สรุปสาระสำคัญ
พระราชบัญญัติประกันสังคม
พ.ศ. ๒๕๓๓
สุนันทา เอกไพศาลกุล*
๑. หลักการและเหตุผล เนื่องจากได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติประกันสังคม
พ.ศ. ๒๔๙๗
มาเป็นเวลานานแล้วแต่ในขณะนั้นสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมยังไม่อำนวยให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับ
ปัจจุบันนี้การพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ก้าวหน้าไปมาก
สมควรสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่นโดยจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้น
เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่นซึ่งประสบอันตราย เจ็บป่วย
ทุพพลภาพหรือตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ
และสำหรับกรณีว่างงานซึ่งให้หลักประกันเฉพาะลูกจ้าง และพระราชบัญญัติประกันสังคม
พ.ศ.๒๕๓๓
ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีข้อขัดข้องและมีปัญหาในทางปฏิบัติเกิดขึ้นหลายประการ
ทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์สมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนั้น
วิธีปฏิบัติบางเรื่องในพระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน
เกิดภาระแก่นายจ้าง
และไม่เอื้ออำนวยประโยชน์และการให้บริการแก่นายจ้างและผู้ประกันตน และโดยที่ในมาตรา
๓๘ วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย ต่อไปอีก ๖ เดือน
นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และมาตรา ๔๑ วรรคสาม ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๘
วรรคสอง มาใช้บังคับแก่ผู้ประกันตนโดยสมัครใจที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนโดยอนุโลม
ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือผู้ประกันตนมิให้ได้รับความเดือดร้อนชั่วระยะเวลาที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างหรือสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
แล้วแต่กรณี
สมควรกำหนดให้ขยายระยะเวลาการมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนภายหลังลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ประกอบกับบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้ประกันตนในการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร
กรณีชราภาพ และกรณีว่างงานยังไม่เหมาะสม
สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้ชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตนและการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของรัฐบาล
นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓
ยังไม่สอดคล้องกับความสามารถในการออกเงินสมทบและสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ
สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
๒ สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติ
มาตรา ๓
ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๔๙๗
ซึ่งมีความล้าสมัยไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
ปัจจุบันพระราชบัญญัติประกันสังคม
พ.ศ. ๒๕๓๓ นี้ใช้บังคับแก่นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป
ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
ซึ่งแต่เดิมใช้บังคับแก่กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
ทำให้ลูกจ้างซึ่งทำงานให้นายจ้างที่มีลูกจ้างน้อยกว่าสิบคนยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามระบบประกันสังคม
แต่ยังคงมีลูกจ้างบางประเภทที่ไม่ได้รับความคุ้มครองซึ่งพระราชบัญญัติประกันสังคมมิให้ใช้บังคับแก่หน่วยงาน
ดังต่อไปนี้
๑. ข้าราชการ
ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวรายวัน และลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมง
ของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น
ยกเว้นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน
๒. ลูกจ้างของรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
๓. ลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ
และไปประจำทำงานในต่างประเทศ
๔. ครูหรือครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
๕. นักเรียน
นักเรียนพยาบาล นิสิตหรือนักศึกษา หรือแพทย์ฝึกหัดซึ่งเป็นลูกจ้างของโรงเรียน
มหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาล
๖. กิจการหรือลูกจ้างอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
อันได้แก่ ลูกจ้างของสภากาชาดไทย ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก
ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปี
และไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย
ลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร
หรือเป็นไปตามฤดูกาล และลูกจ้างของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์[๑]
คณะกรรมการประกันสังคม
มาตรา
๘ บัญญัติให้มีคณะกรรมการประกันสังคมขึ้นโดยมีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา ๙ ดังนี้
๑. เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคมตามพระราชบัญญัตินี้
๒. พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกาการออกกฎกระทรวง
และระเบียบต่างๆ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
๓. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการรับเงิน
การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน
๔. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน
๕. พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนและรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสังคมตามพระราชบัญญัตินี้
