัฐผู้รับ
(ค)
รัฐผู้ส่งอาจมอบหมายการคุ้มครองผลประโยชน์ของตนและของคนชาติของตนแก่รัฐที่สามซึ่งเป็นที่ยอมรับของรัฐผู้รับ
๒.
ในกรณีที่มีการปิดสถานทำการทางกงสุลเป็นการชั่วคราวหรือถาวร
ให้นำบทบัญญัติของอนุวรรค (ก) ของวรรค ๑ ของข้อนี้มาใช้ และ
(ก)
รัฐผู้ส่งแม้จะไม่มีคณะผู้แทนทางทูตแทนตนอยู่ในรัฐผู้รับ ถ้ามีสถานทำการทางกงสุลอีกแห่งหนึ่งอยู่ในอาณาเขตของรัฐนั้น
สถานทำการทางกงสุลนั้นอาจได้รับมอบหมายให้พิทักษ์สถานที่ของสถานทำการทางกงสุลที่ได้ปิดลง
รวมทั้งทรัพย์สินที่มีอยู่ในนั้นและบรรณสารทางกงสุล
และอาจได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลในเขตของสถานทำการทางกงสุลนั้นด้วยความยินยอมของรัฐผู้รับ
หรือ
(ข)
ถ้ารัฐผู้ส่งไม่มีคณะผู้แทนทางทูตและสถานทำการทางกงสุลอื่นในรัฐผู้รับ
ให้นำบทบัญญัติของอนุวรรค (ข) และ (ค) ของวรรค ๑ ของข้อนี้มาใช้
ความสะดวก
เอกสิทธิและความคุ้มกันเกี่ยวกับสถานทำการทางกงสุล
เจ้าพนักงานกงสุลอาชีพ
และบุคคลอื่นในสถานทำการทางกงสุล
ตอน ๑
ความสะดวก
เอกสิทธิและความคุ้มกันเกี่ยวกับสถานทำการทางกงสุล
ความสะดวกสำหรับการปฏิบัติงานของสถานทำการทางกงสุล
รัฐผู้รับจะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของสถานทำการทางกงสุล
การใช้ธงชาติและตราประจำชาติ
๑.
รัฐผู้ส่งจะมีสิทธิใช้ธงชาติและตราประจำชาติของตนในรัฐผู้รับตามบทบัญญัติของข้อนี้
๒.
การชักธงชาติและการแสดงตราประจำชาติของรัฐผู้ส่งอาจกระทำบนอาคารซึ่งสถานทำการทางกงสุลครอบครองอยู่
ที่ประตูทางเข้าของอาคารนั้น ที่อยู่ของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
และที่พาหนะของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลเมื่อใช้ในราชการ
๓.
การใช้สิทธิที่ได้ให้โดยข้อนี้ จะต้องคำนึงถึงกฎหมาย ข้อบังคับ
และประเพณีปฏิบัติของรัฐผู้รับ
สถานที่
๑.
รัฐผู้รับจะอำนวยความสะดวกในการได้มาของรัฐผู้ส่งในอาณาเขตของรัฐผู้รับตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ
ซึ่งสถานที่ที่จำเป็นสำหรับสถานทำการทางกงสุลของรัฐผู้ส่ง
หรือช่วยเหลือรัฐผู้ส่งในการได้สถานที่โดยวิธีอื่น
๒.
เมื่อจำเป็น รัฐผู้รับจะช่วยเหลือสถานทำการทางกงสุล
ในการได้ที่อยู่ที่เหมาะสมสำหรับสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลด้วย
ความละเมิดมิได้ของสถานที่ทางกงสุล
๑.
สถานที่ทางกงสุลจะถูกละเมิดมิได้เท่าที่กำหนดไว้ในข้อนี้
๒.
เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับจะไม่เข้าไปในส่วนใดของสถานที่ทางกงสุล
ซึ่งใช้เพื่อความมุ่งประสงค์ในการปฏิบัติงานของสถานทำการทางกงสุลเฉพาะ
เว้นแต่ด้วยความยินยอมของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลหรือผู้ที่หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลมอบหมาย
หรือหัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตของรัฐผู้ส่ง อย่างไรก็ดี
ในกรณีเพลิงไหม้หรือวินาศภัยอื่นที่จำต้องกระทำการป้องกันโดยพลัน
อาจถือว่าได้รับความยินยอมของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลแล้ว
๓.
ภายใต้บังคับของบทบัญญัติของวรรค ๒ ของข้อนี้
รัฐผู้รับมีหน้าที่พิเศษที่จะดำเนินการทั้งปวงที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสถานที่ทางกงสุลจากการบุกรุก
หรือความเสียหายใด และเพื่อป้องกันการรบกวนต่อความสงบของสถานทำการทางกงสุล
หรือการทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีของสถานทำการทางกงสุล
๔.
สถานที่ทางกงสุลและเครื่องเรือน
ทรัพย์สินและพาหนะของสถานทำการทางกงสุลจะได้รับความคุ้มกันจากการเรียกเกณฑ์ไม่ว่าในรูปใดเพื่อความมุ่งประสงค์ในการป้องกันประเทศหรือสาธารณูปโภค
หากจำเป็นต้องมีการเวนคืนเพื่อความมุ่งประสงค์เช่นว่านั้น
จะต้องดำเนินการทั้งปวงที่เป็นไปได้เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุล
และจะต้องจ่ายค่าทดแทนที่เพียงพอและมีประสิทธิผลแก่รัฐผู้ส่งโดยพลัน
การยกเว้นจากการเก็บภาษีของสถานที่ทางกงสุล
๑.
สถานที่ทางกงสุลและที่อยู่ของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลอาชีพ
ซึ่งรัฐผู้ส่งหรือบุคคลใดที่กระทำการในนามของรัฐผู้ส่งเป็นเจ้าของหรือผู้เช่า
จะได้รับยกเว้นจากภาษีอากรทั้งปวงของชาติ ท้องถิ่น หรือเทศบาล
นอกจากที่เป็นการชำระค่าบริการที่ได้ให้โดยเฉพาะ
๒.
การยกเว้นจากการเก็บภาษีที่อ้างถึงในวรรค ๑ ของข้อนี้
จะไม่นำมาใช้กับภาษีอากรเช่นว่านั้น หากผู้ที่ได้ทำสัญญากับรัฐผู้ส่งหรือกับบุคคลที่กระทำการในนามของรัฐผู้ส่งจะต้องชำระภาษีอากรนั้นตามกฎหมายของรัฐผู้รับ
ความละเมิดมิได้ของบรรณสารและเอกสารทางกงสุล
บรรณสารและเอกสารทางกงสุลจะถูกละเมิดมิได้ตลอดเวลา
และไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด
เสรีภาพในการเดินทาง
ภายใต้บังคับของกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับเกี่ยวกับการเข้าไปในเขตซึ่งเป็นที่หวงห้ามหรือที่ควบคุมด้วยเหตุผลของความมั่นคงแห่งชาติ
รัฐผู้รับจะประกันเสรีภาพในการเดินทางในอาณาเขตของตนแก่สมาชิกทั้งปวงในสถานทำการทางกงสุล
เสรีภาพในการสื่อสาร
๑.
