สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติองค์การมหาชน
พ.ศ. ๒๕๔๒
พัชรินทร์ คำเจริญ[๑]
๑.หลักการและเหตุผล การดำเนินงานตามโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของรัฐ
หรือการดำเนินงานตามแผนงานหรือนโยบายเพื่อจัดทำบริการสาธารณะด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะมักจะมีปัญหาความสลับซับซ้อน
ความขัดแย้งในการดำเนินการ การซับซ้อนของความรับผิดชอบในระหว่างส่วนราชการ
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ก่อให้เกิดความล่าช้า และความไม่ยืดหยุ่นของกฎระเบียบราชการ
ดังนั้น
เพื่อลดปัญหาดังกล่าวและเพื่อเปิดโอกาสให้มีการจัดระบบบริหารแนวใหม่สำหรับภารกิจของรัฐที่มีลักษณะเฉพาะในบางกรณี
ให้มีความคล่องตัวและมีการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรและบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดตลอดจนเพื่อบูรณาการให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมกันทำงานอย่างมีเอกภาพ
และประสานงานกันเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงาน ซึ่งต้องอาศัยความเร่งด่วน
จึงสมควรมีกฎหมายให้ฝ่ายบริหารสามารถตั้งหน่วยงานบริหารเป็นองค์การมหาชนที่แตกต่างไปจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจได้
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
๒.สาระสำคัญ
๒.๑
ความหมาย และวัตถุประสงค์ขององค์การมหาชน
องค์การมหาชน
หมายความว่า องค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้
โดยรัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ
และมีความมุ่งหมายให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
กิจการอันเป็นบริการสาธารณะที่จะจัดตั้งองค์การมหาชนตามวรรคหนึ่ง ได้แก่การรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
การศึกษาอบรมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
การพัฒนาและส่งเสริมการกีฬา การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการวิจัย
การถ่ายทอดและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุข
การสังคมสงเคราะห์ การอำนวยบริการแก่ประชาชน
หรือการดำเนินการอันเป็นสาธารณประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้
โดยต้องไม่เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก
๒.๒
ทุน รายได้ และทรัพย์สิน
ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการขององค์การมหาชน
ประกอบด้วย
(๑)
เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมา
(๒)
เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม
(๓)
เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี
(๔)
เงินอุดหนุนจากภาคเอกชนหรือองค์กรอื่น
รวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๕) ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง
ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินการ
(๖)
ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินขององค์การมหาชน
(มาตรา ๑๒)
๒.๓
การบริหาร และอำนาจหน้าที่
คณะกรรมการของแต่ละองค์การมหาชน ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการ โดยมีองค์ประกอบตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง
และให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ (มาตรา ๑๙)
ประธานกรรมการ
และกรรมการขององค์การมหาชนจะต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับองค์การมหาชนนั้น
หรือกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการขององค์การมหาชน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม (มาตรา
๒๑)
คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลองค์การมหาชนให้ดำเนินกิจการเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) กำหนดนโยบายการบริหารงาน
และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานขององค์การมหาชน
(๒) อนุมัติแผนการลงทุนและแผนการเงินขององค์การมหาชน
(๓)
ควบคุมดูแลการดำเนินงานและบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบข้อบังคับ ประกาศ
หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับองค์การมหาชนในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก)
การจัดแบ่งส่วนงานขององค์การมหาชน และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
(ข) การกำหนดตำแหน่ง
คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง
และเงินอื่นของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชน
(ค) การคัดเลือก การบรรจุ
การแต่งตั้ง การถอดถอน วินัยและการลงโทษทางวินัย การออกจากตำแหน่ง
การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนรวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้างขององค์การมหาชน
(ง) การบริหารและจัดการการเงิน
การพัสดุ และทรัพย์สินขององค์การมหาชน
(จ)
การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นแก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชน
(ฉ) ขอบเขตอำนาจหน้าที่และระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
(๔)
อำนาจหน้าที่อื่นตามที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกำหนด
(มาตรา ๒๔)
ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการองค์การมหาชนให้เป็นไปตามกฎหมาย
วัตถุประสงค์ขององค์การมหาชน ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ
และประกาศของคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชา
เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนทุกตำแหน่ง
ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการขององค์การมหาชน
(มาตรา ๓๑)
๒.๔
การกำกับดูแล
ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนใดมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการขององค์การมหาชนนั้นให้เป็นไปตามกฎหมาย
และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การมหาชน
นโยบายของรัฐบาลและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับองค์การมหาชนนั้น
เพื่อการนี้ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้องค์การมหาชนชี้แจงแสดงความคิดเห็น
ทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำขององค์การมหาชนที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การมหาชน
นโยบายของรัฐบาล หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับองค์การมหาชนนั้น
ตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการได้ (มาตรา ๔๓)
๒.๕
การยุบเลิก
องค์การมหาชนเป็นอันยุบเลิกในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑)
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินกิจการขององค์การมหาชนตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง
(๒)
เมื่อการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนนั้นเสร็จสิ้นลง
และรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนนั้นได้ประกาศยุติการดำเนินการขององค์การมหาชนนั้นในราชกิจจานุเบกษา
(๓) ในกรณีนอกจาก (๑) และ (๒)
เมื่อรัฐบาลเห็นควรยุบเลิกการดำเนินกิจการขององค์การมหาชน
โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกายุบเลิก (มาตรา ๔๔)
ทรัพย์สินขององค์การมหาชนเป็นทรัพย์สินของรัฐ และเมื่อมีการยุบเลิกองค์การมหาชน
ให้มีเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบทรัพย์สินและชำระบัญชีรวมทั้งการโอนหรือการจำหน่ายทรัพย์สินที่ยังคงเหลืออยู่และการจัดการเกี่ยวกับบุคลากรขององค์การมหาชน
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (มาตรา
๔๕)
๓.ผู้รักษาการตามกฎหมายและวันบังคับใช้
ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
(มาตรา ๔)
พระราชบัญญัติองค์การมหาชน
พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๙ ก
หน้า ๕ ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
(มาตรา ๒)
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
พฤษภาคม ๒๕๔๗