๖. ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน
๗. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
ทั้งนี้
คณะกรรมการอาจมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการต่อไปก็ได้
นอกจากนี้กฎหมายยังบัญญัติให้มีคณะกรรมการการแพทย์ขึ้นอีกคณะหนึ่งโดยมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา
๑๕ ดังนี้
๑. เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการดำเนินงานในการให้บริการทางการแพทย์
๒. กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในการรับบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนตามมาตรา
๕๙ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๘ มาตรา ๗๐ และมาตรา ๗๒
๓. เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตามมาตรา
๖๔
๔. ให้คำปรึกษาและแนะนำในทางการแพทย์แก่คณะกรรมการคณะกรรมการอุทธรณ์
และสำนักงาน
๕. ปฏิบัติการอื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการแพทย์
หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย
คณะกรรมการ
คณะกรรมการการแพทย์
และคณะอนุกรรมการมีอำนาจสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งส่งเอกสารหรือข้อมูลที่จำเป็นมาพิจารณาได้
ในการนี้จะสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วยก็ได้
ในสำนักงานประกันสังคม
มาตรา ๒๑ บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่ากองทุนประกันสังคม
เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทน และค่าใช้จ่ายตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
กองทุนประกอบด้วย เงินสมทบจากรัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน เงินเพิ่ม
ผลประโยชน์ของกองทุน เงินค่าธรรมเนียม เงินที่ได้รับจากการบริจาคหรือเงินอุดหนุน
เงินที่ตกเป็นของกองทุนตามกฎหมาย
เงินอุดหนุนหรือเงินทดรองราชการที่รัฐบาลจ่ายตามกฎหมาย เงินค่าปรับ และรายได้อื่น
ๆ (มาตรา ๒๒)
เงินดังกล่าวข้างต้นนี้ให้เป็นของสำนักงานโดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
การประกันสังคม
การเป็นผู้ประกันตน
บุคคลผู้ที่จะได้รับประโยชน์ตอบแทนตามพระราชบัญญัตินี้จะต้องเป็นผู้ประกันตนตามความหมายของพระราชบัญญัตินี้
กล่าวคือ เป็นผู้ซึ่งจ่ายเงินสมทบอันก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัตินี้แบ่งได้เป็น
๒ ประเภท คือ
๑.
การเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓
มาตรา
๓๓ บัญญัติให้ลูกจ้าง[๒]
ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน ๖๐ ปีบริบูรณ์เป็นผู้ประกันตน
ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนอยู่แล้วและเมื่อมีอายุ ๖๐
ปีบริบูรณ์และยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างอยู่ ให้ถือว่าลูกจ้างนั้นยังเป็นผู้ประกันตนต่อไป
ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา
๓๓ สิ้นสุดลงเมื่อผู้ประกันตนนั้น
๑. ตาย
๒. สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
ในกรณีที่ผู้ประกันตนสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างตาม
ข้อ ๒ ได้ส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนเวลาที่จะก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
ในกรณีคลอดบุตร ในกรณีทุพพลภาพ และในกรณีตาย ต่อไปอีก ๖ เดือนนับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างหรือตามระยะเวลาที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
ซึ่งต้องไม่เกิน ๑๒ เดือนนับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง (มาตรา ๓๘)
๒.
การเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙ หากผู้ใดเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓
โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๒ เดือน
ต่อมาความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงเพราะการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างหากถ้าผู้ประกันตนนั้นประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไปให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายใน
๖ เดือนนับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และให้ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละครั้งภายในวันที่
๑๕ ของเดือนถัดไป หากผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบหรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าว
ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๒ ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งหรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ
ตามมาตรา ๓๙ ซึ่งความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรานี้จะสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
ตามมาตรา ๔๑
๑. ตาย
๒. ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ อีก
๓. ลาออกจากความเป็นผู้ประกันตนโดยการแสดงความจำนงต่อสำนักงาน
๔. ไม่ส่งเงินสมทบ ๓ เดือนติดต่อกัน จะสิ้นสุดลงตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ
๕. ภายในระยะเวลา ๑๒ เดือนส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ ๙ เดือน
ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบเก้าเดือน
ในกรณีที่ผู้ประกันตนที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามข้อ
๓ ข้อ ๔ และ ข้อ ๕ ได้ส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนเวลาที่จะก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
ในกรณีคลอดบุตร ในกรณีทุพพลภาพ และในกรณีตาย ต่อไปอีก ๖ เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