รัฐผู้รับจะอนุญาตและคุ้มครองเสรีภาพในการสื่อสารของสถานทำการทางกงสุลเพื่อความมุ่งประสงค์ในราชการทั้งปวง
ในการติดต่อกับรัฐบาล คณะผู้แทนทางทูต
และสถานทำการทางกงสุลอื่นของรัฐผู้ส่งไม่ว่าตั้งอยู่ที่ใด
สถานทำการทางกงสุลอาจใช้วิธีการที่เหมาะสมทั้งปวง รวมทั้งผู้ถือสารทางทูตหรือกงสุล
ถุงทางทูตหรือกงสุล และข้อความเป็นรหัสหรือกุญแจรหัส อย่างไรก็ดี
สถานทำการทางกงสุลอาจติดตั้งและใช้เครื่องส่งวิทยุได้ด้วยความยินยอมของรัฐผู้รับเท่านั้น
๒.
หนังสือติดต่อทางราชการของสถานทำการทางกงสุลจะถูกละเมิดมิได้
หนังสือติดต่อทางราชการหมายถึง หนังสือติดต่อทั้งปวงเกี่ยวกับสถานทำการทางกงสุล
และหน้าที่ของสถานทำการทางกงสุล
๓.
ถุงทางกงสุลจะไม่ถูกเปิดหรือถูกกักไว้ อย่างไรก็ตาม
ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้รับมีเหตุผลอันหนักแน่นที่เชื่อได้ว่า
ถุงนั้นบรรจุสิ่งใดนอกเหนือจากหนังสือติดต่อ เอกสาร หรือสิ่งของตามวรรค ๔
ของข้อนี้
เจ้าหน้าที่เหล่านั้นอาจร้องขอให้ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจของรัฐผู้ส่งเปิดถุงนั้นต่อหน้าตน
ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ส่งปฏิเสธการร้องขอนี้ ถุงนั้นจะถูกส่งกลับไปยังต้นทาง
๔.
หีบห่อที่ประกอบเป็นถุงทางกงสุลจะต้องมีเครื่องหมายภายนอกที่เห็นได้แสดงสถานะของถุงทางกงสุล
และอาจบรรจุหนังสือติดต่อทางราชการและเอกสาร
หรือสิ่งของซึ่งมุ่งใช้ในทางราชการโดยเฉพาะเท่านั้น
๕.
ผู้ถือสารทางกงสุลจะได้รับเอกสารราชการแสดงสถานะของตนและจำนวนหีบห่อที่ประกอบเป็นถุงทางกงสุล
เว้นแต่ด้วยความยินยอมของรัฐผู้รับผู้ถือสารทางกงสุลจะต้องไม่เป็นทั้งคนชาติของรัฐผู้รับ
หรือ เว้นแต่จะเป็นคนชาติของรัฐผู้ส่ง ไม่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐผู้รับ
ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ผู้ถือสารทางกงสุลจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐผู้รับ
ผู้ถือสารทางกงสุลจะอุปโภคความละเมิดมิได้ในตัวบุคคล และจะต้องไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในลักษณะใด
๖.
รัฐผู้ส่ง
คณะผู้แทนทางฑูตและสถานทำการทางกงสุลอาจแต่งตั้งผู้ถือสารทางกงสุลเฉพาะกรณีได้
ในกรณีเช่นว่านี้ ให้นำบทบัญญัติของวรรค ๕ ของข้อนี้มาใช้ด้วย
เว้นแต่ความคุ้มกันที่ระบุไว้ในวรรคนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้ถือสารเช่นว่านั้นได้ส่งถุงทางกงสุลในความรับผิดชอบให้แก่ผู้รับแล้ว
๗.
ถุงทางกงสุลอาจถูกมอบหมายให้กับผู้บังคับการของเรือหรือเครื่องบินพาณิชย์ซึ่งมีกำหนดการถึงท่าเข้าเมืองที่ได้รับอนุญาต
ผู้บังคับการของเรือหรือเครื่องบินพาณิชย์นั้นจะได้รับเอกสารราชการแสดงจำนวนหีบห่อที่ประกอบเป็นถุงทางกงสุล
แต่ไม่ให้ถือว่าผู้บังคับการของเรือหรือเครื่องบินพาณิชย์เป็นผู้ถือสารทางกงสุล
สถานทำการทางกงสุลอาจส่งสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลคนหนึ่งไปรับมอบถุงทางกงสุลโดยตรงและอย่างเสรีจากผู้บังคับการของเรือหรือเครื่องบินนั้น
โดยการตกลงกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เหมาะสม
การสื่อสารและการติดต่อกับคนชาติของรัฐผู้ส่ง
๑.
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลในส่วนเกี่ยวกับคนชาติของรัฐผู้ส่ง
(ก)
เจ้าพนักงานกงสุลจะมีเสรีภาพที่จะสื่อสารและเข้าถึงคนชาติของรัฐผู้ส่ง
คนชาติของรัฐผู้ส่งจะมีเสรีภาพเช่นเดียวกันในส่วนที่เกี่ยวกับการสื่อสารและการเข้าถึงเจ้าพนักงานกงสุลของรัฐผู้ส่ง
(ข)
ถ้าคนชาติของรัฐผู้ส่งร้องขอ
เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้รับจะต้องแจ้งให้สถานทำการทางกงสุลของรัฐผู้ส่งทราบโดยไม่ชักช้า
ถ้าคนชาติของรัฐนั้นถูกจับกุม หรือถูกขังไว้ในเรือนจำ หรือถูกควบคุมตัวระหว่างการดำเนินคดี
หรือถูกกักขังในลักษณะอื่นใดภายในเขตกงสุล
การสื่อสารใดที่มีถึงสถานทำการทางกงสุลโดยบุคคลที่ถูกจับกุมที่อยู่ในเรือนจำ
ที่ถูกควบคุม หรือที่ถูกกักขังนั้น
เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะต้องส่งต่อไปโดยไม่ชักช้าด้วย เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะต้องแจ้งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทราบโดยไม่ชักช้าถึงสิทธิของบุคคลผู้นั้นตามอนุวรรคนี้
(ค)
เจ้าพนักงานกงสุลมีสิทธิเข้าเยี่ยมคนชาติของรัฐผู้ส่งซึ่งอยู่ในเรือนจำ
ถูกควบคุมหรือถูกกักขัง สนทนาและติดต่อทางหนังสือกับคนชาติดังกล่าว
และจัดให้มีผู้แทนทางกฎหมายของบุคคลเช่นว่านี้
เจ้าพนักงานกงสุลมีสิทธิเข้าเยี่ยมคนชาติของรัฐผู้ส่งคนใดซึ่งอยู่ในเรือนจำ
ถูกควบคุม หรือถูกกักขังในเขตของตนตามคำพิพากษาของศาลด้วย อย่างไรก็ตาม
เจ้าพนักงานกงสุลต้องงดเว้นการดำเนินการแทนคนชาติซึ่งอยู่ในเรือนจำ ถูกควบคุม
หรือถูกกักขัง ถ้าคนชาติผู้นั้นคัดค้านการกระทำเช่นว่านั้นโดยชัดแจ้ง
๒.
