พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
พ.ศ. ๒๕๔๒
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ ตุลาคม
พ.ศ. ๒๕๔๒
เป็นปีที่ ๕๔
ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา
๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา
๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา
๓ ในพระราชบัญญัตินี้
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมายความว่า กรุงเทพมหานคร
องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล
เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น
ประธานสภาท้องถิ่น
หมายความว่า
บุคคลผู้ทำหน้าที่ประธานของสภาท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการเข้าชื่อเสนอให้สภาท้องถิ่นนั้นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น
ข้อบัญญัติท้องถิ่น
หมายความว่า กฎซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
หมายความว่า
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นให้สภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นพิจารณา
มาตรา ๔
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อดำเนินการให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้
มาตรา
๕
คำร้องขอให้ประธานสภาท้องถิ่นดำเนินการให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น
ต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
(๑)
ชื่อ ที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อทุกคน พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ
หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้
(๒)
ร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนเพียงพอได้ว่ามีความประสงค์จะตราข้อบัญญัติท้องถิ่นในเรื่องใดที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
ในการนี้อาจมีสรุปสาระสำคัญและคำชี้แจงความมุ่งหมายของการกำหนดหลักการในแต่ละข้อกำหนดของร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นที่เสนอให้เพียงพอที่จะเข้าใจเหตุผลที่กำหนดไว้ในแต่ละข้อกำหนดด้วยก็ได้
(๓)
รายชื่อผู้แทนของผู้เข้าชื่อที่จะมีอำนาจดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับการเสนอและการพิจารณาข้อบัญญัติท้องถิ่น
(๔)
คำรับรองของผู้แทนของผู้เข้าชื่อตาม (๓) ว่า ผู้เข้าชื่อทุกคนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
และเป็นผู้ร่วมลงชื่อด้วยตนเอง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ใดร่วมลงชื่อในการเข้าชื่อดังกล่าวโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว
ให้ถือว่าการเข้าชื่อนั้นมีผลสมบูรณ์และจะถอนการเข้าชื่อในภายหลังอีกมิได้
มาตรา
๖
เมื่อประธานสภาท้องถิ่นได้รับคำร้องตามมาตรา ๕ แล้ว
ให้ประธานสภาท้องถิ่นตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารดังกล่าว ถ้าเห็นว่าครบถ้วนแล้ว
ให้ประธานสภาท้องถิ่นจัดให้มีการปิดประกาศรายชื่อผู้เข้าชื่อดังกล่าวไว้ ณ ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
และเขตชุมชนหนาแน่นในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
ในกรณีที่ผู้ใดมีชื่อเป็นผู้เข้าชื่อดังกล่าวตามประกาศในวรรคหนึ่งโดยมิได้ร่วมเข้าชื่อด้วย
ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อประธานสภาท้องถิ่นหรือบุคคลที่ประธานสภาท้องถิ่นแต่งตั้ง
เพื่อให้ขีดฆ่าชื่อตนเองออกจากบัญชีรายชื่อผู้เข้าชื่อดังกล่าวได้ภายในยี่สิบวันนับแต่วันปิดประกาศตามวรรคหนึ่ง
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาคัดค้านตามวรรคสองแล้ว
ให้ถือว่ารายชื่อของผู้เข้าชื่อที่ไม่มีการคัดค้านเป็นรายชื่อที่ถูกต้อง
และถ้ามีจำนวนครบตามมาตรา ๔ ให้ประธานสภาท้องถิ่นจัดให้สภาท้องถิ่นดำเนินการพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นต่อไป
แต่ถ้ามีจำนวนไม่ครบตามมาตรา ๔
ให้ประธานสภาท้องถิ่นแจ้งให้ผู้แทนของผู้เข้าชื่อตามมาตรา ๕ (๓)
ทราบเพื่อดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อเพิ่มเติมให้ครบตามมาตรา ๔ ภายในสามสิบวัน
ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวมิได้เสนอการเข้าชื่อจนครบจำนวนให้ประธานสภาท้องถิ่นจำหน่ายเรื่อง
การพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นที่มีการเข้าชื่อเสนอ
ให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมของสภาท้องถิ่นนั้น
มาตรา
๗
ผู้ใดกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย
เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดสามารถใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
หรือขัดขวางการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี
หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา
๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :-
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๒๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติให้ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีสิทธิเข้าชื่อเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้
และเนื่องจากมาตรา ๒๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ได้บัญญัติให้หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อรวมทั้งการตรวจสอบให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
วศิน/แก้ไข
๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
วิมล/ปรับปรุง
๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๖