(มาตรา ๔๑ วรรคท้าย) การนับระยะเวลาเพื่อก่อสิทธิแก่ผู้ประกันตนในการขอรับประโยชน์ทดแทนดังกล่าว
ให้นับระยะเวลาประกันตนตามมาตรา ๓๓ และหรือมาตรา ๓๙ ทุกช่วงเข้าด้วยกัน
กฎหมายเปิดโอกาสให้บุคคลที่มิใช่ลูกจ้างสามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายนี้ได้
แต่หลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทประโยชน์ทดแทนที่จะได้รับ
ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนนั้นให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา[๓]
หน้าที่ของนายจ้าง
๑. นายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนต้องยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตน
อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามแบบที่เลขาธิการกำหนดต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน
๓๐ วันนับแต่วันที่ลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตน (มาตรา ๓๔)
นายจ้างนั้นหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการที่ได้ว่าจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรง
หรือมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงาน ตามมาตรา ๓๕
๒. ในกรณีที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความในแบบรายการที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงานเปลี่ยนแปลงไป
ให้นายจ้างแจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนด
เพื่อขอเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว (มาตรา ๔๔)
หากนายจ้างผู้ใดโดยเจตนาไม่ยื่นแบบรายการต่อสำนักงานภายในกำหนดเวลาตามมาตรา
๓๔
หรือไม่แจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงานขอเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการภายในกำหนดเวลาตามมาตรา
๔๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา ๙๖ แต่หากนายจ้างผู้ใดยื่นแบบรายการตามมาตรา ๓๔
หรือแจ้งเป็นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา ๔๔
โดยเจตนากรอกข้อความเป็นเท็จในแบบรายการ
หรือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงเป็นเท็จในหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติม
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตามมาตรา ๙๗
เงินสมทบ
ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓
ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
กรณีทุพพลภาพ กรณีตายและกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละเท่ากันตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง กล่าวคือ
ในปัจจุบันเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าว ให้รัฐบาล นายจ้าง
และผู้ประกันตนส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ ๑.๕ ของค่าจ้างของผู้ประกันตน[๔]
ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงานตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งสำหรับกรณีการส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพนั้น ให้รัฐบาลส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ ๑ ของค่าจ้างของผู้ประกันตน นายจ้างและลูกจ้างให้ส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ ๓ ของค่าจ้างของผู้ประกันตน[๕] แต่สำหรับกรณีการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนั้นให้รัฐบาลจ่ายในอัตราร้อยละ ๐.๒๕ ของค่าจ้างของผู้ประกันตน นายจ้างในอัตราร้อยละ ๐.๕ ของค่าจ้างของผู้ประกันตน และผู้ประกันตนในอัตราร้อยละ ๐.๕ ของค่าจ้างของผู้ประกันตน[๖]
สำหรับการประกันตนตามมาตรา ๓๙
ให้รัฐบาลและผู้ประกันตนออกเงินสมทบเข้ากองทุนโดยรัฐบาลออกหนึ่งเท่าและผู้ประกันตนออกสองเท่าของอัตราเงินสมทบที่แต่ละฝ่ายต้องออกตามที่กำหนดไว้ข้างต้น
หน้าที่ของนายจ้างในการส่งเงินสมทบ[๗]
มาตรา ๔๗ บัญญัติให้ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามจำนวนที่ต้องนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนตามอัตราข้างต้นของเงินเดือน โดยให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้าง และให้นายจ้างนำเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่ได้หักไว้ และเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง ส่งให้แก่สำนักงานภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้พร้อมทั้งยื่นรายการแสดงการส่งเงินสมทบตามแบบที่เลขาธิการกำหนด
ถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามกำหนดเวลาที่ต้องจ่าย ให้นายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบตามเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยถือเสมือนว่ามีการจ่ายค่าจ้างแล้ว
ในกรณีที่นายจ้างนำเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนหรือเงินสมทบในส่วนของนายจ้างส่งให้แก่สำนักงานเกินจำนวนที่ต้องชำระ
ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้ตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนด
ถ้านายจ้างหรือผู้ประกันตนมิได้เรียกเอาเงินดังกล่าวคืนภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่นำส่งเงินสมทบหรือไม่มารับเงินคืนภายใน
๑ ปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้มารับเงิน ให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุนประกันสังคม
หากนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบหรือนำส่งไม่ครบตามกำหนดเวลาให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำเตือนเป็นหนังสือ ให้นายจ้างนำเงินสมทบที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม[๘]มาชำระภายในกำหนดไม่น้อยกว่า ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น ถ้านายจ้างได้รับคำเตือนดังกล่าวแล้วแต่ยังไม่นำเงินสมทบที่ค้างชำระและเงินเพิ่มมาชำระภายในกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินเงินสมทบและแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างนำส่งได้ ดังนี้