สิทธิที่อ้างถึงในวรรค ๑ ของข้อนี้
จะต้องใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ
ภายใต้เงื่อนไขว่ากฎหมายและข้อบังคับดังกล่าวต้องให้ผลอย่างเต็มที่ต่อความมุ่งประสงค์ที่ได้มุ่งประสาทสิทธิไว้ตามข้อนี้
การแจ้งในกรณีตาย
แต่งตั้งผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผลประโยชน์
เรืออับปาง
และอุบัติเหตุทางอากาศ
หากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้รับมีข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจ้าหน้าที่เช่นว่านั้นมีหน้าที่
(ก)
แจ้งสถานทำการทางกงสุลในเขตที่การตายได้เกิดขึ้นโดยไม่ชักช้าในกรณีคนชาติของรัฐผู้ส่งตาย
(ข)
แจ้งสถานทำการทางกงสุลที่มีอำนาจโดยไม่ชักช้าถึงกรณีใดที่ปรากฏว่าการแต่งตั้งผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผลประโยชน์จะเป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์หรือบุคคลอื่นที่หย่อนความสามารถ
ซึ่งเป็นคนชาติของรัฐผู้ส่ง อย่างไรก็ดี
การแจ้งเช่นว่านี้จะไม่เสื่อมเสียต่อการใช้กฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับเกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้น
(ค)
แจ้งสถานทำการทางกงสุลที่อยู่ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุที่สุดโดยไม่ชักช้า
ถ้าเรือที่มีสัญชาติของรัฐผู้ส่งอับปางหรือเกยตื้นในทะเลอาณาเขตหรือน่านน้ำภายในของรัฐผู้รับ
หรือถ้าเครื่องบินที่จดทะเบียนในรัฐผู้ส่งประสบอุบัติเหตุในอาณาเขตของรัฐผู้รับ
การสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับ
ในการปฏิบัติหน้าที่
เจ้าพนักงานกงสุลอาจติดต่อกับ
(ก)
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผู้มีอำนาจของเขตกงสุล
(ข)
เจ้าหน้าที่ส่วนกลางผู้มีอำนาจของรัฐผู้รับ ถ้าและเท่าที่กฎหมาย ข้อบังคับ และประเพณีปฏิบัติของรัฐผู้รับ
หรือความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอนุญาตให้กระทำได้
ค่าธรรมเนียมและค่าบริการทางกงสุล
๑.
ในอาณาเขตของรัฐผู้รับ
สถานทำการทางกงสุลอาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการสำหรับการกระทำทางกงสุล
ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้ส่ง
๒.
เงินที่เก็บได้ในรูปค่าธรรมเนียม และค่าบริการที่อ้างถึงในวรรค ๑ ของข้อนี้
และใบรับเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเช่นว่านั้น
จะได้รับยกเว้นจากภาษีอากรทั้งปวงในรัฐผู้รับ
ตอน ๒
ความสะดวก
เอกสิทธิและความคุ้มกันเกี่ยวกับเจ้าพนักงานกงสุลอาชีพ
และสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลอื่น
การคุ้มครองเจ้าพนักงานกงสุล
รัฐผู้รับจะปฏิบัติต่อเจ้าพนักงานกงสุลด้วยความเคารพตามควร
และจะดำเนินการที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อป้องกันการประทุษร้ายใดต่อตัวบุคคล เสรีภาพ หรือศักดิ์ศรีของเจ้าพนักงานดังกล่าว
ความละเมิดมิได้ในตัวบุคคลของเจ้าพนักงานกงสุล
๑.
เจ้าพนักงานกงสุลจะต้องไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในระหว่างการดำเนินคดี
เว้นแต่ในกรณีอาชญากรรมที่ร้ายแรง
และตามคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม
๒.
เว้นแต่ในกรณีที่ระบุไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้
เจ้าพนักงานกงสุลจะไม่ถูกขังไว้ในเรือนจำ หรือถูกจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลในลักษณะใด
เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลที่มีผลถึงที่สุดแล้ว
๓.
ถ้ามีการดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าพนักงานกงสุล
เจ้าพนักงานกงสุลนั้นต้องปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีจะต้องกระทำด้วยความเคารพตามที่เจ้าพนักงานกงสุลนั้นพึงได้รับโดยเหตุแห่งตำแหน่งทางราชการของเจ้าพนักงานดังกล่าว
เว้นแต่ในกรณีที่ระบุไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้
จะต้องกระทำในลักษณะที่จะขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในพฤติการณ์ที่กล่าวในวรรค ๑ ของข้อนี้ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องกักขังเจ้าพนักงานกงสุล
การดำเนินคดีต่อเจ้าพนักงานกงสุลจะต้องกระทำโดยใช้เวลาน้อยที่สุด
การแจ้งการจับกุม กักขัง
หรือการดำเนินคดี
ในกรณีที่มีการจับกุมหรือกักขังสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่กงสุลระหว่างการดำเนินคดี
หรือมีการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลดังกล่าว รัฐผู้รับจะต้องแจ้งให้หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลทราบโดยพลัน
หากมีการใช้มาตรการเช่นว่านั้นกับหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลเองแล้ว
รัฐผู้รับจะต้องแจ้งให้รัฐผู้ส่งทราบโดยวิถีทางการทูต
ความคุ้มกันจากเขตอำนาจ
๑.
เจ้าพนักงานกงสุลและลูกจ้างทางกงสุล จะไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมหรือเจ้าหน้าที่ปกครองของรัฐผู้รับในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุล
๒.
อย่างไรก็ดี บทบัญญัติของวรรค ๑ ของข้อนี้
จะไม่ใช้ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีทางแพ่ง
(ก)
ที่เกิดจากสัญญาที่ได้กระทำโดยเจ้าพนักงานกงสุลหรือลูกจ้างทางกงสุล
ซึ่งมิได้ทำสัญญาในฐานะตัวแทนของรัฐผู้ส่งอย่างชัดแจ้งหรือโดยปริยาย หรือ
(ข)
โดยบุคคลที่สาม
สำหรับความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุในรัฐผู้รับอันเนื่องมาจากยานพาหนะ เรือ
หรือเครื่องบิน
พันธะในการให้การ
๑.
สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลอาจถูกเรียกให้ไปปรากฏตัวในฐานะพยานในระหว่างการดำเนินคดีทางศาล
หรือทางปกครอง
ลูกจ้างทางกงสุลหรือสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการจะต้องไม่ปฏิเสธที่จะให้การ
เว้นแต่ในกรณีที่กล่าวไว้ในวรรค ๓ ของข้อนี้
หากเจ้าพนักงานกงสุลปฏิเสธที่จะกระทำเช่นว่านั้น
ก็ไม่อาจใช้มาตรการบังคับหรือลงโทษกับเจ้าพนักงานดังกล่าวได้
๒.
