สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
พ.ศ.
๒๕๔๓
อรดา เชาวน์วโรดม[๑]
๑.
หลักการและเหตุผล โดยที่มาตรา ๒๓๖
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติให้การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษาครบองค์คณะและผู้พิพากษาซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใดจะทำคำพิพากษาคดีนั้นมิได้
เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ประกอบกับมาตรา ๒๔๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติให้การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ
และได้ห้ามการเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี
เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีและยังได้มีการตรากฎหมายตามมาตรา
๒๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ซึ่งบัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระ
โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา ดังนั้น
เพื่อเป็นการรองรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
๒.
สาระสำคัญ
๒.๑
ศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญ แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น ได้แก่
๑.
ศาลชั้นต้น ได้แก่ ได้แก่
ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี
ศาลจังหวัด ศาลแขวง
และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น (มาตรา
๒)
๒.
ศาลอุทธรณ์ ได้แก่
ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค (มาตรา ๓)
๓.
ศาลฎีกา
๒.๒
เขตอำนาจศาล
๒.๒.๑
ศาลชั้นต้น มีเขตตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้
ศาลแพ่งและศาลอาญา
มีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานครนอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี
ศาลจังหวัดมีนบุรีและศาลยุติธรรมอื่นตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้
กรณียื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งหรือศาลอาญา
และคดีนั้นเกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งหรือศาลอาญา ศาลดังกล่าวอาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอำนาจก็ได้
กรณียื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด
และคดีนั้นเกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง
ให้ศาลจังหวัดนั้นมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจ (มาตรา ๑๖)
๒.๒.๒
ศาลอุทธรณ์ มีเขตตลอดท้องที่ที่มิได้อยู่ในเขตศาลอุทธรณ์ภาค
กรณียื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์
และคดีนั้นอยู่นอกเขตของศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์อาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโอนคดีนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาคที่มีเขตอำนาจ
(มาตรา ๒๑)
๒.๓
อำนาจในการพิจารณาคดีของแต่ละศาล
๒.๓.๑ ศาลชั้นต้น ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
และศาลแพ่งธนบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น
ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้
และศาลอาญาธนบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น
รวมทั้งคดีอื่นใดที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา
แล้วแต่กรณี
ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น
ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี
และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใด ๆ
ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง
ศาลยุติธรรมอื่นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นหรือกฎหมายอื่นกำหนดไว้
๒.๓.๒ ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น
ตามกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ และว่าด้วยเขตอำนาจศาล และมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) พิพากษายืนตาม
แก้ไข กลับ หรือยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
เมื่อคดีได้ส่งขึ้นมายังศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค
(๒)
วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องคำขอที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค
(๓)
วินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจวินิจฉัยได้ตามกฎหมายอื่น
๒.๓.๓
ศาลฎีกา มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค
และคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยตรงต่อศาลฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์หรือฎีกา
และคดีที่กฎหมายอื่นบัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษา รวมทั้งมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดหรือสั่งคำร้องคำขอที่ยื่นต่อศาลฎีกาตามกฎหมาย
(มาตรา ๒๓)
๒.๔
องค์คณะและผู้พิพากษา
ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจในการออกหมายเรียก
หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น
หรือออกคำสั่งใดๆซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทคดี (มาตรา ๒๔)
๒.๔.๑
ศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน
จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง (มาตรา ๒๖)
ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น
ดังต่อไปนี้ (มาตรา ๒๕)
(๑)
ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง
(๒)
ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย
(๓)
ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา
(๔)
พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง
ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
(๕)
พิจารณาพิพากษาคดีอาญา
ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี
หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน
หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้
๒.๔.๒
ศาลอุทธรณ์ ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสามคน
จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ (มาตรา ๒๗)
๒.๔.๓
ศาลฎีกา ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสามคน
จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ (มาตรา ๒๗)
๒.๕
กรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ (มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑)
เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้
หมายถึง กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป
หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณาหรือทำคำพิพากษา
๑. กรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้
ทำให้ผู้พิพากษา ซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป
ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้ นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้
(๑) ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกา
หรือรองประธานศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย
(๒)
ในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค
ได้แก่ ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองประธานศาลอุทธรณ์
รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค
หรือผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคซึ่งประธานศาลอุทธรณ์หรือประธานศาลอุทธรณ์ภาค
แล้วแต่กรณี มอบหมาย
(๓)
ในศาลชั้นต้น ได้แก่
อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล
หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี มอบหมาย
๒. ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด
หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้
ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้น มีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้
หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว
(๑)
ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกา
(๒)
ในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค
ได้แก่ ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองประธานศาลอุทธรณ์
หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี
(๓) ในศาลชั้นต้น ได้แก่
อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี
๓.
เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้
ให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(๑)
กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง
แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา ๒๕ (๕)
(๒)
กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา
๒๕ (๕)
แล้วเห็นว่าควรพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือน
หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าว
(๓)
กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งคดีแพ่งเรื่องใดของศาลนั้นจะต้องกระทำโดยองค์คณะ
ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาหลายคน
และผู้พิพากษาในองค์คณะนั้นมีความเห็นแย้งกันจนหาเสียงข้างมากมิได้
๒.๖
การจ่าย การโอน และการเรียกคืนสำนวนคดี (มาตรา ๓๒ และมาตรา๓๓)
ให้ประธานศาลฎีกา
ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีในแต่ละศาลรับผิดชอบในการจ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะผู้พิพากษาให้คำนึงถึงความเชี่ยวชาญและความเหมาะสมขององค์คณะผู้พิพากษาที่จะรับผิดชอบสำนวนคดีนั้น
ส่วนการเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีคดีซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ
ขององค์คณะผู้พิพากษา
จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีศาลนั้น
และรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค
รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลจังหวัด
หรือผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลแขวง แล้วแต่กรณีที่มิได้เป็นองค์คณะในสำนวนคดีดังกล่าวได้เสนอความเห็นให้กระทำได้
๓.
ผู้รักษาการตามกฎหมายและวันบังคับใช้
ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
(มาตรา ๘)
พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
พ.ศ.
๒๕๔๓ ประกาศใช้เล่ม
๑๑๗ ตอนที่ ๔๔ก หน้า ๑ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
มิถุนายน ๒๕๔๗