(๑) ถ้านายจ้างเคยนำส่งเงินสมทบมาแล้ว ให้ถือว่าจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างมีหน้าที่นำส่งในเดือนต่อมาแต่ละเดือนมีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบในเดือนที่นายจ้างได้นำส่งแล้วเดือนสุดท้ายเต็มเดือน
(๒) ถ้านายจ้างซึ่งมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้แต่ไม่ยื่นแบบรายการตาม มาตรา ๓๔ หรือยื่นแบบรายการตามมาตรา ๓๔ แล้ว แต่ไม่เคยนำส่งเงินสมทบ หรือยื่นแบบรายการตามมาตรา ๓๔ โดยแจ้งจำนวนและรายชื่อลูกจ้างน้อยกว่าจำนวนลูกจ้างที่มีอยู่จริง ให้ประเมินเงินสมทบจากแบบรายการที่นายจ้างเคยยื่นไว้ หรือจากจำนวนลูกจ้างที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบ แล้วแต่กรณี โดยถือว่าลูกจ้างแต่ละคนได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนในอัตราที่ได้เคยมีการยื่นแบบรายการไว้ แต่ถ้าไม่เคยมีการยื่นแบบรายการหรือยื่นแบบรายการไม่ครบถ้วน ให้ถือว่าลูกจ้างแต่ละคนได้รับค่าจ้างรายเดือนไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับอยู่ในท้องที่นั้น คูณด้วยสามสิบ
ในกรณีที่มีการพิสูจน์ได้ภายในสองปีนับแต่วันที่มีการแจ้งการประเมินเงินสมทบว่าจำนวนเงินสมทบที่แท้จริงที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องนำส่ง
มีจำนวนมากกว่าหรือน้อยกว่าจำนวนเงินสมทบที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินไว้ตาม (๑)
หรือ (๒)
ให้สำนักงานมีหนังสือแจ้งผลการพิสูจน์ให้นายจ้างทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบผลการพิสูจน์
เพื่อให้นายจ้างนำส่งเงินสมทบเพิ่มเติมภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
หรือยื่นคำขอต่อสำนักงานเพื่อขอให้คืนเงินสมทบ
ถ้านายจ้างไม่มารับเงินดังกล่าวคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ทราบผลการพิสูจน์
ให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน (มาตรา ๔๗ ทวิ)
สิทธิของนายจ้าง ตามมาตรา ๕๕
ในกรณีที่นายจ้างได้จัดสวัสดิการเกี่ยวกับกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือกรณีทุพพลภาพ หรือกรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน หรือกรณีคลอดบุตร หรือกรณีสงเคราะห์บุตร หรือกรณีชราภาพหรือกรณีว่างงาน ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่เข้าทำงานก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าสวัสดิการนั้นมีกรณีใดที่จ่ายในอัตราสูงกว่าประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายจ้างนั้นนำระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน สัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งกำหนดสวัสดิการที่ว่านั้นมาแสดงต่อคณะกรรมการเพื่อขอลดส่วนอัตราเงินสมทบในประเภทประโยชน์ทดแทนที่นายจ้างได้จัดสวัสดิการให้แล้วจากอัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างนั้นต้องจ่ายเข้ากองทุน และให้นายจ้างใช้อัตราเงินสมทบในส่วนที่เหลือภายหลังคิดส่วนลดดังกล่าวแล้วมาคำนวณเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนและเงินสมทบในส่วนของนายจ้างที่ยังมีหน้าที่ต้องส่งเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในส่วนอื่นต่อไป
ประโยชน์ทดแทน
ผู้ประกันตนหรือบุคคลผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุน ดังต่อไปนี้ (มาตรา ๕๔)
๑. ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
๒. ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร
๓. ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ
๔. ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย
๕. ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร
๖. ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
๗. ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ยกเว้นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙
ถ้าผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดเห็นว่าตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีใดข้างต้น
และประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น
ให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนด ภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น
และให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายพิจารณาสั่งการโดยเร็ว ทั้งนี้ ประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงิน
ถ้าผู้ประกันตนหรือบุคคลซึ่งมีสิทธิไม่มารับภายใน ๒ ปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน
ให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน (มาตรา ๕๖)
๑. ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ต่อเมื่อภายในระยะเวลา ๑๕ เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ เดือน ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ได้แก่ ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย และค่าบริการอื่นที่จำเป็น ในกรณีที่ผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ ๕๐ ของค่าจ้างตามมาตรา ๕๗[๙] สำหรับการที่ผู้ประกันตนต้องหยุดงานเพื่อการรักษาพยาบาลตามคำสั่งของแพทย์ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๙๐ วันและในระยะเวลา ๑ ปีปฏิทินต้องไม่เกิน ๑๘๐ วัน เว้นแต่การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังตามที่กำหนดในกฎกระทรวง[๑๐] ก็ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เกิน ๑๘๐ วันแต่ไม่เกิน ๓๖๕ วัน