เจ้าหน้าที่ซึ่งต้องการคำให้การของเจ้าพนักงานกงสุลจะต้องหลีกเลี่ยงการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานกงสุล
หากเป็นไปได้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจมารับคำให้การเช่นว่า ณ ที่อยู่ของเจ้าพนักงานกงสุล
หรือที่สถานทำการทางกงสุล หรือรับคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าพนักงานกงสุล
๓.
สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลไม่มีพันธะที่จะให้การในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือที่จะให้หนังสือติดต่อและเอกสารราชการที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่
สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายของรัฐผู้ส่งด้วย
การสละเอกสิทธิและความคุ้มกัน
๑.
รัฐผู้ส่งอาจสละเอกสิทธิและความคุ้มกันใดที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ ๔๑ ๔๓ และ ๔๔
ในส่วนที่เกี่ยวกับสมาชิกในสถานทำการทางกงสุล
๒.
การสละในทุกกรณีจะต้องชัดแจ้ง เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ในวรรค ๓ ของข้อนี้
และจะต้องแจ้งไปยังรัฐผู้รับเป็นลายลักษณ์อักษร
๓.
การริเริ่มคดีโดยเจ้าพนักงานกงสุลหรือลูกจ้างทางกงสุลในเรื่องที่ตนอาจได้อุปโภคความคุ้มกันจากเขตอำนาจตามข้อ
๔๓ จะตัดบุคคลดังกล่าวจากการอ้างความคุ้มกันจากเขตอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการฟ้องแย้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการฟ้องคดีนั้น
๔.
การสละความคุ้มกันจากเขตอำนาจเพื่อความมุ่งประสงค์ในการดำเนินคดีทางแพ่งหรือทางปกครองจะไม่ถือว่ามีนัยเป็นการสละความคุ้มกันจากมาตรการการบังคับคดีอันเป็นผลจากคำวินิจฉัย
ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการสละในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการเช่นว่านั้นต่างหากอีก
การยกเว้นการจดทะเบียนคนต่างด้าวและใบอนุญาตถิ่นที่อยู่
๑.
เจ้าพนักงานกงสุลและลูกจ้างทางกงสุลและสมาชิกในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
จะได้รับยกเว้นจากข้อผูกพันทั้งปวงตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับเกี่ยวกับการจดทะเบียนคนต่างด้าวและใบอนุญาตถิ่นที่อยู่
๒.
อย่างไรก็ดี บทบัญญัติของวรรค ๑ ของข้อนี้
จะไม่ใช้กับลูกจ้างทางกงสุลใดผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกจ้างประจำของรัฐผู้ส่งหรือผู้ซึ่งประกอบอาชีพส่วนตัวอันมีรายได้ในรัฐผู้รับหรือสมาชิกในครอบครัวของลูกจ้างนั้น
การยกเว้นใบอนุญาตทำงาน
๑.
ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่รัฐผู้ส่ง
สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลจะได้รับยกเว้นจากข้อผูกพันใดเกี่ยวกับใบอนุญาตทำงานที่กำหนดโดยกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับเกี่ยวกับการจ้างงานคนต่างด้าว
๒.
สมาชิกในคณะคนรับใช้ส่วนตัวของเจ้าพนักงานกงสุลและของลูกจ้างทางกงสุล
จะได้รับยกเว้นจากข้อผูกพันที่อ้างถึงในวรรค ๑ ของข้อนี้
ถ้ามิได้ประกอบอาชีพอันมีรายได้อื่นในรัฐผู้รับ
การยกเว้นจากการประกันสังคม
๑.
ภายใต้บังคับของบทบัญญัติของวรรค ๓ ของข้อนี้
สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่รัฐผู้ส่ง
และสมาชิกในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าวจะได้รับยกเว้นจากบทบัญญัติกฎหมายประกันสังคมซึ่งอาจใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้รับ
๒.
การยกเว้นที่ได้บัญญัติไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้
จะใช้กับสมาชิกในคณะคนรับใช้ส่วนตัวซึ่งรับจ้างสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลแต่อย่างเดียว
โดยมีเงื่อนไขว่า
(ก)
บุคคลดังกล่าวมิใช่เป็นคนชาติ หรือผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐผู้รับ และ
(ข)
บุคคลดังกล่าวได้รับการคุ้มครองจากบทบัญญัติกฎหมายประกันสังคมซึ่งใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ส่ง
หรือรัฐที่สามแล้ว
๓.
สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลซึ่งจ้างบุคคลซึ่งไม่ได้รับการยกเว้น
ตามที่ได้บัญญัติไว้ในวรรค ๒ ของข้อนี้
จะปฏิบัติตามข้อผูกพันของบทบัญญัติกฎหมายประกันสังคมของรัฐผู้รับซึ่งใช้บังคับต่อนายจ้าง
๔.
การยกเว้นที่ได้บัญญัติไว้ในวรรค ๑ และ ๒ ของข้อนี้
จะไม่ตัดการเข้าร่วมโดยสมัครใจในระบบการประกันสังคมของรัฐผู้รับ โดยมีเงื่อนไขว่า
รัฐนั้นอนุญาตการเข้าร่วมเช่นว่านั้น
การยกเว้นจากการเก็บภาษี
๑.
เจ้าพนักงานกงสุลและลูกจ้างทางกงสุล และสมาชิกในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
จะได้รับยกเว้นจากภาษีอากรทั้งปวงของชาติ ท้องถิ่น หรือเทศบาล
ในส่วนบุคคลหรือในทรัพย์สิน เว้นแต่
(ก)
ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาสินค้าหรือบริการแล้ว
(ข)
ภาษีอากรเก็บจากอสังหาริมทรัพย์ส่วนตัวซึ่งตั้งอยู่ในอาณาเขตของรัฐผู้รับภายใต้บังคับของบทบัญญัติของข้อ
๓๒
(ค)
ภาษีมรดก และค่าธรรมเนียมการโอน
ที่เรียกเก็บโดยรัฐผู้รับภายใต้บังคับของบทบัญญัติของข้อ ๕๑ วรรค (ข)
(ง)
ภาษีอากรเก็บจากเงินได้ส่วนตัว รวมทั้งผลได้จากทุนซึ่งมีแหล่งที่มาในรัฐผู้รับ
และภาษีเก็บจากเงินทุนที่เกี่ยวกับการลงทุนในการประกอบการพาณิชย์
หรือการเงินในรัฐผู้รับ
(จ)
ค่าบริการซึ่งเรียกเก็บสำหรับบริการที่ได้ให้โดยเฉพาะ
(ฉ)
ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ค่าธรรมเนียมศาลหรือสำนวนความ
ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ และอากรแสตมป์ ภายใต้บังคับของบทบัญญัติของข้อ
๓๒
๒.
สมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการจะได้รับยกเว้นจากภาษีอากรที่เก็บจากค่าจ้างซึ่งได้รับสำหรับบริการ
๓.
สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลซึ่งว่าจ้างบุคคลซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าจ้างหรือเงินเดือนในรัฐผู้รับ
จะต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันที่กฎหมายและข้อบังคับของรัฐนั้นใช้บังคับต่อนายจ้างเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีเงินได้
การยกเว้นจากอากรศุลกากรและการตรวจสอบ
๑.
