สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน
พ.ศ. ๒๕๔๓
นายยงยุทธ ภู่ประดับกฤต[๑]
๑. หลักการและเหตุผล
โดยที่ปัจจุบันมีการขุดดินเพื่อนำดินไปถมพื้นที่ที่ทำการก่อสร้างที่อยู่อาศัยหรือเพื่อกิจการอื่นอย่างกว้างขวาง
แต่การขุดดินหรือถมดินดังกล่าวยังไม่เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการจึงอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินและความปลอดภัยของประชาชนได้
สมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดินเพื่อให้การขุดดินหรือถมดินในเขตเทศบาล
กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายโดยเฉพาะจัดตั้งขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
และบริเวณที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
เขตผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
และในท้องที่อื่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด
เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
๒. สาระสำคัญ
พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. ๒๕๔๓
มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
๒.๑ กำหนดท้องที่ที่ใช้บังคับ
กล่าวคือ พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับเฉพาะในท้องที่ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓
ได้แก่ เทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายโดยเฉพาะจัดตั้งขึ้น
ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา บริเวณที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
และเขตผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
กรณีเพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากการขุดดินหรือถมดิน
ถ้าการขุดดินหรือถมดินอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคล
หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะประกาศกำหนดให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ที่กำหนดไว้ตามที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้
ประกาศดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น[๒]ประกาศไว้โดยเปิดเผยก่อนวันใช้บังคับไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
โดยให้ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ
ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน
แห่งท้องที่ที่กำหนดไว้ในประกาศ
๒.๒
กำหนดให้มีคณะกรรมการการขุดดินและถมดิน
ประกอบด้วยอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานกรรมการ
และกรรมการอื่นอีกสิบสี่คน มีอำนาจหน้าที่ในการให้คำแนะนำในการออกกฎกระทรวงตามมาตรา
๖[๓]
ให้คำแนะนำแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นต้น
(มาตรา ๑๑ ประกอบกับมาตรา ๑๒)
๒.๓ การขุดดิน
ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดความหมายของคำว่า ขุดดิน หมายความว่า กระทำแก่พื้นดินเพื่อนำดินขึ้นจากพื้นดิน
หรือทำให้พื้นดินเป็นบ่อดิน (มาตรา๔)
ขั้นตอน (มาตรา
๑๗ ประกอบกับมาตรา ๑๘)
(ก) หากผู้ใดประสงค์จะทำการขุดดินโดยมีความลึกจากระดับพื้นดินเกินสามเมตรหรือมีพื้นที่ปากบ่อดินเกินหนึ่งหมื่นตารางเมตร
หรือมีความลึกหรือพื้นที่ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนด
ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดโดยยื่นเอกสารแจ้งข้อมูล
ดังต่อไปนี้
(๑) แผนผังบริเวณที่ประสงค์จะทำการขุดดิน
(๒) แผนผังแสดงเขตที่ดินและที่ดินบริเวณข้างเคียง
(๓) รายการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา
๖[๔]
(๔) วิธีการขุดดินและการขนดิน
(๕) ระยะเวลาทำการขุดดิน
(๖) ชื่อผู้ควบคุมงาน[๕]ซึ่งจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๗) ที่ตั้งสำนักงานของผู้แจ้ง
(๘) ภาระผูกพันต่างๆ
ที่บุคคลอื่นมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับที่ดินที่จะทำการขุดดิน
(๙) เอกสารและรายละเอียดอื่นๆ
ที่คณะกรรมการการขุดดินและถมดิน กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(ข) ถ้าผู้แจ้งได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ข้างต้นโดยถูกต้องแล้ว
ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบรับแจ้งตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดเพื่อเป็นหลักฐานการแจ้งให้แก่ผู้นั้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
และให้ผู้แจ้งเริ่มต้นทำการขุดดินตามที่ได้แจ้งไว้ได้ตั้งแต่วันที่ได้รับใบรับแจ้ง
(ค) ถ้าการแจ้งเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง
ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งให้แก้ไขให้ถูกต้องภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการแจ้ง
ถ้าผู้แจ้งไม่แก้ไขให้ถูกต้องภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่
ผู้แจ้งได้รับแจ้งให้แก้ไขจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งให้การแจ้งเป็นอันสิ้นผล
(ง) ถ้าผู้แจ้งได้แก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด
ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบรับแจ้งให้แก่ผู้แจ้งภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งที่ถูกต้อง
(จ) ผู้ได้รับใบรับแจ้งต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง[๖]
ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เก็บได้ให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่มีการขุดดินนั้น
ในระหว่างการขุดดิน
ผู้ขุดดินต้องเก็บใบรับแจ้งแผนผัง บริเวณและรายการไว้ที่สถานที่ขุดดินหนึ่งชุด
และพร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่[๗]ตรวจดูได้
ถ้าใบรับแจ้งชำรุด สูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญ
ให้ผู้ขุดดินขอรับใบแทนใบรับแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบถึงการชำรุดสูญหายหรือถูกทำลายดังกล่าว
(มาตรา ๑๙) สำหรับการได้รับใบรับแจ้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้น ไม่เป็นเหตุคุ้มครองการขุดดินที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลหรือต่อสภาพแวดล้อมผู้ขุดดินไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดิน
ผู้ครอบครองที่ดิน ลูกจ้างหรือตัวแทน ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
เว้นแต่จะมีเหตุที่ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย (มาตรา ๒๒)
นอกจากนี้ การขุดดินโดยมีความลึกจากระดับพื้นดินไม่เกินสามเมตร
เมื่อจะขุดดินใกล้แนวเขตที่ดินของผู้อื่นในระยะน้อยกว่าสองเท่าของความลึกของบ่อดินที่จะขุดดิน
ต้องจัดการป้องกันการพังทลายของดินตามวิสัยที่ควรกระทำ (มาตรา ๒๔) ในการขุดดิน
ถ้าพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซากดึกดำบรรพ์
หรือแร่ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหรือทางการศึกษาในด้านธรณีวิทยา
ให้ผู้ขุดดินหยุดการขุดดินในบริเวณนั้นไว้ก่อนแล้วรายงานให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พบ
และให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งให้กรมศิลปากรหรือกรมทรัพยากรธรณี แล้วแต่กรณีทราบโดยด่วน
(มาตรา ๒๕)
แต่การขุดบ่อน้ำใช้ที่มีพื้นที่ปากบ่อไม่เกินสี่ตารางเมตร
ผู้ขุดดินไม่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น (มาตรา ๒๓)
๒.๔ การถมดิน
ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดความหมายของคำว่า ถมดิน หมายความว่า การกระทำใดๆ ต่อดินหรือพื้นดินเพื่อให้ระดับดินสูงขึ้นกว่าเดิม
(มาตรา๔)
ขั้นตอน (มาตรา ๒๖)
(ก) ผู้ใดประสงค์จะทำการถมดินโดยมีความสูงของเนินดินเกินกว่าระดับที่ดินต่างเจ้าของที่อยู่ข้างเคียง
และมีพื้นที่ของเนินดินไม่เกินสองพันตารางเมตร
หรือมีพื้นที่ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนด ต้องจัดให้มีการระบายน้ำเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดินที่อยู่ข้างเคียงหรือบุคคลอื่น
พื้นที่ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนด ต้องไม่เกินสองพันตารางเมตร
(ข) การถมดินที่มีพื้นที่เกินสองพันตารางเมตร
หรือมีพื้นที่เกินกว่าที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนด
นอกจากจะต้องจัดให้มีการระบายน้ำแล้วต้องแจ้งการถมดินนั้นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด
(ค) ถ้าผู้แจ้งได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้โดยถูกต้องแล้ว
ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบรับแจ้งตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด เพื่อเป็นหลักฐานการแจ้งให้แก่ผู้นั้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
และให้ผู้แจ้งเริ่มต้นทำการถมดินตามที่ได้แจ้งไว้ได้ตั้งแต่วันที่ได้รับใบรับแจ้ง
๒.๕ พนักงานเจ้าหน้าที่
ผู้ใดได้รับความเสียหายหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจได้รับความเสียหายจากการขุดดินหรือถมดินอันไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมอบหมายด้วยสั่งให้หยุดการขุดดินหรือถมดินนั้นได้
เมื่อได้รับคำร้องขอ
ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสถานที่ขุดดินหรือถมดินและรายงานต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นเห็นว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นจากการขุดดินหรือถมดินนั้นให้มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือสั่งให้ผู้ขุดดิน
ผู้ถมดิน
หรือเจ้าของที่ดินหยุดการขุดดินหรือถมดินหรือจัดการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือจัดการแก้ไขการขุดดินหรือถมดินนั้นได้ตามที่เห็นสมควร
(มาตรา ๒๙) นอกจากนี้
พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบสถานที่ที่มีการขุดดินหรือการถมดิน
ว่าได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ ทั้งนี้
ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในระหว่างเวลาทำการ
และให้ผู้ขุดดิน ผู้ถมดิน หรือตัวแทนหรือเจ้าของที่ดินอำนวยความสะดวกตามสมควร
(มาตรา ๓๐) ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าการขุดดินหรือการถมดินได้ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่น
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้มีคำสั่งให้ผู้ขุดดิน
ผู้ถมดิน หรือเจ้าของที่ดินหยุดการขุดดินหรือการถมดิน หรือจัดการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
หรือจัดการแก้ไขการขุดดินหรือการถมดินนั้น แล้วแต่กรณี
และให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อป้องกันหรือระงับความเสียหายนั้นได้
ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ขุดดิน
ผู้ถมดินหรือเจ้าของที่ดินหยุดการขุดดินหรือการถมดิน
หรือจัดการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือจัดการแก้ไขการขุดดินหรือถมดินนั้นตามที่เห็นว่าจำเป็นได้
แล้วรายงานให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบทันที
ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นเห็นชอบด้วยกับคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่
ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มีคำสั่งสั่งให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่
และให้ถือว่าคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตั้งแต่ต้น
ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่มีหนังสือสั่งภายในกำหนดเวลา
ให้คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นอันสิ้นผล (มาตรา ๓๑)
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย
(มาตรา ๓๒)
๒.๖ การแจ้งหรือการส่งคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้ให้ทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้แจ้ง
ผู้ขุดดิน ผู้ถมดิน เจ้าของที่ดิน หรือตัวแทน แล้วแต่กรณี ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้น
หรือจะทำเป็นหนังสือและให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อรับแทนการส่งทางไปรษณีย์ก็ได้
ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้
ให้ปิดประกาศสำเนาหนังสือแจ้งหรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี
ไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ บริเวณที่มีการขุดดินหรือถมดิน
และให้ถือว่าผู้แจ้ง ผู้ขุดดิน ผู้ถมดิน เจ้าของที่ดิน หรือตัวแทน
ได้ทราบคำสั่งนั้น เมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว
(มาตรา ๙)
๒.๗ การอุทธรณ์ ผู้ขุดดิน
ผู้ถมดิน หรือเจ้าของที่ดินผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ให้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ออกคำสั่งในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการการขุดดินและถมดิน
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือคณะกรรมการการขุดดินและถมดิน
แล้วแต่กรณี
พิจารณาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือคณะกรรมการการขุดดินและถมดินให้เป็นที่สุด (มาตรา ๓๔)
๒.๘ บทกำหนดโทษ (มาตรา
๓๕ ถึงมาตรา ๔๔) พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติหรือขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ด้วย
และกำหนดให้ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วน
บริษัทหรือนิติบุคคลอื่นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กรรมการ
ผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการกระทำอันเป็นความผิดนั้นต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ
ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย
รวมถึงให้ถือว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับที่ดินที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดนั้น
เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาด้วย
๓.
ผู้รักษาการตามกฎหมายและวันบังคับใช้
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ส่วนกฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ (มาตรา ๑๐)
พระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๑๖ ก หน้า ๔๑ วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๓
โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
กล่าวคือ ให้เริ่มใช้บังคับในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๓ (มาตรา ๒)
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
มิถุนายน ๒๕๔๗
[๑]
นิติกร ๔ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[๒]
มาตรา ๔
ในพระราชบัญญัตินี้
ฯลฯ ฯลฯ
เจ้าพนักงานท้องถิ่น หมายความว่า
(๑) นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล
(๒) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
(๓) นายกเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา
(๔)
ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
(ต่อจากเชิงอรรถที่ ๒, ข้างต้น)
(๕)
หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายโดยเฉพาะจัดตั้งขึ้นกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่น
สำหรับในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
(๖) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
สำหรับในเขตท้องที่อื่น นอกจาก (๑) ถึง (๕)
ฯลฯ ฯลฯ
[๓]
มาตรา ๖
เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้างตลอดจนการอื่นที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนด
(๑) บริเวณห้ามขุดดินหรือถมดิน
(๒) ความสัมพันธ์ของความลาดเอียงของบ่อดินหรือเนินดินตามชนิดของดินความลึกและขนาดของบ่อดินที่จะขุดดิน
ความสูงและพื้นที่ของเนินดินที่จะถมดิน
และระยะห่างจากขอบบ่อดินหรือเนินดินถึงเขตที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของบุคคลอื่น
(๓)
วิธีการป้องกันการพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
(๔) วิธีการให้ความคุ้มครองและความปลอดภัยแก่คนงานและบุคคลภายนอก
(๕) หลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขอื่นในการขุดดินหรือถมดิน
[๕]
ดูกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติของผู้ควบคุมงานในการขุดดินตามกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน
พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา
ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรเป็นผู้ควบคุมงานในการขุดดินที่มีความลึกจากระดับพื้นดินเกินสามเมตรหรือมีพื้นที่ปากบ่อดินเกินหนึ่งหมื่นตารางเมตร
หรือมีความลึกหรือพื้นที่ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนด
[๖]
ดูกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการขุดดินและถมดิน พ.ศ. ๒๕๔๖
กำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้กำหนดค่าธรรมเนียม
ดังนี้
(๑) ใบรับแจ้งการขุดดินหรือถมดิน ฉบับละ
๕๐๐ บาท
(๒) ค่าคัดสำเนาหรือถ่ายเอกสาร หน้าละ ๑ บาท
ข้อ ๒ ให้กำหนดค่าใช้จ่าย ดังนี้
(๑) ค่าพาหนะเดินทางในการไปตรวจสอบ ให้จ่ายเท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง
สถานที่ขุดดินหรือถมดิน
(๒) ค่าเบี้ยเลี้ยงในการเดินทางไปตรวจสอบ ให้จ่ายเท่าที่จำเป็นตามระเบียบของ
สถานที่ขุดดินหรือถมดิน ทางราชการแก่ผู้ไปทำงานเท่าอัตรา
ของทางราชการ
[๗]
มาตรา ๔
ในพระราชบัญญัตินี้
ฯลฯ ฯลฯ
พนักงานเจ้าหน้าที่
หมายความว่า
ผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ฯลฯ ฯลฯ