ระยะเวลาได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ให้เริ่มนับแต่วันแรกที่ต้องหยุดงานตามคำสั่งของแพทย์จนถึงวันสุดท้ายที่แพทย์กำหนดให้หยุดงาน
หรือจนถึงวันสุดท้ายที่หยุดงาน สำหรับผู้ประกันตนที่กลับเข้าทำงานก่อนครบกำหนดเวลาตามคำสั่งของแพทย์แต่ไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น
ในกรณีที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง
ในระหว่างหยุดงานเพื่อการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือมีสิทธิตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
สัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แล้วแต่กรณี ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ
๕๐ ของค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๕๗ ข้างต้น จนกว่าสิทธิได้รับเงินค่าจ้างนั้นได้สิ้นสุดลงจึงจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนดังกล่าวเท่าระยะเวลาที่คงเหลือ
และถ้าเงินค่าจ้างที่ได้รับจากนายจ้างในกรณีใดน้อยกว่าเงินทดแทนการขาดรายได้จากกองทุนผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนในส่วนที่ขาดด้วย
(มาตรา ๖๔)
๒. ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร
มาตรา ๖๕ ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรสำหรับตนเองหรือภริยา หรือสำหรับหญิงซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับผู้ประกันตนโดยเปิดเผยตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดถ้าผู้ประกันตนไม่มีภริยา จะเห็นได้ว่ากฎหมายให้ประโยชน์แก่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายและภริยาในความเป็นจริงด้วย ทั้งนี้ ต่อเมื่อภายในระยะเวลา ๑๕ เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า ๗ เดือน ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรนี้ ให้ผู้ประกันตนแต่ละคนมีสิทธิได้รับสำหรับการคลอดบุตรไม่เกินสองครั้ง
ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ได้แก่ ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่าบริการและค่ารักษาพยาบาลทารกแรกเกิด ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย และค่าบริการอื่นที่จำเป็น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ (มาตรา ๖๖)
ในกรณีที่ผู้ประกันตนต้องหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรไม่เกินสองครั้ง เป็นการเหมาจ่ายในอัตราครั้งละร้อยละ ๕๐ ของค่าจ้างตามมาตรา ๕๗ เป็นเวลา ๙๐ วัน (มาตรา ๖๗)
เนื่องจากผู้ประกันตนหรือคู่สมรสของผู้ประกันตนไม่ได้คลอดบุตรในสถานพยาบาลที่ตนมีสิทธิไปรับบริการทางการแพทย์ตามมาตรา
๕๙[๑๑] ในกรณีที่ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสของผู้ประกันตนไม่สามารถรับประโยชน์ทดแทนข้างต้นได้
ให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนการคลอดบุตรตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
(มาตรา ๖๘)
๓.ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ
ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ต่อเมื่อภายในระยะเวลา ๑๕ เดือนก่อนทุพพลภาพ ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ เดือน (มาตรา ๖๙) ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ ได้แก่ ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย จิตใจและอาชีพ และค่าบริการอื่นที่จำเป็น (มาตรา ๗๐) ผู้ประกันตนทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ ๕๐ ของค่าจ้างตามมาตรา ๕๗ ตลอดชีวิต (มาตรา ๗๑)
๔. ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย
ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ถ้าภายในระยะเวลา ๖ เดือนก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ เดือน ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย ดังนี้
๑. เงินค่าทำศพในอัตราสามหมื่นบาท[๑๒]แต่ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เงินค่าทำศพให้จ่ายให้แก่บุคคลตามลำดับ ดังนี้
(ก) บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพและได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
(ข) สามีภรรยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
(ค) บุคคลอื่นซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพของผู้ประกันตน
๒. เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีภรรยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน ดังนี้
(ก) ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ ๓๖ เดือนขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ ๕๐ ของค่าจ้างรายเดือนที่คำนวณได้ตามมาตรา ๕๗ คูณด้วยสาม
(ข) ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ ๕๐ ของค่าจ้างรายเดือนที่คำนวณได้ตามมาตรา ๕๗ คูณด้วยสิบ (มาตรา ๗๓)
ในกรณีที่ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพตามมาตรา ๗๑ ถึงแก่ความตาย ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีตายตามมาตรา
๗๓
โดยให้นำเงินทดแทนการขาดรายได้ที่ผู้ประกันตนได้รับในเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตายมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ
ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพนั้นอยู่ในข่ายที่จะได้รับเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์
กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายในฐานะที่เป็นผู้ประกันตน
และในฐานะที่เป็นผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพในเวลาเดียวกัน
ให้มีสิทธิได้รับเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามมาตรา
๗๓ เพียงทางเดียว
๕. ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร
ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อเมื่อภายในระยะเวลา
๓๖ เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า
๑๒ เดือน (มาตรา ๗๔) ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร ได้แก่ ค่าสงเคราะห์ความเป็นอยู่ของบุตร
ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาลบุตร และค่าสงเคราะห์อื่นที่จำเป็น (มาตรา ๗๕)
ในกรณีที่ผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรหากผู้ประกันตนนั้นเป็นผู้ทุพพลภาพซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ให้ผู้ประกันตนซึ่งเป็นผู้ทุพพลภาพนั้นหรือบุคคลตามมาตรา ๗๕ จัตวา มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรด้วย (มาตรา ๗๕ ทวิ)
ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเฉพาะสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกิน ๖ ปีบริบูรณ์[๑๓] คราวละไม่เกิน ๒ คน โดยนับเรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ไม่ว่าจะเป็นบุตรที่เกิดก่อนหรือหลังการเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น ในกรณีที่บิดาและมารดาเป็นผู้ประกันตน ให้บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเพียงฝ่ายเดียว เว้นแต่เมื่อมีการจดทะเบียนหย่าหรือแยกกันอยู่ และบุตรอยู่ในความอุปการะของผู้ประกันตนฝ่ายใดให้ผู้ประกันตนฝ่ายนั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับ (มาตรา ๗๕ ตรี) ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรให้เหมาจ่ายเป็นเงินในอัตรา ๒๐๐ บาท ต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคน[๑๔]
ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรแก่บุคคลตามลำดับ ดังนี้ ตามมาตรา ๗๕ จัตวา
๑. สามีหรือภริยาของผู้ประกันตน หรือบุคคลซึ่งอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากับผู้ประกันตนโดยเปิดเผยตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนด และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร
๒. ผู้อุปการะบุตรของผู้ประกันตน ในกรณีบุคคลตาม (๑)
มิได้เป็นผู้อุปการะบุตรหรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือถึงแก่ความตาย
๖. ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๘๐ เดือน ไม่ว่าระยะเวลา ๑๘๐ เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม (มาตรา ๗๖) ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ได้แก่ เงินเลี้ยงชีพรายเดือน เรียกว่า เงินบำนาญชราภาพ หรือ เงินบำเหน็จที่จ่ายให้ครั้งเดียว เรียกว่า เงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา ๗๗)
ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๘๐ เดือนให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบ ๕๕ ปีบริบูรณ์ เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ ๕๕ บริบูรณ์และความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๔๑ ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบ ๑๘๐ เดือนและความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๔๑ ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ (มาตรา ๗๗ ทวิ)
ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับเงินบำนาญชราภาพได้กลับเข้าเป็นผู้ประกันตน ให้งดการจ่ายเงินบำนาญชราภาพของบุคคลดังกล่าวจนกว่าความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๔๑ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่นนอกจากถึงแก่ความตายให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ แต่หากผู้ประกันตนสิ้นสุดลงเพราะความตายให้ทายาทผู้มีสิทธิของผู้นั้นตามมาตรา ๗๗ จัตวา มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ (มาตรา ๗๗ ตรี)
มาตรา ๗๗ จัตวา บัญญัติให้ผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามมาตรา ๗๗ ทวิ ถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนหรือผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน ๖๐ เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้ทายาทของผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ทายาทผู้มีสิทธิ ได้แก่
๑. บุตรชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นให้ได้รับสองส่วน ถ้าผู้ประกันตนที่ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน
๒. สามีหรือภริยาให้ได้รับหนึ่งส่วน และ
๓. บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับหนึ่งส่วน
ในกรณีที่ไม่มีทายาทในข้อใด หรือทายาทนั้นได้ตายไปเสียก่อนให้แบ่งเงินบำเหน็จชราภาพในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิในข้อที่มีทายาทผู้มีสิทธิได้รับ
ในกรณีที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามมาตรา ๗๑ และเงินบำนาญชราภาพในเวลาเดียวกัน ให้ผู้ประกันตนได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามมาตรา ๗๑ และเงินบำเหน็จชราภาพแทน
ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญชราภาพไปแล้ว
และต่อมาเป็นผู้ทุพพลภาพภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง
ให้งดการจ่ายเงินบำนาญชราภาพและให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพแทน ทั้งนี้ ให้หักเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับไปแล้วก่อนการเป็นผู้ทุพพลภาพออกจากเงินบำเหน็จชราภาพที่ผู้นั้นมีสิทธิได้รับแล้วนำเงินที่หักนั้นส่งเข้ากองทุน
(มาตรา ๗๗ เบญจ)
๗. ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน
ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือนและต้องอยู่ภายในระยะเวลา ๑๕ เดือนก่อนการว่างงานและจะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ตามมาตรา ๗๘