รัฐผู้รับจะอนุญาตให้นำเข้าและยกเว้นจากอากรศุลกากร ภาษี
และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องทั้งปวงนอกจากค่าธรรมเนียมในการเก็บรักษา
การขนส่งและบริการที่คล้ายกันตามกฎหมายและข้อบังคับซึ่งรัฐผู้รับอาจกำหนดใช้ กับ
(ก)
สิ่งของสำหรับใช้ในราชการของสถานทำการทางกงสุล
(ข)
สิ่งของสำหรับใช้ส่วนตัวของเจ้าพนักงานกงสุลหรือสมาชิกในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
รวมทั้งสิ่งของที่มุ่งใช้สำหรับการตั้งครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
สิ่งของที่มุ่งใช้สำหรับการบริโภคจะต้องไม่เกินปริมาณที่จำเป็นสำหรับการใช้โดยตรงโดยบุคคลที่เกี่ยวข้อง
๒.
ลูกจ้างทางกงสุลจะอุปโภคเอกสิทธิ และสิทธิยกเว้นที่ระบุในวรรค ๑ ของข้อนี้
ในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งของที่นำเข้าในเวลาที่เข้ารับหน้าที่ครั้งแรก
๓.
หีบห่อส่วนตัวที่มากับเจ้าพนักงานกงสุลและสมาชิกในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
จะได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ
การตรวจสอบอาจกระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุผลหนักแน่นที่ทำให้เชื่อว่าหีบห่อนั้นบรรจุสิ่งของนอกเหนือไปจากที่อ้างถึงในอนุวรรค
(ข) ของวรรค ๑ ของข้อนี้
หรือสิ่งของซึ่งการนำเข้าหรือส่งออกต้องห้ามตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับหรือซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยการกักตรวจโรคของรัฐนั้น
การตรวจสอบเช่นว่านี้จะต้องกระทำต่อหน้าเจ้าพนักงานกงสุลหรือสมาชิกในครอบครัวที่เกี่ยวข้องของบุคคลดังกล่าว
กองมรดกของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุล
หรือของสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว
ในกรณีที่สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลหรือสมาชิกในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าวตาย
รัฐผู้รับ
(ก)
จะอนุญาตให้ส่งออกซึ่งสังหาริมทรัพย์ของผู้ตาย
ยกเว้นทรัพย์สินเช่นว่าใดที่ได้มาในรัฐผู้รับนั้นต้องห้ามส่งออกในเวลาที่บุคคลดังกล่าวตาย
(ข)
จะไม่เรียกเก็บภาษีมรดกและค่าธรรมเนียมการโอนของชาติ ท้องถิ่น
หรือเทศบาลจากสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในรัฐผู้รับเพียงเพราะการที่ผู้ตายอยู่ในรัฐนั้นในฐานะสมาชิกในสถานทำการทางกงสุล
หรือในฐานะสมาชิกในครอบครัวของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุล
การยกเว้นจากการให้บริการและให้ส่วนบำรุงส่วนบุคคล
รัฐผู้รับจะยกเว้นให้กับสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลและสมาชิกในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
จากการให้บริการส่วนบุคคลทั้งปวง จากการให้บริการสาธารณะทั้งปวงไม่ว่าชนิดใดก็ตาม
และจากพันธะทางทหาร เช่น พันธะที่เกี่ยวกับการเรียกเกณฑ์
ส่วนบำรุงและการเรียกเอาที่อยู่เพื่อการทหาร
การเริ่มต้นและการสิ้นสุดของเอกสิทธิและความคุ้มกันทางกงสุล
๑.
สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลทุกคนจะอุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันที่ได้บัญญัติไว้ในอนุสัญญานี้
ตั้งแต่ขณะที่บุคคลนั้นเข้ามาในอาณาเขตของรัฐผู้รับในการเดินทางมารับตำแหน่ง
หรือถ้าอยู่ในอาณาเขตของรัฐผู้รับแล้ว ตั้งแต่บุคคลนั้นปฏิบัติหน้าที่กับสถานทำการทางกงสุล
๒.
สมาชิกในครอบครัวของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าวและสมาชิกในคณะคนรับใช้ส่วนตัวของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุล
จะได้เอกสิทธิและความคุ้มกันที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญานี้
ตั้งแต่วันที่สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลนั้นได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันตามวรรค
๑ ของข้อนี้
หรือตั้งแต่วันที่เข้ามาในอาณาเขตของรัฐผู้รับหรือตั้งแต่วันที่เข้าเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือสมาชิกในคณะคนรับใช้ส่วนตัวเช่นว่านั้น
แล้วแต่ว่าวันไหนจะหลังที่สุด
๓.
เมื่อหน้าที่ของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลสิ้นสุดลง
เอกสิทธิและความคุ้มกันของบุคคลดังกล่าว
และของสมาชิกในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
หรือของสมาชิกในคณะคนรับใช้ส่วนตัวของบุคคลดังกล่าว
ตามปกติจะสิ้นสุดลงขณะที่บุคคลที่เกี่ยวข้องออกไปจากรัฐผู้รับ หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันสมเหตุผลที่จะกระทำเช่นนั้น
แล้วแต่ว่าเวลาไหนจะถึงก่อน
แต่จะยังมีเอกสิทธิและความคุ้มกันอยู่จนถึงเวลานั้นแม้ในกรณีที่มีการขัดกันด้วยอาวุธ
ในกรณีของบุคคลที่อ้างถึงในวรรค ๒ ของข้อนี้
เอกสิทธิและความคุ้มกันของบุคคลดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อบุคคลดังกล่าวยุติการเป็นส่วนของครัวเรือนหรือการรับใช้สมาชิกในสถานทำการทางกงสุล
อย่างไรก็ดี
หากบุคคลเช่นว่านั้นเจตนาจะออกจากรัฐผู้รับภายในระยะเวลาอันสมเหตุผลหลังจากนั้น
เอกสิทธิและความคุ้มกันของบุคคลดังกล่าวจะมีอยู่จนถึงเวลาที่บุคคลนั้นเดินทางออกไป
๔.
อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำโดยเจ้าพนักงานกงสุลหรือลูกจ้างทางกงสุลในการปฏิบัติหน้าที่นั้น
ความคุ้มกันจากเขตอำนาจจะคงมีอยู่โดยไม่มีข้อจำกัดเวลา
๕.
ในกรณีสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลตาย
สมาชิกในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าวจะคงได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันที่ได้ประสาทให้ต่อไปจนกว่าบุคคลนั้นจะออกจากรัฐผู้รับ
หรือจนกว่าจะสิ้นระยะเวลาอันสมเหตุผลที่จะสามารถกระทำเช่นนั้นได้
แล้วแต่ว่าเวลาไหนจะถึงก่อน
พันธะของรัฐที่สาม
๑.