(๑) เป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน พร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้หรือต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงานและได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ โดยต้องไปรายงานตัวไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง
(๒) การที่ผู้ประกันตนว่างงานต้องมิใช่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาเจ็ดวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทความผิดลหุโทษ
(๓) ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานตั้งแต่วันที่ ๘ นับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
ตามมาตรา ๗๙
พนักงานเจ้าหน้าที่และการตรวจตราและควบคุม
เพื่อให้การใช้บังคับกฎหมายมีประสิทธิภาพจึงบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการตามหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้
ตามมาตรา ๘๐ โดยถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่นี้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
๑. เข้าไปในสถานประกอบการหรือสำนักงานของนายจ้าง สถานที่ทำงานของลูกจ้าง
ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในระหว่างเวลาทำการ
เพื่อตรวจสอบหรือสอบถามข้อเท็จจริง ตรวจสอบทรัพย์สินหรือเอกสาร หลักฐานอื่น
ถ่ายภาพถ่ายสำเนาเอกสารที่เกี่ยวกับการจ้าง การจ่ายค่าจ้าง ทะเบียนลูกจ้าง
การจ่ายเงินสมทบ และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง
หรือนำเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ
หรือกระทำการอย่างอื่นตามสมควรเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในอันที่จะปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
๒. ค้นสถานที่หรือยานพาหนะใดๆ
ที่มีข้อสงสัยโดยมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งไม่นำส่งเงินสมทบและหรือเงินเพิ่ม
หรือนำส่งไม่ครบจำนวน
โดยให้กระทำในระหว่างเวลาทำการหรือในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก
เว้นแต่การค้นในระหว่างเวลาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จจะกระทำต่อไปก็ได้
๓. มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ
หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
หรือสิ่งอื่นที่จำเป็นมาเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ให้นำความในมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
๔. ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของนายจ้างตามคำสั่งของเลขาธิการ ตามมาตรา ๕๐ ในกรณีที่นายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบและหรือเงินเพิ่ม
หรือนำส่งไม่ครบจำนวน
สิทธิในการอุทธรณ์ ตามมาตรา ๘๕ ถึงมาตรา ๙๑
กฎหมายบัญญัติให้มีคณะกรรมการอุทธรณ์คณะหนึ่ง
โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์
ซึ่งต้องแจ้งคำวินิจฉัยนั้นให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือ และหากผู้อุทธรณ์ไม่พอใจกฎหมายให้สิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายในเวลา
๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย
หากไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานในเวลาดังกล่าวให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด
ซึ่งการยื่นอุทธรณ์นี้ไม่เป็นการทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งของเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้
เว้นแต่มีคำขอให้ทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นไว้ด้วย
การยื่นอุทธรณ์ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ
สำนักงานประกันสังคมแห่งท้องที่ที่เป็นที่ตั้งกิจการของนายจ้าง
สถานที่ทำงานหรือภูมิลำเนาของผู้ประกันตน หรือภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิอุทธรณ์อื่น
แล้วแต่กรณี โดยหนังสืออุทธรณ์นั้น อย่างน้อยต้องมี ชื่อและที่อยู่ของผู้อุทธรณ์
ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนายจ้าง หรือสถานที่ทำงานของผู้ประกันตน
สถานประกอบกิจการของนายจ้าง หรือสถานที่ทำงานของผู้ประกันตน คำสั่งอันเป็นเหตุให้อุทธรณ์พร้อมทั้งข้อเท็จจริง
หรือพฤติการณ์ตามสมควร คำขออุทธรณ์และเหตุผลหรือข้อโต้แย้งของผู้อุทธรณ์
และลายมือชื่อผู้อุทธรณ์[๑๕]
๓. ผู้รักษาการตามกฎหมายและวันบังคับใช้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ
และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายท้ายพระราชบัญญัติ
ยกเว้นค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เล่มที่ ๑๐๗ ตอนที่ ๑๖๑ ฉบับพิเศษหน้า ๑ ลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๓
ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๓๗ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๑ ตอนที่ ๖๓ก หน้า ๓ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๗
ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
และพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๖ ตอนที่ ๒๒ก หน้า ๑ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๒
ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สิงหาคม ๒๕๔๗
* นิติกร
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง
[๑] พระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา
๔ (๖) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ พ.ศ. ๒๕๓๔
และพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา ๔ (๖) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.