ขณะที่ไปรับ หรือกลับเข้ารับตำแหน่งของตน หรือกลับไปยังรัฐผู้ส่ง ถ้าเจ้าพนักงานกงสุลผ่านหรืออยู่ในอาณาเขตของรัฐที่สามซึ่งได้ให้การตรวจลงตรา
หากการตรวจลงตรานั้นจำเป็น
รัฐที่สามจะประสาทความคุ้มกันทั้งปวงที่ได้บัญญัติไว้ในข้ออื่นของอนุสัญญานี้ตามที่จำเป็นให้แก่บุคคลดังกล่าวเพื่อประกันการผ่านหรือการกลับของเจ้าพนักงานกงสุล
การปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้จะใช้กับกรณีของสมาชิกในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าวที่อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นว่านั้นซึ่งติดตามเจ้าพนักงานกงสุล
หรือแยกเดินทางเพื่อสมทบกับเจ้าพนักงานกงสุลหรือเพื่อกลับไปยังรัฐผู้ส่ง
๒.
ในพฤติการณ์ทำนองเดียวกับที่ระบุไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้
รัฐที่สามจะไม่ก่ออุปสรรคในการที่สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลอื่น
หรือสมาชิกในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลดังกล่าวผ่านอาณาเขตของตน
๓.
รัฐที่สามจะประสาทเสรีภาพและความคุ้มครองเช่นเดียวกับที่รัฐผู้รับจะต้องประสาทให้ตามอนุสัญญานี้
แก่หนังสือติดต่อทางราชการ และการสื่อสารทางราชการอย่างอื่นที่ผ่านแดน
รวมทั้งข้อความที่เป็นรหัสและกุญแจรหัส
รัฐที่สามจะประสาทความละเมิดมิได้และความคุ้มครองเช่นเดียวกับที่รัฐผู้รับจะต้องประสาทให้ตามอนุสัญญานี้
แก่ผู้ถือสารทางกงสุลซึ่งได้รับการตรวจลงตรา หากการตรวจลงตรานั้นจำเป็น
และแก่ถุงทางกงสุลที่ผ่านแดน
๔.
พันธะของรัฐที่สามตามวรรค ๑ ๒ และ ๓ ของข้อนี้
จะใช้กับบุคคลที่ได้ระบุไว้ตามลำดับในวรรคเหล่านั้น และการสื่อสารทางราชการ
และถุงทางกงสุลซึ่งอยู่ในอาณาเขตของรัฐที่สามเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
การเคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ
๑.
โดยไม่เป็นการเสื่อมเสียต่อเอกสิทธิและความคุ้มกัน
เป็นหน้าที่ของบุคคลทั้งปวงที่อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นว่านั้นที่จะเคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ
บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ที่จะไม่แทรกแซงในกิจการภายในของรัฐนั้นด้วย
๒.
สถานที่ทางกงสุลจะต้องไม่ใช้ในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุล
๓.
บทบัญญัติของวรรค ๒ ของข้อนี้
จะไม่ตัดความเป็นไปได้ที่สำนักงานของสถาบันหรือของตัวแทนอื่นจะมาตั้งอยู่ในบางส่วนของอาคารซึ่งสถานที่ทางกงสุลตั้งอยู่
โดยมีเงื่อนไขว่า
สถานที่ที่กำหนดให้แก่สำนักงานเช่นนั้นแยกต่างหากจากสถานที่ที่สถานทำการทางกงสุลใช้อยู่
ในกรณีนั้น
สำนักงานดังกล่าวไม่ถือว่าประกอบเป็นส่วนของสถานที่ทางกงสุลตามความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้
การประกันภัยต่อความเสี่ยงของบุคคลที่สาม
สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดใดที่กฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับได้บังคับไว้
ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันภัยต่อความเสี่ยงของบุคคลที่สามอันเนื่องมาจากการใช้ยานพาหนะ
เรือ หรือเครื่องบิน
บทบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับอาชีพส่วนตัวอันมีรายได้
๑.
เจ้าพนักงานกงสุลอาชีพจะต้องไม่ประกอบกิจกรรมทางวิชาชีพหรือทางพาณิชย์ในรัฐผู้รับเพื่อผลกำไรส่วนตัว
๒.
เอกสิทธิและความคุ้มกันที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ จะไม่ประสาทให้
(ก)
แก่ลูกจ้างทางกงสุล
หรือสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการซึ่งประกอบอาชีพส่วนตัวอันมีรายได้ในรัฐผู้รับ
(ข)
แก่สมาชิกในครอบครัวของบุคคลที่อ้างถึงในอนุวรรค (ก) ของวรรคนี้
หรือแก่สมาชิกในคณะคนรับใช้ส่วนตัวของบุคคลดังกล่าว
(ค)
แก่สมาชิกในครอบครัวของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลซึ่งประกอบอาชีพส่วนตัวด้วยตนเองอันมีรายได้ในรัฐผู้รับ
กฎข้อบังคับเกี่ยวกับเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์และสถานทำการทางกงสุล
ที่มีหัวหน้าเป็นเจ้าพนักงานเช่นว่านั้น
บทบัญญัติทั่วไปเกี่ยวกับความสะดวก
เอกสิทธิและความคุ้มกัน
๑.
ข้อ ๒๘ ๒๙ ๓๐ ๓๔ ๓๕ ๓๖ ๓๗ ๓๘ และ ๓๙ วรรค ๓ ของข้อ ๕๔ และวรรค ๒ และ ๓ ของข้อ ๕๕
จะใช้กับสถานทำการทางกงสุลที่มีหัวหน้าเป็นเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ นอกจากนี้
ความสะดวก
เอกสิทธิและความคุ้มกันของสถานทำการทางกงสุลเช่นว่านั้นจะอยู่ภายใต้บังคับของข้อ
๕๙ ๖๐ ๖๑ และ ๖๒
๒.
ข้อ ๔๒ และ ๔๓ วรรค ๓ ของข้อ ๔๔ ข้อ ๔๕ และ ๕๓ และวรรค ๑ ของข้อ ๕๕
จะใช้กับเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ นอกจากนี้ ความสะดวก เอกสิทธิ
และความคุ้มกันของเจ้าพนักงานกงสุลเช่นว่านั้นจะอยู่ภายใต้บังคับของ ข้อ ๖๓ ๖๔ ๖๕
๖๖ และ ๖๗
๓.
เอกสิทธิและความคุ้มกันที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญานี้จะไม่ประสาทให้แก่สมาชิกในครอบครัวของเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์
หรือของลูกจ้างทางกงสุลที่ถูกว่าจ้าง ณ
สถานทำการทางกงสุลที่มีหัวหน้าเป็นเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์
๔.
การแลกเปลี่ยนถุงทางกงสุลระหว่างสถานทำการทางกงสุลสองแห่งที่มีหัวหน้าเป็นเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ในต่างรัฐ
จะกระทำมิได้โดยปราศจากความยินยอมจากรัฐผู้รับทั้งสองรัฐที่เกี่ยวข้อง
การคุ้มครองสถานที่ทางกงสุล
รัฐผู้รับจะดำเนินการที่อาจจำเป็นเพื่อคุ้มครองสถานที่ทางกงสุลของสถานทำการทางกงสุลที่มีหัวหน้าเป็นเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์จากการบุกรุก
หรือความเสียหายใด และเพื่อป้องกันการรบกวนใดต่อความสงบของสถานทำการทางกงสุล
หรือการทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีของสถานทำการทางกงสุล
การยกเว้นจากการเก็บภาษีของสถานที่ทางกงสุล
๑.
สถานที่ทางกงสุลของสถานทำการทางกงสุลที่มีหัวหน้าเป็นเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์
ซึ่งรัฐผู้ส่งเป็นเจ้าของหรือผู้เช่า จะได้รับยกเว้นจากภาษีอากรทั้งปวงของชาติ
ท้องถิ่น หรือเทศบาล นอกจากที่เป็นการชำระค่าบริการที่ได้ให้โดยเฉพาะ
๒.
การยกเว้นจากการเก็บภาษีที่อ้างถึงในวรรค ๑ ของข้อนี้
จะไม่นำมาใช้กับภาษีอากรเช่นว่านั้น
หากผู้ที่ได้ทำสัญญากับรัฐผู้ส่งจะต้องชำระภาษีอากรนั้นตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ
ความละเมิดมิได้ของบรรณสารและเอกสารทางกงสุล
บรรณสารและเอกสารทางกงสุลของสถานทำการทางกงสุลที่มีหัวหน้าเป็นเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์จะถูกละเมิดมิได้ตลอดเวลา
และไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด โดยมีเงื่อนไขว่า บรรณสารและเอกสารเหล่านั้นจะต้องแยกเก็บไว้ต่างหากจากกระดาษเอกสารและเอกสารอื่น
ๆ
และโดยเฉพาะแยกจากหนังสือติดต่อส่วนตัวของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลและของบุคคลใดที่ปฏิบัติงานกับหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
และแยกจากวัสดุ หนังสือ หรือเอกสารที่เกี่ยวกับวิชาชีพ หรือการค้าของบุคคลดังกล่าว
การยกเว้นจากอากรศุลกากร
รัฐผู้รับจะอนุญาตให้นำเข้าและยกเว้นจากอากรศุลกากร
ภาษี และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องทั้งปวง นอกจากค่าธรรมเนียมในการเก็บรักษา
การขนส่ง
และบริการที่คล้ายกันตามกฎหมายและข้อบังคับซึ่งรัฐผู้รับอาจกำหนดให้ใช้กับสิ่งของดังต่อไปนี้
คือ ตรา ธง แผ่นป้าย ดวงตรา หนังสือ สิ่งพิมพ์ทางราชการ เครื่องเรือนสำนักงาน
เครื่องมือสำหรับสำนักงาน
และสิ่งของที่คล้ายกันที่จัดส่งโดยหรือตามคำขอของรัฐผู้ส่งให้แก่สถานทำการทางกงสุล
โดยมีเงื่อนไขว่า
จะต้องเป็นสิ่งของเพื่อใช้ในราชการของสถานทำการทางกงสุลที่มีหัวหน้าเป็นเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์
การดำเนินคดีอาญา
ถ้ามีการดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์
เจ้าพนักงานผู้นั้นต้องปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ตาม
การดำเนินคดีจะต้องกระทำด้วยความเคารพตามที่เจ้าพนักงานผู้นั้นพึงได้รับโดยเหตุแห่งตำแหน่งทางราชการของเจ้าพนักงานดังกล่าว
เว้นแต่เมื่อเจ้าพนักงานดังกล่าวถูกจับกุมหรือกักขัง
จะต้องกระทำในลักษณะที่จะขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อมีความจำเป็นที่จะกักขังเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ การดำเนินคดีต่อเจ้าพนักงานผู้นั้นจะต้องกระทำโดยใช้เวลาน้อยที่สุด
การคุ้มครองเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์
รัฐผู้รับมีหน้าที่ให้การคุ้มครองที่อาจจำเป็นแก่เจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์โดยเหตุแห่งตำแหน่งทางราชการของเจ้าพนักงานดังกล่าว
การยกเว้นการจดทะเบียนคนต่างด้าวและใบอนุญาตถิ่นที่อยู่
เจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์จะได้รับยกเว้นจากข้อผูกพันทั้งปวงตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับเกี่ยวกับการจดทะเบียนคนต่างด้าวและใบอนุญาตถิ่นที่อยู่
ยกเว้นเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ซึ่งประกอบกิจกรรมทางวิชาชีพหรือทางพาณิชย์ในรัฐผู้รับเพื่อผลกำไรส่วนตัว
การยกเว้นจากการเก็บภาษี
เจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์จะได้รับยกเว้นจากภาษีอากรทั้งปวงที่เรียกเก็บจากค่าตอบแทนและค่าบำเหน็จที่ได้รับจากรัฐผู้ส่งในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุล
การยกเว้นจากการให้บริการและให้ส่วนบำรุงส่วนบุคคล
รัฐผู้รับจะยกเว้นให้กับเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์จากการให้บริการส่วนบุคคลทั้งปวงจากการให้บริการสาธารณะทั้งปวงไม่ว่าชนิดใดก็ตาม
และจากพันธะทางทหาร เช่น พันธะที่เกี่ยวกับการเรียกเกณฑ์ ส่วนบำรุง
และการเรียกเอาที่อยู่เพื่อการทหาร
ลักษณะการให้เลือกได้ของสถาบันเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์
แต่ละรัฐมีเสรีที่จะวินิจฉัยว่าจะแต่งตั้งหรือรับเจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์หรือไม่
บทบัญญัติทั่วไป
ตัวแทนทางกงสุลซึ่งมิได้เป็นหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
๑.
แต่ละรัฐมีเสรีที่จะวินิจฉัยว่าจะตั้งหรือยอมรับสำนักตัวแทนทางกงสุล
ที่ดำเนินการโดยตัวแทนทางกงสุลซึ่งรัฐผู้ส่งมิได้แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล
๒.
เงื่อนไขที่สำนักตัวแทนทางกงสุลที่อ้างถึงในวรรค ๑ ของข้อนี้อาจดำเนินกิจกรรม
และเอกสิทธิและความคุ้มกันที่ตัวแทนทางกงสุลที่รับผิดชอบสำนักตัวแทนทางกงสุลนั้นอาจจะอุปโภคจะกำหนดโดยความตกลงระหว่างรัฐผู้ส่งกับรัฐผู้รับ
การปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลโดยคณะผู้แทนทางทูต
๑.
บทบัญญัติของอนุสัญญานี้ใช้กับการปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลโดยคณะผู้แทนทางทูตด้วย
เท่าที่จะใช้ได้
๒.
ให้แจ้งชื่อของสมาชิกในคณะผู้แทนทางฑูตซึ่งได้รับมอบหมายให้อยู่ในแผนกกงสุล
หรือรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลของคณะผู้แทนนั้นไปยังกระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับหรือไปยังเจ้าหน้าที่ที่กระทรวงนั้นกำหนด
๓.
ในการปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุล คณะผู้แทนทางทูตอาจติดต่อกับ
(ก)
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเขตกงสุล
(ข)
เจ้าหน้าที่ส่วนกลางของรัฐผู้รับ ถ้ากฎหมาย ข้อบังคับ
และประเพณีปฏิบัติของรัฐผู้รับ หรือความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอนุญาตให้กระทำได้
๔.