๒๕๓๓ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๗
[๒] มาตรา
๕ บัญญัตินิยามคำว่า ลูกจ้าง หมายความว่า
ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร
แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
[๓] ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าวใช้บังคับ
[๔]กฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๔๕
[๕] กฎกระทรวง
กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๔๕
[๖] กฎกระทรวง
กำหนดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน
พ.ศ. ๒๕๔๖
[๗]
มาตรา ๕๒ ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วง ให้ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปหากมี
ตลอดสายจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในเงินสมทบซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้
[๘]
นายจ้างซึ่งไม่นำส่งเงินสมทบในส่วนของตนหรือในส่วนของผู้ประกันตน
หรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนด ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๒
ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างมิได้นำส่ง หรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่
นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ และในกรณีที่นายจ้างมิได้หักค่าจ้างของผู้ประกันตน
เพื่อส่งเป็นเงินสมทบหรือหักไว้แล้วแต่ยังไม่ครบจำนวน
ให้นายจ้างรับผิดใช้เงินที่ต้องส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนเต็มจำนวน
และต้องจ่ายเงินเพิ่มในเงินจำนวนในอัตราเดียวกันนับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ
ซึ่งสิทธิที่ผู้ประกันตนพึงได้รับคงมีเสมือนหนึ่งว่าผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบแล้ว
ตามมาตรา ๔๙
[๙] มาตรา ๕๗ การคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ ให้คำนวณโดยนำค่าจ้างสามเดือนแรกของค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่นายจ้างนำส่งสำนักงานแล้วย้อนหลังเก้าเดือน หารด้วยเก้าสิบ แต่ถ้าผู้ประกันตนมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าถ้านำค่าจ้างของสามเดือนอื่นในระยะเวลาเก้าเดือนนั้นมาคำนวณแล้วจะมีจำนวนสูงกว่า ก็ให้นำค่าจ้างสามเดือนนั้น หารด้วยเก้าสิบ หรือในกรณีที่ผู้ประกันตนยังส่งเงินสมทบไม่ครบเก้าเดือน ให้นำค่าจ้างสามเดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่นายจ้างได้นำส่งสำนักงานแล้วหารด้วยเก้าสิบเป็นเกณฑ์คำนวณ
สำหรับการคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา
๓๙ นั้น ให้คำนวณโดยเฉลี่ยจากจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบตามมาตรา ๓๙
วรรคสอง
[๑๐] กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓
บัญญัติโรคเรื้อรังตามมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง คือ โรคมะเร็ง
โรคเส้นเลือดในสมองผิดปกติเป็นเหตุให้อัมพาต โรคไตวายเรื้อรัง และโรคที่รักษาเกิน
๑๘๐ วันติดต่อกันและในขณะเจ็บป่วย ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติ ทั้งนี้
โดยการวินิจฉัยของคณะกรรมการการแพทย์
[๑๑] มาตรา ๕๙ ให้เลขาธิการประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตท้องที่และชื่อสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสของผู้ประกันตน มีสิทธิไปรับบริการทางการแพทย์ได้
ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสของผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ถ้าทำงานหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตท้องที่ใดให้ไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามวรรคหนึ่งที่อยู่ในเขตท้องที่นั้น เว้นแต่ในกรณีที่ในเขตท้องที่นั้นไม่มีสถานพยาบาลตามวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสของผู้ประกันตนมีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลดังกล่าวได้ ก็ให้ไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามวรรคหนึ่งที่อยู่ในเขตท้องที่อื่นได้
ในกรณีที่ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสของผู้ประกันตน
ไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในวรรคสอง
ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่ต้องจ่ายให้แก่สถานพยาบาลอื่นนั้นตามจำนวนที่สำนักงานกำหนด
โดยคำนึงถึงสภาพของการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย การคลอดบุตร
สภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละเขตท้องที่
และลักษณะของการบริการทางการแพทย์ที่ได้รับ
ทั้งนี้ จะต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
[๑๒]กฎกระทรวงฉบับที่
๙ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓
[๑๓]กฎกระทรวงฉบับที่
๑๖ (พ.ศ. ๒๕๔๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓
[๑๔] กฎกระทรวงฉบับที่
๑๘ (พ.ศ. ๒๕๔๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓
[๑๕] กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