เอกสิทธิและความคุ้มกันของสมาชิกในคณะผู้แทนทางทูตที่อ้างถึงในวรรค ๒ ของข้อนี้
จะยังคงอยู่ภายใต้บังคับของกฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางทูต
คนชาติหรือผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรของรัฐผู้รับ
๑.
เว้นแต่ความสะดวก เอกสิทธิและความคุ้มกันเพิ่มเติมเท่าที่รัฐผู้รับจะให้ เจ้าพนักงานกงสุลซึ่งเป็นคนชาติ
หรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรของรัฐผู้รับจะอุปโภคเฉพาะความคุ้มกันจากเขตอำนาจและความละเมิดมิได้ในตัวบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในทางราชการซึ่งกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และเอกสิทธิที่ได้บัญญัติไว้ในวรรค
๓ ของข้อ ๔๔ ในส่วนที่เกี่ยวกับเจ้าพนักงานกงสุลเหล่านี้
รัฐผู้รับจะผูกพันตามพันธะที่กำหนดในข้อ ๔๒ เช่นเดียวกัน
ถ้ามีการดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าพนักงานกงสุลเช่นว่านั้น
การดำเนินคดีนั้นจะต้องกระทำในลักษณะที่จะขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เว้นแต่เมื่อเจ้าพนักงานกงสุลดังกล่าวถูกจับกุมหรือกักขัง
๒.
สมาชิกในสถานทำการทางกงสุลอื่นซึ่งเป็นคนชาติหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรของรัฐผู้รับ
และสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าวตลอดจนสมาชิกในครอบครัวของเจ้าพนักงานกงสุลที่อ้างถึงในวรรค
๑ ของข้อนี้ จะอุปโภคความสะดวก เอกสิทธิและความคุ้มกันเท่าที่รัฐผู้รับให้แก่บุคคลดังกล่าว
สมาชิกในครอบครัวของสมาชิกในสถานทำการทางกงสุลและสมาชิกในคณะคนรับใช้ส่วนตัวซึ่งเป็นคนชาติหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรของรัฐผู้รับจะอุปโภคความสะดวก
เอกสิทธิและความคุ้มกันเท่าที่รัฐผู้รับให้แก่บุคคลดังกล่าวเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี รัฐผู้รับจะต้องใช้อำนาจเหนือบุคคลเหล่านั้นในทางที่จะไม่ก่ออุปสรรคโดยไม่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสถานทำการทางกงสุล
การไม่เลือกปฏิบัติ
๑.
ในการใช้บทบัญญัติของอนุสัญญานี้ รัฐผู้รับจะไม่เลือกปฏิบัติระหว่างรัฐ
๒.
อย่างไรก็ดี ไม่ถือว่ามีการเลือกปฏิบัติ
(ก)
เมื่อรัฐผู้รับใช้บทบัญญัติข้อใดของอนุสัญญานี้อย่างจำกัดเพราะมีการใช้บทบัญญัตินั้นอย่างจำกัดแก่สถานทำการทางกงสุลของรัฐผู้รับในรัฐผู้ส่ง
(ข)
เมื่อตามจารีตประเพณีหรือความตกลง รัฐต่าง ๆ
ให้ผลปฏิบัติแก่กันและกันที่เป็นการอนุเคราะห์มากกว่าที่บทบัญญัติของอนุสัญญานี้กำหนด
ความสัมพันธ์ระหว่างอนุสัญญานี้กับความตกลงระหว่างประเทศอื่น
๑.
บทบัญญัติของอนุสัญญานี้จะไม่กระทบกระเทือนต่อความตกลงระหว่างประเทศอื่นที่ใช้บังคับระหว่างรัฐภาคีแห่งความตกลงดังกล่าว
๒.
ไม่มีข้อความใดในอนุสัญญานี้ที่จะขัดขวางรัฐในการทำความตกลงระหว่างประเทศ
เพื่อยืนยันหรือเพิ่มเติม หรือขยายบทบัญญัติของอนุสัญญานี้
บทบัญญัติสุดท้าย
การลงนาม
อนุสัญญานี้จะเปิดให้ลงนามโดยรัฐสมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติหรือของทบวงการชำนัญพิเศษหรือภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
และโดยรัฐอื่นใดที่สมัชชาสหประชาชาติเชิญให้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ดังนี้
จนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๓ ณ กระทรวงการต่างประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐออสเตรีย
และต่อจากนั้นจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ ณ
สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก
สัตยาบัน
อนุสัญญานี้จะต้องได้รับการสัตยาบัน
สัตยาบันสารจะต้องมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ
ภาคยานุวัติ
อนุสัญญานี้จะยังคงเปิดให้ภาคยานุวัติโดยรัฐใด
ที่อยู่ในประเภทหนึ่งประเภทใดในสี่ประเภทที่ระบุไว้ในข้อ ๗๔
ภาคยานุวัติสารจะต้องมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ
การมีผลใช้บังคับ
๑.
อนุสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบต่อจากวันมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่ยี่สิบสองไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ
๒.
สำหรับแต่ละรัฐที่สัตยาบันหรือภาคยานุวัติอนุสัญญานี้หลังจากการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่ยี่สิบสองแล้ว
อนุสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารของรัฐเช่นว่านั้น
การแจ้งโดยเลขาธิการ
เลขาธิการสหประชาชาติจะแจ้งให้รัฐทั้งปวงที่อยู่ในประเภทหนึ่งประเภทใดในสี่ประเภทที่ระบุไว้ในข้อ
๗๔ ทราบถึง
(ก)
การลงนามอนุสัญญานี้และการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารตามข้อ ๗๔ ๗๕ และ ๗๖
(ข)
วันที่อนุสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับตามข้อ ๗๗
ตัวบทที่ถูกต้อง
ต้นฉบับของอนุสัญญานี้ซึ่งตัวบทภาษาจีน
ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซีย และภาษาสเปน มีความถูกต้องเท่าเทียมกัน
จะมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติผู้ซึ่งจะส่งสำเนาที่ได้รับรองแล้วไปยังรัฐทั้งปวงที่อยู่ในประเภทหนึ่งประเภทใดในสี่ประเภทที่ระบุไว้ในข้อ
๗๔
เพื่อเป็นพยานแก่การนี้
ผู้มีอำนาจเต็มซึ่งลงนามข้างท้าย
โดยได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องเพื่อการนี้จากรัฐบาลของตน ได้ลงนามอนุสัญญานี้
ทำ
ณ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ ยี่สิบสี่ เมษายน คริสต์ศักราช
หนึ่งพันเก้าร้อยหกสิบสาม
หมายเหตุ :-
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ซึ่งทำเมื่อวันที่ ๒๔
เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อให้สอดคล้องกับประเพณีปฏิบัติในนานาอารยประเทศ ในการนี้
จะต้องมีกฎหมายเพื่ออนุวัตการให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ณัฐพร/แก้ไข
๖ ตุลาคม ๒๕๕๓
วศิน/ตรวจ
๖ ตุลาคม ๒๕๕๓
อุษมล/ปรับปรุง
๖ มีนาคม ๒๕๕๘